จะเกิดอะไรขึ้นกับขวดพลาสติกของน้ำอัดลมที่คุณดื่มแล้วทิ้งลงถังขยะรีไซเคิล หรือนำมาแยกที่บ้าน เพื่อขายต่อให้ผู้รับซื้อรายย่อยและนำไปที่โรงงานรีไซเคิลต่ออีกที

เส้นทางของขวดเหล่านี้มีรายละเอียดแตกต่างกันตามประเทศและความเข้มแข็งของรัฐบาล แต่มักเป็นเส้นทางที่คล้ายคลึงกันมาก คือ เมื่อบริโภคแล้วคัดแยกเก็บรวบรวมเป็นถุงใหญ่และขายให้แก่ผู้รับซื้อ ขวดเหล่านั้นก็จะถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลเพื่อล้างและทำความสะอาดต่อไป  หรือสุดท้ายไปที่หลุมฝังกลบ เตาเผาขยะหรือมหาสมุทร

เส้นทางของขวดน้ำอัดลมหากมาถึงที่โรงงานรีไซเคิล ขวดเหล่านี้จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการทำความสะอาด ล้างและลอยน้ำในอ่างคัดแยกเพื่อแยกพลาสติกฝาออกจากพลาสติกขวด และ นำมาแช่ในสารเคมีเพื่อทำให้ป้ายชื่อของผลิตภัณฑ์หลุดลอกออกไป หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการสับเพื่อทำให้เป็นเกล็ด วัสดุที่ได้ออกมาในตอนท้าย คือ ฝาเกล็ดขวดเกล็ดและป้ายชื่อ ขั้นตอนสุดท้ายคือ การรีดเกล็ดหรือละลายลงในเม็ด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้พลังงานเพื่อให้ความร้อนแก่เกล็ด กระบวนการนี้สามารถปล่อยสารเคมีอันตรายออกสู่อากาศ และน้ำ เนื่องจากสารเคมีถูกความร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปและปลดปล่อยสารพิษ

โจทย์สำคัญคือโรงงานรีไซเคิลเหล่านี้ต้องมีการจัดการบำบัดอากาศและบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน กำจัดสารเคมีได้อย่างถูกต้องและตรวจสอบให้แน่ใจว่าการปล่อยอากาศและน้ำจากกระบวนการรีไซเคิลจะไม่ตกค้างและสร้างผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายในประเทศไทย มีกฎหมายการจัดการของเสียอันตราย ซึ่งขยะรีไซเคิลถูกจัดอยู่ในหมวดนี้ ที่ผ่านมา การนำเข้าขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก ถูกป้อนเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลที่ไร้มาตรฐาน ตามสถิติจากกรมโรงงาน เดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีมากกว่า 148 โรงงาน แต่โรงงานรีไซเคิลเถื่อนอีกจำนวนมากยังคงแฝงตัวดำเนินการอยู่ด้วยเช่นกัน
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าขวดน้ำอัดลมหรือบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลอื่นๆจะไปสิ้นสุดในโรงงานที่ได้มาตรฐาน คำตอบคือ เป็นไปได้น้อยมาก จากการรวบรวมข้อมูลจาก รายงานวิกฤตความสะดวกสบาย โดยกรีนพีซสากล พบว่ามีปริมาณพลาสติกเพียงร้อยละ 9 จากทั่วโลกเท่านั้นที่ถูกนําไปรีไซเคิล ซึ่งอัตราการรีไซเคิลพลาสติกที่ได้จากครัวเรือนในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นมักจะน้อยกว่าร้อยละ 50 โดยปริมาณของพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลให้กลับไปอยู่ในรูปของบรรจุภัณฑ์มีน้อยมาก นอกจากนี้การรีไซเคิลยังใช้พลังงานสูงในกระบวนการรีไซเคิลและมีการปล่อยมลพิษอีกด้วย อีกทั้งพลาสติกเหล่านี้ส่วนใหญ่จะกลายเป็นพลาสติกที่คุณภาพต่ำลงไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้อีก กระบวนการนี้เรียกว่า Down cycle

รีไซเคิลไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของปัญหาขยะพลาสติก อาจจะเป็นเพียงหนทางหนึ่งที่จะบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่ปลายทางเท่านั้น ซ้ำยังอาจจะทำให้ปัญหาเกิดความซับซ้อนขึ้นไม่ว่าจะทำให้เกิดพลาสติกคุณภาพต่ำเพิ่มขึ้น ปัญหาน้ำและอากาศเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการรีไซเคิลที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนรอบโรงงานรีไซเคิล และอื่นๆอีกมากมาย

ดังนั้นเพื่อลดภาระโลกและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต สิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบคือ การลดใช้พลาสติกตั้งแต่ต้นทาง พัฒนาหาวัสดุทางเลือกที่ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ความหวังนี้คงต้องฝากไว้กับผู้ผลิต

ในงานประชุม Our Ocean 2018 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตอาหารและน้ำดื่มยักษ์ใหญ่ต่างออกมาให้คำมั่น จะปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถรีไซเคิลทั้งหมด 100% ภายในปี ค.ศ. 2020-2030 ซึ่งถ้ามองจากตัวเลขที่ขยะรีไซเคิลพลาสติกสามารถนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้จริงเพียง 9% ก็คงไม่ช่วย เพราะอีก 91%ก็จะไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบ เตาเผาขยะหรือมหาสมุทรของเรา

การประกาศคำมั่นเหล่านี้ ถ้ามองในมิติการหาทางออกของบริษัทถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่รอบด้าน แต่ทั้งหมดคือการแก้ที่ปลายทาง ทั้งที่บริษัทเหล่านี้สามารถหยุดปัญหาตั้งต้นทางได้
กรีนพีซร่างข้อเสนอแนะให้ภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) และบริษัทต่างๆ ให้ความสําคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการดังต่อไปนี้

  • มีความโปร่งใส : เปิดเผยข้อมูล “รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint)” โดยสาธารณชนเข้าถึงได้
  • มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยกําหนดเป้าหมายรายปีในการลดรอยเท้าพลาสติกของพลาสติกแบบใช้แล้ว ทิ้งอย่างต่อเนื่องไปจนถึงการยุติการใช้อย่างสมบูรณ์
  • ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จําเป็นมากที่สุดภายปี 2562
  • ลงทุนกับระบบนํากลับมาใช้ซํ้าและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่  เพิ่มการลงทุนอย่างมีในนัยสําคัญในการสร้างภาชนะ ที่สามารถนํามาเติมใหม่ได้และนํากลับมาใช้ได้ และลงทุนสร้างนวัตกรรมระบบการกระจายสินค้าแบบใหม่ที่ลดความ จําเป็นของการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้

มาร่วมกันส่งเสียงบอกบริษัทเหล่านี้เปลี่ยนนโยบายให้นไปสู่อนาคตปลอดพลาสติก เพื่อส่งต่ออนาคตสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัยได้ ที่นี่