หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครคนใหม่คือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 หรือปัญหาการจัดการขยะ และเมืองที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า

กรีนพีซ ประเทศไทย ขอเสนอสถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมข้อเสนอที่อยากฝากเป็น “การบ้านให้ผู้ว่าฯ คนใหม่” เพื่อให้กรุงเทพฯเป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”

เมืองปลอดฝุ่น

ชีวิตคนกรุงเทพฯ ต้องทนอยู่กับ PM2.5 ในเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ เราต้องเจอกับฝุ่น PM2.5 ที่เกินทั้งค่ามาตรฐานไทยและค่ามาตรฐานของ WHO ซึ่งปัจจุบันไทยยังใช้ค่ามาตรฐานความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ที่สูงกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่มาก ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2565 มีเพียงแค่ 4 วันเท่านั้น ที่อากาศในกรุงเทพฯ ไม่ทะลุเกินค่าแนะนำของ WHO 

แม้ปัญหา PM 2.5 อาจจะเลยกรอบอำนาจของผู้ว่าฯกทม.​ แต่เราสามารถเริ่มแก้ปัญหานี้ได้ เริ่มต้นที่กทม. กรีนพีซ ประเทศไทย เห็นว่าแนวทางซึ่งผู้ว่าฯ กทม. สามารถใช้เป็นแนวนโยบาย เพื่ออากาศที่ดีกว่าเดิมได้โดยการ

  • ร่วมกับเครือข่ายและประชาชนจัดทำแผนติดตามการทำงานของกทม.
  • นำร่องเขตพื้นที่ปลอดฝุ่น (Sandbox) พัฒนาโครงข่ายการเดินทางปลอดมลพิษ พัฒนาพื้นที่สีเขียว ห้ามไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดฝุ่นเช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและรถยนต์ดีเซล
  • ใช้ค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก(WHO) เพื่อกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
  • Open Data เชื่อมข้อมูลภูมิอากาศแหล่งต่างๆให้แสดงผลแบบ real time และเปิดเป็นข้อมูลสาธารณะ
  • บังคับใช้ผังเมือง (urban planning) อย่างจริงจังสําหรับอาคารที่กําลังจะสร้างใหม่ เพื่อลดปัญหาการสะสมมลพิษทางอากาศในระยะยาว

ปฏิวัติขยะเหลือศูนย์

ปริมาณขยะของกทม.ในแต่ละวันมีมากถึง 10,000 ตัน แต่ที่ผ่านมามีเพียงการรณรงค์ให้ครัวเรือนช่วยกันคัดแยกขยะโดยไม่มีปัจจัยสนับสนุนอื่นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะลดขยะได้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น แผนพัฒนา 20 ปี ของกทม. ยังเน้นสร้างระบบกำจัดขั้นสุดท้าย เช่น การสร้างโรงงานเผาขยะ โรงไฟฟ้าขยะ โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า 30,000 – 40,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมงบติดตามประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ค่าดำเนินการ ค่าบำรุงรักษา ค่ากำจัดเถ้าที่เหลือจากการเผา 

แม้จะลงทุนใหญ่โตขนาดนี้ กรุงเทพฯ ยังต้องจ่ายค่าฝังกลบขยะที่เหลือจากการเผาอีกมากกว่า 2.7 ล้านตัน

กรีนพีซ ประเทศไทย เชื่อว่า ปัญหาขยะจะไม่มีวันจบ ถ้ามุ่งจัดการแค่ปลายทาง จึงเสนอให้ ‘ตั้งเป้าหมาย ลดขยะให้ได้ ¾ ในอีก 4 ปี’ โดยกระจายอำนาจการจัดการขยะไม่ให้รวมศูนย์อยู่แค่ที่กรุงเทพฯ เปิดให้ชุมชนเข้ามาร่วมจัดการ ดึงวัสดุที่ยังมีประโยชน์ออกมาไม่ให้กลายเป็นขยะ โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

  • ร่วมกับผู้ผลิตสินค้า ผู้จัดจำหน่าย ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในการเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ถูกทิ้งเป็นขยะ (Extended Producer Responsibility: EPR) สนับสนุนระบบมัดจํา-รับคืน บรรจุภัณฑ์
  • ลดขยะจากต้นทาง ร่วมมือกับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ซาเล้ง รถรับซื้อ ร่วมพัฒนาระบบการจัดการขยะ การแยกขยะรองรับวัสดุประเภทต่างๆ
  • พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการลดใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น ตู้เติมน้ำดื่มที่สะอาด
  • เปิดให้ชุมชนร่วมจัดเก็บและร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขนและกำจัดขยะ
  • ผลักดันให้หน่วยบริหารจัดการขยะมูลฝอย (ได้แก่ เก็บกวาด เก็บรวบรวม เก็บขน และกําจัด) ให้กลายเป็นหน่วยเทศพาณิชย์เชิงธุรกิจ
  • ทบทวนการประเมินผลกระทบสิงแวดล้อมและสุขภาพของศูนย์คัดแยกและโรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการขยะที่อยู่ใกล้ชุมชน

มหานครพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศ และพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่ผูกขาดโดยหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทย ไม่เปิดทางเลือกมากนักให้ผู้บริโภค การที่รัฐยังต้องการผูกขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ประชาชนกลายเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้า ราคาที่ประชาชนที่ต้องจ่ายมีภาระด้านต้นทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลและต้นทุนสุขภาพ รวมทั้งปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อีกด้วย

กรีนพีช ประเทศไทย เห็นว่าผู้ว่าฯควรส่งเสริมให้กรุงเทพฯเป็นมหานครพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ดังนี้

  • ส่งเสริมให้อาคารสํานักงานในกรุงเทพฯผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์รูฟท็อปใช้เอง เช่น สํานักงานศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร สํานักงานเขต โรงพยาบาล 
  • สนับสนุนภาคเอกชนเป็นส่วนหนี่งของระบบโซลาร์รูฟท็อป ผลิตไฟฟ้าร่วมกัน
  • ลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสํานักงานของกรุงเทพฯ โดยทยอยติดตั้งภายในใน 4 ปี และจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 15.16 เมกะวัตต์ ซึ่งจะคืนทุนในระยะเวลา 5-6 ปี 
  • จัดทําข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน และมาตรการการสนับสนุนต่าง ๆ แก่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
  • ประสานหน่วยงานด้านนโยบายพลังงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น คณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้านครหลวง สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน เพื่อกําหนดแผนปฏิบัติการการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่อาคารกลุ่มเป้าหมาย
  • พัฒนากองทุนพลังงานแสงแดดและพันธบัตรเพื่อพลังงานหมุนเวียน (green bond) โดย กรุงเทพมหานคร หรือร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อเป็นแหล่งทุนและกลไกส่งเสริมและสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปของครัวเรือนและสถานประกอบการเอกชน เพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครรวม 785 เมกะวัตต์ในระยะเวลา 4 ปี
  • พัฒนาฝีมือช่างไฟฟ้าโดยโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ปีละ 200-300 คน เพื่อส่งเสริมการดําเนินการติดตั้ง ทําความสะอาด และบํารุงรักษาโซลาร์รูฟท็อปอาคารต่าง ๆ
  • ขึ้นทะเบียนบริษัทติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปที่ได้รับการรับรองจากกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้ที่สนใจติดตั้งมีความมั่นใจในการดําเนินการ