เขียนโดย Mallika Talwar
แปลและเรียบเรียงโดย อารีญา ยอดดำเนิน 

เมื่อนึกถึงทะเลหลวง เรามักนึกถึงภาพของผืนน้ำบริสุทธิ์ที่กว้างใหญ่ไม่สิ้นสุด แต่ในความเป็นจริงแล้วผืนน้ำผืนนี้อยู่ไกลคำว่า “บริสุทธิ์” เพราะทะเลกำลังโดนคุกคามจากทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษพลาสติก การทำเหมืองใต้ทะเลลึกและการทำประมงพาณิชย์

เรือประมงในแอนตาร์กติกา | © Andrew McConnell / Greenpeace

คุณคงเคยได้ยินผลกระทบทางนิเวศวิทยาจากอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ในทะเลหลวง แต่ถ้านึกไม่ออก ลองนึกถึงฉากที่เป็นสัญลักษณ์ตอนใกล้จบของการ์ตูนดังอย่าง นีโม่ ปลาเล็กหัวใจโต๊โต (Finding Nemo) เมื่อพวกปลาพบว่าตัวเองถูกจับอยู่ในอวนล้อมขนาดใหญ่กับฝูงปลาทูน่า ตามเนื้อเรื่องตัวละครปลาเหล่านี้สามารถหลบหนีไปได้ แต่ในชีวิตจริง ปลาในมหาสมุทรไม่ได้โชคดีแบบนั้น

อุตสาหกรรมประมงที่ใช้อวนล้อมกวาดปลาในมหาสมุทร มากเกินกว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะแพร่พันธุ์มาทดแทนได้ทัน จนทำให้ประชากรปลาลดลง อวนประเภทนี้จับแม้กระทั่งปลาที่ไม่ได้นำมาบริโภค ขณะที่อวนลากหน้าดินก็กวาดพื้นมหาสมุทรและทำลายทุกสิ่งบนเส้นทางที่มันลากผ่าน ทำให้ปัจจุบันนี้เราได้เห็นภาพเต่าทะเลติดอยู่อวนลอยนับไม่ถ้วน อุตสาหกรรมประมงในทะเลหลวงนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อื่นใด นอกจากการทำลายระบบนิเวศ

เต่าติดอวน | © Marco Care / Greenpeace

ในปี 2561 เอนริค ซาร่า (Enric Sala) และกลุ่มนักวิจัยซึ่งใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและเอไอ ได้ศึกษาการทำประมงในทะเลหลวง ต้นทุน และผลกำไร และพบว่ากว่า ร้อยละ 54 ของการทำประมงในทะเลหลวงนั้น “ไม่มีกำไร” หากไม่ได้รับการสนับสนุนโดยเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและการใช้แรงงานราคาถูก  และเป็นที่ทราบกันดีว่าเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หลายครั้งเป็นการสนับสนุนการทำลายระบบนิเวศในอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ  เช่นการสนับสนุนพลังงานฟอสซิล มันเป็นเรื่องง่ายที่จะประเมินเม็ดเงินลงทุนที่ค้ำจุนอุตสาหกรรมประมงทะเลหลวงให้อยู่ได้ แต่มันยากที่จะประเมินต้องแลกไปกับการกดค่าแรงของแรงงานเท่าไร

เพราะการปิดบังและการขาดซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับค่าแรง ในการศึกษา นักวิจัยจึงต้องมีการการประมาณจากค่าแรงทั้งต่ำและสูง เพื่อที่จะคำนวณผลประโยชน์ในการลงทุน และจากการคำนวณพบว่า แม้จะจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงให้ถูกที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ประมาณ 19% ของพื้นที่ประมงในทะเลหลวงของโลกก็ยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน หรือหากคำนวณด้วยค่าแรงที่สูงขึ้น จะทำให้ตัวเลขกระโดดต้นทุนเหวี่ยงสูงขึ้นไปถึง 30% 

เนื่องจากจำนวนปลาที่ลดลงอย่างมาก เรือประมงจึงต้องออกทะเลไกลจากฝั่งมากขึ้น ค่าขนส่งและค่าห้องเย็นจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้คือต้นทุนคงที่ ขณะที่ต้นทุนที่ยืดหยุ่นได้คือค่าแรง เมื่อทำประมงไกลออกไปในทะเลที่ห่างไกลและขาดการควบคุม ชาวประมงซึ่งมักเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ก็ต้องความเสี่ยงมากกว่าแรงงานทั่วไป ทั้งในเรื่องพันธะหนี้สิน การหักค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินควร ไปจนถึงการคุกคามทางกายภาพ 

มีรายงานที่น่าตกใจจากกรณีศึกษาการคุกคามชาวประมงบนเรือ ว่ามีความรุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเน้นย้ำปัญหาของการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมนี้

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมไต้หวันได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาจำนวน 9 ราย รวมไปถึงกัปตันเรือและต้นหนของเรือ Da Wang ฐานบังคับใช้แรงงานและทำร้ายร่างกายแรงงานชาวอินโดนีเซียและชาวฟิลิปปินส์กว่า 20 คน โดยระบุว่าแรงงานเหล่านี้ถูกทำร้ายร่างกายและบังคับให้ทำงานกว่า 20 ชั่วโมง ต่อวัน และลูกจ้างชาวมุสลิมนั้นไม่มีอาหารทางเลือกจึงจำเป็นต้องกินเนื้อหมู ซึ่งผิดต่อหลักศาสนา สำนักงานอัยการไม่เพียงตั้งข้อกล่าวให้กัปตันเรือและนายท้ายเรือเท่านั้น แต่ยังสืบสาวไปถึงตัวแทนจัดหางานและเจ้าของเรือ

แต่การจับผู้กระทำผิดและปกป้องแรงงานข้ามชาติบนเรือประมงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) สิ่งเหล่านี้เป็นอาชญากรรมในทะเลหลวง ในที่ซึ่งไม่ได้มีแค่การทำประมงที่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นที่ซึ่งมีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศที่ทำการประมง ทำให้ชุมชนประมงที่ปฏิบัติตามกฎหมายและผู้ผลิตอาหารทะเลท้องถิ่นตกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ

หลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายกรีนพีซทั่วโลกได้ให้ความสำคัญและเปิดโปงสภาพการทำงานที่โหดร้ายที่แรงงานข้ามชาติบนเรือประมงในทะเลหลวงต้องเผชิญ เรารู้ว่าการต่อสู้กับประมงผิดกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราสามารถเริ่มต้นได้ โดยเริ่มจากผู้ผลิตและผู้ขาย 

แน่นอนว่าห้างสรรพสินค้าและแบรนด์ทูน่า ไม่ได้ว่าจ้างแรงงานข้ามชาติที่ใช้อยู่กลางทะเลเป็นเดือนเป็นปี ลากอวนจับทูน่าเป็นพันตันโดยใช้เวลากว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน แต่นโยบายการรับซื้ออาหารทะเลของพวกเขาจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของทั้งอุตสาหกรรม บริษัทเหล่านี้จึงต้องประกาศใช้นโยบายที่รับรองได้ว่าปลาที่พวกเขาขายนั้นไม่ได้ถูกจับมาโดยการคุกคามสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยการเลือกแหล่งอาหารทะเลที่มีความยั่งยืนจากท้องถิ่น  ถึงเวลาแล้วที่เราจะจับตามอง และเรียกร้องให้วิธีการทำประมงในโลกนั้นดีกว่าที่เคยเป็นอยู่