การประมงของไทยในช่วงสิบปีหลังเป็นอย่างไร สถานการณ์ปลาทะเลอยู่ในขั้นวิกฤตจริงหรือไม่ วันนี้เราจับเข่าคุยกับ “แทป” วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย


“ในรอบสิบปีหลังสถานการณ์การประมงไทยเป็นอย่างไร ต้องพูดเป็นสองช่วง คือปี 58 เราได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ดังนั้นปี 58 จนถึงปัจจุบันจะเป็นช่วงหนึ่ง กับช่วงก่อนหน้านั้น  ซึ่งนโยบายการประมงเป็นแบบเดิม มุ่งเน้นการจับสัตว์น้ำเชิงอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุด เน้นการส่งออก และจะมีปัญหาเรื่องการประมงที่ไม่ยั่งยืน การใช้แรงงานบนเรือมีปัญหา จนเราถูกเพ่งเล็งจากนานาชาติ” วิโชคศักดิ์เริ่มอธิบายถึงสถานการณ์ประมงไทยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

ใบเหลืองที่วิโชคศักดิ์พูดถึงนี้  คือ “ใบเตือน” จากสหภาพยุโรป ที่จะประกาศให้ใบเหลืองกับประเทศที่มีระบบควบคุมประมงไม่ดีพอ 

สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่นำเข้าอาหารทะเลต่อปีเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากมีสินค้าจากเรือประมงผิดกฎหมายปะปนเข้ามามหาศาล จึงมีกฎระเบียบให้ทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและการควบคุม หรือที่มักเรียกสั้น ๆ ว่า IUU 

ขณะให้ใบเหลือง สหภาพยุโรปจะให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงมาตรฐาน หากไม่ปรับปรุง สหภาพยุโรปจะประกาศให้ใบแดงและระงับการนำเข้าสินค้าประมงที่จับโดยเรือของประเทศนั้น ๆ แน่นอนว่าหากประเทศไทยถูกระงับการส่งออกสินค้าไปยังยุโรป อุตสาหกรรมอาหารทะเลจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  ดังนั้นจึงมีการปรับปรุงการจัดการประมงขนานใหญ่ 

ดังนั้นประเทศไทยจึงมีการปรับปรุงเรื่องการใช้แรงงาน โดยให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง ฉบับที่ 188 คุ้มครองการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงงานบนเรือประมง มีการจัดระบบข้อมูลของผู้ทำการประมงทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (Port-In and Port-out) จนกระทั่งในปี 2562 ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้สำเร็จ 

“หลังจากนั้น เป็นอีกบรรยากาศ นโยบายการประมงเปลี่ยน ภาพใหญ่เปลี่ยน มาตรการเปลี่ยน กฎหมายเปลี่ยน มีการจัดการเรื่องการใช้แรงงาน” วิโชคศักดิ์ อธิบาย

รูรั่วที่ยังเหลือ

แม้จะมีการยกเครื่องประมงครั้งใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงนี้ยังคงเหลือรูรั่วที่ยังไม่ปิดไม่สนิท 

วิโชคศักดิ์อธิบายว่า ช่วงหนึ่งถึงสองปีหลังได้รับใบเหลือง นับเป็นช่วงที่ประมงไทยผลผลิตลดต่ำลง เพราะมีการสั่งหยุดทำประมงทั้งประเทศ แต่หลังปลดใบเหลืองแล้ว ตัวในเชิงตัวเลขประมงไทยค่อยๆขยับเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลับไปเท่าเดิม 

อย่างไรก็ดี เขาชี้ว่าหากมองลึกลงไปในรายละเอียด จะพบว่าจำนวนที่จับได้เท่าเดิมเกิดจากช่วงเวลาการจับที่นานขึ้น และสิ่งที่น่าตกใจคือ ปลาที่จับจากเรืออวนลาก “เกินครึ่งเป็นกลุ่มที่ได้เป็นผลผลิตไปเป็นปลาเป็ดปลาไก่”

ปลาเป็ดปลาไก่ในที่นี้ คือลูกของปลาที่ยังไม่ทันได้ขยายพันธุ์ แต่ติดขึ้นเครื่องมือประมงทำลายล้างขึ้นมา ปลาเหล่านี้ถูกนำเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังกระทบต่อโครงสร้างทรัพยากรในระบบนิเวศทะเล

ยกตัวอย่างเรื่องปลาทู ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีผลผลิตปลาทูปีละแสนกว่าตันต่อปี แต่ 4-5 ปี ล่าสุด พบว่าผลผลิตลดลงเหลือหมื่นกว่าตันเท่านั้น 

“ในแวดวงประมงตอนนี้ก็ถือว่าช็อกวงการเลย ปลาทูไทยหายไป และเมื่อไปดูผลการจับในตัวอื่น ๆ และเราไปพบสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจ คือผลการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กถูกรายงานเป็นผลการจับที่สูงที่สุดของบรรดาสัตว์น้ำทุกชนิด” วิโชคศักดิ์กล่าว

วิโชคศักดิ์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงผลของการแทรกแทรงระบบนิเวศของมนุษย์ต่อระบบนิเวศว่า

“สังเกตุง่ายๆเลยจากหมึก หมึกส่วนใหญ่เนี่ย ถ้าเรามาผ่าท้องถ้าเขาเพิ่งทานอาหารมา เราจะเจอลูกปลาทู แต่เมื่อหมึกหรือปลาตัวอื่น ไม่มีลูกปลาทูเขาก็ไปกินลูกปลาอื่นเป็นอาหาร ลูกกุ้ง ปลาอินทรีย์ สัตว์น้ำเศรษฐ-กิจอื่นๆ มันก็จะกลายเป็นวงจรใหม่ ตรงนี้ผมเรียกว่า โครงสร้างวงจรอาหารในระบบนิเวศมันเปลี่ยน 

“เมื่อโครงสร้างประชากรสัตว์น้ำมันจะเปลี่ยน มันไม่ได้กระทบแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นนะ มันกระทบระบบนิเวศในทะเลโดยตรง”

อุดรูรั่ว

ปัญหาสัตว์น้ำวัยอ่อนเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ เช่นแคมเปญ “ปลาทูไทยกำลังหายไปจากโลก” ในปี 2562 หรือ #หมดแล้วจริงๆใน Change.org ที่ทำให้ประเด็นวิกฤตอาหารทะเลเป็นที่โจษจันในโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ 

กระนั้นปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจนปัจจุบัน ซึ่งหากจะอุดรอบรั่วนี้ให้ได้ วิโชคศักดิ์ชี้ว่าต้องมี 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ชาวประมงผู้จับต้นทาง การบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐ และผู้บริโภค

เขาอธิบายว่า ชาวประมงจำต้องเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเสีย ขณะที่การปลี่ยนแปลงของต้นทางก็ต้องควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีการกำหนดระเบียบกติกาที่เหมาะสม

“อันแรกเหมือนกับเรียกร้องเรื่องจิตสำนึกของผู้จับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีกติกามากำกับจิตสำนึกนั้นด้วย เพราะโลกนี้จำเป็นต้องมีกติกา มันเลยต้องมีภาครัฐมากำหนดเป็นนโยบาย เป็นกฎหมาย เรื่องนี้จำเป็นที่ฝ่ายนโยบายกฎหมายต้องมาดูแล” 

กฎหมายที่วิโชคศักดิ์พูดถึง คือมาตรา 57 ใน พระราชบัญญัติประมง ปี 2558 ซึ่งระบุว่า  ‘ห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่เล็กกว่ารัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง’ 

พ.ร.บ. ประมงฉบับดังกล่าวมีกฎหมายทั้งหมด 157 มาตรา โดยมาตราอื่นๆมีการพัฒนาขึ้นมา แต่มาตราสำคัญอย่างมาตรา 57 กลับยังอยู่ที่เดิม แม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มี “ขนาดที่กำหนด” ประกาศและบังคับใช้อย่างจริงจัง

ส่วนสุดท้ายที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงคือผู้บริโภค โดยวิโชคศักดิ์ชี้ว่า แม้จะมีคนจับ คนขาย แต่หากผู้บริโภคร่วมกันไม่ซื้อ ไม่ทานสัตว์น้ำวัยอ่อน จะมีส่วนอย่างมหาศาลให้ต้นทางหยุดจับขึ้นมาได้ 

 “แต่จะไปคาดหวังผู้บริโภคทั้งประเทศ ให้เปลี่ยนวันนี้มันไม่ได้ มันก็ต้องมีกติกามากำกับ เพราะฉะนั้น แต่ละส่วนมันมีความสำคัญ ไม่สามารถที่จะทำด้านใดด้านหนึ่งได้ มันต้องทำไปพร้อมๆกัน” เขากล่าวทิ้งท้าย