ในยุคที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ แต่ปัญหาที่หลายคนอาจมองข้ามไปนั่นคือวิกฤตพลังงาน หลายคนเริ่มมองหาพลังงานหมุนเวียนที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและก่อมลพิษให้ได้น้อยที่สุด พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถรับรู้ได้จากความร้อนจนจะเป็นลมและทุกคนบนโลกเข้าถึงได้อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับหลายคนที่กำลังมองหาพลังงานหมุนเวียนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พลังงานงานแสงอาทิตย์ที่เรานำมาผลิตไฟฟ้าโดยผ่านแผงโซลาร์เซลล์นั้นนอกจากช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนแล้วนั้นยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรอย่างปั๊มน้ำ รถมอเตอร์ไซค์ หรือแม้กระทั่งรถไถนาได้อีกด้วย วันนี้เราจะมาชวนคุยกับนักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี จังหวัดที่มีค่าความเข้มข้นของแสงมากที่สุดในประเทศไทยว่าถ้าต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานกับเครื่องจักรหรือพาหนะเพื่อขับขี่ต้องทำอย่างไร และทำได้จริงหรือ?

ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เราจะสังเกตเห็นได้เลยว่าแทบทุกหลังคาบ้านหรือตามท้องไร่ ท้องนาส่วนมากจะติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้กับปั๊มน้ำไม่เว้นแม้กระทั่งวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงเองก็มีโครงงานที่นักเรียนนำแผงโซลาร์เซลล์ไปต่อยอดเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า

ปั๊มน้ำพุโซลาร์เซลล์

ภาณุมาศ คำสร้อย หรือดิว เล่าให้ฟังว่าโดยปกติปั๊มน้ำทุกประเภทจะใช้ไฟเยอะ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วิทยาลัยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนสูงมาก จึงมีแนวคิดอยากทำปั๊มน้ำจากโซลาร์เซลล์เพื่อเป็นอีกทางที่จะช่วยลดค่าไฟฟ้าของวิทยาลัย “ปั๊มน้ำพุตรงทางเข้าของวิทยาลัยเป็นปั๊มน้ำที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาเลยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูง เลยคิดว่าถ้าเราสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้คงจะดี และเหตุผลที่เลือกใช้โซลาร์เซลล์เป็นเพราะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้จริงและกระบวนการผลิตไฟฟ้ายังไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วย” โครงการปั๊มน้ำพุโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นมาประมาณสองปีแล้วโดยมีรุ่นพี่นำร่องโครงงานนี้มาและมีอาจารย์สาธิต จีนขจรคอยให้คำปรึกษา

อาจารย์สาธิต จีนขจร อาจารย์สาขาช่างไฟฟ้า เสริมว่าปั๊มน้ำพุตรงทางเข้าของวิทยาลัยเป็นปั๊มน้ำขนาด 500 วัตต์จึงติดแผงโซลาร์เซลล์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 300 วัตต์สองแผงเพื่อให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการการใช้ไฟฟ้าของปั๊มน้ำ หลังจากซื้ออุปกรณ์ติดตั้งโซลาร์เซลล์มา นักเรียนจะเป็นประกอบชิ้นส่วน ต่อวงจรไฟฟ้า วางตำแหน่งของสวิตช์ไฟฟ้า เบรกเกอร์และไทม์เมอร์ควบคุมเวลาต่าง ๆ สร้างตู้ควบคุมปั๊มน้ำขึ้นมากันเอง รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาด้วย แต่เรื่องของการวางระบบจะมีช่างที่ชำนาญจัดการให้

ดิวยังเล่าต่อไปอีกว่าทางวิทยาลัยได้ติดตั้งปั๊มน้ำพุโซลาร์เซลล์มาสองปีกว่าแล้วแต่ยังสามารถใช้งานได้ดีและแทบไม่มีการบำรุงรักษาอะไรนอกจากการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์และเช็คตู้ควบคุมเป็นระยะ

ยังมีอีกโครงงานที่น่าสนใจมากอย่างรถไถนาและจักรยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ชินวัฒน์ หน้าแก้ว หรือคม เล่าให้พวกเราฟังถึงแนวคิด มุมมองของตัวเองและเพื่อน ๆ ที่ลงมือพัฒนาและทำโครงงานชิ้นนี้ออกมาเป็นรถไถนาและจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง

รถไถนาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไถนาและบรรทุกของได้จริง

รถไถนาไฟฟ้าเริ่มมาจากอาจารย์อภิชา ไชยสุรักษา มีที่นาเยอะแต่รถไถที่ใช้งานเสียค่อนข้างบ่อยและเปลืองน้ำมันจึงมีแนวคิดรถไถไฟฟ้าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน และลดมลพิษทางเสียง จึงกลายเป็นรถต้นแบบให้คมและเพื่อน ๆ ได้พัฒนาเรื่อย ๆ จนเป็นรถไถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้งานได้จริง

คมเล่าว่ารถไถไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริงทุกวันนี้เป็นรถต้นแบบที่ใช้แหล่งพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์สองแผงที่ติดอยู่บริเวณเทลเลอร์โดยกลไกการชาร์จไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และเก็บพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ โดยปกติแล้วถ้าชาร์จไฟฟ้าเต็มที่จะสามารถใช้งานรถได้มากถึง 8 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่ไม่ได้ใช้งาน หากจอดไว้กลางแดดแล้วชาร์จไฟฟ้าจากแสงแดดผ่านโซลาร์เซลล์เข้าแบตเตอรี่จะสามารถเพิ่มชั่วโมงการทำงานของรถไถได้อีกด้วย 

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ชาร์จไฟด้วยแผงโซลาร์และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและอากาศ

นอกจากรถไถไฟฟ้าแล้ว คมและเพื่อน ๆ ได้พัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเพื่อเข้าร่วมประกวดกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงแห่งประเทศไทย เงื่อนไขของการเลือกรถจักรยานยนต์ของคมคือเลือกจากรถที่ได้รับความนิยม อะไหล่ในการซ่อมจากการพังเพราะเชื้อเพลิงน้ำมันค่อนข้างแพง “รถรุ่นที่เราเลือกมาเป็นรถที่มีค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา การที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ของรถมาใช้ไฟฟ้าแทนจะช่วยประหยัดและยืดระยะเวลาการใช้งานได้ในระยะยาวบวกกับเป็นรถตลาดในประเทศไทยที่สามารถนำไปจดทะเบียนเพื่อใช้งานได้อย่างถูกกฎหมายหากชนะการประกวด”

รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ดัดแปลงขึ้นมาเลือกใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ แม้จะไม่ได้ติดแผงโซลาร์เซลล์ไว้ที่ตัวรถแต่สามารถเลือกชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ส่วนอุปกรณ์และวิธีการชาร์จได้มีการดัดแปลงหัวเสียบเพื่อให้ใช้งานกับแผงโซลาร์เซลล์ได้โดยใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันนี้สามารถวิ่งได้ไกล 70-80 กิโลเมตรและความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และไม่มีเสียงของเครื่องยนต์ระหว่างการทำงานเลย

ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำพุโซลาร์เซลล์ รถไถนาไฟฟ้าหรือจักรยานยนต์ไฟฟ้าล้วนเป็นฝีมือของนักเรียน วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง โดยทุกคนเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเล็งเห็นโอกาสที่จะสร้างอาชีพให้ตัวเองในอนาคตจากความรู้เกี่ยวกับการแผงโซลาร์เซลล์ “ทุกวันนี้คนหันมาสนใจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นถ้าเราสามารถผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าออกมาขายได้คงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไปได้ไกล แต่นอกจากเรื่องของธุรกิจก็อยากถ่ายทอดความรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนจากแผงโซลาร์เซลล์ให้เพื่อน ๆ หรือน้อง ๆ ที่วิทยาลัยเหมือนกันเพราะในระยะยาวการเปลี่ยนมาใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าดีกว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงอย่างถ่านหินที่ก่อให้เกิดมลพิษแน่นอน”

นอกจากนี้ทางวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงมีแผนจะเพิ่มรายวิชาเกี่ยวกับแผงโซลาร์เซลล์เข้าไปในปีการศึกษาหน้าเพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาอย่างจริงจัง

ปฎิวัติพลังงานบนหลังคาผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย

วิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรงคือวิทยาลัยแห่งที่ 5 จากเป้าหมายทั้งหมด 7 แห่งนำร่องทั่วประเทศ ของกองทุนแสงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลายเพื่อทำงานรณรงค์ผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปพลังงานโดยการลงมือทำจริงในพื้นที่เป้าหมายและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานหมุนเวียน 

กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ทำข้อเสนอฉบับนี้ขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำระบบ net-metering มาใช้ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีระบบโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการรับมือกับความห่วงกังวลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า และการจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน