ทุกคนต่างรู้ว่าปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 แย่แค่ไหน แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้คือปีนี้มีข่าวดีเบา ๆ คือ ประเทศไทยประกาศใช้ค่ามาตรฐาน PM2.5 ใหม่แล้ว แต่มีผลบังคับใช้จริงปีหน้า อ่านแล้วเหมือนจะดีใจ แต่ช้าก่อนเราขอเล่ามหากาพย์เบื้องหลังข่าวดีเก้อดังนี้

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

กรีนพีซและเครือข่ายประชาชนเดินหน้า #ฟ้องทะลุฝุ่น ผลักดันให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมโดยมีหนึ่งในข้อเรียกร้องคือ ‘การปรับค่ามาตรฐานให้ใกล้เคียงองค์การอนามัยโลก (WHO) มากขึ้น’ ที่ต้องปรับค่ามาตรฐานฝุ่นเนื่องจากค่ามาตรฐานฝุ่นไทยสุดจะล้าหลัง ปรับครั้งล่าสุดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนำซ้ำปี 2564 ที่ผ่านมา WHO ได้ปรับค่ามาตรฐานลงอีก ทำให้ค่ามาตรฐานไทยห่างไกล WHO ถึง 3-5 เท่า! การปรับค่ามาตรฐานฝุ่น จะทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้อง ‘ยกระดับมาตราการลดฝุ่น’ เพื่อให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานใหม่นั่นเอง

หลังจากได้ #ฟ้องทะลุฝุ่นไป อะไร ๆ เหมือนจะดีขึ้น ฟ้าเริ่มสว่าง (หลังจากมืดครึ้มมาตั้ง 10 ปี) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าจากภาครัฐแล้ว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 2/2565 ได้มีมติเห็นชอบ ให้ประกาศใช้ร่างมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 แต่หารู้ไม่! ข่าวดีที่มา เอาข่าวร้ายมาด้วย เมื่อพล.อ.ประวิตรบอกค่า PM2.5 รายปีปรับได้ในปีนี้ แต่ค่า PM2.5 รายวันขอปรับปีหน้า เพราะ “มาตรการต่าง ๆ ยังไม่พร้อม” 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าใครไม่งงจะงงมาก แล้วที่ผ่านมานี้หน่วยงานรัฐเอาเวลาไปทำอะไรกันอยู่ ประชาชนสูด PM2.5 ทุกวัน แต่รัฐกลับมาบอกให้ประชาชน “ใจเย็น” 

ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐอาจปกป้องผู้ก่อมลพิษหลัก มองว่าผลประโยชน์ผู้ก่อมลพิษสำคัญกว่าปอดประชาชนหรืออย่างไร?

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

ภาคประชาชนต่างท้วงติงถึงการทำงานที่ไม่เป็นธรรมของรัฐต่อประชาชนคนตัวเล็ก ซื้อเวลา เอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรมตัวใหญ่ในครั้งนี้ โดยเทวรักษ์ รุ่งเรืองวิรัชกิจ กรีนพีซ ประเทศไทย ทวงถามว่า “ผลกระทบต่อประชาชนมีอยู่ตลอด แต่ภาครัฐกลับจะขอให้ประชาชนใจเย็น ต้องรอประกาศใช้ค่า 24 ชั่วโมงในปีหน้า ทางภาครัฐจะชี้แจงต่อสาธารณะอย่างไร”

วิทยา ครองทรัพย์ ผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือ ยังให้ความเห็นว่า “จากที่ฟังทางรัฐมีความกังวลผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ มากกว่าผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนรึเปล่า” พร้อมยืนยันว่าควรมีการประกาศบังคับใช้มาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าใหม่นี้พร้อมกับค่าเฉลี่ยรายปี ไม่เกินเดือนกันยายน 2565 เพื่อให้ทันต่อการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นตลบที่จะเริ่มช่วงเดือนพฤศจิกายน

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้ชี้แจงว่า “แม้จะมีการประกาศปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามมาก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนที่ต้องพยายามลดการสร้างฝุ่น ซึ่งสาเหตุที่บังคับใช้มาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในปี 2566” ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ข้ออ้างของการซื้อเวลาไปอีก 1 ปี คือ จะต้องให้เวลานี้กับประชาชนด้วยเพื่อต้องลดฝุ่นด้วยตัวเอง อย่างนั้นหรือ?

ท้ายที่สุดแม้ค่ามาตรฐานอาจไม่ทำให้ฝุ่นหายไปในพริบตา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ามาตรฐานคือ ‘ก้าวแรก’ เพื่อให้มาตรการลดฝุ่นต่างของทั้งภาครัฐและเอกชน ๆ ขยับตาม และการชะลอบังคับใช้ค่ามาตรฐานรายวันไปปีหน้าเท่ากับว่าปลายปีนี้คนไทยต้องสูดฝุ่น PM2.5 ที่ถูกประเมินจากค่ามาตรฐานเก่าที่ไม่คุ้มครองสุขภาพประชาชนกันต่อไป เพราะหน่วยงานรัฐบอกให้คนไทย “ใจเย็น ๆ”

หากเห็นว่าเรื่องมลพิษทางอากาศฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องที่จะใจเย็นได้ ร่วมเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air

อ่าน มองปัญหาฝุ่นไทย : ทำไมการจัดการไม่ไปไหนสักที และเหตุใดเรื่องนี้จึงไม่จบแค่เริ่มที่ตัวเอง

ข้อเสนอของ “กรีนพีซ” ว่าด้วยปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ที่มาจากการเลือกตั้ง”

#RightToCleanAir