ตั้งแต่การสูญเสียที่อยู่อาศัยอย่างไม่คาดคิด ไปจนถึงการสูญพันธ์ุของสัตว์หลากหลายชนิดที่สร้างความสะเทือนใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกของเรากำลังถูกคุกคามด้วยความโลภของมนุษย์ ทั้งการแสวงหาผลประโยชน์ การบุกรุกพื้นที่ เหนือสิ่งอื่นใดการกระทำเหล่านี้คือการแสวงหาผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์เราและสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ต่างเชื่อมโยงกัน ทุกชีวิตต่างพึ่งพาอาศัยกันผ่านระบบของความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นระบบที่จะทำให้เราเติบโตและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายและถูกเผา พื้นที่ดังกล่าวถูกนำมาใช้สำหรับการเลี้ยงปศุสัตว์ในเมืองโปร์ตู เวลยู เมืองหลวงของรัฐฮงโดเนีย ประเทศบราซิล © Christian Braga / Greenpeace

ขณะนี้โลกของเราเดินทางมาถึงทางแยกของวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะในปีนี้จะมีการจัดประชุมอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (The Convention on Biological Diversity (CBD) COP15 ) ขึ้นที่เมืองคุนหมิง จีน และการประชุมนี้เองจะมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะตัดสินว่า เราในฐานะหนึ่งในชุมชนของโลกจะสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพโลกอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า

เพื่อให้การประชุมว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพดังกล่าวประสบความสำเร็จได้ เราจะต้องผลักดันการปกป้องชุมชนชาวพื้นเมือง ชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งสิทธิพลเมืองของกลุ่มคนเหล่านี้โดยเฉพาะสิทธิในที่ดิน ทั้งนี้กรีนพีซ ยังสนับสนุนนโยบายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก โดยเรียกร้องให้ทั่วโลกปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573 ด้วยภูมิปัญญาและประสบการณ์ของทั้งชนพื้นเมืองเองและชุมชนท้องถิ่นที่มีต่อการปกป้องผืนป่าและผืนน้ำ ยิ่งทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ

9 เมษายน เครือข่ายชนพื้นเมือง The Free Land Camp ในบราซิล เข้าร่วมการประท้วงเพื่อสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย การประท้วงโดยสันติวิธีครั้งนี้ใช้เพลงและการเต้นรำของชนพื้นเมืองเพื่อสื่อถึงความสำคัญของสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน © Tuane Fernandes / Greenpeace

เพราะความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเกี่ยวโยงกับเราและความเป็นธรรมทางสังคม เราอยากนำเสนอ 10 สถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเชื่อมโยงถึงความหลากหลายทางชีวภาพบนโลก

  1. ปี 2564 ที่ผ่านมา  มีพื้นที่ป่าไม้เพียง 9% ของโลกเท่านั้นที่ยังอุดมสมบูรณ์และไม่ถูกคุกคาม
  2. ป่าแอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่าฝนไปแล้ว 17 % และยังมีพื้นที่ป่าฝนอีก 17% ที่เสื่อมโทรมลงจากการถูกคุกคาม
  3. มีพื้นที่ในมหาสมุทรเพียง 3% เท่านั้นที่มนุษย์ยังไม่ได้เข้าไปแสวงหาทรัพยากร
  4. ชุมชนพื้นเมืองเดนิ (The Deni) ซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่ยังคงอาศัยอยู่ในบราซิลจนถึงปัจจุบัน เริ่มกำหนดขอบเขตพื้นที่การประมงของชุมชนในปี 2554 และด้วยการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามภูมิปัญญาของพวกเขาทำให้สามารถเพิ่มปริมาณของทรัพยากรประมงที่จับได้ขึ้นถึง 425% หลังจากผ่านมา 11 ปี
  5. จากการดูแลผืนป่าของชนพื้นเมืองทำให้ปัจจุบัน อินโดนีเซียยังคงรักษาผืนป่าในปาปัวตะวันตกไว้ได้อย่างอุดมสมบูรณ์และอยู่ในระดับที่มีหลากหลายทางพันธุ์พืชสูงกว่าพื้นที่เกาะอื่นๆ ในโลก
  6. ทุก ๆ ปี มีฉลามถูกฆ่าตายกว่า 10 ล้านตัวจากการประมงเชิงพาณิชย์ ซึ่งทำลายระบบนิเวศทางทะเลและคุกคามวิถีชีวิตของชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คอยดูแลปกป้องให้ทะเลและมหาสมุทรยังคงอุดมสมบูรณ์ และมีวิถีชีวิตแบบประมงยั่งยืน
  7. สหภาพแอฟริกา (ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มสมาชิกจากอนุสัญญาด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 55 ประเทศ) เป็นสหภาพที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนามากมายรวมถึงจีน โดยสหภาพได้เผยแพร่ข้อเสนอ กองทุนความหลากหลายทางชีวภาพโลก เพื่อสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในการร่วมปกป้องระบบชีวภาพและพัฒนาเศรษฐกิจ ด้วยข้อเสนอกองทุนอย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ภายในปี 2573 และหลังจากนั้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนจากจีนภายใต้ชื่อ กองทุนคุนหมิง ที่จะมีเงินประกัน 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นทุนในการปกป้องระบบความหลากหลายทางชีวภาพอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ยังไม่มีสัญญาณจากผู้บริจาคเดิมอย่างกลุ่มประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง
  8. ทางออกในการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ผิดพลาดคือความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ หนึ่งในทางแก้ปัญหาที่ผิดพลาดนั่นคือ การชดเชยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าทั้งกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศและกองทุนปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งความพยายามในการอนุรักษ์ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนในท้องถิ่น ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพทุก ๆ เป้าหมาย เช่น เป้าหมายการสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลเอง ต้องให้สิทธิ์กับชนพื้นเมืองและกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเป็นกลุ่มหลักในการพัฒนาเป้าหมาย
  9. การปกป้องพื้นที่ทะเลแลมหาสมุทรเป็นความท้าทายใหม่ ข้อเสนอของกรีนพีซ 30×30 แผนการปกป้องมหาสมุทรโลก กำหนดขอบเขตพื้นที่ในมหาสมุทร (ซึ่งกินบริเวณพื้นที่มหาสมุทรกว่าครึ่งโลก) จำลองออกมาเป็นแผนที่ขนาด 25,000 ตาราง แต่ละตารางกำหนดพื้นที่ 100 x 100 กิโลเมตร เพื่อนำมาวิเคราะห์และกระจายรูปแบบเขตการคุ้มครองทางทะเลที่แตกต่างกันถึง 458 รูปแบบ ประกอบไปด้วยการปกป้องสัตว์ป่า ที่อยู่อาศัย และการศึกษาทางด้านสมุทรศาสตร์ที่สำคัญ โดยแผนการดังกล่าวจะเอื้อให้นักวิจัยได้คำนวนฉากทัศน์หลายร้อยฉากทัศน์ของระบบชีวภาพทางทะเลและมหาสมุทรในเขตคุ้มครอง ในกรณีที่ระบบไม่ได้รับอันตรายจากกิจกรรมของมนุษย์
  10. อนุสัญญาด้วยความหลากหลายทางชีวภาพประกอบไปด้วยประเทศ 195 ประเทศ อย่างไรก็ตาม วาติกันไม่ได้ลงนามร่วมเป็นสมาชิก ส่วนสหรัฐอเมริการ่วมลงนามแต่ยังไม่ได้อนุมัติตัวอนุสัญญา ซึ่งโดยปกติแล้วในขั้นตอนต่อไปจะมีการส่งตัวแทนไปเจรจาต่อรอง

ออกัส ริค ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารระหว่างประเทศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก