สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับความสูญเสีย ทั้งความพร้อมและการจัดหาอาหารในหลายภูมิภาคทั่วโลก ก่อเป็นเชื้อไฟให้วิกฤตทางอาหาร โดยสหประชาชาติ (UN) กล่าวว่าเรื่องนี้อาจเป็นปัญหาที่คงอยู่ไปอีกหลายปี แม้ว่าประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับบางคน แต่ที่ผ่านมาก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เราเห็นในรูปแบบของราคาอาหารที่สูงขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา และเหตุการณ์ล่าสุดคือการขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

แอนนา และวาซิล มาลาเชนโค เกษตรกรท้องถิ่นผู้ปลูกข้าวสาลีและดอกทานตะวัน ในอำเภออีวานคิว เคียฟประเทศยูเครน © Denis Sinyakov / Greenpeace

ล่าสุด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าค่าดัชนีราคาอาหารในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 12.6% – ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 2533 สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังทำร้ายประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางทั่วโลก และการบุกรุกยูเครนของรัสเซียก็ยิ่งทำให้ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารเพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ โดยงานวิจัยชิ้นใหม่ของมูลนิธิแอคชั่นเอด(องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศ) ในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา และตะวันออกกลาง แสดงให้เห็นว่า อาหารในชุมชนท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงภัยสงคราม มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นสร้างความสับสนให้กับเราที่มักเข้าใจว่าการที่ผลผลิตอาหารเพิ่มขึ้นจะมีโอกาสหล่อเลี้ยงผู้คนในโลกได้มากขึ้น อย่างไรก็ตามตัวเลขจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะอดอยากหรือขาดสารอาหารกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น แล้วรากของปัญหานี้อยู่ที่ไหน เราจะแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร

ความโลภของกลุ่มบริษัทรายใหญ่

ระบบอาหารในปัจจุบันของเราถูกควบคุมโดยบริษัทรายใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง และบริษัทลูกในเครือ ซึ่งเป็นระบบที่ก่อให้เกิดความเสียหายเราจำเป็นจะต้องแก้ไขระบบนี้ บริษัทเหล่านั้น (ที่ประกาศว่าตนเองเปรียบเสมือนผู้พิทักษ์ของความมั่นคั่งทางอาหาร) ดำเนินธุรกิจด้วยการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความทุกข์ให้กับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เพราะระบบอาหารแบบนี้ให้เกิดทำลายผืนป่าขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องเพื่อเอาพื้นที่มาผลิตพืชอาหารสัตว์ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ และผลิตก๊าซชีวมวลสำหรับรถยนต์

ภาพการตัดไม้ทำลายป่าเพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร ในจังหวัดชาโค อาร์เจนตินา © Martin Katz / Greenpeace

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมต้องใช้พื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์มากถึง 80% โดยรวมพื้นที่สำหรับการปลูกอาหารสัตว์ และเมื่อผืนป่าถูกทำลายก็จะส่งผลให้ระบบนิเวศเสียสมดุลครั้งใหญ่ นำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุ์พืชและสายพันธุ์แมลง (แมลงเป็นกุญแจสำคัญของธรรมชาติในการผลิตอาหาร) นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับรูปแบบการระเหยของไอน้ำที่ทำให้เกิดฝนอีกด้วย

ภายใต้วิกฤตระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบกับภาวะสงครามและความขัดแย้ง  ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งเสริมกันไปในการแสวงหาผลกำไรจากผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของกลุ่มบริษัท  กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพร้ายแรงผ่านการทำลายผืนป่า อุบัติเหตุน้ำมันรั่ว การทำเหมือง และการบุกรุกป่าเขตสงวน 

ซึ่งสิ่งที่บริษัทเหล่านี้คอยชวนเชื่อเรานั้นล้วนเป็นเรื่องโกหกคำโต อย่างเช่น ประเด็นที่พวกเขาคือผู้ปกป้องความมั่นคงทางอาหาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิถีที่อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมการขายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ทำคือการแสวงหาผลกำไร   การกำหนดความต้องการซื้อและปริมาณการผลิตที่สุดท้ายแล้วมีแต่จะทำให้พวกเขาได้กำไรมากขึ้น พวกเขามองหาแต่ผลกำไรเท่านั้นท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังดำเนินงานในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประชากรและโลกต้องการจริงๆ

ภาพรอยต่อระหว่างป่าดิบชื้นและพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่อใช้ทำสวนปาล์มในปาปัว พื้นที่ป่าดิบชื้นแห่งสุดท้ายของประเทศอินโดนีเชีย © Greenpeace / Ardiles Rante

ระบบอาหารที่เพียงพอสำหรับทุกคน

ความจริงคือ เราไม่จำเป็นและไม่ควรเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่ามาเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มากไปกว่านี้ เพราะโลกของเรามีอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน หากเรามีระบบการผลิตอาหารที่คำนึงถึงความเท่าเทียมกัน หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ผืนป่า ระบบชีวนิเวศ ระบบชีวนิเวศทุ่งหญ้า และระบบนิเวศอันมีค่าอื่นๆ ได้รับการปกป้องจากการคุกคามของอุตสาหกรรมการเกษตร ในรายงานฉบับล่าสุดขององค์การสหประชาชาติแถลงว่า ระบบอาหารของเราส่วนในการรับผิดชอบการทำลายผืนป่าไปกว่า 80% การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 29% และมีส่วนสำคัญในการนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 

ขยะอาหาร เป็นหนึ่งในหลายๆปัญหาสำคัญที่เกิดจากระบบอาหารที่ล้มเหลว และยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับอีกหลายประเด็นในอุตสาหกรรมเกษตรกรรมทั่วโลก ซึ่งมีการประเมินกันว่าแคลอรี่จากอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกกว่า 30% กลายเป็นขยะอาหาร © Mitja Kobal / Greenpeace

ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายเพื่อให้การผลิตอาหารถูกผลิตให้กับประชากรทุกคน ไม่ใช่ผลิตเป็นอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์หรือถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้ยานพาหนะ นอกจากนี้เราจะต้องยุติระบบอุตสาหกรรมอาหารและกระจายอำนาจกลับคืนสู่รัฐบาลแต่ละประเทศและกลุ่มประชาชนในการผลิตอาหารและกินอาหารจากแหล่งชุมชนท้องถิ่น การปรับเปลี่ยนแบบนี้จะเกิดขึ้นได้โดยการสนับสนุนลงทุนกับเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรระดับกลางรวมถึงกลุ่มตลาดท้องถิ่นด้วย

สิ่งที่อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวเอาไว้ล่าสุดว่า “ สิ่งที่ชัดเจนคือ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตทางอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะรื้อฟื้นการผลิตอาหารในยูเครน” หากขยายความให้ชัดเจนแล้ว การรื้อฟื้นการผลิตอาหารในยูเครนจะช่วยวิกฤตครั้งนี้ได้ อย่างไรก็ตามมันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาจุดเล็กๆ เพราะทั้งโลกจำเป็นต้องหยุดพึ่งพากลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมอาหารเพียงไม่กี่รายรวมทั้งกลุ่มตลาดที่เชื่อมโยงกัน

ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจะต้องยืนหยัดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารในเชิงโครงสร้าง และไม่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ถูกอุตสาหกรรมควบคุมผ่านผลประโยชน์

รัฐบาลและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ จำเป็นต้องกำหนดตลาดสำหรับอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในอนาคต เพื่อหยุดวัตถุประสงค์ทางการตลาดจากอุตสาหกรรมอาหารที่โน้มน้าวให้คนต้องการซื้อ นอกจากนี้รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องกำหนดภาษีสำหรับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และกลุ่มบริษัทที่ซื้อขายเนื้อสัตว์ ซึ่งจะสามารถนำไปลงทุนกับศาสตร์ด้านเกษตรกรรมโดยการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยด้านเทคนิคนั่นเอง

ภาพของ สเตลเลอแมริ ลูซีลี (ซ้าย) อลิสซาเบธ เอ็นซอมอ และโจเซฟแฟด ลูซามะ กำลังเตรียมเมล็ดข้าวโพดสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลเพาะปลูกถัดไป เกษตรกรในเคนย่านำแนวปฎิบัติเกษตรเชิงนิเวศมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามาถในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ © Greenpeace / Paul Basweti

สิทธิในการเข้าถึงอาหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของใคร ? แน่นอนว่ารัฐบาล กลุ่มผู้นำโลกและกลุ่มบรรษัทข้ามชาติจะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทั้งนี้เราทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตเหมือนกับสิทธิในการเข้าถึงสุขภาพที่ดี หรือสิทธิที่จะได้รับการศึกษา

‘สร้างอนาคตร่วมกัน เพื่อทุกชีวิต’ คือกรอบแนวคิดจากองค์การสหประชาชาติในวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของปีน้ี ซึ่งถ้าเราจะสร้างอนาคตร่วมกันเพื่อทุก ๆ คน ตามแนวคิดของ UN เราจำเป็นต้องยุติการคุกคามผืนป่าให้กลายเป็นที่ดินสำหรับอุตสาหกรรม รวมทั้งปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เหลืออยู่

ผู้นำทางจารีตประเพณีวัย 43 ปี ของกลุ่มชนเผ่าดยัค บาโทโรมัส ในตาริกัง ป่าจารีตในหมู่บ้านกูนัม ,เบอรูวา ,ตำบลปารินดู ,ซังกาว กาลิมันตันตะวันตก © Afriadi Hikmal / Greenpeace

สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถยอมรับให้บริษัทอุตสาหกรรมเหล่านี้โกหกพวกเราต่อไปด้วยวาทกรรมที่ว่าพวกเขาคือกลุ่มคนที่ผลิตอาหารให้กับโลก เราต้องหยุดการคุกคามผืนป่าของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อผลิตอาหารและแสวงหาผลกำไร นอกจากนี้เรายังสามารถร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนนี้ด้วยการสนับสนุนกินอาหารที่ผลิตจากเกษตรกรท้องถิ่นซึ่งเคารพต่อธรรมชาติบนโลก


ซาวิโอ คาร์วัลโฮ หัวหน้างานรณรงค์ระดับโลก กรีนพีซ สากลทำงานปกป้องและสนับสนุนสิทธิมนุษยชน เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ยั่งยืน

ติดตาม ซาวิโอ ได้ทาง Twitter