ปี 2565 เป็นปีแห่งการขึ้นราคาข้าวของอุปโภคบริโภคหลายอย่างไม่เว้นแม้แต่ค่าไฟฟ้า เมื่อ กกพ.ประกาศขึ้นราคาค่า FT ในเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ทั้งนี้ เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีความสัมพันธ์ต่อเจ้าของโรงไฟฟ้าในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ ในเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติราวร้อยละ 55 ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าร้อยละ 16 ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศร้อยละ 14 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 11 พลังงานน้ำร้อยละ 3 และน้ำมันร้อยละ 0.8  

ที่ผ่านมาจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ได้กลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่คน ‘เลือกใช้’ ด้วยเหตุผลด้านการประหยัดภาระค่าใช้จ่ายหรือเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในหลายมิติของการใช้ชีวิตของเราทั้งในภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเองก็หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น และในเมื่อหลายภาคส่วนมีความต้องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นแล้ว วิทยาลัยที่เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตบุคลากรที่มีทักษะในด้านไฟฟ้าก็มีการปรับตัวตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น เรามีโอกาสพูดคุยกับ ครูอนุชา บุราณฤทธิ์ ครูชำนาญการ แผนกไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กับการพัฒนากลุ่มนักศึกษาเพื่อผลิตนวัตกรรมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย

เพื่อให้เราได้เห็นภาพว่าคุณครูอนุชาให้คำแนะนำกับนักศึกษาในการทำโครงการต้นแบบนี้อย่างไร ครูอนุชาจึงพาพวกเรามาดูกับโปรเจคของนักศึกษาชั้นปวช.ปีที่ 3 ที่ประยุกต์เอาเครื่องฉีดรดน้ำต้นกล้า มาผนวกกับการจ่ายไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์และเซนเซอร์อัตโนมัติจนกลายเป็นเครื่อง Smart Farming Model หรือเครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ 

ครูอนุชาและกลุ่มนักศึกษาชั้นปวช.ปีที่ 3 วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร กับโปรเจคเครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติ

การทำงานของเครื่องไม่ซับซ้อนมาก โดยนักศึกษานำเอา แผงโซลาร์เซลล์มาประกอบในชิ้นงาน เป็นแหล่งจ่ายหลักให้กับเครื่องฉีดน้ำเพื่อรดต้นกล้า สามารถตั้งไว้ในพื้นที่โล่งแจ้ง แผงโซลาร์เซลล์จะดูดพลังงานเพื่อจ่ายให้มอเตอร์ทำงาน แต่ถ้ามีพลังงานมากเกินไป พลังงานส่วนเกินก็จะถูกกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่เป็นไฟสำรองแทน ตัวเซนเซอร์จะวางอยู่ในแปลงเพื่อวัดความชื้น หากความชื้นของต้นกล้าหรือดินนั้นมีความชื้นไม่เพียงพอในระดับที่ต้องการ เซนเซอร์ก็จะสั่งให้มอเตอร์ฉีดน้ำออกมา ครูอนุชากล่าวกับเราว่าสิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ประยุกต์ขึ้นมาเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยให้การเกษตรกรรมง่ายขึ้น

ครูอธิบายว่า นักศึกษาที่จะจบทั้งปวช.และปวส.นั้น จะนำเอาองค์ความรู้ที่เรียนเกี่ยวกับไฟฟ้า นำมาประกอบเป็นชิ้นงาน อาทิเช่น เรียนติดตั้ง ลงเรียนมอเตอร์ นักศึกษากลุ่มนี้มีความสนในเรื่องแผงโซลาร์เซลล์ กับการเขียนโปรแกรมโซนอฟ (sonoff) ซึ่งเป็นโปรแกรมอ่านเซนเซอร์จับวัดความชื้น จึงเอาโปรแกรมโซนอฟมาควบคู่กับตัวเซนเซอร์และมอเตอร์ โดยแผงโซลาร์เซลล์เป็นส่วนการจ่ายพลังงานให้เครื่องทำงานรดน้ำได้

แนวคิดการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาประยุกต์สอนในวิทยาลัยเทคนิคสกลนครเกิดขึ้นได้อย่างไร

ครูอนุชาเล่าย้อนให้ฟังว่า จากยุคแรก ๆ ที่มีการใช้โซลาร์เซลล์ในไทยก็จะมีอาจารย์ในภาคคนหนึ่งที่เดิมสนใจเรื่องไฟฟ้ากำลังอยู่แล้วซื้อมาทดลองใช้แล้วมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน จนเมื่อปี 2561-2562 จังหวัดสกลนครเกิดน้ำท่วม ทำให้หมู่บ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่บ้านของอาจารย์คนนี้กลับมีไฟฟ้าใช้ หลังจากนั้นก็มีอาจารย์อีกหลายคนเริ่มสนับสนุน เพราะประโยชน์ของโซลาร์เซลล์เองอย่างน้อยที่สุดก็มีไฟฟ้าใช้เอง เวลาใช้โซลาร์เซลล์ตอนกลางวันก็ช่วยประหยัดและลดค่าไฟฟ้าที่ใช้ตอนกลางวันได้ ต่อมา จากติดตั้งใช้เองก็มาแนะนำให้ทีมงานแผนกไฟฟ้า จากครูกลุ่มเล็ก ๆ เริ่มใช้โซลาร์เซลล์ ก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากค่าไฟ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ลดเหลือ 500 กว่าบาทเท่านั้น 

ในแง่ของการเรียนการศึกษา ก็มีนักศึกษาที่สนใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เราเป็นครูที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและแนะนำโครงงานของนักศึกษาจะสังเกตได้ว่ามีนักศึกษาสนใจอยากทำโครงงานที่เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นทุกปี

ครูอนุชา บุราณฤทธิ์ ครูชำนาญการ แผนกไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

ความท้าทายของพลังงานแสงอาทิตย์และการใช้งานแผงโซลาร์เซลล์

แม้ว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะมีความคุ้มค่าในด้านการประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาว รวมทั้งตัวแผงเองที่หากเราดูแลรักษาดี ๆ ก็สามารถใช้ได้นานถึง 20-25 ปี แต่ความท้าทายหนึ่งของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ที่การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งคิดว่าในอนาคตน่าจะมีเทคโนโลยีนี้ในไทย

“ผมกับครูอีกหนึ่งคนรับเหมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย เราเอาแผงโซลาร์เซลล์จากจังหวัดขอนแก่นมาติดให้ เราเอารถไปขนมาทีละ10 แผง 20 แผง หากมีคนสนใจก็ขนเข้ามาเพิ่ม จากประสบการณ์อาชีพเสริมนี้ทำให้รู้ว่าแผงโซลาร์เซลล์ยุคใหม่ ๆ จะมีกำลังวัตต์ที่สูงขึ้นและมีประสิทธิภาพดีกว่าแผงโซลาร์เซลล์ยุคเก่า ๆ ยิ่งไปกว่านั้นแผงโซลาร์เซลล์ปัจจุบันยังมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมแต่มีกำลังวัตต์ที่สูงขึ้นหรือแผงชนิดเทคโนโลยี Half Cell Modules ที่ทำงานได้แม้มีแสงน้อย เช่นในช่วงประมาณ 19.00 น ก็ยังสามารถผลิตพลังงานได้ ”

ลบภาพจำพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น

ครูอนุชาบอกกับเราว่า จริง ๆ แล้วยังมีอีกหลายอาชีพที่ไม่ใช่แค่ช่างติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ยกตัวอย่างเช่น ตามท้องถนนที่มีไฟจราจร และไฟกระพริบก็มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด ซึ่งก็สามารถไปประกอบอาชีพได้ และนอกเหนือจากการติดตั้งหรือซ่อมบำรุงเพียงอย่างเดียว ก็จะมีอาชีพแบบเจาะจง เช่น นักเขียนโปรแกรมโซลาร์เซลล์ ควบคุมแผงโซลาร์เซลล์ให้เปิด-ปิด เป็นต้น

หลายคนจะมีภาพจำว่าโซลาร์เซลล์จะถูกใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง แต่ในปัจจุบันคนในเมืองก็ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์โดยไม่รู้ตัวเป็นจำนวนมาก เพราะแม้แต่ป้ายลดความเร็วก็มีการใช้โซลาร์เซลล์ โดยการกักเก็บพลังงานในตอนกลางวันแล้วนำมาใช้ในเวลากลางคืน แต่คนก็ยังมองว่าพลังงานที่ใช้ต้องมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว

“มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำโครงงานเครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ผมถามนักศึกษาว่า เคยเห็นรถขนปลาไปขายไหม เขาจะมีถังออกซิเจนโดยเอาเครื่องฟองอากาศใส่เข้าไปในถัง เราก็ใช้แผงโซลาร์เซลล์ไปติด พอรถออกวิ่งแล้วผ่านแสงอาทิตย์ เครื่องเพิ่มออกซิเจนก็จะทำงานผลิตออกซิเจนออกมา ไม่ต้องเสียเงินค่าแก๊ส จึงเป็นการเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงแก๊สหรือน้ำมันมาเป็นมอเตอร์ขับเคลื่อนเครื่องสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์”

“อีกตัวอย่างคือ สนามหญ้าเทียมและสนามเด็กเล่น หลังคาก็มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือในภาคธุรกิจ หรืออย่างโรงงานผลิตน้ำแข็งเอง จากที่ผมไปสัมภาษณ์ช่างไฟฟ้าในโรงงานน้ำแข็ง เขาบอกว่าตอนกลางวันไม่ได้ทำการผลิตน้ำแข็ง แต่จะผลิตตอนกลางคืนในช่วงเวลา 02.00 น. และเริ่มบรรจุลงรถน้ำแข็งเวลา 03.00-04.00 น. ผมก็ถามว่าทำไมต้องผลิตน้ำแข็งตอนกลางคืน เขาตอบว่าเพราะค่าไฟฟ้าแพง โดยหันมาใช้แผงโซลาร์เซลล์เก็บพลังงานเป็นแบตเตอรี่นำมาใช้เวลากลางคืน”

พลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต

ครูอนุชาเองมองว่า พลังงานแสงอาทิตย์นั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นพลังงานที่คนสนใจมากขึ้นในอนาคต เมื่อเทียบกับในอดีต อย่างไรก็ดี แม้จะมีคนสนใจเยอะ แต่ตอนนี้เรายังขาดช่างเทคนิคในการผลิตและดูแลรักษา รวมทั้งราคาแผงและการติดตั้งโดยรวมยังมีราคาสูงอยู่ ถ้าอนาคตค่าใช้จ่ายเหล่านี้สามารถลดลงมาได้สักเล็กน้อย ก็น่าจะมีคนสนใจเพิ่มมากขึ้นอีก ในระดับนโยบายถ้าภาครัฐและการไฟฟ้าร่วมมือกันผลักดันให้ทุกบ้านสามารถใช้แผงโซลาร์เซลล์ได้  ชาวบ้านก็ไม่จำเป็นต้องไปแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมาก 

“ภาครัฐอาจจะออกแบบให้เป็นเหมือนโครงการคนละครึ่งก็ได้ คือ ถ้าบ้านหลังไหนสนใจติดโซลาร์เซลล์ ก็ให้ภาครัฐออกให้ครึ่งหนึ่ง ตรงนี้จะเป็นการสนับสนุนให้คนหันมาใช้แผงโซลาร์เซลล์ เป็นคนละครึ่งด้านพลังงาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าภาครัฐออกเงินติดตั้งให้ 5,000 บาท เราออกเงินเอง 5,000 บาท ประชาชนก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ประชาชนก็รู้สึกคุ้มค่าแล้ว”

ส่วนประเด็นนโยบายการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์นั้นสำคัญมาก ครูอนุชาทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “อยากฝากให้กรีนพีซนำสิ่งที่เราคุยกันในวันนี้ไปรณรงค์ผลักดันเพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเห็นถึงประโยชน์ของพลังงานแสงอาทิตย์และส่งเสริมการใช้โซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยประชาชนลดภาระค่าไฟฟ้าและได้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

ข้อเสนอปฎิวัติพลังงานบนหลังคาผ่านระบบโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทย

นโยบายการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ง่ายที่สุด ลงทุนน้อยที่สุด ไม่ต้องซื้อมิเตอร์เพิ่มเติม ไม่ต้องติดอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน และไม่ต้องซื้อแบตเตอรี่ ก็คือ นโยบาย “net – metering” ที่อนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากหลังคาครัวเรือนที่ผลิตไฟฟ้าได้ไหลเข้าระบบกริดและมิเตอร์หมุนย้อนกลับ เกิดการหักลบกลบหน่วยจากการใช้ไฟฟ้าที่มาจากสายส่งของการไฟฟ้ากับไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านนั้นผลิตได้

solar-revolution-poster

ปัจจุบัน หลายประเทศได้นำนโยบาย net-metering ไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา  อินเดีย ปากีสถาน และ เคนยา เป็นต้น แต่ประเทศไทยเรายังไม่นโยบายนี้เลย นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในบ้านเรือนมากกว่า 10 ปี แต่ก็มีปัญหาอุปสรรคหลายประการในการติดตั้ง จนทำให้ระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป ในประเทศไทยมีความคืบหน้าช้ามาก 

กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ทำข้อเสนอฉบับนี้ขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำระบบ net-metering มาใช้ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีระบบโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะวิเคราะห์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว รวมถึงแนวทางในการรับมือกับความห่วงกังวลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำระบบโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความมั่นคงในระบบไฟฟ้า ผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า และการจัดการกับแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งาน