Burning Earth Action for CAP Reform in Stuttgart. © Annette Cardinale / Greenpeace
© Annette Cardinale / Greenpeace

คำเตือนก่อนสายเกินแก้ของรายงาน IPCC ฉบับที่สาม ระบุว่า ยุทธศาสตร์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน คือการยุติพลังงานฟอสซิล และที่สำคัญตามมาคือ เปลี่ยนระบบอาหารเนื้อสัตว์และนมที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงหนึ่งในสาม

คณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ออกรายงานการประเมินครั้งที่ 6 ฉบับที่ 3 ต่อรัฐบาลทั่วโลก โดยในรายงานล่าสุดนี้เป็นข้อสรุปถึงมาตรการที่รัฐบาลควรนำมาใช้เพื่อให้ผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการรายงานผลต่อเนื่องจากฉบับแรกที่ระบุว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศในขณะนี้อยู่ในระดับสัญญาณเตือนสีแดงสำหรับมนุษยชาติ หรือ “code red for humanity” และฉบับที่สองเมื่อต้นปีที่ประเมินถึงระดับความรุนแรงและความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศต่อภูมิภาคและประเทศต่าง ๆ  ในฉบับล่าสุดนี้รายงาน IPCC ย้ำอีกครั้งว่า เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส มนุษย์จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 และมุ่งสู่การปล่อยเหลือศูนย์

อาหารแพลนท์เบส “Now or Never”  ไม่เริ่มตอนนี้จะสายเกินแก้

ในการที่จะทำเช่นนั้นได้ จะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของพลังงาน เปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียน และการเปลี่ยนระบบอาหารและเกษตรกรรมก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ลืมไม่ได้ ความคืบหน้าครั้งใหญ่ของรายงานฉบับนี้คือการย้ำถึงความสำคัญของระบบอาหารที่เน้นผักหรือ แพลนท์เบส (plant-based food system) จำเป็นต่อการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

Action at IPCC Meeting in Geneva. © Greenpeace / Demir Sönmez
© Greenpeace / Demir Sönmez

รายงาน IPCC วิเคราะห์ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2562 มีสัดส่วนจากภาคพลังงานร้อยละ 34 ขณะที่มาจากภาคเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดินในการเกษตรร้อยละ 22 ซึ่งเป็นสัดส่วนรองลงมาจากพลังงานฟอสซิล ครึ่งหนึ่งในสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากการตัดไม้ทำลายป่า โดยที่ระบบอาหารนั้นเชื่อมโยงกับการก่อก๊าซเรือนกระจกของโลกมากถึงร้อยละ 23-42 ในจุดนี้ IPCC เสริมว่า ถึงแม้จะใช้ทรัพยากรในการผลิตอาหารขนาดนี้ ก็ยังคงมีปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหารและโรคขาดสารอาหาร และแค่ปริมาณอาหารเหลือทิ้งอย่างเดียวนั้นก็ก่อก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 8-10 ในช่วงระหว่างปี 2553-2559 

เมอร์ซิเดส บุสตาแมนเต หนึ่งในผู้เขียนรายงาน IPCC ให้ความเห็นว่า “แนวทางเลี่ยงวิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยการจัดการการใช้ผืนดินที่ดีนั้น นอกจากจะเป็นการดูดซับคาร์บอนแล้ว ยังส่งผลดีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปกป้องวิถีชีวิตของเรา สร้างความมั่นคงทางอาหารและน้ำ แนวดังกล่าวคือการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ และทุ่งหญ้า” 

ในรายงานระบุถึงแนวทางการปกป้องและฟื้นฟูผืนป่าที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากอย่างการหันมาสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ปรับปรุงการปลูกข้าวให้ใช้ปุ๋ยไนเตรทน้อยลง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบระบบอาหารที่เน้นการบริโภคและการผลิตผักผลไม้มากขึ้น และลดการเลี้ยงและการผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ลง รวมถึงลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลพวงจากการผลิตที่เน้นปริมาณมากและใช้ทรัพยากรมากของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตัวการสำคัญของวิกฤตโลกร้อน ทางออกที่รายงาน IPCC เสนอไม่ใช่เรื่องใหม่เลย และเป็นแนวทางที่ส่งผลดีต่อประชากรส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ ทั้งผู้ผลิตรายย่อย ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงกลุ่มบรรษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นกุมอำนาจทางการเมืองไว้ และมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากประเทศนั้นมีอิทธิพลถึงประเทศอื่นด้วย รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและเนื้อสัตว์ในประเทศเอง ทำให้การปรับเปลี่ยนนโยบายไปสู่การสนับสนุนระบบอาหารพืชผักนั้นเกิดขึ้นได้ยาก

มาตรการที่รายงาน IPCC แนะนำเพื่อเปลี่ยนสู่ระบบอาหารที่เน้นพืชผักและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่นักวิชาการและองค์กรภาคประชาสังคมเรียกร้องมายาวนาน เช่น ลดการผลิตเนื้อสัตว์ระดับอุตสาหกรรม การเก็บภาษีคาร์บอนกับผลิตภัณฑ์อาหาร ปรับปรุงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ควบคุมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทอาหาร ติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่บอกข้อมูลเรื่องการผลิตและก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดย IPCC ระบุว่าเป็นมาตรการที่ไม่ได้ใช้เงินทุนสูง สร้างผลกระทบเชิงบวก นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วมาตรการเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้วจะนำไปสู่การลดการใช้พื้นที่เกษตรและปศุสัตว์ ลดมลพิษ ลดการศูนย์เสียความหลากหลายทางชีวภาพ ในทางเดียวกันก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อที่เกิดจากการกิน เช่น ภาวะโรคอ้วน โรคหัวใจ ความดันโลหิด และมะเร็งบางชนิด

ซึ่งถ้านักการเมืองและผู้นำประเทศต่าง ๆ ฟังคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์และกลุ่มภาคประชาสังคมบ้าง อาจจะป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปได้แล้ว

ให้ชนพื้นเมืองดูแลผืนดินและป่า

Indigenous Peoples Protest outside COP26 in Glasgow. © Bianka Csenki / Greenpeace
© Bianka Csenki / Greenpeace

ไม่ใช่ครั้งแรกที่รายงาน IPCC ย้ำว่าทางออกในการฟื้นฟูปกป้องป่า คือการให้สิทธิกับชนพื้นเมืองและชุมชนในการดูแลและเข้าถึงการใช้พื้นที่ป่า เพื่อป้องกันวิกฤตโลกร้อน และรายงานล่าสุดนี้ IPCC ระบุชัดเจนว่า จากนี้ไปจนถึงปี 2050 หรือ พ.ศ.2593 วิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกักเก็บคาร์บอนคือผืนป่าและระบบนิเวศ และสิ่งที่ควรทำคือมีพื้นที่คุ้มครอง และให้สิทธิกับชนพื้นเมือง เพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

ข้อมูลจาก Global Forest Watch เผยว่า พื้นที่ป่าไม้ที่เป็นบ้านของชนพื้นเมืองที่เปรู บราซิล และเมกซิโกนั้น สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าป่าบริเวณอื่น และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก นอกจากนี้ ข้อมูลโดยทั่วไปของป่าที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองยังพบว่าสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่าป่าอื่น ๆ ถึงสองเท่า เมื่อเทียบกับป่าปลูก หรือป่าของเอกชน บทบาทของชนพื้นเมืองและป่านี่เองจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ง่ายที่สุดสำหรับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก เพียงแค่ให้สิทธิแต่ชนพื้นเมือง ชาติพันธุ์ และชุมชนในการอาศัยและดูแลป่า รวมถึงไม่บุกรุกผืนป่าเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ในการที่จะปกป้องผืนป่าได้นั้น นอกจากให้สิทธิที่ชนพื้นเมืองพึงมีแล้ว ยังรวมถึงการมีกฎหมายหรือนโยบายที่กดดันภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการทำลายผืนป่า เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งทางออกของปัญหานี้ก็โยงกลับไปยังหัวใจที่ IPCC เสนออีกครั้ง คือ การเปลี่ยนผ่านสู่อาหารแพลนท์เบส ลดการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม และการบริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับสูง

ดังที่รายงาน IPCC แนะนำ ระบบอาหารแพลนท์เบสคือหัวใจของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รัฐบาลจะต้องเร่งนำมาใช้ และปรับเปลี่ยนให้ระบบอาหารของเรานั้นยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาหาร และเป็นธรรมต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค แนวทางและมาตรการทุกอย่างมีคำแนะนำไว้ให้ทั้งหมดแล้ว เหลือแค่เจตนารมณ์ของผู้นำประเทศที่จะลงมือทำ  เพราะเราแทบจะไม่มีเวลาเหลือแล้วจริง ๆ

ข้อมูลอ้างอิง

Frechette, A. (2019). IPCC Agrees with Indigenous Peoples and Local Communities on Climate Change. Rights and Resources.

Intergovernmental Panel on Climate Change. (2022). “Technical Summary” In IPCC Sixth Assessment Report: Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change

Lang, T., et al. (2010). Meat and Policy: Charting a Course through the Complexity.

Johnson, S. (2014). The Politics of Meat: A look at the meat industry’s influence on Capitol Hill. Public Broadcasting Service (PBS).

Surma, K. (2022). Indigenous Land Rights Are Critical to Realizing Goals of the Paris Climate Accord, a New Study Finds. Inside Climate News.

United Nations. (2022). “8 reasons not to give up hope – and take climate action.UN News: Global Perspective Human Stories