แม้ว่าในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการถอนวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว ออกไปอย่างไม่มีกำหนดแล้ว แต่สิ่งที่ภาคประชาสังคมวิตกกังวลกันนั้น คือ รายละเอียดในร่างพรบ.ข้าว ที่อาจมุ่งเน้นที่การผลิตข้าวเพื่อการค้าและรวมศูนย์ ดูราวกับว่าให้ความสำคัญบทบาทภาคเอกชนและบริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เหนือวิถีชีวิตการเพาะปลูกของเกษตรกรและความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ท้องถิ่น การแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจะนำไปสู่การผูกขาดด้านกรรมสิทธิเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเอกชน และการริดรอนสิทธิของเกษตรกรชาวนาจากการเก็บและแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวตามวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

เราอยากลองชวนมาย้อนอ่านข้อคิดที่น่าขบคิดถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน โดยคุณโจน จันได จากบทสัมภาษณ์ที่รวบรวมไว้ในหนังสือ “งานเก็บเมล็ดพันธุ์ คืองานสุดท้ายในชีวิตผม” (พิมพ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2555) ซึ่งสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตกับเมล็ดพันธุ์ที่ยากจะแยกจากกัน และยังสือถึงการพึ่งพาตนเอง ที่ควรจะเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นเกษตรกร

โจน จันได เกษตรกรผู้แสวงหาความสุขจากการใช้ชีวิตบนวิถีพึ่งตนเอง เขาผันตัวเองมาเป็นผู้เก็บและแบ่งปันเมล็ดพันธุ์บนความเชื่อว่า “ความหลากหลายทางเมล็ดพันธุ์เป็นมรดกของโลก มิใช่ของคนใดคนหนึ่ง”

“ตอนนี้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมันหายไปจากโลกเร็วมาก เพราะว่าการพัฒนาอาหารในปัจจุบันเป็นการพัฒนาไปสู่ความด้อย เราพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อตลาด เพื่อให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งผูกขาดอาหารเท่านั้นเอง ไม่ได้พัฒนาเพื่อมนุษย์ […] ตอนผมเป็นเด็ก ครอบครัวผมปลูกข้าวมากกว่า  5 ชนิด บางชนิดน้ำท่วมมันยืดได้ถึง 1 เมตรภายใน 2-3 วันเพื่อหนีน้ำ เพราะฉะนั้นน้ำท่วมเรายังมีข้าวกิน บางชนิดฝนแล้งมันก็ยังทนได้ ฉะนั้นฝนแล้งก็ยังมีข้าวกิน บางชนิดทนทานต่อโรคมาก เวลาโรคระบาดมามันก็ยังรอด ฉะนั้นการปลูกข้าวหลาย ๆ ชนิดทำให้มีความมั่นคง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรายังมีข้าวกิน แต่ปัจจุบันนี้เราปลูกข้าวหมอมะลิ 105 อย่างเดียว น้ำท่วมก็ตาย แล้งก็ตาย แมลงลงก็ตาย ไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลย” โจน จันได กล่าว

มูลนิธิชีววิถี วิเคราะห์ไว้ ก่อนที่สนช.จะมีการถอนร่างพรบ.ข้าว ว่า “ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับ “พันธุ์ข้าวรับรอง” ซึ่งพัฒนาโดยกรมการข้าวเอง และของเอกชน แต่ไม่มีหลักประกันว่าสายพันธุ์ข้าวซึ่งได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจากวิถีวัฒนธรรมของชาวนาเองจะได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน” โดยการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ระหว่างชาวนาซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 21 (ข้อมูลจากกรมการข้าว ปี 2561) กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามร่างพรบ.ข้าว ซึ่งสัดส่วนการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ระหว่างชาวนาด้วยกันนั้นสูงมากกว่าสัดส่วนการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวของธุรกิจเอกชนและของกรมการข้าวและศูนย์ข้าว และเป็นสิทธิของชาวนาในการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น


ข้อบังคับของพรบ.ดังกล่าวทำให้ชาวนาต้องพึ่งพิงบริษัท แทนที่การพึ่งพาตนเองและเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน โจน จันได ได้เคยแสดงข้อคิดที่สอดคล้องกันไว้ว่า

“เมื่อเกษตรกรต้องพึ่งบริษัท บริษัทก็ผูกขาดเมล็ดพันธุ์มากขึ้น ราคาเมล็ดพันธุ์ก็แพงขึ้น การทำเกษตรทุกวันนี้ไม่สามารถทำให้คนอยู่ดีกินดีได้ คนที่จะอยู่ดีกินดีคือบริษัท […] แล้วชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก จะกลับไปหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านก็หายากแล้ว บรรพบุรุษของเราพัฒนาพันธุ์ที่แข็งแรงเพื่อส่งมาให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจกับรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อตลาดอย่างเดียว โดยพัฒนาให้ได้พันธุ์ที่อ่อนแอที่สุด ต้องใช้สารเคมีถึงจะอยู่ได้ ให้ผลผลิตเยอะจริง แต่ให้ครั้งเดียวแล้วตายหมด กลายเป็นว่าเราพัฒนาพันธุ์ที่แย่ที่สุดเพื่อที่จะส่งมอบให้ลูกหลานเป็นมรดกต่อไป

ผมเลยรู้สึกว่า เราเป็นเหมือนมนุษย์ยุคสุดท้ายที่เนรคุณต่อบรรพบุรุษ ต่อธรรมชาติ ต่อทุกอย่างเลย ชีวิตเราอยู่ในมือบริษัทไม่กี่บริษัท”

ปัญหารุนแรงที่น่าจะตามมาอันเป็นผลกระทบจากการจำกัดการพัฒนาและขายเมล็ดพันธุ์แต่เพียงภาครัฐและบริษัท คือ การสูญหายไปของเมล็ดพันธุ์แท้ สายพันธุ์ข้าวจะถูกพัฒนาให้อ่อนแอลง และอนาคตความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์ไม่ปลอดภัย ตัวอย่างของผลกระทบที่ชัดเจนนั้น คนรักสุขภาพที่ชอบกินข้าวไรซ์เบอร์รีคงต้องเสียใจ เพราะ การซื้อขายเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่จะผิดกฎหมายทันที เนื่องจากกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ มาตรานี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการค้าขายของประชาชนอย่างร้ายแรง

โจน จันได ยังได้เล่าถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้ว่า

“สมัยจอมพลสฤษดิ์ เมืองไทยต้องการพัฒนาข้าวเพื่อส่งออก ต้องการเป็นผู้นำการส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาก็ไปจ้างนักวิชากรจากสหรัฐฯ มาคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ข้าว นักวิชาการคนนี้ก็สั่งห้รวบรวมพันธุ์ข้าวจากทั่วประเทศ ได้มา 200 กว่าชนิด ก็ลองปลูก เอาปุ๋ยไปใส่ แปลงไหนที่ตอบสนองต่อปุ๋ยดี คือใส่ปุ๋ยแล้วโตดี เขาก็เก็บไว้ แปลงไหนไม่ชอบปุ๋ย ก็ตัดออก พันธุ์ข้าวที่ได้คือพันธุ์ที่ชอบปุ๋ยทั้งสิ้น […] เวลาขายก็ขายเป็นเซ็ต ซื้อเมล็ดพันธุ์แล้วต้องซื้อปุ๋ยกับยาฆ่าแมลงไปด้วย ไม่ใช้ก็ไม่ได้เพราะมันจะไม่โต อย่างข้าวหอมมะลิแท้ เมล็ดเล็ก ๆ ก้นเรียว ๆ หุงแล้วหอมไกลมาก แต่ทุกวันนี้เราพัฒนาให้เมล็ดใหญ่ ให้รวงดก แต่กลิ่นไม่เหมือนเดิม ไม่หอม รสชาติก็ไม่เหมือนเดิม แต่ได้ผลผลิตสูง ปลูกแล้วขายได้ การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันไม่ได้พัฒนาให้คนกิน แต่เพื่อขาย เพื่อยึดครองตลาด เท่านั้นเอง”

กลไกการรับซื้อของภาครัฐและบริษัทก็อาจะเป็นอีกผลพวงที่ตามมาจากการจำกัดการรับรองของกรมการข้าว ต่อไปชาวนาจะไม่สามารถปลูกพันธุ์อื่นได้เนื่องจากเขาจะไม่รับซื้อ .. แล้วจะขายอะไรได้ หากไม่ใช่ข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ถูกควบคุมโดยบริษัทไม่กี่บริษัท หนี้สินก็จะตามมา

“อาหารคือความมั่นคงมากกว่าเงิน เราเชื่อว่า เมล็ดพันธุ์ไม่ใช่สินค้า แต่เมล็ดพันธุ์คือชีวิต เราไม่ควรขายชีวิตให้ใคร” ข้าวคือชีวิตของคนไทย และคำกล่าวนี้ของโจน จันได ยังคงดังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของเมล็ดพันธุ์และชีวิตของคนได้ดีที่สุด วิธีการเก็บ ปลูก กิน แลกเปลี่ยน เหมือนดังที่เกษตรกรไทยเราทำกันมาแต่โบราณ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่รัฐบาลกำลังหลงลืมไปหรือเปล่า?

ขอบคุณบทสัมภาษณ์เรื่องราวการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และการพึ่งตนเอง

โจน จันได,งานเก็บเมล็ดพันธุ์ คืองานสุดท้ายในชีวิตผม, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพฯ:พันพรรณ พับลิชชิ่ง, 2555)

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

About the author

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์
นักเขียน นักสิ่งแวดล้อม ผู้เชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของทุกคนจากการเลือกกิน เลือกซื้อ เลือกใช้ และการลงมือทำ เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด