Highlights

  • มลพิษพลาสติกเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ เพราะพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ภาครัฐและผู้ผลิตผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องมีส่วนรับผิดชอบกับมลพิษพลาสติกเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐ ผู้ผลิต หรือผู้บริโภคต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกัน
  • ทางออกของมลพิษพลาสติกสามารถแก้ได้ด้วยการลดการผลิตพลาสติกลง รัฐควรมีกฎหมายเข้มงวดให้ผู้ผลิตหาวิธีลดการใช้พลาสติกตลอดวงจรชีวิตของพลาสติกมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างการให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ทุกวันนี้เราได้ยินกันหนาหูเรื่องขยะพลาสติกล้นเมือง เรามักเห็นภาครัฐออกนโยบายต่าง ๆ ที่มีความพยายามในการลดมลพิษพลาสติกไม่ว่าจะเป็น Road map การจัดการขยะพลาสติก การประกาศงดแจกถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้า รวมถึงเชิญชวนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อย่างการพกถุงผ้า กระบอกน้ำส่วนตัว และแยกขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิล แต่มลพิษพลาสติกไม่มีท่าทีว่าจะลดลงเลยแม้แต่น้อย หรือนี่คือคำตอบว่าความพยายามในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุดกันแน่

จากวงสนทนา “มลพิษขยะพลาสติก ปัญหานี้ใครควรเข้ามาร่วมรับผิดชอบ” โดยมีธารา บัวคำศรี พิชามญชุ์ รักรอด จากกรีนพีซ ประเทศไทย และณัฏฐณิชา สุยะวิน อาสาสมัครกรีนพีซ ร่วมพูดคุยและถกเถียงกันถึงต้นตอของปัญหา ผลกระทบ และใครควรร่วมรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติก แต่วงสนทนานี้ยังเพิ่มประเด็นที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า มลพิษพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) อีกด้วย

มลพิษพลาสติกเกี่ยวอะไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ตั้งแต่การผลิตไปจนการกำจัด พลาสติกมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกขั้นตอน เพราะผลิตจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน กระบวนการจัดการขยะพลาสติกก็ส่งผลกระทบไม่แพ้กัน แถมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาล

  • พลาสติกทำมาจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เวลาขุดขึ้นมาต้องใช้พลังงานเยอะมาก หนึ่งในองค์ประกอบคือก๊าซมีเทน / กลิ่นขยะจากหลุมฝังกลบคือกลิ่นก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกและแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 3-5 เท่า 
  • แม้กระทั่งท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ส่งน้ำมัน ถ้ารั่วก็จะมีก๊าซมีเทนออกมา โรงกลั่นก็จะรั่วออกมาทีละน้อย สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ ต่อให้เราลดก๊าซคาร์บอนลงแค่ไหน แต่ถ้าเรายังไม่จัดการก๊าซมีเทนก็เป็นปัญหาอยู่ดี นี่คือสิ่งที่พลาสติกเชื่อมโยงกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://plasticfreefuture.greenpeace.or.th

นอกจากนี้ณัฏฐณิชากล่าวว่า ถ้าไม่พูดถึงการเผา ความร้อนจากดวงอาทิตย์ช่วยให้ขยะย่อยสลายได้แต่ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ขยะพลาสติกจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่ทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) และ “ขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเลจะขัดขวางศักยภาพการดูดซับคาร์บอนของแพลงตอน” ธาราเสริมในตอนท้าย

แล้วนโยบายของภาครัฐที่มีอยู่ในตอนนี้สามารถต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate change)ได้หรือไม่

นโยบายงดแจกถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้าและสนับสนุนให้ผู้บริโภคพกถุงผ้าบรรจุของที่ตนจับจ่ายใช้สอยโดยหวังว่าจะลดปริมาณขยะพลาสติกจากถุงหูหิ้วนั้นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเพียงทางหนึ่ง หากสังเกตดูแล้วผู้บริโภคไม่ได้มีทางเลือกมากขนาดนั้น เพราะสินค้าที่ถูกจัดวางไว้ล้วนเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ที่บรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก พิชามญชุ์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในฐานะผู้บริโภค คนไทยตื่นตัวมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมาก่อนมีสถานการณ์โควิด ทุกคนพยายามหาวิธีการว่าตัวเองจะลดพลาสติกได้อย่างไรบ้าง การหันมาพกถุงผ้าใส่ของ กระบอกน้ำใส่เครื่องดื่ม ความพยายามใช้บริการร้านรีฟิล ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ได้ เลยเกิดคำถามย้อนกลับไปว่าหรือจริง ๆ แล้วเราควรแก้ปัญหาที่ผลิตภัณฑ์ที่วางอยู่ตามชั้นวางของกันแน่”

  • การจัดกิจกรรมเก็บขยะตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่สามารถทำให้ขยะพลาสติกลดลงได้หากยังมีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) เกินความจำเป็น
  • แม้ว่าในปัจจุบันจะมีธุรกิจรีฟิลเพิ่มขึ้นแต่ผู้บริโภคยังเข้าถึงได้ยากเพราะร้านรีฟิลส่วนใหญ่จะอยู่แค่ในตัวเมือง การขายสินค้าแบบให้ลูกค้านำภาชนะมาเติมเอง การมัดจำขวด หรือการใช้ซ้ำ ยังไม่แพร่หลายในสังคมไทย ดังนั้น ถ้าภาครัฐมีนโยบายให้ร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ตที่ตั้งอยู่แพร่หลาย มีบริการให้ลูกค้านำภาชนะตัวเองมาเติมสินค้าได้ ก็จะช่วยให้เกิดการลดพลาสติกตั้งแต่ต้นทางมากขึ้นการประกาศห้ามแจกถุงพลาสติกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของความพยายามในการลดปริมาณขยะพลาสติก แต่รัฐสามารถออกนโยบายและข้อบังคับที่จริงจังได้มากกว่านี้เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการสิ้นสุดการใช้งานจากผู้บริโภค

ถ้าเปรียบเทียบมลพิษพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic) ให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น ความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายทางก็เหมือนกับการใช้ช้อนชาตักน้ำออกจากอ่างที่น้ำกำลังล้น ต้นทางของมลพิษพลาสติกเหมือนก๊อกน้ำที่กำลังเปิดอยู่ ซึ่งในตอนนี้มันไม่ได้ถูกหยุดหรือแก้ไขเลย การแก้ไขคือต้องมีคนไปปิดก๊อกน้ำ นั่นคือ ผู้ผลิตสินค้า เจ้าของแบรนด์อุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ต้องหาทางหยุดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในบรรจุภัณฑ์ และลงทุนในระบบใช้ซ้ำ ส่วนรัฐบาลสามารถออกนโยบายหรือนำหลักความรับผิดชอบของผู้ผลิตมาบังคับใช้ 

ภาพประกอบโดย นริศรา ยิ้มแย้ม

มลพิษพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากจุดกำเนิดของพลาสติกนั้นมาจากอุตสาหกรรมฟอสซิล ในการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเทศทั่วโลกยอมรับข้อมติให้มีการเปิดเจรจาระหว่างประเทศของ สนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก  ซึ่งจะครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมฟอสซิลเพื่อลดการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastic)

จากวงเสวนา“มลพิษขยะพลาสติก ปัญหานี้ใครควรเข้ามาร่วมรับผิดชอบ”ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เราไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตมลพิษพลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เลย หากยังคงเน้นเพียงการสร้างจิตสำนึก หรือมุ่งไปที่การทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างอย่างเดียวเท่านั้น การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การออกนโยบาย หรือการทำให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า สนับสนุนระบบการใช้ซ้ำ​ตลอดจนการนำกลับมาใช้ใหม่อาจเป็นทางออกที่จะสามารถแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ได้

สามารถฟังเสวนา “มลพิษขยะพลาสติก ปัญหานี้ใครควรเข้ามาร่วมรับผิดชอบ” ย้อนหลังได้ที่นี่