ปลาทูเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน เพราะราคาถูก รสชาติอร่อย และเต็มไปด้วยสารอาหาร มันจึงช่วยเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมานานหลายชั่วอายุคน 

แต่ปลาทูไทยวันนี้ไม่ได้มีราคาถูกและหาง่ายเหมือนดังแต่ก่อน ที่วางขายในตลาดหรือห้างร้านนับวันยิ่งตัวเล็กลง และส่วนมากนำเข้าจากต่างประเทศ 

เมื่อเทียบปี 2557 และ 2562 ผลผลิตปลาทูไทยลดลงเกือบ 6 เท่า[1] และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราปล่อยให้มีการทำประมงเกินขนาดและจับสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยไร้การควบคุม

หลายปีที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านจึงรวมตัวกันรณรงค์ให้หยุดซื้อ-จับ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน พวกเขาร่วมกันทำบ้านปลา ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน สร้างข้อตกลงในชุมชนไม่จับสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าว สื่อสารวิกฤตครั้งนี้กับสังคม หรือแม้กระทั่งเดินทางมายื่นหนังสือต่อห้างร้านในกรุงเทพฯ เพื่อขอความร่วมมือให้หยุดรับซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน 

“ปัจจุบันมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนมากขึ้น ทำให้ประมงพื้นบ้านที่เป็นประมงขนาดเล็ก ที่จับปลาตัวใหญ่ได้ผลกระทบโดยตรง รวมถึงผู้บริโภคที่ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่แพงขึ้น การรณรงค์ในเรื่องของการห้ามซื้อห้ามขายสัตว์น้ำวัยอ่อนทั่วกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต” ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้เราฟังขณะรอยื่นหนังสือต่อห้างสรรพสินค้าให้หยุดรับซื้อสัตว์น้ำวัยอ่อน 

ความพยายามเหล่านี้ช่วยสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้บริโภคและชาวประมงในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ปิยะมองว่า มาตรการควบคุมจากภาครัฐเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง 

แต่ตลอดเวลาที่ชาวประมงร่วมกันรณรงค์ ภาครัฐกลับไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันและควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน แม้จะมี “กุญแจ” สำคัญอยู่ในมือ

กุญแจสำคัญที่ว่า คือพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตราที่ 57 ซึ่งระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ําหรือนําสัตว์น้ําที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดขึ้นเรือประมง” แต่มันกลับไม่เคยถูกนำมาใช้เปิดทางออกจากวิกฤต กฎหมายข้างต้นไม่เคยถูกนำมาบังคับใช้ 

ชาวประมงพื้นบ้านจาก 23 จังหวัดจึงรวมตัวกันจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” 

ซึ่งแสดงถึงความพยายามปกป้อง “ปลาทู” ตัวแทนความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรม และทรัพยากรทางธรรมชาติที่กำลังจะสูญหายไป 

พวกเขาออกเดินทางจากหาดปัตตานีวันที่ 27 พฤษภาคม มุ่งหน้าสู่สัปปายะสถานรัฐสภา กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลให้เริ่มบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และประกาศมาตรการเพื่อแก้ไขวิกฤต โดยระหว่างทางนักกิจกรรมได้หยุดตามชุมชนชายฝั่ง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อน และทำกิจกรรมกับท้องถิ่นเพื่อสื่อสารปัญหาออกสู่สาธารณะ

ระยะทางกว่าพันกิโลเมตรที่นักกิจกรรมขึ้นรถลงเรือ ผ่านแดดฝ่าฝน กระทั่งในวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันมหาสมุทรโลก ขบวน “ทวงคืนน้ำพริกปลาทู” ได้ล่องมาถึงท่าเรือหลังรัฐสภา และเดินเท้าต่อเพื่อเข้ายื่นหนังสือภายในรัฐสภา

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี  นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และเป็นหนึ่งในแกนนำกิจกรรมครั้งนี้ อธิบายว่า จัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาทูกลายเป็นอาหาร “หรู” ที่คนบางกลุ่มเท่านั้นมีโอกาสได้ทาน

“อาหารทะเลซึ่งควรเป็นอาหารที่คนไทยทุกคนควรเข้าถึงได้ง่าย แต่กลับแพงขึ้น เข้าถึงได้ยากขึ้น กลุ่มคนที่ถึงอาหารทะเลคุณภาพดีมีน้อยลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนไทยมาเป็นเวลานาน เราตั้งใจเดินทางมาครั้งนี้ ระยะทางกว่าพันกิโลเมตร กินเวลาเป็นสิบ ๆ วัน เพื่อให้สังคมเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากภาครัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการออกมาตรการและบังคับใช้กฎหมาย”

ภาพของเรือประมงลำเล็กที่ล่องอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีฉากหลังเป็นรัฐสภา แสดงถึงความกล้าหาญของชาวประมงซึ่งลุกขึ้นพูดความจริงต่ออำนาจเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และบ้านเกิดของตน

แม้กิจกรรมจะสิ้นสุดลง แต่การเดินทางครั้งนี้ได้ช่วยยกระดับความเข้าใจต่อวิกฤตอาหารทะเลไทยในปัจจุบัน และสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมประมงทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ดี เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้วหลังจากรัฐบาลรับหนังสือเรียกร้องและตกปากรับคำว่าจะมีมาตรการในการปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่จวบจนวันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) ยังไม่มีมาตรการใดๆออกมา ขณะที่ชาวประมงขีดเส้นตาย 60 วัน ก่อนจะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้ง


[1] สถิติกรมประมงแห่งประเทศไทย ปี 2557 และ 2562