เมื่อไม่นานมานี้ โคคา-โคล่าประกาศให้คำมั่นว่าจะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือระบบเติมที่ให้ผู้บริโภคนำภาชนะส่วนตัวมาเติมสินค้าเองได้ลง 25% ภายในปี 2573 แล้วแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเดียวกันอย่างเป๊ปซี่ล่ะ มีคำมั่นที่จะนำระบบใช้ซ้ำและระบบเติมอย่างไรบ้าง

Pepsi Pollution in the Anacostia River in Maryland. © Tim Aubry / Greenpeace
ขวดเป๊ปซี่ที่ใช้แล้วกลายเป็นมลพิษลอยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอนาคอสเทียร์ (Anacostia River) ในรัฐแมรี่แลนด์ มลพิษที่มาจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงอากาศที่พวกเราหายใจ © Tim Aubry / Greenpeace

ผู้บริโภคหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการแข่งขันอย่างดุเดือดระหว่างโคคา-โคล่ากับเป๊ปซี่ เพื่อเป็นที่หนึ่งในใจคนที่ชื่นชอบเครื่องดื่มน้ำอัดลม แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งสองต่างมีกลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้างเหนียวแน่น บางคนก็เป็นแฟนตัวยงมายาวนาน ในปี 2513 เป๊ปซี่ปล่อยกิจกรรม “Pepsi Challenge” ท้าทายผู้บริโภคให้ชิมรสชาติของน้ำอัดลมทั้งสองแบรนด์โดยที่ผู้บริโภคจะไม่รู้ว่าน้ำอัดลมที่ตัวเองดื่มเข้าไปเป็นของแบรนด์อะไร แล้วให้เลือกว่า ชอบแบรนด์ไหนมากกว่ากัน ในกิจกรรมครั้งนี้ ผู้บริโภคชื่นชอบเป๊ปซี่มากกว่าโคคา-โคล่า จึงดูเหมือนว่า เป๊ปซี่เอาชนะโคคา-โคล่าไปได้กลาย ๆ 

แล้วในเรื่องการบังคับใช้ระบบใช้ซ้ำและระบบเติมล่ะ? เป๊ปซี่จะเอาชนะโคคา-โค่าได้อีกครั้งหรือไม่? ในฐานะผู้บริโภค พวกเราอยากท้าทายเป๊ปซี่ให้ลุกขึ้นมายับยั้งมลพิษพลาสติกที่มาจากพลาสติกใช้แล้วทิ้งให้มากกว่าที่โคคา-โคล่าทำ!

Plastic Trash Installation at Yonge-Dundas Square in Toronto. © Vanessa Garrison / Greenpeace
ในปี 2561 กรีนพีซ แคนาดา จัดประติมากรรมรูปแม่นกเพนกวินกำลังคาบขยะพลาสติกให้กับลูกเพนกวิน รวมถึงรังที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของมลพิษพลาสติกต่อสัตว์ในทวีปแอนตาร์กติก โดยขยะที่นำมาจัดแสดงในประติมากรรมนี้มาจากแบรนด์ 5 อันดับที่พบจำนวนชิ้นมากที่สุดจากการสำรวจแบรนด์ (Brand Audit) ที่จัดโดย กรีนพีซ แคนาดา และ 6 เครือข่าย ประกอบไปด้วยแบรนด์ Nestlé, Tim Hortons และ McDonald’s © Vanessa Garrison / Greenpeace

จากการลงพื้นที่เก็บขยะริมชายหาดวอนนภา จ.ชลบุรี แหลมสนอ่อน จ.สงขลา แนวป่าทางขึ้นดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ และสวนเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ พบขยะยี่ห้อโคคา-โคล่าและเป๊ปซี่เกลื่อนกลาดในสิ่งแวดล้อม และมีสภาพที่หลากหลาย ทั้งสภาพเน่าเหมือนถูกทิ้งในสิ่งแวดล้อมมานาน กับสภาพใหม่มาก เหมือนเพิ่งถูกทิ้ง ขวดน้ำอัดลมทั้งสองยี่ห้อเป็นเครื่องดื่มที่ผู้บริโภคใช้เวลาไม่นานในการดื่มแล้วก็ทิ้งกลายเป็นขยะทันที การเจอขยะของทั้งสองแบรนด์ในสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การเก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง เช่น เป๊ปซี่รณรงค์เก็บขยะในแม่น้ำลำคลอง และการมีระบบรีไซเคิล เช่น เป๊ปซี่ร่วมกับซีพี ออลล์ขอขวด PET ไปรีไซเคิล เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการยับยั้งวิกฤตมลพิษพลาสติกทั้งในไทยและทั่วโลก 

การจำหน่ายสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน มันก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนและเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ ขยะพลาสติกก็กระจายตัวไปทุกที่ ทั้งในสัตว์น้ำ เกลือ อากาศที่เราหายใจ และเมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบไมโครพลาสติกในเลือดและปอดของเราอีกด้วย

ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีการทำกิจกรรมตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand audit) ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ผลการตรวจสอบแบรนด์ที่พบขยะในสิ่งแวดล้อมมากที่สุด พบว่า โคคา-โคล่า, เป๊ปซี่, เนสเล่ท์ และยูนิลิเวอร์ถูกจัดอันดับว่าเป็นผู้ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ในประเทศไทย แบรนด์ต่างชาติที่พบขยะมากที่สุดสามอันดับแรกในการทำแบรนด์ออดิท คือ โคคา-โคล่า, เนสเล่ท์ และ เป๊ปซี่ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า ขยะพลาสติกยี่ห้อโคคา-โคล่า และเป๊ปซี่ ปรากฏอยู่หลายที่ทั่วทุกมุมโลก ในขณะที่โคคา-โคล่ามีคำมั่นออกมาแล้วอย่างชัดเจน แล้วแบรนด์ยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก อย่างเป๊ปซี่ล่ะ กำลังทำอะไรอยู่

เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โคคา-โคล่าประกาศให้คำมั่นว่าจะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือระบบเติมให้ได้ 25% ภายในปี 2573 แม้ระบบเติม (Refill) และการใช้ซ้ำ (Reuse) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นครั้งแรกที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ออกมาให้คำมั่นว่าจะนำระบบเติมและใช้ซ้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต ลองนึกถึงคนส่งนมตามบ้านและจะเก็บขวดนมเปล่าที่ดื่มหมดแล้วกลับมาเพื่อทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ซ้ำ การดื่มน้ำอัดลมจากขวดที่สามารถนำมาใช้ซ้ำก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โคคา-โคล่าระบุว่าส่วนใหญ่ในละตินอเมริกาบรรจุภัณฑ์ของพวกเขากลับเข้าสู่กระบวนการเติมและนำกลับมาใช้ใหม่ หนทางการเป็นผู้นำเพื่อต่อสู้กับมลพิษพลาสติกของโคคา-โคล่ายังอีกยาวไกล แต่ตอนนี้พวกเขาได้นำหน้าบริษัทคู่แข่งอย่างเป๊ปซี่ไปแล้ว

ในปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ของเป๊ปซี่ไม่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือมีระบบเติมเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ ในเดือนมีนาคม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร As You Saw ออกมาประกาศว่าทางเป๊ปซี่ตั้งเป้าว่าจะนำระบบเติมและการนำขวดกลับมาใช้ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายในสิ้นปี 2565

จากคำประกาศนี้ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่า เป๊ปซี่มีวิธีใดบ้างที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์บางส่วนกลับเข้าสู่ระบบใช้ซ้ำได้ เป๊ปซี่มีความทะเยอทะยานที่จะบรรลุคำมั่นที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด และแน่นอนว่าเป๊ปซี่จะสามารถก้าวข้ามเอาชนะความมุ่งมั่นของโคคา-โคล่าที่จะผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ 25% ภายในปี 2575 ได้หรือไม่

เป๊ปซี่มีโอกาสสูงที่จะเอาชนะคู่แข่งอย่างโคคา-โคล่า เพราะตอนนี้ผู้คนกำลังตื่นตัวต่อประเด็นมลพิษพลาสติกและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อยับยั้งวิกฤตนี้ ทุกคนต่างกังวล เพราะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน เป๊ปซี่จะฉวยโอกาสนี้ในการนำผลิตภัณฑ์ของตนเข้าสู่ระบบเติมและระบบใช้ซ้ำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว คำมั่นของเป๊ปซี่เป็นเพียงคำมั่นที่เลื่อนลอยและไม่สามารถปฏิบัติตามคำมั่นนั้นได้ ภายในสิ้นปี 2565?

การที่โลกเปลี่ยนมาใช้ระบบใช้ซ้ำและระบบเติมไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริโภคต้องเห็นด้วยและพร้อมเปลี่ยน โครงสร้างพื้นฐานของระบบใช้ซ้ำและระบบเติมต้องแข็งแรง การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเพื่อเป็นแรงจูงใจ รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ใหญ่อย่างโคคา-โคล่าและเป๊ปซี่ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหยุดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่อยู่ตามมหาสมุทร แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ปัญหามลพิษพลาสติกกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกและส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตนี้ต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ มีการประชุมผู้ถือหุ้น กรีนพีซหวังว่า แรงกดดันจากภาคประชาชนจะทำให้เป๊ปซี่ทำตามคำมั่นของตัวเองในการนำระบบเติมและระบบใช้ซ้ำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายในสิ้นปี 2565 ได้ดีกว่าคำมั่นของโคคา-โคล่าที่ตั้งเป้าหมายว่าจะนำระบบเติมและระบบใช้ซ้ำให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 

ส่วนในประเทศไทยเองก็ประสบกับปัญหามลพิษพลาสติกเช่นเดียวกันกับหลายประเทศทั่วโลก และผู้คนก็ตื่นตัวมากขึ้นให้มีการจัดการกับวิกฤตและต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยยับยั้งวิกฤตมลพิษภายในประเทศและในโลกได้จริง ดังนั้น แบรนด์สัญชาติไทยจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหามลพิษพลาสติก เช่นเดียวกับโคคา-โคล่าและเป๊ปซี่