กลางเดือนมีนาคมที่เชียงใหม่ปกคลุมไปด้วยควันหนา ท้องฟ้าเป็นสีขาวโพลน แอปพลิเคชันบอกค่าฝุ่นรายงานสีแดงรายวันว่าคุณภาพอากาศที่หายใจส่งผลต่อสุขภาพ เรานัดคุยกับสมาชิกเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ เพราะสะดุดตากับเพจเฟซบุ๊กลีลาน่ารักแต่จริง ๆ แล้วกลับเล่าเรื่องราวปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือ อะไรทำให้เขาเหล่านี้เลือกที่กระเทาะเปลือกวาทกรรมโทษคนเผา ไปเล่าของปัญหาแกนว่าทำไมถึงเกิดการเผาผ่านรูปภาพน่ารัก ๆ  เสียงเพลง และศิลปะอีกหลายแขนง

นี่คือเรื่องราวเบื้องหลังการทำงาน ‘เพื่อลมหายใจเชียงใหม่’ หนุ่ย – ชนกนันทน์ นันตะวัน บอย – ศุภเกียรติ เมืองแก้ว หมวย – อนุวรรณ อารมย์สุข และซู่ – อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต

(ซ้ายไปขวา) หนุ่ย – ชนกนันทน์ นันตะวัน บอย – ศุภเกียรติ เมืองแก้ว หมวย – อนุวรรณ อารมย์สุข และซู่ – อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต  © Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

กลุ่มเพื่อลมหายใจมารวมตัวกันได้อย่างไร?

หนุ่ย : สภาลมหายใจเชียงใหม่มีโปรเจคหนึ่งที่อยากจะให้หนุ่ยรับผิดชอบ คือเทศกาลเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อธันวาคม ปีที่ผ่านมา เราคุยกันว่าอยากให้เป็นแบบไหนก็ไม่ได้ข้อสรุปสักที เพราะด้วยความเป็นสภา มีความหลากหลายทางความคิด ผู้ใหญ่ก็จะคิดแบบหนึ่ง อยากดึงหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนเด็ก ๆ ก็ต้องการจะสร้างพื้นที่ให้คนวัยเดียวกันเข้ามามีบทบาทบ้าง ให้การขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐหรือชนชั้นกลางเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หนุ่ยเลยเป็นตัวแทนกลุ่มเพื่อน ๆ เพื่อยืนหยัดในอุดมการณ์ของเรา ว่าทุกคนมีส่วนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเผชิญกลับวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอนาคต 

เราไม่ได้หมายความว่าเราไม่เอาภาครัฐเลย เพียงแต่บอกว่าภาครัฐต้องฟังเรานะ ฟังในที่นี่หมายถึงมาคุยกัน ฟังเหตุผลของเรา เราอยากมีเสียงที่ดังบ้างเพื่อสะท้อนปัญหาจากอีกมุม 

ก่อนมีเพื่อลมหายใจ รัฐได้เปิดพื้นที่ฟังเสียงประชาชนบ้างไหม?

หนุ่ย : พื้นที่ทำงานกับรัฐก็มี  แต่เนื้อหาและหัวข้อที่จะพูดค่อนข้างถูกจำกัด พอเป็นพื้นที่ของภาคประชาชนทำให้เราสามารถพูดถึงปัญหาจริง ๆได้อย่างเต็มที่ เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันได้อย่างตรงไปตรงมา

หัวข้อที่ถูกจำกัดเช่นอะไรบ้าง?

หนุ่ย : เชียงใหม่มีกฎหมายห้ามเผาก็เป็นการสะท้อนทัศนคติของภาครัฐนะว่าการเผามันสร้างปัญหา ก็แค่ประกาศห้ามเผา แค่นี้เอง ไม่ได้มองว่าถ้าเกษตรกรไม่เผา แล้วเขาจะกำจัดซากชีวมวลนี้อย่างไร

หนุ่ย – ชนกนันทน์ นันตะวัน © Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

มีปัญหาที่พบในการทำงานสื่อสารเรื่องฝุ่นควันภาคเหนือไหม?

หนุ่ย : หน่วยงานภาครัฐพยายามสร้างความรับรู้ให้ประชาชนว่าปัญหาหมอกควันมาจากไฟในพื้นที่ป่า ชาวบ้านและเกษตรกรไม่มีสำนึกที่จะไม่เผา  สารหลักจากหน่วยงานภาครัฐจะเป็นแบบนี้ หรือแม้กระทั่งการรับรู้ของคนเชียงใหม่เองก็ยังเป็นแบบนี้อยู่

เราไม่สามารถพูดตรง ๆ ได้ว่าปัญหา PM2.5 เกิดจากโครงสร้างทางสังคม หรือนโยบายภาครัฐที่เอื้อกลุ่มทุนบางกลุ่มในห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ เราบอกไม่ได้ว่าภาครัฐไปสนับสนุนให้คนปลูกข้าวโพด แต่ปล่อยให้กระบวณการกำจัดเศษชีวมวลเหล่านี้ให้เป็นหน้าที่ของเกษตรกรไป ซึ่งหากเรามองไปยังรากลึกของปัญหา ส่วนใหญ่มันมาจากการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มทุนทั้งสิ้น

เราไปพูดถึงปลายทางว่าเขาเผา แต่ทำไมเราไม่ถามกลับว่าทำไมชาวบ้านต้องเผา อะไรเป็นปัจจัยบีบบังคับให้เขาต้องเผา และสร้างมลพิษฝุ่นควันขึ้นมา นี่จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน มีหลายมิติ ซึ่งบางทีพูดในเวทีรัฐไม่ได้ แต่เราพูดในเวทีของภาคประชาชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

เมื่อปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนเช่นนี้ ทำไมจึงเลือกที่จะสื่อสารผ่านดนตรีและศิลปะ?

ซู่ : เป็นสิ่งที่ย่อยง่ายสำหรับคนทั่วไปและวัยรุ่นแบบเรา ๆ ถ้าเป็นนิทรรศการข้อมูลจริงจัง ก็จะต้องผ่านการตีความเยอะ และแต่นำดนตรีและศิลปะเข้ามาช่วยก็จะเข้าใจง่ายกว่า 

ซู่ – อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต © Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

ช่วงแรกเนื้อหาที่ลงเป็นเชิงไหน?

หมวย : ตอนแรกที่เราเปิดมาด้วยข้อมูลวิชาการก่อนเลย เพื่อปูทางมาก่อน เอาข้อมูลอินโฟกราฟฟิกจากหนุ่ยมาย่อยเป็นอินโฟกราฟฟิกอีกที

แล้วกลายมาเป็นเทศกาลเพื่อลมหายใจได้อย่างไร?

ซู่ : สภาลมหายใจอยากได้ไอเดียใหม่ ๆอยู่แล้ว ผมเลยได้โอกาสมาเสนอ พัฒนาไอเดียร่วมกัน เอาความถนัดของเรามาผสานกับข้อมูล แล้วก็คนอื่นเข้ามาร่วมด้วย

เห็นว่าตั้งใจใช้พื้นที่สาธารณะในการจัดงานเทศกาล?

ซู่ : พื้นที่ที่เราใช้จัดงานเป็นรอยต่อระหว่างอุทยานของภาครัฐกับป่า เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไปห้ามใช้ ในต่างประเทศก็ใช้พื้นที่อุทยานมาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปศิลปะ ให้ศิลปินเข้ามาทำงานศิลปะ แล้วให้ผู้ชมเข้าไปศึกษา ถ้าในไทยทำได้ หมอกควันและไฟป่าก็เป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐควรกระจายอำนาจไปที่แต่ละจุดให้ได้

เราจึงชี้เป้าไปเลยว่าต้องเป็นพื้นที่นี้ของหน่วยงานราชการ เพื่อสื่อสารว่าประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมของรัฐเท่านั้น พื้นที่ง่าย ๆแบบนี้แหละ ทุกคนสามารถใช้ได้ ส่งเสียงเรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่มีใครมาปิดกั้นเรา

คนที่มาร่วมงานเป็นใครบ้าง?

หมวย : ที่เยอะเลยคือ Gen Z น้อง ๆ มหาลัย

ซู่ : เรามองว่าคนกลุ่มนี้มีพลังในการสื่อสารด้วย จากที่เขารับสื่อแล้วเขาก็สามารถส่งต่อผ่าน Twitter IG ได้อีกต่อ

หมวย – อนุวรรณ อารมย์สุข © Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

การตอบรับในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอย่างไรบ้าง?

หมวย : งานกระจายไปสู่คนที่เราไม่รู้จักเยอะขึ้น ก็ถือเป็นผลตอบรับที่ดี ช่วงแรกคนติดตามก็ค่อย ๆ มา พอเราดึงศิลปินเข้ามาร่วมยอดติดตามก็ขึ้นไปอีก

มีทีมกี่คนในการทำงานทั้งหมด?

หนุ่ย : แค่นี้ครับ 6 คน (หัวเราะ)

มันเกิดจากการเอาความถนัดของแต่ละคนมารวมกันก็เลยดูเหมือนงานเยอะเช่น หมวยถนัดเรื่องสื่อ ซู่หมูเป็นศิลปินอยู่แล้วก็จะดึงเครือข่ายศิลปินที่อยากมีพื้นที่ในการแสดงผลงาน พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมกับงานตัวเองมาร่วม บอยก็จะขับเคลื่อนเรื่องขนส่งสาธารณะ 

เล่าเรื่องขนส่งสาธารณะหน่อยว่าทำอะไรไปบ้าง?

บอย : เอาแค่ในเทศกาลเพื่อลมหายใจ (จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2564) ก่อนแล้วกันครับ เราจัดเป็น Free Shuttle Bus ให้ สถานที่จัดงานอยู่นอกเมืองนิดหน่อย เราเลยคิดว่าควรมีการทำอะไรสักอย่างให้คนเดินทางสะดวกขึ้น 

ระหว่างการทดลองเราก็เก็บข้อมูลด้วยว่าทำไมคนจึงอยากหรือไม่อยากใช้ ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน

ด้วยพฤติกรรมคนเชียงใหม่ถนัดใช้มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว แต่เราอยากให้เขามาลองใช้ขนส่งสาธารณะดู ใช้คูปอง 50 บาทมาล่อ ผลตอบรับก็ดีครับ (ยิ้ม) คนที่มานั่งก็บอกว่าอยากให้มีรูปแบบนี้ในทุกเทศกาลของเชียงใหม่ เพราะยิ่งงานที่จัดในคูเมือง ไม่มีที่จอดเลย มากไปกว่านั้นคือเมื่อมีโควิด นักท่องเที่ยวหดหาย ทำให้ขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ชะงักทั้งเมือง บางทีรัฐเน้นแต่นักท่องเที่ยวจนลืมไปว่าคนเชียงใหม่เองก็อยากใช้ขนส่งสาธาณะเช่นกัน 

บอย – ศุภเกียรติ เมืองแก้ว © Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

ตั้งแต่ทำงานมามีคนในเมืองที่คิดเปลี่ยนไปบ้างไหม?

หนุ่ย : อันนี้เอาตัวเองเป็นเกณฑ์วัดนะครับ ตั้งแต่เราเข้ามาทำงานเรื่องฝุ่น เครือข่ายเราขยายมากขึ้น ทุกคนที่มาร่วม เขาเข้าใจปัญหามากขึ้น เป้าหมายหนึ่งที่เราพยายามจะทำคือการดึงเกษตรกร คนชายขอบที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหามาเชื่อมโยงกับคนเมือง ให้เขารู้ถึงเหตุผลว่าทำไมคนบนดอยถึงเผา 

เราอยากให้เสียงของพวกเขาดังมาก ๆ จนหน่วยงานภาครัฐฟัง ถึงกลายเป็น ‘เชียงใหม่โมเดล’ เพราะเราอยากให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นการแก้จากล่างขึ้นบนบ้าง สะท้อนปัญหาจากคนในพื้นที่จริง ๆ เพื่อจะไปออกเป็นนโยบายแก้ไขปัญหา  แต่ทุกวันนี้มันยังเป็นนโยบายจากบนลงล่างอยู่ สั่งห้ามเผาอย่างเดียว เสียงของประชาชนที่รับรู้ถึงปัญหายังค่อนข้างอ่อนแออยู่ เมื่อไหร่ที่เราทำให้ทุกคนรับรู้ถึงปัญหา เราเชื่อมั่นว่าเสียงสะท้อนของปัญหาจะดังขึ้น ภาครัฐจะขยับตัวมากขึ้น  

เป้าหมายสูงสุดของเพื่อสมหายใจคืออะไร?

หนุ่ย : สำหรับหนุ่ย หนุ่ยมองว่าอยากให้เพื่อลมหายใจเชียงใหม่คือพื้นที่ของทุกคน ใครก็ได้ที่มีไอเดียอยากมาร่วมกับเรามาได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากเห็นเชียงใหม่มีอากาศที่ดีขึ้น 

สถาปนิกที่ช่วยออกแบบโครงสร้างเทศกาลใช้แนวคิดว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถถอดประกอบและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เราก็สนับสนุนกลุ่มศิลปินที่อยากแสดงผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับฝุ่นควัน เรามีหน้าที่นำข้อมูลที่มีมาแชร์เพื่อทำงานร่วมกัน แต่เขาจะสื่อสารออกมาแบบไหนก็แล้วแต่เขาเลย

พอมาพลิกวิธีการทำงานที่หลากหลาย ทำได้เราเจอกลุ่มศิลปิน คนทำเพจ นักเรียนนักศึกษาเข้ามาร่วมด้วยมากมายให้เกิดประเด็นการเรียนรู้เรื่องฝุ่น กลายเป็นแพลตฟอร์มใหม่ เราไม่ต้องประกาศตัวว่ารักสิ่งแวดล้อม แต่เอาความถนัดของแต่ละคนมาเชื่อมให้ประเด็นถูกปลูกฝังอยู่ในการรับรู้ของคนทั่วไป

บอย : จริง ๆ มีคนจากหลายช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ที่เป็นสภาพลเมืองเชียงใหม่เข้ามานั่งถกเถียงกันเรื่องการออกแบบแนวกันไฟ นี่จึงเป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนที่มีไอเดีย ศิลปินก็แต่งเพลงได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะนักกิจกรรม

© Roengchai Kongmueng/ Greenpeace
© Roengchai Kongmueng/ Greenpeace

ใครที่สนใจจะเข้าร่วมต้องทำอย่างไร?

บอย : อยากช่วยฮอมปอย ฮอมแฮง (จะช่วยด้านการเงิน หรือลงแรง) เปิดรับหมดครับ (หัวเราะ) 

หนุ่ย : ส่วนกิจกรรม เราอยากพัฒนาไปด้วยกันมากกว่า ถ้าสนใจก็ทักมาเลยครับ (ยิ้ม)

ร่วมรณรงค์แก้ไขปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือได้ที่ https://act.gp/3uZIelI