เสาวลักษณ์ กระจัดกลาง หรือสมายด์เป็นคนที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม และเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ซึ่งกำลังเรียนวิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาเลือกของคณะ

วิชากฎหมายสิ่งแวดล้อมที่สมายด์เรียนไม่ใช่แค่การท่องตำราตามแบบฉบับการเรียนกฎหมายทั่วไป คลาสนี้มีการเรียนที่แตกต่างไปจากเดิมคือการที่เราทุกคนมีสิทธิ์ออกแบบกฎหมายได้

“ในห้องเรียนนี้เราทุกคนสามารถเป็นผู้ออกแบบกฎหมายที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง รวมถึงกำหนดตัวผู้เล่นที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้ ความที่เราออกแบบกฎหมายมีข้อดีตรงที่เรารู้ว่ากฎหมายแบบไหนที่จะสามารถแก้ปัญหาได้จริง เรามองเห็นปัญหาทั้งหมด จากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะฉะนั้นกฎหมายที่เราออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่เอื้อหรือผลักภาระไปที่ใคร ทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราต้องการออกกฎหมายเพื่ออุดข้อบกพร่องและการจัดการที่ยังไม่ดีพอ และเราทุกคนสามารถเป็นผู้ออกแบบกฎหมายได้ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ทำตามกฎหมายเท่านั้น”

การเรียนกฎหมายทำให้สมายล์เห็นช่องโหว่และการดิ้นของภาษากฎหมายชัดเจนมาก ด้วยความที่บ้านประกอบธุรกิจรีไซเคิลจึงลองหาข้อมูลของขยะพลาสติกในฐานข้อมูลของรัฐแต่กลับไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน

“ข้อมูลที่เจอมักเป็นข้อมูลย้อนหลังและไม่มีการอัพเดตตลอดเวลา ทำให้เราเกิดคำถามว่าในเมื่อทุกที่มีการเก็บขยะทุกวันแต่ทำไมเราถึงไม่เจอข้อมูลพวกนั้น หรือบางครั้งมีการบอกข้อมูลในเชิงสถิติไว้ว่าในปีนี้ในแต่ละพื้นที่มีขยะเท่าไหร่บ้าง แต่ข้อมูลที่ไม่อัพเดตมันก็ทำให้คนยังไม่รู้ว่าตอนนี้เราสร้างขยะมากแค่ไหน ควรจัดการหรือมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างไรขยะเหล่านี้ถึงจะลดลง และที่เห็นได้ชัดคือข้อมูลหลายชุดที่ถูกเผยแพร่ออกมาจัดทำโดยเอกชนไม่ใช่รัฐ ทำให้เราไม่รู้ว่าข้อมูลชุดนี้ครอบคลุมหรือเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ได้หมายความว่า ข้อมูลที่เอกชนทำมันไม่ดี แต่โดยหลักการแล้วรัฐที่เป็นตัวแทนของประชาชนควรเป็นที่พึ่งแรกมากกว่าไม่ว่าจะเรื่องข้อมูล การสนับสนุน หรือการช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ”

สมายล์ทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นเรามักได้ยินวลีคุ้นหูว่า “เริ่มที่ตัวเอง” แต่ตัวเองในที่นี้อาจเริ่มต้นจากรัฐหรือไม่ รัฐควรเป็นแขนขาให้กับคนที่ต้องการแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น

“ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือปัญหาใดมักเกิดมาจากโครงสร้างระบบที่ผิดพลาด รัฐคือคนที่มีอำนาจในมือและสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะรัฐคือตัวแทนของพวกเราทุกคนและพวกเราทุกคนที่ต้องการแก้ไขปัญหานั้น ๆ ต้องการรัฐซึ่งเป็นฟันเฟืองใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อน หากรัฐสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจังทำไมคนตัวเล็ก ๆ ล้านคนที่เห็นตรงกันว่าอยากแก้ปัญหานี้จะไม่สนับสนุน”

สมายล์ เสาวลักษณ์ กระจัดกลาง
อาสาสมัครกรีนพีซ

อ่านเรื่องราวปัญหามลพิษพลาสติก กับบทบาทของผู้ผลิตที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมได้ที่นี่
#BreakFreeFromPlastic
#TheStoryOfPlastic