เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สังคมไทยในยุคสมัยของมนุษย์ (Anthropocene) นั้นเป็นสังคมเสี่ยงภัย (Risk society) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหายนะภัยทางอุตสาหกรรมและสารมลพิษร้ายแรง อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของเราต้องเสี่ยงภัยกับสารมลพิษทุกวัน (Living poisons daily) [1] เราแทบจะไม่รู้เลยว่า มีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่ปล่อยออกสู่ดิน น้ำ อากาศ มีสารมลพิษชนิดใดบ้างที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรากิน อากาศที่เราหายใจ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน และสารมลพิษดังกล่าว [2] จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเราอย่างไร

ถึงแม้เราอยากรู้ แต่การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ก็เป็นไปอย่างยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดรับรองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลไว้แล้วก็ตาม

บทความนี้ได้ตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) ของประเทศ  ในวาระที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการที่ทำงาน ด้านสิ่งแวดล้อมและ ทรัพยากรธรรมชาติ ได้ยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างกฎหมายนี้ [3] ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะรวบรวมหนึ่งหมื่นรายชื่อเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชน เข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภาต่อไป

บริษัทหมิงตี้เคมีคอล จำกัด อยู่ในเครืออุตสาหกรรม Ming Dih Group Corporation จากไต้หวัน โดยเป็นฐานการผลิตโฟม EPS(Expandable Polystyrene) กำลังการผลิต 30,000 ตันต่อปีเพื่อจัดจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปทั่วโลกตั้งแต่ปี 2541 กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ความไม่เป็นธรรมทางนิเวศในสังคมไทย

ข้อมูลจาก Global Footprint Network ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ประเทศไทยใช้ทรัพยากรมากเกินกว่าศักยภาพพื้นที่ที่ก่อให้เกิดผลผลิตทางชีวภาพ (Biocapacity) ซึ่งคือ พื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่ป่าไม้ แหล่งดูดซับของเสีย (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล) พื้นที่เมือง และแหล่งประมงภายในประเทศ เป็นต้น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของระบบการผลิตและการบริโภคของสังคมไทย ผลคือ มลพิษที่ลุกลามมากขึ้น และปริมาณของเสียเพิ่มทวีคูณ กลายเป็นบ่อนทำลายการพัฒนามนุษย์และงานที่มีคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น รวมไปถึงกลุ่มคนด้อยโอกาสและเปราะบางที่ต้องแบกรับผลพวงของหนี้นิเวศ (Ecological deficit)

ความมั่งคั่งและสะสมทุนจากการขูดรีดทรัพยากรโดยกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่เกินผลผลิตทางชีวภาพ (Biocapacity) มากขึ้นเรื่อย ๆ นั้นเป็นเรื่องของความเป็นธรรม โดยที่คนส่วนใหญ่ถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและธรรมชาติ (ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และชายฝั่งทะเล) ที่ใช้ประโยชน์และปกป้องดูแลร่วมกัน ดังนั้น การพิจารณาประเด็นหนี้นิเวศจะต้องคำนึงถึงสิทธิทางทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น สิทธิของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ซึ่งอาจเผชิญภัยคุกคามจากการทำเหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม การทำไม้ และอุตสาหกรรมที่ขูดรีดทรัพยากรอื่น ๆ

สิทธิทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนี้ต้องรวมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิผู้บริโภค หลักการป้องกันไว้ก่อน และหลักการภาระรับผิดของบรรษัทผู้ก่อมลพิษ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ของการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)

ไม่มีการควบคุมสารเคมีที่ใช้ในเชิงพาณิชย์

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนในประเทศไทย [4] สถิติการเสียชีวิต [5] ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ในช่วงปี 2537 – 2560 อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิดของคนไทยเป็นสาเหตุอันดับ 1 โดยในปี 2537 โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 48.9 คน ต่อประชากร 100,000 คนและเพิ่มขึ้นเป็น 120.5 คน หรือเกือบ 3 เท่าตัว ในปี 2560

สารเคมีก่อมะเร็งถูกผลิตและใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม  ปริมาณการนำเข้าสารเคมีที่อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธุ์ และสารพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ของประเทศไทยระหว่างปี 2549-2553 มีปริมาณเฉลี่ยถึง 10-11 ล้านตันต่อปี [6] สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วโลกซึ่งมีอยู่ 350,000 ชนิด ส่วนใหญ่ไม่มีการประเมินด้านความปลอดภัย [7] [8]   ขณะที่มีการอนุญาตให้ใช้สารเคมีสังเคราะห์ชนิดใหม่มากขึ้นทุกปี

บริษัทหมิงตี้เคมีคอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตเมล็ดพลาสติก EPS ที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนย่านกิ่งแก้ว ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เป็นสีแดง (เขตที่อยู่อาศัยและชุมชนหนาแน่น) กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลนำร่างกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers-PRTR) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในทันที © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ไทยกลายเป็นอาณานิคมขยะโลก

ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ของการค้าขยะพลาสติกหลังจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกช่วงกลางปี พ.ศ.2561 ต่อมารัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุม ทำให้การส่งออก ขยะพลาสติกทั่วโลก (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น) เปลี่ยนเส้นทางไปยังอินโดนีเซียและตุรกี

ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติโรงงาน เนื้อหาสำคัญคือการให้เอกชนไม่ต้องขออนุญาตต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน (รง. 4) จากเดิมที่ต้องต่ออายุใหม่ทุก 5 ปี เป็นผลให้ 60,000 โรงงานทั่วประเทศได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แย้งว่าเนื้อหาสาระสำคัญดังกล่าว จะนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมกระจายออกไปโดยขาดการควบคุมที่รัดกุม  ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง

ในขณะที่ประเทศไทยมีสิทธิทางกฎหมาย (ระหว่างประเทศ) ภายใต้ข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติม (Amendment) ว่าด้วยขยะพลาสติกภายใต้อนุสัญญาบาเซลที่จะปฏิเสธการนำเข้าขยะพลาสติกที่เป็นปัญหา พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่กลับเปิดประตูกว้างเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็นอาณานิคมขยะโลก

ตัวผลิตภัณฑ์ที่เราใช้แฝงเร้นอันตรายจากสารพิษ

ในหลายกรณี สารพิษที่ออกมาจากตัวผลิตภัณฑ์นั้นมีมากกว่าและรุนแรงกว่าสารพิษจาก กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม  ตัวอย่างเช่น  ปรอท  ตะกั่ว แคลเซี่ยม โครเมียม และนิกเกิล ซึ่งส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ที่ตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ในของเสียจากการผลิต เมื่อผลิตภัณฑ์ถูกนำมาใช้ใหม่และนำมารีไซเคิล โลหะหนักที่ปนเปื้อนอยู่ก็จะถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (เช่นในสีและสารเคลือบ) หรือถูกปล่อยออกมาในหลุมฝังกลบและเตาเผาขยะ (เช่นในพลาสติก)

เช่นเดียวกับ สารมลพิษอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมและสะสมได้ในสิ่งมีชีวิตก็ถูกใช้ในการผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น เสื้อผ้า [9] เป็นต้น สารเคมีเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วโลกโดยไม่มีการควบคุม

ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของสารมลพิษ

จากข้อมูลที่มีอยู่ในปี 2558 ความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทำให้คนไม่สามารถทำงานได้หรือสูญเสียสวัสดิการ คิดเป็น 9.24-9.26 % ของรายได้ประชาชาติ (Gross National Income) [10] ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประเมินต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เนื่องจากยังไม่รวมถึงต้นทุนของการบริการด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาโรคจากมลพิษหรือการบริการของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของมลพิษ

สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

หัวใจสำคัญของ PRTR คือสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to know) แนวคิดในการจัดทำ PRTR เกิดขึ้นจากหายนะภัยสารเคมีของโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล อินเดียใน พ.ศ. 2527 และสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชน

PRTR เป็นเครื่องมือที่สำคัญและทรงพลังของชุมชน เพื่อเจรจาต่อรองกับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และประสบผลสำเร็จในการทำให้โรงงานเหล่านั้นรับผิดชอบต่อสาธารณะโดยยุติการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารพิษในกระบวนการผลิตและปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่สะอาดขึ้น

สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของภาคอุตสาหกรรม

นานาอารยะประเทศออกกฎหมาย PRTR โดยเป็นที่ยอมรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ซึ่งนอกจากใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ การลดใช้สารเคมีเป็นพิษในกระบวนการผลิตและการลดการปล่อยมลพิษจากโรงงาน การวางแผนรองรับเหตุฉุกเฉิน(เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับพนักงานดับเพลิง โรงพยาบาล ตำรวจ หน่วยกู้ภัย หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมี) รวมถึงความปลอดภัยด้านสารเคมีของ ผู้ประกอบการและคนงานแล้ว กฎหมาย PRTR ยังผลักดันให้บริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ตรวจสอบการใช้วัตถุดิบของตน(ซึ่งปกติแล้วไม่เคยตรวจสอบ) และทำให้อุตสาหกรรมเหล่านั้น คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด

ข้อมูลจากระบบ PRTR ยังถูกนำใช้ในการตัดสินใจทางการเงินมากขึ้น  นักวิเคราะห์การลงทุนใช้ข้อมูลดังกล่าวให้คำแนะนำลูกค้าที่ต้องการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทประกันใช้ข้อมูล PRTR เพื่อดูหนี้สินทางสิ่งแวดล้อมที่อาจแฝงอยู่

หน่วยงานรัฐสามารถใช้ข้อมูลในโครงการลดการใช้สารพิษโดยเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัท ตามจำนวนสารเคมีในบัญชีรายชื่อการปล่อยสารพิษของโรงงาน และจำนวนคนทำงาน ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมก็ใช้ข้อมูลเพื่อยกระดับในการป้องกันมลพิษ ตั้งเป้าในการลดการปล่อยของเสีย แสดงเจตจำนงว่าจะลดการปล่อยของเสีย และรายงานความก้าวหน้าของการลดการปล่อยของเสีย ข้อมูลสาธารณะเหล่านั้นช่วยกระตุ้นให้บริษัทหันมาปรับปรุงแนวทางการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอีกด้วย

© Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

เชื่อมโยงคนทำงาน ผู้บริโภคและผู้เสียภาษี

เราสามารถรวมพลังเพื่อจัดให้มีระบบการผลิตและการบริโภคที่เป็นธรรมและยั่งยืน ผู้บริโภคในประเทศไทยมีแนวโน้มตระหนักมากขึ้นในเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยของสินค้าที่วางขายในท้องตลาด ทั้งยังอาจสนใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหากทราบว่าสินค้านั้นอาจก่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

คนทำงานทั้งหลายถูกจ้างให้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ การเรียกร้องให้ลดกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะเชื่อมโยงได้ดีกับการรณรงค์ด้านอาชีวอนามัยของคนทำงานเพื่อลดอันตรายทางกายภาพ หรือทางเคมีที่เกิดจากกระบวนการผลิต

การปรับเปลี่ยนแบบแผนการผลิตผลิตภัณฑ์ย่อมส่งผลกระทบต่อคนงาน ต้องสร้าง “การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (Just transition)” เมื่อการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมขยายไปสู่กระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการปฏิรูปทางการเงิน เช่น ปฏิรูประบบภาษีเชิงนิเวศ เป็นต้น จะกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนทำงานและผู้บริโภคได้

ถึงเวลาของหลักการป้องกันไว้ก่อน

เมื่อเกิดอุบัติภัยสารเคมีและความเสี่ยงภัยจากมลพิษขึ้น หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมควบคุมมลพิษ หรือกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น มักจะแก้ปัญหาตามหลัง ด้วยการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบเฉพาะหน้าซึ่งยังไม่เพียงพอ และไม่อาจรับประกันว่า ชุมชนและสังคมไทยโดยรวมจะไม่เผชิญกับผลกระทบและความเสี่ยงจากมลพิษซ้ำซากต่อไปไม่สิ้นสุด

การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากผลกระทบจากสารมลพิษเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามานานเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่ผู้กำหนดนโยบายทั้งหลายต้องรับรองกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนเป็นธรรมและการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

ข้อมูลอ้างอิง

[1] ระหว่างปี 2521 จนถึงปี 2557 สถิติอุบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับวัตถุเคมี และกิจกรรมการผลิต การขนส่ง การเก็บ การใช้สารเคมีและการกำจัดกากของเสียเกิดขึ้นอย่างน้อยที่สุด 1,147 ครั้ง (หรือโดยเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน) http://www.chemtrack.org/stat-accident-number.asp 

[2] ในร่างกฎหมายว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ(PRTR) ครอบคลุมถึง สารมลพิษที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์สินหรือสิ่งแวดล้อม รวมถึงสารมลพิษตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (1)เป็นสารก่อมะเร็ง (2) เป็นสารก่อการกลายพันธุ์ (3) เป็นสารที่มีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (4) เป็นสารที่มีพิษเรื้อรัง (5) เป็นสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (6) เป็นสารที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ (7) เป็นสารที่ทำลายชั้นโอโซน (8) เป็นสารมลพิษอินทรีย์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (8) สารอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือสิ่งอื่นใด ที่อาจทาให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม

[3] รายละเอียดเพิ่มเติมว่าด้วยการขับเคลื่อนกฎหมาย PRTR เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน http://www.earththailand.org/th/document/139 และร่างกฎหมายฉบับเต็ม https://bit.ly/39WBoq3 

[4] https://www.nci.go.th/th/Today/download/แผนยุทธศาสตร์สถาบันมะเร็งแห่งชาติ%20พ.ศ.%202560-2564_27919.pdf 

[5] https://www.tisco.co.th/th/advisory/top5-deadliest-group-diseases-thailand.html 

[6] หน่วยปฏิบัติการวิจัยหลักการจัดการสารเคมี (Core Research Unit on Chemical Management)

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.chemtrack.org/stat.asp อ้างอิงรายชื่อสารก่อมะเร็ง สารก่อการกลายพันธ์ และสารพิษต่อระบบสืบพันธ์ จำนวน 269 รายการ (ที่สามารถเชื่อมโยงกับพิกัดได้) จากรายชื่อสารทั้งหมด 1,383 รายการ ของ Table 3.1 ใน Annex VI กฎหมายการจำแนกและติดฉลากสารเคมี/เคมีภัณฑ์ของ สหภาพยุโรป (Regulation (EC) No 1272/2008 on classification, labelling and packaging of substances and mixtures, CLP)  ซึ่งเป็นกฎหมายการจำแนกประเภทและติดฉลากที่สอดคล้องกับระบบ GHS

[7] https://pubs.acs.org/doi/10.1021/acs.est.9b06379?ref=PDF 

[8] What a Waste 2.0 – A Global Snapshot of Solid Waste Management to 2050

[9] https://www.greenpeace.org/thailand/publication/8570/polluting-paradise/  

[10] https://gahp.net/wp-content/uploads/2019/11/Thailand-HPAPP-Draft-11.15.19.pdf