หลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในอเมริกาผลักดันแผนการปล่อยก๊าซมีเทนสำเร็จ  ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ สิ่งแรกที่พวกเขาพยายามทำคือการเป็นผู้นำระดับโลกในการเปลี่ยนแปลงวิธีการวัดค่าผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ

โดยอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ร่วมกันผลักดัน ตัวชี้วัดการวัดค่าประมาณผลกระทบใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างกังวลว่าตัวชี้วัดนี้อาจนำไปสู่การคุกคามสภาพภูมิอากาศของโลก เปิดทางให้ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อ้างสิทธิ์ว่าตนเป็นกลางในการปลดปล่อยมลพิษจนไม่ต้องมีการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซต่างๆ จากอุตสาหกรรมดังกล่าว

Protest at Funen Piggery in Denmark. © Kristian Buus / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซในเดนมาร์กถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘ลดเนื้อสัตว์’ = ‘ลดโลกร้อน’ ในการประท้วงหน้าฟาร์ม Funen Piggery ในเดนมาร์ก © Kristian Buus / Greenpeace

เราวัดค่าก๊าซมีเทนเพื่ออะไร?

เราคำนวนการปล่อยก๊าซมีเทนของโลกไปก็เพื่อไม่ให้โลกได้รับผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศที่รุนแรงกว่าเดิมจากการปล่อยก๊าซดังกล่าว แม้ว่าก๊าซมีเทนจะไม่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานเหมือนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่มีเทนจะอยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณ 12 ปีก่อนที่จะแตกตัวลงสู่น้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอยู่ดีแม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำแล้วก็ตาม

เบ็น ลิลิสตัน ผู้อำนวยการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสถาบันนโยบายเกษตรกรรมและการค้า (the Institute of Agriculture and Trade Policy) เปิดเผยว่า “การคำนวณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม รวมถึงเกี่ยวโยงกับโลกใบนี้ด้วย” โดย ปฏิญญามีเทนโลกหรือเครือข่ายความร่วมมือเพื่อลดก๊าซมีเทน (The global methane pledge) กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า เราจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงในปริมาณมหาศาล และอุตสาหกรรมการเกษตรเองก็มีโอกาสหลายด้านที่จะทำให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้

Conventional Dairy Farm in Lower Saxony, Germany. © Fred Dott / Greenpeace
ฟาร์มผลิตนมวัวในเยอรมนี © Fred Dott / Greenpeace

ปี 2564 ปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามอง เพราะไม่เพียงแค่มีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าระดับก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศกำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่นักวิทยาศาสตร์ยังแนะนำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างทันทีทันใดเพื่อป้องกันไม่ให้โลกร้อนเกินกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา ทั่วโลกจะมีการติดตามผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า GWP100 หรือ global warming potential 100 เป็นชื่อเรียกค่าที่ใช้วัดปริมาณความร้อนที่ก๊าซชนิดต่าง ๆ ดูดซับเข้าไปในช่วง 100 ปี ซึ่งการใช้ตัวชี้วัดนี้กับก๊าซมีเทนจะวัดผลกระทบที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 30 เท่า  

นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดอีกหนึ่งตัวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายนั่นคือ GWP20 ซึ่งเป็นชื่อเรียกค่าที่ใช้วัดปริมาณความร้อนที่ก๊าซชนิดต่าง ๆ ดูดซับเข้าไปในช่วง 20 ปี โดยหากใช้ GWP20 วัดค่าก๊าซมีเทน จะสามารถวัดผลกระทบที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า

อย่างไรก็ดี วิธี GWP100 เป็นการวัดแบบประมาณการณ์ และตัวชี้วัดนี้อาจทำให้ผลกระทบจากแหล่งที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากเกินจริงไปกว่า 3-4 เท่าในระยะเวลา 20 ปี ในขณะที่ชี้วัดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซมีเทนที่เพิ่งปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศน้อยเกินจริงไปถึง 4-5 เท่า

ประเด็นหนึ่งที่เป็นที่สนใจคือ ก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศมีค่าครึ่งชีวิตที่สั้น ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงที่ว่า ถ้าลดการปล่อยก๊าซมีเทนลงอย่างทันทีทันใดจะช่วย ‘ซื้อเวลา’ ให้กับโลกเพื่อเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลานาน หันไปลดก๊าซมีเทนซึ่งจะช่วยชะลอไม่ให้โลกร้อนอย่างรวดเร็วได้ในระยะสั้น

และการใช้ตัวชี้วัด GWP20 ดังที่ผู้เชี่ยวชาญบางกลุ่มเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ อาจช่วยรับมือกับความเร่งด่วนในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า ภัยน้ำท่วมและการอพยพเนื่องจากภัยพิบัติธรรมชาติ แต่การใช้ตัวชี้วัดนี้ก็อาจเชื่อมโยงกับผลกระทบทางลบจากอุตสาหกรรมการเกษตรได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่กลุ่มผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรเริ่มหันไปสนับสนุนตัวชี้วัดอื่นที่เพิ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้มากขึ้น นั่นก็คือ ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*) ซึ่งตัวชี้วัดนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ศาสตราจารย์ ไมเลส อัลเลน และทีมนักวิทยาศาสตร์จากโรงเรียน อ็อกส์ฟอร์ด มาร์ติน

GWP* และข้อถกเถียงจากหลายฝ่าย

ตัวชี้วัดนี้รู้จักกันในชื่อ GWP* หรือ ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สะท้อนถึงปริมาณก๊าซมีเทนทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนการคำนวนของตัวชี้วัดดังกล่าวอาจนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดการหลีกเลี่ยงก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากแหล่งกำเนิดใหม่ๆ ขณะที่ชื่นชมการลดการปล่อยก๊าซแม้จะปริมาณเพียงเล็กน้อย

ศาสตราจารย์อัลเลน เปิดเผยว่า “การประมาณค่าด้วยตัวชี้วัดค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*)  นั้น การปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากแหล่งกำเนิดใหม่ จะส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่าถึง 16 เท่า เมื่อเทียบกับแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมานานแล้ว (มากกว่า 20 ปี)”

ภาพแสดงการเปรียบเทียบตัวชี้วัด ที่มา:โรงเรียนอ๊อกฟอร์ด มาร์ติน, การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร (ปี 2562)

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่คำนวณออกมาแล้วสนับสนุนตัวชี้วัดนี้ว่ามีความสมเหตุสมผล แต่เมื่อนำมาใช้จริงนั้นผลที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น

การใช้ ตัวชี้วัดในการประเมินผลกระทบที่ทำให้เกิดโลกร้อน ควรนำไปใช้เพื่อรักษาระดับก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศ มากกว่าที่จะนำมาใช้เพื่อลดปริมาณก๊าซมีเทนลง เพราะสิ่งนี้อาจกลายเป็นการผลักภาระรับผิดให้กับแหล่งกำเนิดก๊าซมีเทนใหม่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แทนที่แหล่งกำเนิดที่มีอยู่ก่อนในซีกโลกตะวันตก อย่างเช่น อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในอเมริกา ซึ่งจะต้องร่วมรับผิดชอบกับการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมาก่อนหน้านี้ 

ดร.ยอเออริ โรเกิลจ์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันแกรนแทมแห่งโรงเรียนเศรษฐศาสตร์ลอนดอน กล่าวว่า การนำตัวชี้วัด ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*)  มาใช้ในการประเมินค่าผลกระทบ ก็อาจทำให้ผลที่ออกมาเป็น ความไม่ถูกต้องทางจรรยาบรรณ ได้ เช่น การผลักภาระรับผิดไปให้ประเทศซีกโลกใต้ที่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แต่ให้การชื่นชมกับประเทศที่เคยเป็นผู้ก่อมลพิษหลักมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม 

“หากเลือกตัวชี้วัด ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*) มาใช้ในการประเมินค่าผลกระทบจะทำให้ประเทศหรือภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมากอยู่แล้ว สามารถอ้างสิทธิ์ว่าตนเองปล่อยก๊าซมีเทนในปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด แต่ก็ยังคงสร้างมลพิษต่อไปได้เรื่อยๆ เพียงแค่สร้างมลพิษให้ต่ำกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย” ดร.ยอเออริ ได้กล่าว 

“ในขณะเดียวกัน ประเทศต่าง ๆ ในฝั่งซีกโลกใต้กลับกลายเป็นจำเลยจากการที่มลพิษค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อการพัฒนาในประเทศตัวเอง ซึ่งทำให้การใช้ตัวชี้วัดนี้ อย่างที่อุตสาหกรรมต่างๆ เสนอมานั้นเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันกับแนวคิดความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศหรือความเท่าเทียมระหว่างประเทศ”

ฟาร์มเลี้ยงไก่ในทางตอนเหนือของเยอรมนี มีจำนวนไก่กว่า 30,000 ตัว
ภาพฟาร์มเลี้ยงไก่ในทางตอนเหนือของเยอรมนี มีจำนวนไก่กว่า 30,000 ตัว

แต่ด้าน ศาสตราจารย์ อัลเลนก็กล่าวโต้แย้งว่า “ไม่ว่าจะเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซมีเทนแหล่งใหม่ใด ๆ ก็ตาม อย่างเช่นปศุสัตว์ในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ยังไม่พัฒนา เราไม่สามารถออกแบบตัวชี้วัดที่จะรองรับผลของกลุ่มที่เฉพาะเจาะจงได้ กล่าวคือมันถูกออกแบบมาเพื่อให้เราเห็นถึงข้อมูลในการประมาณค่าผลกระทบแต่ไม่ได้ออกแบบมาเป็นข้อบังคับ และตัวชี้วัดที่ไม่ดี (อย่างเช่น GWP100) ก็เป็นสาเหตุที่สร้างความสับสน”

ความพยายามของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อเปลี่ยนวิธีการวัดค่าก๊าซมีเทน

ในการประชุมอุตสาหกรรมในเมืองเฮาส์ตัน รัฐเท็กซัส ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มผู้นำสมาคมปศุสัตว์แห่งชาติ (the National Cattlemen’s Beef Association หรือ NCBA) กล่าวว่า “ตัวชี้วัดGWP* หรือ ค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คือวิธีการที่สามารถนำไปใช้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของก๊าซมีเทนได้” และอธิบายอีกว่า สมาคมปศุสัตว์แห่งชาติ “ทุ่มเทเวลาอยู่ในทำเนียบรัฐบาลไปมากแค่ไหนเพื่อทำให้รัฐบาลเข้าใจมัน”

“เรายังเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรปศุสัตว์นานาชาติ (the International Beef Alliance) ด้วย” เขากล่าวต่อ “เราทำงานร่วมมือกันกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกคนจะนำตัวชี้วัดค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน(GWP*) นี้ มาใช้ในการประเมิน”

อย่างไรก็ตาม พันธมิตรปศุสัตว์นานาชาติ (The International Beef Alliance) เป็นสมาคมของผู้ค้าเนื้อสัตว์ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกาและภูมิภาคออสตราเลเซีย ในขณะที่ สมาคมปศุสัตว์แห่งชาติ (NCBA)  ประกอบไปด้วยผู้ผลิตเนื้อวัวในระดับครัวเรือนมากกว่า 175,000 ฟาร์ม รวมทั้งมีบริษัทอุตสาหกรรมอาหารรายใหญ่อย่าง คาร์กิลล์ (Cargill), ไทสัน ฟู๊ดส์ (Tyson Foods), และ แมคโดนัลด์ (McDonalds) นั่งอยู่ในบอร์ดสมาคม ซึ่ง พันธมิตรปศุสัตว์นานาชาติ ปฏิเสธที่จะพูดถึงประเด็นนี้

ทั้งนี้ สมาคมปศุสัตว์แห่งชาติไม่ได้เป็นสมาคมกลุ่มเดียวที่ผลักดันให้มีการพิจารณาการใช้ตัวชี้วัดในการประเมินค่าผลกระทบของก๊าซต่อสภาพภูมิอากาศใหม่ ในปี 2563 สหภาพเกษตรกรจากสหราชอาณาจักรและประเทศนิวซีแลนด์ได้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC  เริ่มใช้ตัวชี้วัด GWP* ในรายงาน IPCC

โดย เบ็น ลิลิสตัน กล่าวเสริมว่า “แต่หากบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่กลายเป็นผู้ควบคุมการถกเถียงปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนเพื่อปกปิดการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมของตนเองแล้ว ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้หลุดพ้นจากการถูกจับตามอง และทำให้เราไม่สามารถจำกัดหรือลดการปล่อยก๊าซที่เป็นผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างที่ควรได้”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในการประชุม COP26 สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะเป็นผู้นำในปฏิญญาสากลเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2573 แต่ก็ไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับผู้ก่อมลพิษหลักอย่างอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

GWP* อาจบิดเบือนความหมายของ Net Zero

ยังมีข้อโต้แย้งและการถกเถียงอย่างจริงจังต่อตัวชี้วัด GWP* คือตัวชี้วัดดังกล่าวอาจทำให้ความหมายของ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เปลี่ยนไป และยังทำลายคำมั่นสัญญาของความตกลงปารีสอีกด้วย 

นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้สมาคมปศุสัตว์แห่งชาติ (NCBA) พยายามผลักดันข้อเสนอในการประชุมการค้าเนื้อสัตว์ โดยประธานสมาคม ดอน ชีฟเฟิลไบน์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ไม่ยาก” หากต้องการเป็นกลางด้านสภาพภูมิอากาศภายในปี 2583 โดยที่ไม่ต้องลดการผลิตเนื้อสัตว์  อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า การนำตัวชี้วัด GWP* มาใช้ในการวัดค่าผลกระทบ “จะช่วยทำให้เราไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ว่าเราจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2583 ได้เร็วขึ้น”

ซึ่งทาง ดร.ยอเออริ โรเกิลจ์ มองว่าการเคลื่อนไหวของสมาคมปศุสัตว์แห่งชาตินั้น จะทำลายความพยายามที่เกิดขึ้นในความตกลงปารีส “ถ้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คือการนิยามด้วยการนำตัวชี้วัดค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (GWP*) มาใช้ประเมินค่าผลกระทบ นั่นก็หมายความว่าภาวะโลกร้อนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

Protest Against EU Agricultural Subsidies in Berlin. © Paul Lovis Wagner / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซเยอรมนี ถือป้ายข้อความในการประท้วงนโยบายอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์กลางกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี © Paul Lovis Wagner / Greenpeace

การผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง

การเพิ่มขึ้นของการผลิตและการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเชิงอุตสาหกรรม ยังส่งผลต่อสุขภาวะของพวกเราทั่วโลก การบริโภคเนื้อแดงมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน การปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังเกี่ยวข้องกับการดื้อยาปฏิชีวนะซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศว่าเป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลก” และเป็นแหล่งของเชื้อโรคร้ายแรงที่มาจากอาหาร กรีนพีซรณรงค์สนับสนุนให้เมืองต่างๆ ร่วมลดการบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมและหันมาบริโภคอาหารอุดมพืชผักมากขึ้น “ลด” เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม “เพิ่ม” สุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก


บทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก บทความต้นฉบับ How the beef industry is trying to change the maths of climate change