ข้อมูลจากรายงานคุณภาพอากาศโลกของ IQAir  ระบุว่ากรุงเทพมหานครติดอันดับเมืองหลวงที่มีฝุ่น PM2.5 มากที่สุดอันดับที่ 42 ของโลก ซึ่งหากเทียบในภูมิภาคถือเป็นอันดับ 5 จากทั้งหมด 9 ประเทศ และแม้แนวโน้มฝุ่นจะลดลงเล็กน้อย โดยกทม. ค่าเฉลี่ยรายปีลดจาก 20.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็น 20.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังถือเป็น 4 เท่าจากค่ามาตรฐานใหม่ของ WHO อยู่ดี ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่น PM2.5 จึงถือเป็นอีกหนึ่งงานหนักที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องรีบแก้ไขเพื่อให้เกิดผู้คนในเมืองหลวงได้สัมผัสกับ “กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” สักที

จากการสำรวจนโยบายการจัดการฝุ่น PM2.5 ของผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ ทั้ง 7 คนได้แก่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สกลธี ภัททิยกุล สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อัศวิน ขวัญเมือง รสนา โตสิตระกูล ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และศิธา ทิวารี พบว่านโยบายที่มาแรงที่สุดคือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวถึง 23.1%  ตามมาด้วยการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นถึง 19.2 % ตรวจรถควันดำ กำหนดเขตปลอดฝุ่น และเพิ่มจุดวัดฝุ่นนโยบายละ 11.5 %  ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ 7.7 % และอื่น ๆ ได้แก่ การศึกษาแหล่งกำเนิดฝุ่น การวางแผนและบังคับใช้ผังเมือง การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และการแจ้งเตือนฝุ่น รวมกันที่ 15.4 % 

น่าสังเกตว่าผู้สมัครส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง โดยวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เน้นเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ สกลธี ภัททิยกุล เพิ่มสวนสาธารณะใกล้บ้าน อัศวิน ขวัญเมือง เพิ่มจำนวนสวนสาธารณะ ศิธา ทิวารี เน้นปลูกต้นไม้ ขณะที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มุ่งปลูกต้นไม้ล้านต้น และทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะได้ภายใน 15 นาที

ด้านนโยบายการจัดการที่ต้นตอของปัญหาโดยตรงอย่างการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร มีนโยบายเร่งทบทวนโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กทม. เพื่อตรวจสอบมาตรฐานการปล่อยมลภาวะทางอากาศ พร้อมถอนใบอนุญาตหากปล่อยมลภาวะเกินกำหนดและร่วมกับกรมควบคุมมลพิษออกข้อกำหนดมาตรฐานการปล่อยสารพิษ ศิธา ทิวารี มีนโยบายควบคุมการก่อสร้าง ด้านชัชชาติ สิทธิพันธุ์มุ่งไปที่การตรวจคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ปล่อยมลพิษ 

กรีนพีช ประเทศไทย ได้วิเคราะห์ช่องทางและความเป็นไปได้ตามอํานาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารที่ดําเนินการได้ผ่านกระบวนการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และขอเสนอแนวทางในการบริหารจัดการมลพิษฝุ่นขนาดเล็กในกรุงเทพมหานคร มี 3 ประการสําคัญ คือ

• กําจัดและควบคุมแหล่งกําเนิดฝุ่น PM2.5 ทั้งจากทั้งภายในและภายนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยอํานาจหน้าที่ที่กรุงเทพมหานครมีและเร่งประสานการบริหารจัดการกับภาคราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอํานาจหน้าที่ดูแลแหล่งกําเนิดฝุ่น

• การพัฒนาพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่เพื่อเป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่โล่งปลอดฝุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ช่วยในการดักจับและกระจายความหนาแน่นของมลพิษให้เบาบางลง

• การพัฒนาผังเมืองที่ยั่งยืนด้วยการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางในกรุงเทพมหานคร ที่ต้องให้ความสําคัญกับการเดินทางด้วยการเดินเท้า จักรยาน และขนส่งสารสาธารณะ ก่อนรถยนต์ส่วนบุคคล การกําหนดพื้นที่ปลอดฝุ่น และการควบคุมผังเมืองและการก่อสร้างโดย คํานึงถึงการถ่ายเทอากาศของเมือง

อ่านข้อเสนอของ “กรีนพีซ” ว่าด้วยปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “ที่มาจากการเลือกตั้ง”

อ่านข้อเสนอแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศต่อแคนดิเดตผู้ว่า กทม. >> https://www.greenpeace.org/thailand/press/23530/climate-greenpeace-proposal-for-bkk-governor/

#RightToCleanAir

#CleanAirNow