“แผนพีดีพี(PDP)” เป็นคำย่อของ Power Development Plan หรือ “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า” การผลิตไฟฟ้าทุกกิโลวัตต์เข้าระบบสายส่งของประเทศจึงอยู่ภายใต้ “พีดีพี” ที่โยงใยวิถีชีวิตของเราในฐานะผู้บริโภคกับภาระค่าใช้จ่ายทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนสุขภาพ

แม้ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่กลับมีการปรับเปลี่ยนทุกๆ 2-3 ปี ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนแผนหรือการจัดทำแผนขึ้นใหม่ แทบทุกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำรงตำแหน่งใหม่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ชี้ชะตาภาระที่ต้องแบก

ในการจัดทำแผนพีดีพีจะอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจของภาครัฐเป็นหลัก อาทิ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน( กบง.) คณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพีดีพี และหน่วยงานที่มีบทบาทเกี่ยวกับการวางแผนพลังงานและหน่วยงานการไฟฟ้า การคาดการณ์ล่วงหน้าของพีดีพีภายใต้คณะอนุกรรมการพยากรณ์เป็นฐานรากที่สำคัญอันจะนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งเพิ่มขึ้น

*ข้อมูล 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. 
ข้อมูลอ้างอิง สถานการณ์พลังงานรายปี สำนักนโยบายและแผนพลังงาน และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 [1]

จากสวิตซ์ไฟฟ้าสู่เปิดเหมืองถ่านหิน เจาะก๊าซธรรมชาติ กั้นลำน้ำโขง

จากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทุกคนจากภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ ทำให้หน่วยงานของรัฐที่กล่าวมาแล้ว จัดทำแผนพีดีพีในส่วนการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) ตามสัดส่วนการผลิตและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะตกลงกัน

อ้างอิงจาก:สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้า  ข้อมูลปี 2565

เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามีความสัมพันธ์ต่อเจ้าของโรงไฟฟ้าในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบ ในเดือนมกราคม 2565 ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติราวร้อยละ 55 ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าร้อยละ 16 ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศร้อยละ 14 พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 11 พลังงานน้ำร้อยละ 3 และน้ำมันร้อยละ 0.8

 และในปี 2564 ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบพุ่งราว 20,023 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 39 (หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 20 โรง )ทั้งๆที่ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมาตรฐานที่ใช้อยู่ที่ร้อยละ 15

ข้อมูลจาก เอกสารนำเสนอโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จึงมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในส่วนของเจ้าของโรงไฟฟ้าและเจ้าของสัมปทานเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มทุนอุตสาหกรรมฟอสซิลทั้งก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์และถ่านนำเข้า[2] และการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ดังนั้นไฟฟ้าที่ล้นมหาศาลอันมาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาดมาตลอดและไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ที่เกิดขึ้น หากแต่ค่าใช้จ่ายที่เกินนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับภาระทั้งสิ้น ทั้งในรูปแบบของเงิน ต้นทุนสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ เศรษฐกิจและสภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ

ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าล้นระบบ ค่า Ft-เอฟที ขึ้น ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยขึ้นเป็น 4 บาท [3]

ชื่นชม สง่าราศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า “การสร้างโรงไฟฟ้าจำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าที่ต้องสร้างเผื่อกรณีฉุกเฉิน หรือที่เราเรียกว่า ไฟฟ้าสำรอง” ทางประเทศไทยกำหนดความมั่นคงของไฟฟ้าเพื่อสำรองกำลังผลิตไว้ที่ ร้อยละ 15 ที่ผ่านมาเกินมาตลอดทะลุนับหมื่นเมกะวัตต์ ในปี 2564 ที่ผ่านมา สัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” (Take or Pay) ในปี2564 ที่ผ่านมา มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 8 ใน 12 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือเดินเครื่องไม่เต็มศักยภาพ แต่ยังได้รับเงินค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้าแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่าย ค่าไฟฟ้าส่วนเกินนี้เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟฟ้าราว 2,000 บาทต่อรายต่อปี หรือ 48,929 ล้านบาทต่อปี” 

*หมายเหตุ โรงไฟฟ้าที่แทบไม่ได้ดำเนินการผลิตเลย ได้แก่ 1. บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC 2. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด หรือ RATCH 3. บริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด หรือ GLOW IPP 4. บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ จำกัด หรือ GULF-GPG 5. บริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด หรือ RPCL 6. บริษัท กัลฟ์ เจพี หนองแซง จำกัด หรือ GULF JP NS 7. บริษัท กัลฟ์ เจพี อุทัย จำกัด หรือ GULF JP UT และ 8. บริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด หรือ Gulf SRC

การสร้างโรงไฟฟ้าต้องมีการประกันค่าตอบแทนในการลงทุนหรือที่เรียกว่า เอพี (AP-Availability Payment) ที่ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ตาม โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเหล่านี้ถูกรวมจ่ายเป็นค่าเอฟที Ft ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินจำเป็นนำมาซึ่งภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าหรือผู้บริโภคที่ต้องจ่าย หากพิจารณาเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบการซื้อขาย IPP-(Independent Power Producer ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ มีขนาดกำลังผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ ) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนด้านพลังงานของกัลฟ์ เครือปตท. และราชกรุ๊ปที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น เหล่านี้ทำให้ประชาชนต้องแบกภาระทั้งสิ้นราว 22,000 ล้านบาท

ชื่นชม กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงปี 2564 กพช.มอบหมายให้ ปตท.แยกออกมาทำธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติ ข่าวที่กรอกหูมาตลอดคือ ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติไม่พอ ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี- LNG  ขณะที่อีกข่าวต่างประเทศออกมาว่า ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออก LNG รายใหม่เมื่อมีการขายก๊าซ LNG ส่วนเกินให้ญี่ปุ่น  จากนั้นสัดส่วนก๊าซธรรมชาติในไทยมีการลดลงเนื่องจากแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติลดลง และให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปซื้อมาจากต่างประเทศในจังหวะราคาก๊าซพุ่งสูงขึ้น คำถามคือ สัดส่วนกำไรที่ปตท.สผ.ทำได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ใช้มาใช้ลดค่าไฟฟ้าหรือไม่ แล้วในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นนั้น เมื่อเกิดภาระดังกล่าวในระบบการผลิตไฟฟ้าจึงเป็นหน้าที่ของกฟผ.และภาระดังกล่าวกลับถูกส่งต่อมายังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าหรือไม่ [4]”

อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์การของผู้บริโภค กล่าวว่า “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) อนุมัติค่าเอฟที-Ft เรียบร้อยแล้ว ในค่าไฟฟ้าฐานขายปลีกจึงอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ค่า Ft คือ ค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของกฟผ.อยู่ที่ราคา 2.57 บาท ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก-SPP ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการไหลสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจาก IPP ที่ถูกลดการทำงานลง มาสู่กลุ่มทุนSPP แทน ซึ่งกลุ่มทุนไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP เป็นกลุ่มทุนที่ผลิตไฟฟ้าสูงสุดในขณะนี้ที่ขายให้กับประชาชน ดังนั้น IPP ที่ไม่เดินเครื่องยังคงได้เงินจากขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคา 3.60บาทต่อหน่วย ส่วน SPP มาผลิตมากขึ้นและเป็นกลุ่มที่ได้ราคาขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคา 4บาทต่อหน่วย ตราบใดที่การเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบยังเกิดขึ้นแม้ว่าโรงไฟฟ้าล้นทะลักในระบบ ประชาชนจะต้องแบกค่าโง่ตลอดอายุสัญญาระยะยาวของโรงไฟฟ้าเหล่านั้น”

ไฟฟ้าล้นทะลัก แต่รัฐบาลยังทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในลุ่มน้ำโขง 

ประเทศไทยรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาวเข้ามาอีก 2 โรง คือเขื่อนไฟฟ้าหลวงพระบาง มีอัตราค่าไฟฟ้า 2.84 บาทต่อหน่วย และเขื่อนปากแบง อัตราค่าไฟฟ้า 2.92 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าฐานขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.57 บาทต่อหน่วยและสูงกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท้อปของประชาชนในประเทศที่ราคา 2.20บาทและเพิกเฉยต่อการนำมาตรการ Net metering เข้ามาใช้อีกด้วย

หากในระดับนโยบายพลังงานของประเทศไม่มีการปรับแก้พีดีพีให้เกิดความเป็นธรรมเสียก่อน ความเป็นธรรมทั้งการจัดการพลังงานและราคาพลังงานจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ พีดีพีที่มาจากการวางแผนผิดพลาดซ้ำซาก ขาดคนรับผิดชอบต่อการเห็นชอบแผนดังกล่าว  รวมทั้งการไม่ให้ความสำคัญต่อProsumer ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท้อป กำลังส่อสัญญาณชัดว่า ผู้ใช้ไฟฟ้ายังจะต้องถูกบังคับจ่ายโดยปริยายให้กับกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลที่มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในระบบมากสุดและผูกมัดตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวอีกนาน

ข้อมูลอ้างอิง

[1] สถานการณ์พลังงานรายปี สำนักนโยบายและแผนพลังงาน

[2] รายงาน ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย

[3] งานเวทีเสวนา “เปิดข้อมูลต้นเหตุค่าไฟฟ้าแพง” ของสภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายภาคประชาชน ในวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2565 

[4] Thailand sells surplus LNG to Japan, emerging as re-exporter