เมื่อเห็นว่าการส่งเสริมป้องกันควรทำควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จึงออกมาร่วมเป็นผู้ #ฟ้องทะลุฝุ่น กดดันให้ 3 หน่วยงานรัฐทำหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม (สักที!)

ในโมงยามที่ท้องฟ้าประเทศไทยไม่สดใสเหมือนที่เคย นี่จึงเป็นบทสนทนาว่าด้วยนโยบายสาธารณสุขไทยกับเบื้องหลังการออกมาเรียกร้องให้คนไทยมีอากาศสะอาดหายใจ และการทดลองที่หักล้างมายาคติ “ค่าฝุ่นต่ำกว่ามาตรฐาน = ปลอดภัย” ว่าไม่เป็นความจริง

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

เห็นอะไร ทำไมคุณหมอจึงออกมาขับเคลื่อนประเด็นมลพิษทางอากาศ?

ผมเป็นคนหาดใหญ่ ไปอยู่โรงพยาบาลจะนะ 23 ปีซึ่งมีโครงการแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เป็นโรงแยกก๊าซแห่งที่ 3 ของไทย และกำลังจะมีนิคมอุตสาหกรรมหากชาวบ้านไม่สามารถคัดค้านได้สำเร็จ ผมได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลของโรงแยกก๊าซจะนะ และโรงไฟฟ้าจะนะซึ่งได้ทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น พบว่าฝุ่นต่ำกว่ามาตรฐานก็ทำให้มีอาการป่วยได้ ผมจึงคิดว่าเราควรทำเรื่องส่งเสริมป้องกันด้วยนะ ไม่ใช่รักษาอย่างเดียวอย่างที่เป็นมา

การทดลองที่ทำกับม.สงขลานครินทร์และโรงไฟฟ้าจะนะปี 2552 เป็นอย่างไร?

เราทดลองกับหมู่บ้านที่ใกล้กับโรงไฟฟ้ามากที่สุด คือ 800 เมตรจากโรงไฟฟ้า มีประชากร 300 คน เก็บตัวอย่างอาการ 45 วัน โดยโรงพยาบาลไปสัมภาษณ์ทุกวัน ถาม 18 อาการทุกวัน เช่น ปวดหัวไหม มึนหัวไหม มีน้ำมูกไหม คันไหม เคืองตาไหม 

ส่วนโรงไฟฟ้าเก็บข้อมูลฝุ่นในหมู่บ้านโดยเอารถวัดปริมาณมลพิษอากาศ เช่น PM10 ไนโตรเจนไดออกไซน์ โอโซน คาร์บอนมอนอกไซด์ โดยที่โรงพยาบาลไม่เห็นค่าวัดคุณภาพอากาศ และโรงไฟฟ้าจะนะไม่เห็นค่าคำตอบของชาวบ้าน เราทั้งคู่ส่งผลไปให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิเคราะห์และประเมินผล แล้วพบว่ามลพิษอากาศมีผลกระทบจริงในระดับอาการ แม้ค่ามลพิษต่ำกว่ามาตรฐาน แต่มีผลในระดับอาการ วันไหนค่ามลพิษของโรงไฟฟ้าพุ่งขึ้น อาการแสดงเพิ่มขึ้นชัดเจน หากมีผลระดับอาการนาน ๆ ก็อาจจะส่งผลให้เป็นโรคได้

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

ชาวบ้านรู้ไหมว่าอาการต่าง ๆ ที่พบเกิดจากโรงไฟฟ้า?

เขาเชื่อเช่นนั้นอยู่แล้ว ก่อนจะมีทำการทดลองซะเอง แต่โรงไฟฟ้า นักวิชาการ โรงพยาบาลไม่เชื่อ

เราไม่เชื่อว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากมลพิษจากโรงไฟฟ้าเท่านั้น เชื่อว่าอาจจะเกิดจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย เลยลองวัดดูว่าอาการจะขึ้นลงตามมลพิษโรงไฟฟ้าขนาดต่ำ ๆ ไหม โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถตัดความลำเอียงทิ้งได้ด้วย สำหรับคนที่ตอบเพราะไม่ชอบโรงไฟฟ้า ผลออกมาคือกราฟชัดมาก สมมุติวันนี้โรงงานปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น อีก 1 วัน อาการมึนหัวเพิ่มขึ้น แต่มีความเหลื่อมนะ เพราะมลพิษต่ำ ๆ ร่างกายจะไม่ตอบโต้แบบมลพิษสูง ๆ เช่น ระคายเคือง สูดปุ๊ปรู้สึกปั๊ป มลพิษต่ำ ๆ ร่างกายใช้เวลากว่าจะมีอาการ เช่น ไนโตรเจนไดออกไซด์มีความเหลื่อมต่ออาการมึนหัวอยู่ที่ 1 วัน ไนโตรเจนไดออกไซด์ขึ้นวันนี้ วันรุ่งขึ้นจึงมีอาการเป็นต้น เมื่อวานรับฝุ่นน้อย ๆ วันนี้อาจจะเพิ่งคันตา ไม่จำเป็นต้องคันตาทันที 

อย่างน้อยสิ่งที่เราได้ทำคือการทำลายความเชื่อของวิศวกร “ค่ามลพิษต่ำกว่ามาตรฐานแปลว่าปลอดภัย” ว่าไม่เป็นความจริง ทำให้วิศวกรเห็นโดยประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ว่าต่ำกว่ามาตรฐานก็ทำให้เกิดอาการได้ และเป็นความสัมพันธ์ของการตอบสนองกับปริมาณพิษที่ได้รับ (Dose-response relationships) ปริมาณมาก อาการมาก ปริมาณน้อย อาการน้อย 

ในทางวิชาการมีคำว่า ‘Chronic Low Dose Exposure’ คือการรับสารพิษนาน ๆ ต่ำ ๆ ก็ส่งผลต่อร่างกายเหมือนกัน อย่างฝุ่น หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้า ถ้ารับนาน ๆ น้อย ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อปอด ทางเดินหายใจ 

เมื่อไม่มีค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย แล้วควรทำอย่างไรต่อไป?

หลักคิดแบบพิษวิทยานะ สุขภาพของคนไม่ได้แข็งแรงเท่ากัน คน 100 คนจะมีอยู่ 5 คนที่แข็งแรงมาก ถึงฝุ่นจะเกินมาตรฐานยังไงก็ไม่ป่วย แต่จะมีอีกร้อยละ 5 ที่อ่อนแอ แม้ฝุ่นไม่เกินมาตรฐานก็ป่วยได้ ค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจึงน่าสนใจมาก  เนื่องจากไม่มีค่ามาตรฐานที่ปลอดภัย การกำหนดค่ามาตรฐานให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลกก็ลดค่ามาตรฐานลงเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน เราจึงต้องดูแลประชาชนให้เทียบเคียงกับนานาประเทศ

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

ที่ผ่านมานโยบายกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างไร?

ส่วนใหญ่ก็อบรมสร้างความเข้าใจการรักษาโรคแก่บุคลากร เพราะเป็นโรคใหม่  PM2.5 มีขนาดเล็กมากถึงขนาดแทรกเข้าไปในหลอดเลือดได้ เล็กกว่าเม็ดเลือดแดงอีก ตัวมันมีลักษณะเหมือนสำลี มีเส้นใยที่ให้สารอื่น ๆ เช่นโลหะเหล็ก นิกเกิล แคทเมียม ปรอทเกาะได้ ฝุ่นก็จะพามลพิษต่าง ๆ เข้าไปในร่างกาย นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คิดว่า PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็ง เพราะตัวมันเป็นตัวพามลพิษอื่นเข้าสู่ร่างกาย

ในฐานะแพทย์ เราดูแลผู้ป่วยที่ป่วยแล้ว มีอาการภูมิแพ้ ปอดอักเสบ มะเร็ง แต่ข้อจำกัดของวิชาชีพคือเราไม่ค่อยขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ส่งเสริม ป้องกันโรค วันนี้ชมรมแพทย์ชนบทจึงคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญจึงมาร่วมฟ้องด้วย

ไม่สามารถยิงเรื่องขึ้นไปสู่ผู้บริหารได้เหรอ?

ยิงไม่ได้
ได้ยิง แต่ไม่ค่อยได้ผล พอไม่ได้ผลเราก็เลิกยิง เพราะในความเป็นจริงระบบราชการไทยไม่ค่อยฟังเสียงจากข้างล่างอยู่แล้ว ชงไปก็ไม่ค่อยได้ประโยชน์ และอีกอย่างก็เป็นคนละกระทรวงกัน ซึ่งกระทรวงแต่ละกระทรวงก็มีการทำงานแบบไม่ก้าวก่ายเพื่อน กระทรวงสาธารณสุขก็ไปก้าวก่ายการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติผู้กำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นก็ไม่ค่อยทำกัน

การออกมากดดันร่วมกับสาธารณะเช่นการฟ้องแบบนี้ น่าจะเป็นความหวังกว่า

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

แล้วถ้าเป็นผู้มีอำนาจจะทำอย่างไร?

หัวใจแรกคือต้องปรับค่ามาตรฐานฝุ่นให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานโลก เหมือนเป็นเบาหวานครับ เมื่อก่อนค่ามาตรฐานเบาหวานอยู่ที่ 140 มิลลิกรัม ตอนนี้เหลือ 126 ถ้าเกินเป็นเบาหวาน อันนี้เท่าค่ามาตรฐานโลก ค่ามาตรฐานนำมาสู่การรักษา ถ้าฝุ่นยังไม่เกินมาตรฐาน เราก็ยังไม่รักษา ถ้าเกินแล้วจึงรักษา  

พอเรามีค่ามาตรฐานใหม่แล้วก็ออกแผนปฏิบัติการเพื่อลดฝุ่นให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานสำหรับภาคอุตสาหกรรม การผลิตรถยนต์ ภาคการเกษตรให้ขยับตาม

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

บางคนบอกว่าการเปลี่ยนนโยบายช้าจึงต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน?

ชุดความคิดเรื่องเริ่มที่ตัวเองก่อนก็ถูก แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่โดยที่สิ่งแวดล้อมแย่ได้ เราต้องออกจากบ้าน มีกิจกรรมทางสังคม เราต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุดร่วมกับการปรับปรุงตัวเองของเรา ถ้าสิ่งแวดล้อมดี ดินดี อากาศดี น้ำดี อาหารดี การเปลี่ยนชีวิตเราก็ไม่ยาก เราก็ดำเนินชีวิตได้เกือบเท่ากันทุก ๆ คนโดยไม่ต้องยากลำบากอยู่คนเดียว

ร่วมเรียกร้องให้รัฐปรับค่ามาตรฐานให้ปกป้องประชาชนมากขึ้น >> https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air