คุณสมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานแม่แจ่มโมเดลพลัส และผู้อำนวยการสถาบันอ้อผญา © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ในวันที่ภาคเหนือตอนบนถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควัน กรีนพีซได้ไปพูดคุยกับหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันเชียงใหม่ ผู้ประสานงานแม่แจ่มโมเดลพลัส และผู้อำนวยการสถาบันอ้อผญา (องค์กรสถานประโยชน์) คุณสมเกียรติ มีธรรม ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถึงปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน การชิงเผา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

แม่แจ่มเป็นอำเภอที่มีพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของเชียงใหม่ และมักถูกกล่าวอ้างว่าเป็นอำเภอที่เป็นต้นเหตุของการก่อมลพิษเสมอมา คุณสมเกียรติเล่าว่า ก่อนที่อำเภอแม่แจ่มจะหันมาปลูกข้าวโพดนั้น วิถึชีวิตดั้งเดิมของชุมชนเน้นการประกอบอาชีพจากการปลูกข้าว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ผักกาด หอมหัวแดง กระเทียม บ้างก็มีสวนผลไม้ เช่น มะขาม มะม่วง แต่เป็นการปลูกเพื่อกินเอง รวมถึงมีการทำไร่หมุนเวียน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ กระเหรี่ยง ม้ง ลั๊ว ราวร้อยละ 65 ที่เหลือเป็นคนพื้นราบ จนกระทั่งหลังพัฒนามาเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ไร่หมุนเวียนก็แทบจะไม่เหลือแล้ว

ผลกระทบของหมอกควันไฟและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2557-2558 จนกระทั่งคุณสมเกียรติกล่าวว่า “มองเสาไฟฟ้าต้นที่สองแทบไม่เห็นแม้ในเวลากลางวัน ไม่ไหวแล้ว ต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง” เมื่อคุณภาพชีวิตพร่าเลือนแต่ปัญหาชัดเจนขึ้น คุณสมเกียรติและภาคีเครือข่ายจึงเริ่มต้นขยับเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และเป็นที่มาของแม่แจ่มโมเดลแก้ปัญหาหมอกควันกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ และเพื่อสลัดคำกล่าวหาว่าคนแม่แจ่มเป็นผู้ก่อมลพิษ

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นมีเศษที่เหลือหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต คือ ต้นและใบในไร่ อีกส่วนคือเปลือกและแกนข้าวโพด ซึ่งจำเป็นจะต้องกำจัดด้วยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อเตรียมการเพาะปลูกฤดูกาลถัดไป สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุข้อมูลไว้ในปี 2560 ว่า มีปริมาณซังข้าวโพดเหลือทิ้ง จำนวน 1.2 ล้านตัน/ปี เปลือกข้าวโพด จำนวน 3.1 แสนตัน/ปี หรือคิดเป็น 25% ของผลผลิต โดยข้อมูลจากงานวิจัยในช่วงปี 2557 ระบุว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีการเผาซังข้าวโพดกลางแจ้งประมาณ 213,624.82 ตันทุกปีก่อให้เกิดอนุภาคขนาดเล็กปริมาณรวมประมาณ 7.28 ตัน (เจียรวัฒนกนก, 2557) Open Development Thailand (ODT) ระบุว่าในช่วงระหว่างปี 2552-2554 และในช่วง 2557 พื้นที่ป่าจำนวนมากในแม่แจ่มถูกแปลงเป็นพื้นที่เกษตรเพื่อการปลูกข้าวโพดเป็นส่วนใหญ่ โดยในแม่แจ่มมีการปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นจาก 86,304.27 ไร่ (หรือเท่ากับ 34,122 เอเคอร์) ในปี 2552 เป็น 105,466.14 ไร่ (หรือเท่ากับ 41,698 เอเคอร์) ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็น 144,879.99 ไร่ (หรือเท่ากับ​ 57,281 เอเคอร์) ในปี พ.ศ. 2556 ทั้งนี้ มีจำนวนเกษตรกรทั้งหมด 8,332 ราย ที่ปลูกข้าวโพดได้ผลผลิตรวม 100,547 ตัน ในปี 2556  อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะผ่านมาราวสิบปี แต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายของฝุ่นควันพิษประจำปีของภาคเหนือตอนบนก็ยังไม่จางหาย ถึงเวลามาสำรวจกันอีกครั้งถึงเรื่องราวของข้าวโพด หมอกควัน และบริษัทอาหารสัตว์รายใหญ่ กับความเชื่อมโยงในแม่แจ่มโมเดลยุคปัจจุบัน

แม่แจ่มโมเดลคืออะไร 

แม่แจ่มโมเดลเป็นแพลตฟอร์ตแก้ไขฝุ่นควันจากการเผาที่เชื่อมโยงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และไฟป่า เริ่มตั้งแต่ปี 2557-2561 ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสิทธิที่ดิน ฟื้นป่าสร้างรายได้ และการจัดการป่าไม้ของชุมชน ซึ่งแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การเปลี่ยนแปลงการปลูกพืชเศรษฐกิจ ลดการใช้สารเคมี ลดการเผา หันมาปลูกพืชที่รักษาความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ อาทิ ไผ่ และกาแฟ 

คุณสมเกียรติ มีธรรม
คุณสมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานแม่แจ่มโมเดลพลัส และผู้อำนวยการสถาบันอ้อผญา © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นโมเดล แต่ช่วงนั้นมีความสำเร็จในการบริหารจัดการไฟป่าในปี 2559-60 ทางรัฐบาลก็ให้ความสนใจ นำเอาเรื่องของแม่แจ่มขยายไปเป็นโมเดลขยายผลให้กับพื้นที่อื่น ๆ ในภาคเหนือตอนบน โดยนำเรื่องการแก้ไฟป่ามาตีพิมพ์ในวารสารไทยคู่ฟ้า ทำคลิปเผยแพรแพร่ผ่านรายการเฉพาะกิจ และเข้าสู่มติครม. จึงกลายเป็นแม่แจ่มโมเดลแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าในช่วงสองปีแรก คือปี 2559 และปี 2560” คุณสมเกียรติกล่าว “แต่ต่อมามีการเปลี่ยนนายอำเภอในปี 2562 โดยคนต่อมาไม่ได้สานต่อแนวทางที่ทำไว้ ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานใหม่ ไม่ได้เอาแนวทางเดิมมาพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น งานทุกอย่างจึงชะลอไปตลอดสมัยนายอำเภอคนใหม่ จนทำให้หมอกควันไฟป่ารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนกระทั่งปีที่แล้ว (2564) หมอกควันสะสมก็สูงที่สุดในช่วงสามปีที่ผ่านมา”

และในระหว่างนี้เอง คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลและภาคีเครือข่ายก็ไม่ย่อท้อ ตั้งแต่ปี2562 คณะทำงานจึงมุ่งแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินและสิทธิทำกินของชุมชน ด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์ภูมิสารสนเทศเชิงภูมิศาสตร์เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน”ขึ้นมา เป็นส่วนงานหนึ่งในการจัดทำข้อมูลแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลง ออกทะเบียนประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน เหมือนกับการออกโฉนด (หนังสือประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นหนังสือแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ใช้เอกสารสิทธิ์ ระบุชื่อเจ้าของที่ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.ลงนาม) มีข้อตกลงใช้ที่ดินร่วมกันว่าจะไม่ขาย ไม่ขยาย ไม่บุกรุก เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการพื้นที่ กำกับติดตาม และผลักดันสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับชาวบ้าน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วราว 74 หมู่บ้าน 5 ใน 7 ตำบลของอำเภอแม่แจ่ม เหลือบางตำบลที่ยังไม่แล้วเสร็จ

จากฐานข้อมูลที่ดินนี้เอง คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัส ได้ร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายใน 2 แนวทางคือ นำแม่แจ่มโมเดลพลัสเข้าสู่มติครม.ให้เป็นโครงการพิเศษในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน ซึ่งครม.ได้มีมติรับทราบ แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ อีกแนวทางหนึ่งคือ ร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันให้มีการแก้กฏหมายและออกมติครม.ใหม่ ในแนวทางนี้ยังผลให้เกิดพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 2562 (พรบ. คทช.) และมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบให้ชุมชนอยู่กับป่าอย่างมีเงื่อนไขได้ แต่ก็ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้กับชาวบ้านเกิดการปรับเปลี่ยนเท่าไหร่ แม้ได้มอบคทช.ให้กับชาวบ้านในตำบลช่างเคิ่ง และกำลังเร่งดำเนินการในตำบลกองแขกและตำบลท่าผาก็ตาม

นี้จึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้คณะทำงานแม่แจ่มโมเดลพลัสต้องมาทำเรื่องฟื้นป่าและสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือการส่งเสริม แปรรูป และการตลาด โดยใช้ไผ่และกาแฟเป็นไม้เบิกนำในการฟื้นป่าสร้างรายได้ ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกเป็นปีที่สาม มีพื้นที่ปลูกกาแฟราว 150 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่แบ่งจากไร่ข้าวโพดเดิม และปลูกไผ่ราว 2,000 ไร่ นับเป็นการแก้ไขทั้งความยั่งยืนทางรายได้และปัญหาหมอกควันไปพร้อมๆกัน

พื้นที่ภูเขาในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

นอกจากนั้น ยังร่วมกับภาคีเครือข่าย สร้างพื้นที่รูปธรรมในการจัดการดิน น้ำ ป่า อย่างครบวงจร เพื่อการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพื้นที่สีเขียว ตามแนวทางแม่วากโมเดล ซึ่งเป็นโมเดลเล็ก ๆ เฉพาะหมู่บ้าน ที่มีการจัดการน้ำในรูปแบบบ่อพวงสันเขา ปลูกพื้นระยะสั้น กลาง ยาว รวมกลุ่มกัน และทำกันตลาดด้วยตนเอง พืชระยะสั้นได้แก่ มะเขือ มะเขือม่วง องุ่น ผักสลัด พืชระยะกลางก็จะเป็นพวกกาแฟ ไผ่ ไม้ผลในช่วงสามปี และพืชระยะยาว ก็จะเป็นพวกไม้สัก ไม้ประดู่ เป็นต้น ซึ่งดำเนินการมาแล้วสามปี แม้ว่าปัจจุบันยังมีการปลูกข้าวโพดก็ตาม เกษตรกรหลายคนก็เริ่มทยอยปรับเปลี่ยนการปลูกอย่างอื่นต่อเนื่อง “พื้นที่ปลูกข้าวโพดของแม่แจ่มมีทั้งหมดราว 100,000 ไร่ เริ่มกลายเป็นพื้นที่สีเขียว โดยมีไผ่และกาแฟ 2,150 ไร่ แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อย แต่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งได้เริ่มทำกันแล้วในวันนี้” คุณสมเกียรติกล่าว

ความสำเร็จนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือหลายภาคส่วน ทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐทั้งในและนอกพื้นที่ สถานบันการศึกษา และภาคเอกชนที่เข้ามาหนุนเสริม ไม่เว้นแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ของไทย

คุณสมเกียรติเล่าว่า “ในช่วงแรกซีพีเอฟเข้ามาทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแม่แจ่ม แต่ก็ถอนตัวออกไป ด้วยแรงกดดันสังคมหรืออะไรก็ไม่ทราบได้ ต่อมาทางเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ส่งฝ่ายบริหารมาเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ และมีการตั้งโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ภายใต้การทำงานของสำนักงานใหญ่ ที่เรียกว่าหน่วยงานพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร ลงมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าร่วมกันในปี 2559 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่เป็นแม่แจ่มโมเดล”

การเข้ามาของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในช่วงแรกนั้น ร่วมดำเนินการโครงการหมู่บ้านปลอดเผา ตั้งกองทุนดับไฟป่าแต่ละหมู่บ้าน กองทุนละ 3,000 บาท สองปีซ้อนคือปี2559 และปี2560 ส่วนหมู่บ้านปลอดเผา 2 หมู่บ้านให้ไร่ละ 300 บาท นอกจากนั้นยังรับฟังและนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของคุณสมเกียรติและเครือข่ายไปสร้างความยั่งยืนอีกด้วย อาทิเช่น การสนับสนุนชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่น เช่น กาแฟ และไผ่ ที่ไม่ได้อยู่ใต้เกษตรพันธสัญญาใดๆ รวมถึงจัดตั้งศูนย์สารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วม เพื่อใช้เป็นศูนย์ข้อมูลในการบริหารจัดการดินน้ำป่า กำกับและติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินและหมอกควันไฟป่า โดยในปี 2559-60 ผลจากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทำให้จุดความร้อนในพื้นที่แม่แจ่มลดลงจาก 384 จุดในปี2558 เหลือ 30 และ 29 จุดในปี2559และ2560 ส่วนพื้นที่เผาไหม้ก็ลดลง ในปี2559 ยังผลให้อำเภอแม่แจ่มได้รับรางวัลการจัดการไฟป่าที่ดีจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยในปีนั้น “เฉพาะหมู่บ้านปลอดการเผา ได้รับงบประมาณกันไปพอควร และถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งในปีนั้น จากการทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ” คุณสมเกียรติเล่า อย่างไรก็ตามในปีต่อมาโครงการดังกล่าวทางบริษัท ซีพียุติบทบาทไปตั้งแต่ปี 2562 เปลี่ยนมาให้ความสำคัญแนวทางสร้างความยั่งยืนแทน 

ปัจจุบัน บริษัท ซีพี มีบทบาทในแม่แจ่มโมเดลพลัสในเรื่องฟื้นป่าสร้างรายได้ โดยสนับสนุนปลูกไผ่และแปรรูปไผ่ ส่งเสริมและสนับสนุนกาแฟฟื้นป่าสร้างรายได้ ตั้งแต่ปลูก แปรรูป และการตลาด โดยมีพื้นที่ปลูกกาแฟร่วมกันอยู่ที่ 113 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 38 ครัวเรือน ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และระบบการจัดการน้ำบนที่สูงแม่วากโมเดล ตำบลแม่นาจร นอกจากนั้นยังร่วมกันพัฒนา Social Interprise ผลิตภัณฑ์กาแฟและผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นตามข้อเสนอของชุมชนอีกด้วย

สถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของแม่แจ่มและการเผาในปัจจุบัน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แม่แจ่มนั้นต้องยอมรับว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีประกันราคา ไม่มีเงื่อนไขผูกมัด ผู้ปลูกสามารถขายให้กับผู้ใดก็ได้ ส่วนข้าวโพดสำหรับทำเมล็ดพันธุ์ หรือที่เรียกกันว่า“ข้าวโพดถอดดอก” มีลักษณะการดำเนินการที่คล้ายคลึงกับเกษตรพันธสัญญาบางประการ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ แบบประกันรายได้ แบบประกันราคา และแบบซื้อตามราคาตลาด โดยสองแบบแรกต่างกันตรงที่ใช้ทุนบริษัทหรือทุนตนเองเท่านั้น แต่มีพันธสัญญากับบริษัทเจ้าของทุนและเจ้าของสัญญาเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นสัญญาทางใจเสียมากกว่า ถ้าเป็นแบบหลัง ใช้ทุนตนเองทั้งหมด ไม่ทำสัญญากับใคร ใคร่ขายให้ใคร่ก็ได้

ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงสองกลุ่มที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน คือ กลุ่มพ่อเลี้ยงทำเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้เอกชนรายเล็ก โดยกลุ่มนี้จะเน้นพันธสัญญาทางใจกับเกษตรกร ไม่จำกัดพื้นที่ปลูกว่ามี-ไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีการค้ำประกันราคาให้ และนำไปบรรจุภัณฑ์จำหน่ายด้วยตนเอง กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มบริษัทบริษัทขนาดเล็ก ในกลุ่มนี้จะมาส่งเสริมเพื่อนำไปทำแบรนด์เมล็ดพันธุ์ของตนเอง เช่น ช้างแดง ม้าแดง เป็นต้น หากคิดสัดส่วนการปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ เปรียบเทียบกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แล้วถือว่าน้อยมาก ข้าวโพดเมล็ดพันธุ์มีสัดส่วนประมาณอยู่ที่ร้อยละ 10 ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่านั้น

“ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แม่แจ่มไม่ใช่พันธสัญญาในระบบ คือ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ทำสัญญากับบริษัทเหมือนกับกลุ่มปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ แต่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องหลายระดับ นับตั้งแต่เกษตรกร ผู้รับจ้างโม่ นายหน้า ผู้รับจ้างขนผลผลิต ผู้รับซื้อรายย่อยในท้องถิ่นหรือพ่อค้าคนกลาง ผู้รับซื้อรายใหญ่ที่มีไซโล/เตาอบ และสุดท้ายก็คือโรงงานผลิตอาหารสัตว์” คุณสมเกียรติกล่าว

ด้วยความที่มีหุ้นส่วนเกี่ยวข้องหลากหลาย ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนกระทั่งผู้บริโภคนี้เอง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก ปลูกเท่าไหร่ก็ได้ขายทุกเม็ด จนเป็นเหตุให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาขยายออกไปเรื่อยๆ พอใกล้ถึงฤดูเพาะปลูก ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี เกษตรกรจึงต้องเตรียมพื้นที่เพาะปลูกกัน หนึ่งในหลายๆวิธีการที่นิยมและลดต้นทุนได้มากก็คือ การเผาใบ-ต้น และวัชพืชในไร่ รวมไปถึงเปลือกและแกนข้าวโพดที่กองพะเนินกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆทั้งอำเภอแม่แจ่ม

ปัจจุบัน นับแต่มีโครงการแม่แจ่มโมเดลขึ้นมา เกษตรกรเริ่มตื่นรู้และปรับตัวกันมากขึ้น การเผาต้น-ใบและวัชพืชในไร่ แม้ยังไม่หายไปแต่ก็ระมัดระวังและหาทางเลือกจัดการต้นใบและวัชพืชในไร่กันมากขึ้น เช่น ไถพรวนในกรณีพื้นที่ราบ ถ้าพื้นที่สูงชันก็นำโคมาเลี้ยงในไร่ ให้กินวัชพืชและต้นใบ หรือทำแนวกันไฟและถางก่อนเผา เพื่อให้การเผาไหม้เร็วขึ้นและลดปัญหาฝุ่นควันฟู้งกระจาย ขณะที่เปลือกและแกนข้าวโพดตามจุดโม่ต่างๆ การเผาทิ้งเผาขว้างเหมือนกับแต่ก่อนไม่มีอีกต่อไป ถูกนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก และอัดแท่งส่งฟาร์มโคที่อำเภอแม่อายและอำเภอฝาง อีกส่วนหนึ่งส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดลำพูน กิโลกรัมละ 90 สตางค์ ถึง 1 บาท 

หากแต่ในเรื่องนี้ ไม่ให้เผาเสียเลยก็คงไม่ใช่ “ชุมชนมีทางเลือกในการลดต้นทุนการเกษตรน้อยมาก ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นดอยสูงชันก็จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ การถางก็เป็นองค์ความรู้ของเขาเอง ว่าจะเผาจะทำยังไงให้ลดหมอกควันให้น้อย ช่วงเวลาการเผาต้องไว” คุณสมเกียรติเสริม

อย่างไรก็ดี คุณสมเกียรติวิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา แม่แจ่มมีจุดความร้อน และมีพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ความหนาแน่นของ PM2.5-10 ยังคงสูง ซึ่งอาจจะมีปัจจัยมาจากมลพิษข้ามพรมแดนที่ไม่ได้เกิดเฉพาะการเผาที่แม่แจ่มเท่านั้น ส่วนสาเหตุของไฟ ในช่วงหลังนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าเป็นหลัก ซึ่งเป็นการเผาพื้นที่ในป่าเพื่อล่าสัตว์และเตรียมหาของป่าในฤดูฝน รวมถึงประเด็นความขัดแย้งในชุมชน ชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ไม่ชอบผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีบ่อยๆ และที่สำคัญ การบริหารจัดการเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ในวันนี้ ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นควันที่มิอาจปฏิเสธได้ เนื่องจากการบริหารจัดการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นปัญหาซ้ำซ้อนการจัดการพื้นที่ชิงเผา เอาเข้าจริงๆ วันนี้ต้องย้อนกลับไปถามใหม่ว่า การชิงเผาสามารถช่วยได้จริงหรือไม่…?

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“ทุกวันนี้ไฟเกิดขึ้นในป่าเป็นส่วนใหญ่และควบคุมไม่ได้ แต่ก่อนไม่มีการเผาภูเขากันเป็นลูก ๆ แบบนี้ ชาวบ้านจะเผาเฉพาะพื้นที่ที่จะไปเก็บเห็ด มีการทำขอบเขต แต่ทุกวันนี้เผากันทั้งลูก การชิงเผาถูกผลักดันมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้รับการยอมรับ แต่ภายหลังหน่วยงานรัฐรับมาเป็นนโยบายชิงเผา เพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงในป่า แต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการ กับนโยบายที่ไม่ได้ใช้องค์ความรู้ป่าไม้เข้ามาจัดการ เช่น ป่าเต็งรังเป็นป่าที่ไฟเข้าได้ ไม่จำเป็นต้องเผาทุกปี เพราะรัฐไม่ได้ใช้ข้อมูลและองค์ความรู้อย่างนี้ลงมาช่วย เป็นการสั่งการแล้วให้แต่ละตำบลจัดการกันเองในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น มีคำสั่งกำหนดให้ชิงเผาภายใน 15 วันในภาคเหนือ ก็เลยเกิดการชิงเผาพร้อมกันทั้งภาคเหนือ ไม่บอกแนวทางว่าทำอย่างไร กำหนดแค่วันที่ให้ โดยไม่ใช้ข้อมูลในการบริหาร เช่น จุดความร้อนขึ้นซ้ำๆที่ไหน ก็ใช้พื้นที่นั้นเป็นตัวตั้งในการจัดการไฟป่า แต่ถ้าไม่ใช้กลไกชุมชนเป็นตัวตั้ง ก็ต้องบอกว่าผิดทาง ไม่ใช่แล้ว”

วงจรภาระหนี้สินและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ภูเขาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ท่ามกลางหมอกควันพิษ และเสียงกล่าวโทษจากคนเมือง สิ่งที่น่าหดหู่ คือ  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภาระหนี้สินของเกษตรกรแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มหนี้สินมากขึ้น คุณสมเกียรติเผยว่า “แม่แจ่มเป็นอำเภอรองสุดท้ายของเชียงใหม่มีที่เงินฝากน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเงินหมุนเวียน แค่อำเภอเดียวนี้มีหนี้สินเฉพาะ ธกส. 1,500 ล้าน ออมสิน 600 ล้าน กองทุนหมู่บ้าน 300 ล้าน ซึ่งเป็นหนี้สินที่เกิดขึ้นจากทำการเกษตร ทั้งนี้ยังไม่นับหนี้นอกระบบซึ่งเราไม่รู้ ที่เกิดจากการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

ข้อมูลจาก iGreen ระบุว่า เกษตรกรของแม่แจ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรบนพื้นที่สูงที่มีรายได้ต่ำเพียงปีละ 20,000 บาทต่อครัวเรือน จึงยากที่จะเลี่ยงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกด้วยวิธีการเผาได้ คุณสมเกียรติให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากราคาเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาที่สูงขึ้น ขณะที่ผลผลิตราคาไม่แน่นอน และผลิตเฉลี่ยต่อไร่ได้น้อยลงทุกปี เนื่องจากดินเสื่อมสภาพจากการปลูกซ้ำ ๆ บนพื้นที่เดิม รวมถึงการเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยและยา โดยปัจจุบันได้ราคาเฉลี่ยผลผลิตยังไม่หักต้นทุน 3,000-3,500 บาท ต่อไร่  (จากผลิตผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 750-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี น้อยครั้งที่ราคาจะขึ้นถึง 1,000 บาท) เมื่อหักลบกลบต้นทุนแล้วบางปีจึงไม่เหลือกำไร และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นวงจรภาระหนี้สะสม เพราะการปลูกข้าวโพดรอบใหม่เงินที่ได้มาหมดแล้ว ต้องไปกู้ยืมมาเป็นทุนใหม่ให้พอมีเงินใช้หนี้สินเป็นปีๆไป จนทำให้เกษตรกรออกจากวงจรนี้ยาก

“นอกจากนั้น การเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นยังทำได้ยาก เนื่องจากเกษตรกรขาดความมั่นใจในเรื่องการตลาด แต่สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น รับรองว่าขายกันได้ทุกเม็ด ประกอบกับการดูแลไม่ซับซ้อน ปลูกเสร็จ ใช้ยาฆ่าหญ้าและใส่ปุ๋ยเป็นช่วง ๆ ก็รอเก็บเกี่ยวได้ การดึงไปหาพืชทางเลือกใหม่จึงยาก และออกจากวงจรได้ยาก” คุณสมเกียรติกล่าว 

คุณสมเกียรติเผยข้อมูลว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดของแม่แจ่ม หากปลูกเต็มอัตรา จะมีพื้นที่ทั้งหมด 180,000 ไร่ ทุกวันนี้ลดลง และมีการเปลี่ยนไปปลูกฟักทองบ้าง หอมแดง และไม้ผลยืนต้นมากขึ้น

กลไกการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของบริษัท

แม้ว่าหลายบริษัทจะมีการจัดทำกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ แต่ในมุมมองของคุณสมเกียรติเห็นว่า “เป็นเพียงแค่แนวทางที่ยังปฏิบัติจริงไม่ได้”  และตั้งข้อสังเกตุว่า แม้เบทาโกรจะมีส่วนแบ่งตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แม่แจ่มสูงกว่าซีพี แต่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาน้อยกว่าซีพีในพื้นที่มาก หรืออาจจะเป็นเพราะสังคมวิพากษ์วิจารณ์ซีพีมากกว่าเบทาโกรก็ไม่ทราบได้

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

“กระบวนการตรวจสอบที่เป็นไปได้ยากนั้น เนื่องจากตัวแปรอย่างพ่อค้าคนกลางที่ควบคุมไม่ได้ บอกว่ามีการรับซื้อเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ถามว่าทั่วประเทศมีข้าวโพดปลูกทั้งหมดแค่ไม่ถึงร้อยละ 20 (จาก 4.5 ล้านไร่ทั่วประเทศ) หรือเท่ากับ 1-2 ล้านไร่เท่านั้น แม่แจ่มไม่มีเอกสารสิทธิ์เลย” คุณสมเกียรติกล่าว “การรับซื้อข้าวโพดผ่านกลไกอีกหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นซีพี เบทาโกร หรือกรุงไทย ต่างรอรับซื้อตามประกาศหน้าโรงงาน จากนั้นมีบริษัทรับโควต้าไป เช่น บริษัท ก รับไปจำนวน 10,000 ตัน จากนั้นนำมากระจายให้กับตัวแทน เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือคนทั่วไป พ่อค้าคนกลางไป พ่อค้าคนกลางก็ส่งต่อให้คนรวบรวมผลผลิตในพื้นที่ หรือล้ง ก่อนส่งกลับมายังบริษัท อีกกรณีหนึ่งคือ หากเป็นสหกรณ์กับเกษตรกร ก็จะเป็นการตัดกลไกตรงกลางไปบ้าง และส่งต่อไปยังบริษัทที่รับโควต้าจากหน้าโรงงานอีกที ด้วยระบบซับพลายเออร์ 3-4 ช่วง เช่นนี้ ทำให้เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าข้าวโพดถูกรับซื้อมาจากไหน ตรวจสอบย้อนกลับได้ยากมาก”

ทุกคนมีส่วนในปัญหาฝุ่นควัน

จากวาทกรรมที่มักกล่าวโทษเกษตรกรและคนดอยเป็นผู้เผาและก่อมลพิษนั้น แท้จริงแล้วประเด็นนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สัมพันธ์และเชื่อมโยงทุกภาคส่วนจากการบริโภคของเราทุกคน เรื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงหมายถึงคนด้วย เพราะมีการแปรรูปไปทำขนม ผสมอยู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมถึงนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายการส่งเสริมพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อเศรษฐกิจและการส่งออก 

“คนในเมืองก็เป็นสาเหตุของฝุ่นควันด้วยเช่นกัน จากการที่คุณก็เป็นส่วนหนึ่งในการบริโภคสินค้า ถ้าเรามองภาพปัญหาในเชิงโครงสร้างแบบนี้ เราจะเห็นว่าคนในเมืองซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีส่วนหนุนเสริมปัญหาบุกรุกทำลายป่า หมอกควัน และหนี้สินของเกษตรกรเองด้วย ทุกคนมีส่วนร่วมเหมือนกัน” และด้วยเหตุผลนี้ เราจึงควรร่วมกันเรียกร้องและแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ป่าจะเป็นสาเหตุหลัก แต่สาเหตุรองลงมาก็คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คุณสมเกียรติกล่าวเสริมว่า “ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาเดียวกันกับปัญหาของปากท้องด้วย ถ้าเราไม่ตระหนักในเรื่องนี้กันมาก ๆ ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

ทิศทางต่อไปของแม่แจ่มและของปัญหาหมอกควันพิษจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ภูเขาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นทางออกที่สำคัญในทัศนคติของคุณสมเกียรติ อำนาจรวมศูนย์ในปัจจุบันเป็นปัญหาโครงสร้างที่ชุมชนต้องเผชิญมาโดยตลอด ท้องถิ่นควรมีอำนาจในการจัดการดิน น้ำ ป่า รวมถึงมีสิทธิในที่ทำกินของแม่แจ่มและทุกชุมชน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูป่า สร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งจะตามมาหลังจากให้สิทธิกับชุมชนแล้ว มิฉะนั้น จะเป็นการปลูกได้แต่ตัดไม่ได้ ในส่วนของพืชเศรษฐกิจนั้น ควรจะต้องมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรประเภทพืชผักผลไม้ และหากยังมีการปลูกข้าวโพดในปริมาณเท่านี้โดยไม่เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้ราคาที่เป็นธรรม เช่น ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้เกษตรกรได้ราคาดียิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้คือนโยบายรัฐที่ควรจะเกิดขึ้น  เป็นการหนุนเสริมเกษตรกรด้วยกลไกของรัฐและเอกชน

การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด และแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่านั้น ทัศนคติของคุณสมเกียรติเห็นว่า “ต้องเน้นการสร้างความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่ในสภาพที่เป็นป่าเขาสูงชัน สิ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรมได้คือ หนึ่ง การจัดการน้ำบนที่สูง ถ้าทำได้จะทำให้ปลูกพืชชนิดอื่นนอกจากข้าวโพดได้ สอง คือ ส่งเสริมการปลูกพืชอย่างครบวงจร ตั้งแต่พืชระยะสั้น กลาง ยาว ไปจนถึงการแปรรูป และการตลาด โดยให้มีชุมชนเข้ามาบริหารจัดการกันเอง ให้ชุมชนเป็นเจ้าของเองทั้งหมด ถ้าทำเช่นนี้ได้ คิดว่าพื้นที่ไร่ข้าวโพดก็จะลดลง หมอกควันไฟป่าก็จะลดลง แต่รัฐไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เรื่องความยั่งยืนเลย ไม่ได้จริงใจจริงจังในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้” 

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คือตัวการสำคัญในการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าที่จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทางออกที่ทั้งทางรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เรื้อรังนี้อย่างเร่งด่วน คือการขยายความรับผิดชอบของบริษัทและผู้ประกอบการเมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวในระบบเกษตรพันธสัญญา และมีมาตรการทางกฎหมายที่เอาผิดบริษัท อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงผืนป่าและก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่ อุปทานการผลิต ตั้งแต่การปลูกและรับซื้อพืชอาหารสัตว์ การทำปศุสัตว์ ไปจนถึงการ แปรรูป และสามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้