ในงานเปิดตัววิทยาลัยแสงอาทิตย์โดยกองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยเทคนิคโคกสำโรง นอกจากกิจกรรมภายในวิทยาลัยแล้ว เรายังได้ออกมาสำรวจชุมชนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ทีมีศักยภาพและความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หากใครได้เข้ามาในเขตโคกสำโรง คงสังเกตเห็นแผงโซลาร์เซลล์กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งอำเภอ ทั้งที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับใช้เป็นพลังงานภายในอาคาร ตั้งอยู่บริเวณบ่อน้ำบาดาลเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานของปั้มน้ำ และติดตั้งอยู่กลางไร่นาเพื่อใช้ในการเกษตร

“โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” แห่งหมู่บ้านอำนวยสุข

คุณเสริม เนระมา © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

เรานัดพบกับคุณลุงเสริม เนระมา ที่วัดราษฎร์อุษาราม ซึ่งอยู่ใกล้กับชุมชนหมู่บ้านอำนวยสุข หมู่12 ต.วังเพลิง จากหน้าทางเข้าวัดจะสังเกตเห็นแผงโซลาร์เซลล์ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นพร้อมกับบ่อน้ำบาดาล ซึ่งคุณครูเสริมเล่าให้ฟังว่าโซลาร์เซลล์จำนวน 16 แผ่นนี้เป็นแหล่งพลังงานของปั้มน้ำที่สูบน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อใช้งานร่วมกันทั่วทั้งหมู่บ้าน

คุณลุงเสริมเป็นข้าราชการเกษียณอายุและเป็นเป็นกรรมการหมู่บ้านอำนวยสุข ที่อาสาทำงานอย่างแข็งขัน และเป็นกำลังหลักของการดูแลระบบน้ำภายในหมู่บ้านอำนวยสุข เนื่องจากบ้านเรือนบริเวณนี้ส่วนมากไม่มีน้ำประปาใช้ จึงจำเป็นต้องมีปั้มน้ำบาดาลเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน

คุณลุงเสริมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “โครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์” โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้กับปั้มน้ำว่า เมื่อปี 2563 หมู่ 12 ได้รับเงินจากโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป็นงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละชุมชนจากรัฐบาลมาจำนวน 1,500,000 บาท จึงประชุมร่วมกันกับสมาชิกในหมู่บ้านว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไร โดยในที่สุดจึงตัดสินใจร่วมกันว่าจะใช้เงินจำนวน 200,000 บาท เพื่อมาใช้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในการใช้งานกับปั้มน้ำบาดาลซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของทุกคนในหมู่บ้าน จึงได้เขียนโครงการและยื่นเรื่องต่อกองทุนหมู่บ้านจังหวัด หลังจากนั้นก็เริ่มดำเนินการตามแผนงานในการศึกษารายละเอียดรูปแบบต่าง ๆ ของโซลาร์เซลล์ โดยเริ่มแรกได้ติดตั้งตามคำแนะนำของร้านค้าในชุมชน

คุณเสริม เนระมา © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“หมู่บ้านเรามีทำรายรับรายจ่ายประจำปี และผมได้ทำบัญชีแยกออกมาเรียกว่า “เงินน้ำ” ของหมู่ 12 ซึ่งจะรวบรวมจากค่าน้ำที่เก็บได้จากแต่ละครัวเรือนในอัตราหน่วยละ 4 บาท โดยแต่ละเดือนจะหักค่าใช้จ่ายจำนวน 2,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการ ค่าอุปกรณ์ และค่าซ่อมบำรุง จากนั้นจึงนำมาคิดกำไรขาดทุน โดย 7 เปอร์เซ็นต์ของกำไรจะหักเข้ากองทุนหมู่บ้านทุกเดือน”

คุณลุงเสริมอธิบายว่าปั้มน้ำที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชนหมู่ 12 มีจำนวน 2 บ่อ มีขนาดลึก 32 เมตร และ 28 เมตร โดยติดโซลาร์เซลล์จำนวนรวมทั้งหมด 16 แผ่นในระบบออนกริด (On grid ) ซึ่งเป็นระบบโซลาร์เซลล์แบบต่อเข้ากับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า ซึ่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวันและใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืน เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าก่อนและหลังติดตั้งโซลาร์เซลล์จะพบค่าไฟลดลงโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละ 2,000 บาท

“ผมคิดว่าข้อดีของการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อใช้กับปั้มน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานคือ ค่าใช้จ่ายลดลง เสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน และทำให้มีเงินกำไรเพื่อสมทบกับกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่เดิมเพื่อสะสมไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชนร่วมกัน”

โซลาร์เซลล์และพื้นที่เกษตรผสมผสานของครอบครัว

คนต่อไปที่เราได้พบคือคุณณัฐพงษ์ ไยดี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินการเกษตรผสมผสานร่วมกับญาติพี่น้องอีกหลายคน โดยได้จัดสรรที่ดินจำนวน 10 ไร่ มาแบ่งทำการเกษตร ปลูกพืช และเลี้ยงปลา โดยตั้งใจให้พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางที่ญาติ ๆ จะมาพบปะกันเพื่อพักผ่อนในโอกาสต่าง ๆ 

ในบริเวณที่ดิน 10 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ปลูกข้าว พื้นที่ปลูกไม้ผลเช่น กล้วย มะม่วง มะขามเทศ มะพร้าวน้ำหอม ไม้ที่ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงาอย่างไม้มะค่าและยางนา นอกจากนั้นยังมีบ่อเลี้ยงปลาซึ่งเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัว ประกอบด้วย ปลานิล ปลาบึก ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลาตะเพียน 

คุณณัฐพงษ์ ไยดี © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

คุณณัฐพงษ์เล่าจุดเริ่มต้นว่าพื้นที่นี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่ต้องการสร้างพื้นที่สำหรับรวมญาติ ที่สามารถทำการเกษตรผสมผสานเพื่อใช้สอยได้ภายในเขตที่ดินของครอบครัว แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึง จึงได้ร่วมกันระดมสมองเพื่อวางแผนร่วมกันในการออกแบบพื้นที่เกษตร รวมทั้งระบบน้ำที่จะใช้ในการเพาะปลูก 

ด้วยความที่คุณณัฐพงษ์เองเป็นคุณครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์จึงมีความรู้เรื่องการออกแบบและติดตั้งระบบ รวมทั้งมีญาติพี่น้องที่เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ และการเกษตร จึงเป็นที่มาของการสร้างบ่อบาดาลลึก 42 เมตรเพื่อเป็นแหล่งน้ำในไร่ โดยติดตั้งปั้มน้ำซับเมอร์สโดยใช้แหล่งที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ 4 แผง กำลังไฟ 1,800 วัตต์สำหรับปั้มน้ำไปใช้ทั่วทั้งพื้นที่ โดยเชื่อมต่อน้ำจากบ่อบาดาลผ่านคลองไส้ไก่ซึ่งมีท่อเชื่อมต่อกันโดยรอบจึงทำให้มีน้ำใช้ทั่วถึงทั้งพื้นที่ 10 ไร่ 

คุณณัฐพงษ์ทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่ใช้มาก็พบว่าระบบเสถียรดี เราลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท เมื่อคำนวนแล้วจะคุ้มทุนภายใน 5 ปี แม้ต่อไปมีไฟฟ้าเข้ามาถึงบริเวณนี้ก็คงจะยังเลือกใช้โซลาร์เซลล์อยู่เพราะคุ้มค่ากว่า หรือในอนาคตก็สนใจลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม และมองเห็นโอกาสสร้างรายได้ในการขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด หากกฎระเบียบเปิดโอกาสให้ทำได้สะดวก”

วัดเขาลังพัฒนากับความก้าวหน้าด้านพลังงานหมุนเวียน

เราเดินทางต่อมาที่หนึ่งในสถานที่สำคัญของโคกสำโรงอย่างวัดเขาลังพัฒนา เพื่อพบกับพระครูสุนทรปรีชากิจ หรือพระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดเขาลัง ตั้งแต่แรกที่เข้ามาในบริเวณวัดจะเห็นว่าพื้นที่ถูกบริหารจัดการอย่างเป็นสัดส่วน และสังเกตเห็นแผงโซลาร์เซลล์ที่ถูกติดตั้งอยู่บนหลังคาของอาคารสวดมนต์ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างศาลาใหญ่

พระครูสุนทรปรีชากิจ หรือพระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดเขาลัง © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

พระอาจารย์แดงเริ่มต้นว่า “เราเริ่มจากความไม่มี ไม่มีอะไรเลย และเนื่องจากพื้นที่วัดเขาลังนี้เคยเป็นพื้นที่ป่ามาก่อนทำให้ในระยะ 4 กิโลเมตรโดยรอบไม่มีชุมชนอาศัยอยู่เลย เริ่มแรกที่เข้ามาบุกเบิกคือต้องใช้เครื่องปั่นไฟและมอเตอร์ในการสูบน้ำเพื่อใช้ในวัด แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการทำให้ระบบน้ำและไฟฟ้าทำงานได้ไม่ดีนัก อีกทั้งในสมัยนั้นเทคโนโลยีและการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปก็ยังไม่แพร่หลายเช่นในปัจจุบัน จึงต้องศึกษาและลองผิดลองถูกมาหลากหลายวิธี”

พระอาจารย์แดงเล่าประสบการณ์เริ่มแรก จากที่ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในระบบออฟกริด (Off grid) เพื่อใช้ไฟฟ้าเป็นจุด ๆ ภายในวัดก่อน ทำให้ต้องเรียนรู้เรื่องการใช้แบตเตอร์รี่ ระบบอินเวอร์เตอร์ มาจนถึงปัจจุบันที่เปลี่ยนมาใช้ระบบออนกริด โดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 10 กิโลวัตต์ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ในการกระจายไฟฟ้าไปตามสายไฟฟ้าหลักได้ทั่วทั้งวัด

พระอาจารย์แดงตั้งข้อสังเกตต่อว่า ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มรู้ว่ามีทางเลือกให้ใช้พลังงานหมุนเวียน แต่อาจจะติดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายและต้นทุน โดยหากในอนาคตจะช่วยพัฒนาเพื่อสงเคราะห์ชุมชนในด้านนี้ ก็พร้อมแบ่งปันความรู้ หากชุมชนพร้อมและตั้งใจที่จะทำและเรียนรู้อย่างแท้จริง 

โซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาวัดเขาลังพัฒนา © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

นอกจากนั้น พระอาจารย์แดงยังมีความสนใจเรื่องกระบวนการในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยมองว่าแม้ปัจจุบันมีไฟฟ้าเข้ามาถึงแล้วก็ยังเลือกที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในระบบออนกริดควบคู่ไปด้วยเพราะมองว่าพลังงานหมุนเวียนดีต่อโลกโดยรวมมากกว่า อีกทั้งการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันซึ่งมาจากพลังงานถ่านหินคือการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์และทรัพยากรโลก 

พระอาจารย์แดงทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจอีกว่า “พลังงานยังเป็นต้นเหตุของสงคราม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมาจากการแย่งชิงแหล่งพลังงาน หากแต่ละประเทศมีพลังงานที่สามารถใช้ได้อย่างพอเพียง มนุษย์ก็ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกัน”

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน