แม้ปีนี้ฤดูกาลฝุ่นของพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจะใกล้ผ่านพ้นไปพร้อมกับค่าอากาศที่ดีกว่าทุกปี ด้วยอิทธิพลของลานิญาและพายุที่เข้ามาเป็นช่วง ๆ ตลอดต้นปี แต่ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนเป็นปัญหาร้ายที่เรื้อรังทำลายสุขภาพของคนภาคเหนือมานานกว่า 15 ปี จนกระทั่งล่าสุดหนึ่งในตัวแทนของภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านฝุ่นควันพิษของภาคเหนือตอนบน คุณวิทยา ครองทรัพย์ จากสภาลมหายใจภาคเหนือ ได้ร่วมตบเท้าเข้าร่วมฟ้องกับภาคประชาสังคม รวมตัวเป็นผู้ฟ้องในคดี PM2.5 ฟ้องต่อศาลปกครองถึงหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง แต่ยังไม่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษทางอากาศได้ 

วิทยา ครองทรัพย์ เข้าร่วมฟ้องกับภาคประชาสังคม รวมตัวเป็นผู้ฟ้องในคดี PM2.5 ฟ้องต่อศาลปกครองถึงหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงานในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง แต่ยังไม่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษทางอากาศได้ @Pamumas Sanguanwong/Greenpeace 

“ที่ผ่านมาในทุกปี ตั้งแต่ปี ‘50 เรายังไม่ได้คิดอะไร พอฝนมาฟ้าใส หน่วยงานรัฐก็แยกย้ายไปที่อื่น รัฐเองก็ใช้กฎหมายระงับภัยเป็นหลัก ประชาชนเองก็หลงลืมกันไป” คุณวิทยา เท้าความถึงจุดเริ่มต้นปัญหาฝุ่นควันพิษตั้งแต่อดีต เรามักจะพูดถึงปัญหาฝุ่นควันกันในหลายบริบท ทั้งสาเหตุที่มา ค่ามาตรฐานที่เอื้อต่อการปล่อยมลพิษ และมาตรการนโยบายที่ไม่เอาจริงของภาครัฐต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรม ซึ่งท้ายที่สุดผลกำไรที่เข้าสู่มือบริษัทนั้น กลับมาทำร้ายประชาชนแบบผ่อนส่ง ในครั้งนี้คุณวิทยา ซึ่งนอกจากเป็นผู้ประสานงานสภาลมหายใจภาคเหนือแล้ว ยังมีอีกบทบาทสำคัญในฐานะภาคเอกชนด้วย คือ ที่ปรึกษาฝ่ายสิ่งแวดล้อม หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งคำถามอย่างน่าสนใจจากการสังเกตรถบรรทุกขนข้าวโพดที่วิ่งเข้าออกชายแดนจังหวัดต่าง ๆ ของภาคเหนือในช่วงฝุ่นควันพิษว่า “ทำไมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า”

หอการค้าเชียงใหม่และบทบาทในการต่อสู้กับปัญหาฝุ่นควัน

คุณวิทยา เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2550 กรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ทุกชุด ได้พยายามแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดทุกปี ให้การสนับสนุนด้านปัจจัยเงินให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ช่วยระดมทุนบริจาค แต่ในช่วงหลังมีแต่ปัญหาซ้ำ ๆ 

“การช่วยเหลือของเราแทบจะไม่เกิดประโยชน์ รัฐมองภัยที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนไฟไหม้ข้างบ้าน แค่มาช่วยดับ” คุณวิทยากล่าว แม้ภายหลังจะมีการใช้ภาพจากดาวเทียม มีการประชุมถอดบทเรียน แต่ทุกปีก็ยังคงมีการเผา และจุดความร้อนในแต่ละปีก็ยังมีจำนวนสูง ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมากเข้าไปดับไฟ “แม้ล่าสุดปี ‘65 รัฐก็ยังแก้แบบเผชิญเหตุเหมือนเดิม เรารู้สึกถึงความซ้ำซากก็เกิดข้อสงสัย การแก้ไขของภาครัฐ ดูเหมือนเป็นภาคใหญ่โต มีการจัดแถว เข้าแถวสวนสนาม แต่ไม่แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร”

@Pamumas Sanguanwong/Greenpeace 

หมุดหมายหลักของการขยับเรื่องฝุ่นควันภาคเหนือที่เด่นชัดที่สุดที่คุณวิทยาสังเกตคือ การขับเคลื่อนของประชาชนในปี 2558 ด้วยการรวบรวมรายชื่อ ผ่าน Change.org ให้ฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ และจะต้องมีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีแม้มีการทำข้อเรียกร้องแบบนี้ทุกปี แต่ยังไม่มีการขยับใด ๆ ที่ชัดเจนจากภาครัฐทั้งสิ้น เรายังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันทุกปีไม่รู้จบ 

การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมของภาครัฐควรเป็นเช่นไร

มีแนวทางหลากหลายรูปแบบที่คุณวิทยาได้พยายามเสนอมาตลอดหลายปีในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ตั้งแต่การตั้งคณะทำงานที่ทำงานต่อเนื่องตลอดทั้งปี การจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขไม่ใช่ป้องกัน การติดตั้งเครื่องวัดอากาศขนาดเล็กทุกหมู่บ้าน การทำบัญชีแหล่งมลพิษ รวมถึงการพูดคุยหาทางออกร่วมกันกับทั้งนักวิชาการและชุมชนในพื้นที่เพื่อแก้ไขในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม แต่ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดคือการจัดการมาตรการทางภาษีต่อผู้สร้างฝุ่น 

“บริษัทผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดควรเสียภาษีสูงสุด ทั้งข้าวโพด ไร่อ้อย นาข้าว” คุณวิทยาเสนอ ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณวิทยาชี้แจงว่า ที่ผ่านมาการแก้ไขฝุ่นควันข้ามแดนยังไม่มีประสิทธิภาพ แม้จะมีคณะกรรมการชายแดนทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารตั้งคณะเจรจาทุกปี แต่ปัญหายังคงอยู่ และทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในปีนี้ ที่แนวโน้มความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน โดยคุณวิทยาเผยว่าแหล่งผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลักมักอยู่บริเวณชายแดน ด้วยเหตุผลหนึ่งคือเพื่อการขนส่งเข้าประเทศได้สะดวก

รัฐต้องทบทวนเรื่องภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ขณะนี้ไม่ต้องจ่าย

“เรามักเห็นภาพรถบรรทุกขนข้าวโพดเข้าไทยเสมอ ผมจึงอยากให้รัฐทบทวนเรื่องภาษีนำเข้า  รัฐควรจะมีมาตรการว่า หากผู้ปลูกจะเผาโดยไม่มีการประสานงาน หรือทำร้ายคนไทย รัฐจะต้องตั้งภาษีให้สูง แน่นอนจะมีผลกระทบต่อราคาเนื้อสัตว์แต่เราต้องยอมรับ เพื่อควบคุมการผลิตและการเผา” 

ภาพรถบรรทุกรอผ่านด่าน ณ บริเวณด่านแม่สายเมื่อปี 2563 @วิทยา ครองทรัพย์

รัฐบาลไทยมีมติครม. เห็นชอบประกาศยกเลิกภาษีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ปี 2548 ดังนั้นแม้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็สามารถนำเข้าข้าวโพดได้โดยไม่เสียภาษี จึงหมายความว่า แม้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะขาดแคลนแต่ไม่ได้ทำให้ราคาการรับซื้อข้าวโพดในประเทศสูงขึ้น เนื่องจากรัฐส่งเสริมการนำเข้าโดยไม่เสียภาษี โดยล่าสุด กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณ 380,000 ตันเข้าได้ 4 เดือน ภาษี 0% จากปกติที่จะต้องเก็บภาษีอยู่ที่ 20% 

คุณวิทยาอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าวกรีนนิวส์และงานวิจัยพบว่าเป็นไปได้สูงว่าที่มาของมลพิษข้ามพรมแดนนี้คือการเผาไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย โดยในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งประมาณกลางเดือนเมษา 2565 ที่ผ่านมา มีจุดความร้อนเกิดขึ้นจำนวนมากในลาว ส่งฝุ่นควันมายังประเทศไทยเยอะมาก คาดเดาว่าจะเป็นการเผาที่เกี่ยวข้องกับพืชไร่เพื่ออุตสาหกรรมเกษตรดังกล่าว ถึงแม้กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มในไทยจะมีการตั้งนิติบุคคลในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผู้รับผลประโยชน์ก็คือบริษัทของไทย การที่กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรขยับขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้นเพราะการตื่นตัวของภาคประชาชนไทย กลุ่มอุตสาหกรรมจึงไปส่งเสริม เช่าที่ดิน และสัมปทานในเขตประเทศเพื่อนบ้าน ให้ประชาชนเพื่อนบ้านเป็นคนปลูกและเผาแทน ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในไทยจึงมีแนวโน้มลดลง มาตรการในการแก้ไขรัฐบาลไทยอาจไม่ต้องเรียกร้องวิ่งตามงอนง้อให้รัฐบาลพม่าช่วยลดการเผาเลย  แต่สามารถทำได้โดยต่อรองกับผู้รับซื้อในไทยให้บริหารการเผาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้มาตรการทางภาษี เช่น ปรับภาษีขึ้น จะนำไปสู่การปลูกและกระบวนการจัดการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยน้อยที่สุด

“อีกสาเหตุหนึ่งคือ รัฐไทยสามารถควบคุมการเผาหรือไม่เผาได้ เพราะรายชื่อของเกษตรกรอยู่ในมือของภาครัฐ เช่น กรณีผู้ว่าฯ สั่งห้ามไม่ให้เผา โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด แต่นาข้าวยังไม่มีการควบคุม”

พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

อย่างไรก็ตาม เราต่างเห็นผลกันแล้วว่า เรื่องของมลพิษทางอากาศไม่ใช่เรื่องของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง มาตรการการรับซื้อข้าวโพดที่เข้มงวดขึ้นของไทยนั้น ไม่สามารถหยุดการลงทุนของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากไทยในประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้ากลับมาเพื่อผลิตในไทยและส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และแปรรูป รวมถึงอาหารสัตว์ได้

“กรณีการนำเข้า กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทและอำนาจในการลดภาษีนำเข้า ประชาชนยังไม่มีข้อมูลว่ากระบวนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มานั้นมีความเกี่ยวข้องกับกี่หน่วยงาน การขาดข้อมูลทำให้ง่ายมากต่อการแค่นำเข้าผ่านรถบรรทุก ควรจะมีการเปิดเผยข้อมูลว่า รถบรรทุกขนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีทั้งหมดกี่พันเที่ยว ขับแล้วไปเก็บที่ไหน โรงงานไหน” 

เชียงใหม่จากแนวคิด Health Hub กลายเป็น Haze Hub

ในฐานะภาคเอกชน สิ่งที่คุณวิทยาเล็งเห็นชัดเจนว่าเป็นผลกระทบต่อเชียงใหม่คือด้านเศรษฐกิจ ปัญหาฝุ่นควันส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ long stay ที่ลดลงกว่า 50,000 คน นักท่องเที่ยวเหล่านี้ใช้จ่ายเงินเดือนละประมาณ 60,000 บาท เมื่อคำนวนดูแล้ว จะเห็นว่า ไทยสูญเสียรายได้ถึง 1,800 ล้านบาทต่อเดือนโดยประมาณ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เลือกไปอยู่ภาคใต้ในช่วงเดือนที่เชียงใหม่เผชิญปัญหาฝุ่นควัน

“งานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าเชียงใหม่สูญเสียเงินไป 4 พันล้านบาทในปัญหาฝุ่นควัน

ภาพลักษณ์เมืองที่น่าอยู่ของเชียงใหม่ก็หายไป เดิมทีมีแนวคิดให้เชียงใหม่เป็น Health Hub เมืองรักษาสุขภาพ ก็ช้าลงจนต้องเกือบหยุดไป การพัฒนาเมืองในด้านอื่น ๆ ก็ช้าลง รวมถึงมีค่ารักษาพยาบาลที่ต้องรักษาคนไทย ซึ่งน่าจะประมาณ 2 แสนกว่าล้านที่จะต้องจ่ายในระยะยี่สิบปี” คุณวิทยากล่าว

ปัญหาเผาซ้ำซากในพื้นที่อุทยาน

คุณวิทยาเสริมว่า การแก้ไขปัญหาการเผาทุกวันนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐอย่างองค์กรบริหารส่วนตำบลและเทศบาลเองก็ไม่เข้มแข็งพอที่จะดูแลป่าได้ ดังเช่นกรณีเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่เกิดจุดความร้อนกว่า 2,000 จุดในแม่ฮ่องสอน ส่วนหนึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการจัดการเชื้อเพลิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าในกรณีการดับไฟนั้น หนึ่งจุดความร้อนต้องใช้เจ้าหน้าที่ 10 คน และบางครั้งต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดับไฟบริเวณ จุดความร้อนที่เกิดขึ้นนับพันจุดในแต่ละวันนั้นจึงไม่เพียงพอ และการมอบสิทธิแก่คนที่อาศัยอยู่ในป่าให้เข้าไปดูแลป่าได้นั้นก็ยังทำได้ไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ทั้งที่วิธีการนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยรักษาพื้นที่ป่าได้มากขึ้น

พื้นที่ป่าในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ © Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ข้อมูลจากคณะทํางานวิชาการเฉพาะกิจเพื่อจัดทําขอเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการไฟป่าและการเผาในที่โลงเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5  ที่นำเสนอต่อสํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีระบุว่า ระหว่างปี 2553-2562 มีพื้นที่เผาซ้ำซากเฉลี่ยรวม 9.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่ามากถึงร้อยละ 65 และพื้นที่ข้าวโพดร้อยละ 6 จากข้อมูลพื้นที่เผาซ้ำซากในช่วงสิบปีนี้ คุณวิทยาได้ตั้งคำถามว่า รัฐไม่เห็นผลกระทบต่อประชาชนหรือ 

“สาเหตุก็มีข้อมูลแล้ว เงินก็มีทั้งจากการประมูลและบริจาคแล้ว และข้อเสนอแนะจากคนในสังคมก็มีแล้ว เหลือแค่รัฐเข้ามาปลั๊กกับข้อเสนอประชาชนที่มีอยู่ เชื่อว่าอาจจะมีการขัดกับผลประโยชน์กับอุตสาหกรรมรายใหญ่อื่น ๆ แต่จำเป็นต้องปรับลดหากัน และภาคประชาชนพร้อมที่จะให้เวลาแก้ไข”

การผลักดันเชิงนโยบายกับ สส. และพรรคการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน

สภาลมหายใจและหอการค้าเชียงใหม่ผลักดันการทำงานผ่านทาง สส. และ สว.ในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม มีเพียงไม่กี่คนและไม่กี่พรรคเท่านั้นที่ช่วยผลักดัน ซึ่งทางคุณวิทยาเล่าว่า คณะ สว. ภาคเหนือ มีท่านหนึ่งช่วยประสาน  แต่บทบาทของ สว. ก็มีจำกัด ข้อเสนอบางข้อมีการยื่นต่อนายกฯ หรือนำข้อมูลไปอภิปรายในสภา ในส่วนของ สว. เองก็พยายามทำความรู้จักกับแกนนำสภาลมหายใจของแต่ละจังหวัด 

ในส่วนของ สส. มีเพียงแค่สองพรรคที่ช่วยร่างพรบ.และผลักดันอย่างเข้มแข็ง พรรคอื่นยังไม่เห็นความใส่ใจในส่วนนี้ 

“หลายพรรคไม่มีความเข้าใจในด้านนี้ ยังมองเห็นว่ารัฐทำงานตอบสนองแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันมาดีแล้ว ทั้งการพ่นน้ำขึ้นฟ้า ส่ง ฮ. ดับไฟ แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ที่จริงพรรคการเมืองน่าจะมองเห็นข้อเท็จจริง และเลือกที่จะแก้ปัญหาจากต้นเหตุจริง ๆ” คุณวิทยากล่าว

การแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดที่ต้องการให้เกิดขึ้น

ข้อเสนอของสภาลมหายใจ หอการค้าเชียงใหม่ และภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องฝุ่นควันในภาคเหนือเสนอว่า มาตรการที่เกิดขึ้นเร่งด่วนและทำได้ทันที คือ ติดตั้งเครื่องวัดค่าอากาศขนาดเล็กให้แก่ทุกหมู่บ้าน  เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงค่าคุณภาพอากาศ ณ ขณะนั้น วิธีนี้สามารถดำเนินการได้ทันที  คุ้มค่าและใช้ต้นทุนไม่สูง 

“เมื่อติดตั้งแล้วต้องส่งความรู้เรื่องค่าอากาศเกี่ยวกับประชาชน จัดหาอุปกรณ์ลดผลกระทบให้กับประชาชน เช่น มุ้งกันฝุ่น (1,500 บาท) ห้องปลอดฝุ่นให้เด็ก และหน้ากากที่กันฝุ่นได้จริง ๆ ไม่มีปีไหนที่ลงมือแจกหน้ากากกันฝุ่นจริงๆ ปี ‘65 มีโรงงานผลิตหน้ากากกันฝุ่นที่ได้มาตรฐานในภาคเหนือแล้ว และขายอันไม่ถึง 10 บาท นี่คือความเร่งด่วนในการปกป้องสุขภาพของทุกคน” คุณวิทยากล่าว

วิทยา ครองทรัพย์ เข้าร่วมฟ้องกับภาคประชาสังคม รวมตัวเป็นผู้ฟ้องในคดี PM2.5 ฟ้องต่อศาลปกครองถึงหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงานในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง แต่ยังไม่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษทางอากาศได้ @Pamumas Sanguanwong/Greenpeace 

ข้อสำคัญต่อมา คือ ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5  ที่ไทยใช้ต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศล่าสุด ถึง 3-5 เท่า ซึ่งการที่ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของไทยมีค่าที่สูงเช่นนี้ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมและลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ อีกทั้งเปิดช่องให้แก่ผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่กรีนพีซพยายามผลักดันมาโดยตลอด คุณวิทยาเห็นว่า แม้อาจไม่ส่งผลในการเผาในทันที แต่จะส่งผลให้กลไกทางกฎหมายในควบคุมต่าง ๆ ขยับตาม และจะมีการบังคับใช้กับบริษัทอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ

ในด้านปัญหาฝุ่นควันจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ดังที่คุณวิทยาได้ชี้แจงข้อมูลไว้ว่า ผู้ประกันราคาและภาครัฐมีบัญชีรายชื่อของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอยู่ ดังนั้นรัฐสามารถควบคุมการเผาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561-2562 

“ที่น่ากังวล คือ การขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ต่างประเทศมากกว่า ไม่ว่ายังไงก็ต้องมีการจัดการเรื่องนี้ ไม่ควรจะใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกัน จะบอกว่าอย่าไปแตะข้าวโพดก็ไม่ถูก เพราะข้าวโพดสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากมาย” คุณวิทยากล่าว ส่วนในเรื่องพื้นที่ป่านั้น ควรต้องมีการคำนวนว่าภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินชดเชยพื้นที่ป่าจำนวนกว่า 10 ล้านไร่ที่ใช้ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่าไหร่ 

“อุปสรรคสำคัญของปัญหา คือ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ ปัจจุบันธุรกิจไม่ได้จ่ายเงินค่าพื้นที่สักบาท ต้องมีการร่วมรับผิดชอบกัน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดก็ควรมีภาระรับผิดชอบ เช่น การเก็บภาษีที่สูงกว่านี้ หากยังยืนยันการทำธุรกิจแบบนี้อยู่”

และที่สำคัญคือปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือนั้นเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่แค่ของภาคเหนือ ดังที่คุณวิทยาทิ้งท้ายไว้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสเฟสบุ๊กว่า เป้าหมายแรกของรัฐบาลคือความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน ก็อยากให้นายกฯทำอย่างที่พูดจริง ๆ”

อ้างอิง

สํานักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี. (2564). “สถานการณ์และขอเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเผาในที่โลงในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2564”