(ซ้าย) คุณพลอยนภัส เจริญคชฤทธิ์ หัวหน้าโครงการอบรมผู้ประกอบการโซลาร์ และ (ขวา) คุณสิตตา มารัตนชัย ผู้จัดการโครงการประจำประเทศไทย © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในงานเปิดตัววิทยาลัยแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสาน โดยกองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งได้ติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป 10 กิโลวัตต์ให้กับวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร นอกจากงานเสวนาบนเวทีและการให้ความรู้เรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปแล้ว ครั้งนี้เรายังได้ร่วมมือกับ New Energy Nexus ในการจัดกิจกรรมเวิร์กชอปการเป็นผู้ประกอบการ โดยจัดเป็น Action-based learning game ให้กับนักศึกษาภาควิชาไฟฟ้า

เราจึงชวนทีมงานจาก New Energy Nexus โดยคุณสิตตา มารัตนชัย ผู้จัดการโครงการประจำประเทศไทย และ คุณพลอยนภัส เจริญคชฤทธิ์ หัวหน้าโครงการอบรมผู้ประกอบการโซลาร์ มาเล่าให้เราฟังถึงมุมมองเรื่องประสบการณ์ทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และการผลักดันพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดผ่านการสร้างผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น Startup ผู้ประกอบการรายย่อย หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ 

พลังงานคือปัจจัยพื้นฐาน และทุกคนต้องการอนาคตที่ดีกว่าเดิม 

คุณสิตตา มารัตนชัย ผู้จัดการโครงการประจำประเทศไทย © Chanklang Kanthong / Greenpeace

เริ่มต้นจากการที่คุณสิตตาเล่าถึงความสนใจส่วนตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยมักจะคิดอยู่เสมอว่าเมืองที่เราอยู่น่าจะดีกว่านี้ได้ อีกทั้งจากประสบการณ์ ทำงานที่ได้เคยดูแลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พบว่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตที่มีเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักลังนั้นทำได้ยากเมื่อคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงได้เริ่มสนใจเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเพราะเชื่อว่าจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และทำให้เมืองและประเทศเราดีขึ้นมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนกว่านี้ จากนั้นก็ได้ทุนรัฐบาลไทยไปเรียนต่อปริญญาโทด้านนโยบายพลังงานจากสหราชอาณาจักรซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าเราในเรื่องระบบพลังงาน จึงมีความมุ่งมั่นที่อยากจะเห็นประเทศไทยพัฒนาไปไกลได้เช่นนั้นบ้าง

“อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งคือการมีโอกาสได้ไปดูงานเรื่อง Startup ที่สหรัฐอเมริกา และสนใจเรื่องนวัตกรรมมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจเรื่องการกระจายศูนย์ (Decentralise) และการ Empower ประชาชนทั่วไป  ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ ให้มองเห็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองมากกว่าการทำงานในระบบ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจยุคนี้ไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของภาคธุรกิจขนาดเล็ก

คุณสิตตาเล่าต่อว่าความคิดนี้สอดคล้องกับภารกิจหลักของ New Energy Nexus เพราะตนเองมีความเชื่อในหลักการกระจายศูนย์ในระบบพลังงาน หากผลักดันพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดผ่านการสร้างผู้ประกอบการมากขึ้น และเมื่อมีผู้เล่นจำนวนมากขึ้นและผู้เล่นเหล่านั้นอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม สังคมจะมีความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยทรัพยากรที่สำคัญไม่ต้องเป็นของบริษัทใหญ่หรือภาครัฐเพียงอย่างเดียว 

คุณพลอยนภัส เจริญคชฤทธิ์ หัวหน้าโครงการอบรมผู้ประกอบการโซลาร์ © Chanklang Kanthong / Greenpeace

สำหรับคุณพลอยนภัส ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับภาคสังคม และงานอาสาสมัครเพื่อการพัฒนาสังคม จึงมองเห็นความสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน หรือสังคมที่ทุกคนสามารถก้าวไปข้างหน้าร่วมกันได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คุณพลอยนภัสมองว่าพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ประชาชนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม จึงทำให้สนใจเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ชุมชน เมื่อได้มาทำงานกับ New Energy Nexus ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุนผู้ประกอบการ  และชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด จึงได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนและเชื่อมโยงผู้คนทั้งจากฝั่ง Startup ผู้ประกอบการรายย่อย เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้าง ecosystem ทางพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดที่แข็งแรงร่วมกัน

เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

คุณพลอยนภัสเล่าประสบการณ์จากการทำงานกับผู้ประกอบการ Startup และนักศึกษาในประเทศไทย ว่าหลายคนมีจุดร่วมกันคือ ความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และ solution ที่คิดขึ้นมา อีกจุดหนึ่งที่ประทับใจคือแต่ละคนยังพร้อมเข้ามาร่วมสนับสนุนและให้คำปรึกษาซึ่งกันและกันอีกด้วย 

“ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง เรามักจะเฟ้นหานักศึกษาที่มีไฟและพร้อมจะไปต่อ ในขณะเดียวกันเราก็เชื่อมกับภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่จะมาช่วยแบ่งปันความรู้ เพราะการนำทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมทำให้สามารถต่อยอดไปได้ไกลกว่า ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่ได้รับองค์ความรู้จาก New Energy Nexus เมื่อมีภาคธุรกิจเข้ามาช่วยสนับสนุน และได้รับการผลักดันต่อจากสถาบันการศึกษา ก็จะทำให้เยาวชนเหล่านี้ได้เห็นโอกาส และความเป็นไปได้ในการเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในอนาคตที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยที่มีผู้สนับสนุนระหว่างทาง”

กิจกรรมเวิร์กชอปการเป็นผู้ประกอบการ ณ วิทยาลัยเทคนิกสกลนคร © Chanklang Kanthong / Greenpeace

คุณสิตตายกตัวอย่างที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมในเวิร์กชอป Climate Innovator Bootcamp  ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในปี 2563 เราเข้าไปสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพของอาจารย์ที่ทำระบบจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จากนั้นจึงได้ต่อยอดไปทำกิจกรรมกับนักศึกษาได้สำรวจไอเดียใหม่ ๆ  ทำให้เห็นโมเดลธุรกิจของตัวเองชัดเจนขึ้น และนำไปทำงานต่อยอดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ 

“วันหนึ่งอาจารย์ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมได้กลับมาและบอกว่าอยากจะเอาเนื้อหาที่เราจัดเวิกชอปฝึกอบรมกับสตาร์ทอัพไปจัดให้นักศึกษาในชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาได้มีแรงบันดาลใจ มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ จนเกิดมาเป็นไอเดียสตาร์ทอัพสำหรับโลกอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น เช่น เรือไฟฟ้า ระบบจัดเก็บขยะที่เอามาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งทำให้เรามีความหวังในงานที่ทำ และเห็นว่าคนรุ่นใหม่ต้องเทคโนโลยีที่รองรับอนาคตที่ดีขึ้นจริง ๆ รวมทั้งยังเห็นความสำคัญของการมีพลังงานหมุนเวียนและการมีอากาศสะอาดไว้หายใจ”

“เวลาจัด Bootcamp ให้กับเยาวชนจะเน้นแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้โจทย์ในชีวิตประจำวัน โดยจะสอดแทรกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีที่เราสามารถปรับตัวและลดผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้ผ่านโครงสร้างพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไปด้วย แต่ก็มักจะมีคำถามว่าทำไมประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเราก็ได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับหลักการกระจายศูนย์ทางพลังงานให้นักศึกษาฟัง” 

อาชีวะ โซลาร์รูฟท็อป กับสายอาชีพแห่งอนาคต

คุณพลอยนภัสเล่าต่อถึงประสบการณ์จากการได้จัดเวิร์กชอปกับเยาวชนว่า มักพบว่าน้อง ๆ จะสนใจเรื่องใกล้ตัว เช่น ปัญหารถติดรอบสถานศึกษาดและมีแต่มลพิษฝุ่นควัน จึงอยากคิดว่าจะทำอย่างไรให้แต่ละสถาบันการศึกษาหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี 

กิจกรรมเวิร์กชอปการเป็นผู้ประกอบการ ณ วิทยาลัยเทคนิกสกลนคร © Chanklang Kanthong / Greenpeace

“การมีโซลาร์รูฟท็อปที่วิทยาลัยและการได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นวิธีที่ทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นภาพได้ชัดเจนและรวดเร็ว โดยในกิจกรรมครั้งที่ผ่านมานักศึกษาอาชีวะมีส่วนร่วมสูงมาก และแต่ละกลุ่มก็ลงมือทำอย่างจริงจัง สิ่งที่น้อง ๆ มีอยู่แล้วคือความคิดสร้างสรรค์ โดยสิ่งที่เราเสริมให้ได้ในเวลาอันสั้นคือเรื่องแนวคิดของการเป็นผู้ประกอบการ โดยสิ่งที่ทำให้ไอเดียไปต่อได้คือศูนย์การเรียนรู้และระบบสนับสนุนที่ดี และเนื่องจากเยาวชนเหล่านี้อยู่ในชุมชนอยู่แล้วจึงสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาต่อยอดได้เลย”

ส่วนคุณสิตตามีข้อสังเกตจากการร่วมงานกับกองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซ ซึ่งได้ไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับวิทยาลัยอาชีวะว่า การติดระบบโซลาร์จะมีประโยชน์ในหลายแง่มุม คือ ช่วยให้วิทยาลัยได้มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไว้ใช้ได้จริง ๆ เพราะสื่อการเรียนรู้ให้กับเยาวชน ซึ่งพวกเขาจะได้รู้ว่านี่เป็นสายอาชีพแห่งอนาคต  โดยเมื่อพวกเขาเรียนจบไปแล้วเขาไม่จำเป็ยจะต้องไปเป็นเป็นช่างหรือเป็นลูกจ้างเท่านั้น หากมีความรู้ความเข้าใจในการติดตั้งอุปกรณ์และฝึกความเป็นผู้ประกอบการผ่านกิจกรรมจำลองธุรกิจก็จะทำให้ต่อยอดโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น

พลังงานแสงอาทิตย์ในสังคมที่เท่าเทียมและทุกคนมีส่วนร่วม

ด้วยความสนใจเรื่องการสร้างความเท่าเทียม และการสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วมคุณพลอยนภัสจึงมองว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้โซลาร์รูฟท็อปได้มากขึ้น การติดตั้งง่ายขึ้น ราคาลดลง ให้การใช้โซลาร์เซลล์กลายเป็นเป็นเรื่องทั่วปที่ทุกคนสามารถเข้าถึง และทำให้เกิดโครงสร้างที่ดีและเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ประกอบการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่แข็งแรง

“แน่นอนว่าการทำให้คนไทยมาใช้โซลาร์รูฟท็อปกันมากขึ้น ควรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และถ้าหากมีพื้นที่ตรงกลางที่เปิดโอกาสให้ประชาชน และภาคส่วนอื่น ๆ ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันมากขึ้นด้วยก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี”

กิจกรรมเวิร์กชอปการเป็นผู้ประกอบการ ณ วิทยาลัยเทคนิกสกลนคร © Chanklang Kanthong / Greenpeace

นอกจากนั้น คุณสิตตายังเสริมว่าสิ่งที่ตนอยากให้เกิดขึ้นมาตลอดคือการเชื่อมโยงโมเดลธุรกิจเข้าหากัน เราอยากเห็นรูปแบบการให้สินเชื่อและการช่วยเหลือทางการเงิน และมองว่าการให้สินเชื่อกับคนที่จะติดต้ังโซลาร์รูฟท็อปเป็นประเด็นที่สำคัญที่ควรได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบาย

“เราเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดไม่ว่าในรูปแบบไหน จะทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น หลังคาแต่ละบ้านสามารถมีพลังงานใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาจากระบบรวมศูนย์แต่เพียงอย่างเดียว ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราได้ยินเรื่องพลังงานหมุนเวียนและพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดบ่อยครั้ง และวันนี้เราก็เห็นว่าคนหันมาติดตั้งระบบโซลาร์มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเทคโนโลยีจะเคยมีราคาแพงแค่ไหน แต่ถ้ามีความต้องการจากผู้บริโภค ซึ่งผลักดันให้ภาคเอกชนเป็นแกนสำคัญในการเร่งสร้างนวัตกรรม ต่อมาจึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องสนุบสนันเรื่องกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนให้ทันกับความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปของประชาชน”

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน