หลายคนคงรู้แล้วว่าการสูดฝุ่น PM2.5 เข้าปอดเป็นเวลานานนั้นทำให้ร่างกายเราเสี่ยงต่อโรคร้ายหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจ 

ผลการศึกษาจาก Air Quality index พบว่าฝุ่น PM2.5 อาจทำให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นลงกว่า 1.8 ปี โดยคนที่อาศัยในภาคเหนือจะอายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลถึง 2 ปี เพราะเป็นภูมิภาคที่มีฝุ่นมากที่สุด

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

รายงานล่าสุดของ IQAir เอง ก็สรุปสถานการณ์คุณภาพอากาศโลกของปี 2564 ว่าประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นรายปี อยู่อันดับที่ 45 จากทั้งหมด 117 ประเทศ แม้อาจไม่ได้ฟังแล้วรุนแรงเท่าประเทศในกลุ่มเอเชียใต้ที่มีค่าฝุ่นสูงอย่างบังคลาเทศหรืออินเดีย แต่เมื่อเปรียบเทียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่ามีหลายจังหวัดและเมืองของไทยติด 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ลำปาง ปาย น่าน ที่ติดอันดับเมืองในอาเซียนที่มี PM2.5 สูงที่สุดในปี 2564

นอกจากนี้เรายังพบอีกว่าประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดที่มีฝุ่นเยอะอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดในภาคเหนือนั้นมีอากาศดีหายใจเพียงแค่ 4 เดือนจากทั้งปี คือช่วง เดือนมิถุนายน-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน 

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH), สภาลมหายใจเชียงใหม่, สภาลมหายใจภาคเหนือ, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และ นันทิชา โอเจริญชัย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand จึงรวมตัวกันเป็นผู้ฟ้องในคดี PM2.5 ฟ้องต่อศาลปกครองถึงหน่วยงานรัฐ 3 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง แต่ยังไม่สามารถปกป้องสุขภาพประชาชนจากมลพิษทางอากาศได้

โดยมีประเด็นข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ

  1. การขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศค่ามาตรฐาน P.M.2.5 ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
  1. ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภท PM2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล 
  1. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณ PM 2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมกับออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงาน PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (หรือ PRTR) รวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้

นี่คือสรุปจากทวิตเตอร์สเปซที่เราเชิญคุณสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ และอัลลิยา เหมือนอบ จาก กรีนพีซ ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนกันว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องฟ้องทะลุฝุ่นในครั้งนี้

© Panumas Sanuanwong / Greenpeace

ไทยมีแผนปฏิบัติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง แต่แผนที่ว่าไม่เคยคืบหน้า

แม้เราจะเผชิญกับปัญหาฝุ่นกันมาหลายปี แต่ข้อมูลที่คนอาจไม่เคยรับรู้เลย คือประเทศไทยนั้นมีแผนฝุ่นแห่งชาติ หรือชื่อเต็มคือ แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขมลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ในแผนงานเหล่านี้ระบุไว้ว่ากระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นให้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงแม้การดำเนินงานระยะสั้นจะจบไปแล้วในปี 2564 แต่หลายสิ่งที่ระบุไว้ว่าหน่วยงานรัฐต้องทำ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง 

สุรชัยอธิบายสาเหตุที่ปัญหาฝุ่นยังไม่ค่อยคืบหน้าไปไหนว่าเป็นเพราะอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันของแต่ละกระทรวง ทำให้หน่วยงานที่ดูแลอาจไม่มีหน้าที่สั่งการ หรือการบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐดำเนินไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

“กฎหมายสิ่งแวดล้อมบ้านเราระบุให้หน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายแยกย้ายกันไปตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ถ้าเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องเป็นกรมโรงงานเข้ามาดูแล เป็นไปตามพ.ร.บ.โรงงาน หรือถ้าเป็นเหมืองก็พิจารณาตามพ.ร.บ.แร่ ทำให้แม้กฎหมายจะกำหนดว่ารัฐต้องเข้ามาจัดการ แต่ด้วยตัวกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานต่าง ๆ แยกย้ายกันไป เวลาจะทำแผนแก้ไข หรือต้องทำอะไรที่บูรณาการ จัดการร่วมกัน จึงไม่ค่อยมีความคืบหน้า”

“การยื่นฟ้องให้มีการปรับค่ามาตรฐานควบคุม PM2.5 จึงเป็นหัวใจหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่น เพราะเมื่อมีการกำหนดค่าไว้แล้ว หน่วยงานรัฐแต่ละแห่งจะสามารถดูตัวกฎหมายและควบคุมไม่ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลมีการปล่อยออกมาเกินค่ามาตรฐาน หรือสามารถจัดการให้ฝุ่นที่จะออกมาจากแหล่งกำเนิดไปอยู่ในบรรยากาศไม่เกินค่ามาตรฐานได้”

อัลลิยาเสริมว่าค่ามาตรฐานควบคุมฝุ่นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นค่ามาตรฐานไทย คือค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงเกินกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยแนะนำคือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไปหลายเท่า 

“การฟ้องครั้งนี้เราไม่ได้หวังว่าค่ามาตรฐานจะต้องเปลี่ยนมาเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในทันที เพราะเข้าใจว่าจะต้องค่อย ๆ ปรับกัน ต้องใช้เวลา ดังนั้นเราจึงไปฟ้องเพื่อหวังว่าจะปรับให้เป็นค่าตรงกลางคือ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเพ่งเล็งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแหล่งกำเนิด PM2.5 มาดูแลว่าจะควบคุมจัดการได้ยังไง”

© Panumas Sanguanwong / Greenpeace

แหล่งกำเนิดของฝุ่นอาจไม่ได้มาจากแค่การเผาป่า และการจราจรอย่างที่รัฐบาลได้วิเคราะห์ไว้

เพ็ญโฉมให้ข้อมูลว่าสิ่งที่รัฐบาลเพ่งเล็งมาตลอดว่าเป็นสาเหตุของ PM2.5 คือไฟป่า การเผาในภาคเกษตร และการจราจร ทั้ง ๆ ที่สาเหตุของฝุ่นนั้นมาจากภาคอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้เช่นเดียวกัน 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กรมมลพิษพูดถึงสาเหตุที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนที่ต่ำมากคือประมาณ 5-7% เท่านั้น หากเทียบกับแหล่งกำเนิดอื่น ๆ แต่ถ้าเรามาดูข้อมูลของหลาย ๆ ประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ไต้หวัน และจีน มีข้อมูลที่ชี้ชัดว่าแหล่งกำเนิดของ PM2.5 ล้วนมีสาเหตุหลักมาจากภาคอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30-60โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งส่วนนี้รัฐบาลไทยไม่มีการพูดถึงเลย เราคิดว่าเป็นจุดอ่อนมาก ๆ ของประเทศไทยในการแก้ไข PM2.5 ให้ตรงจุด เพราะรัฐบาลไม่จัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM2.5 อย่างจริงจังมากพอ”

เพ็ญโฉมยกจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เห็นว่าขณะนี้มีจำนวนทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 140,000 โรงงาน แต่หากดูจากข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาฝุ่นแห่งชาติจะพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมบอกว่าเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นขนาดเล็กมีอยู่เพียงประมาณ 78,000 โรงงานเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่โรงงานอุตสาหกรรมโดยมากมีการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นอยู่แล้ว และการพูดแยกกันระหว่างมลพิษในอากาศกับฝุ่นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะจริง ๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้มีปฏิกิริยาต่อเนื่องกัน 

“มีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่ใช้สารเคมีอันตราย และสารเคมีเหล่านั้นเมื่อผ่านกระบวนการผลิต แล้วระบายออกสู่สิ่งแวดล้อมสามารถทำปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น หรือสามารถทำปฏิกิริยากับฝุ่นอื่น ๆ แล้วกลายเป็นฝุ่น PM2.5 ในขั้นทุติยภูมิได้ ซึ่งจะอันตรายกว่าฝุ่นละอองทั่วไป” 

“ในขณะเดียวกันการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากจะเป็นที่มาสำคัญของการปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ไปถึงมากกว่า 100 ไมครอน การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังทำให้เกิดก๊าซพิษ อย่างซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน มีเทนและอื่น ๆ ที่เป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน สารเหล่านี้สามารถไปทำปฏิกิริยาเกิดเป็นฝุ่นในขั้นทุติยภูมิ และยังเป็นสารก่อมะเร็ง ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย สร้างความเสียหายให้กับระบบทางเดินหายใจของร่างกายได้” เพ็ญโฉมมองว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นที่มาของปัญหา PM2.5 ที่น่ากลัว แต่ประเทศไทยกลับยังไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุ PM2.5 หลัก ๆ ในประเทศไทยว่าตกลงอะไรคือสาเหตุหรือแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ในประเทศไทยกันแน่

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

PRTR จะช่วยให้รู้สาเหตุของ PM2.5 อย่างแท้จริง

สิ่งสำคัญที่เพ็ญโฉมกล่าวถึงอีกข้อคือประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ทำให้ไม่สามารถบอกได้ว่าแต่ละโรงงานมีการปล่อย PM2.5 หรือปล่อยสารเคมีที่อาจสามารถก่อให้เกิดปัญหา PM2.5 ในขั้นทุติยภูมิเท่าไหร่ ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ

“ในแผนฝุ่นแห่งชาติมีการพูดถึงว่าต้องมีการทำ PRTR ประเทศไทยจนวันนี้จบแผนระยะสั้นแล้วจริง ๆ ต้องมีกฎหมาย PRTR แล้ว แต่จนวันนี้เราก็ยังไม่มี” เพ็ญโฉมกล่าว เธอบอกอีกว่าหัวใจสำคัญของ PRTR ก็คือข้อมูลเรื่องการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษจะต้องมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ ทั้งชื่อโรงงาน บริษัท สถานที่ตั้ง ชนิดและปริมาณมลพิษที่มีการปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม และกระบวนการจัดการ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ ไม่มีการปกปิด

“PRTR จะทำให้เห็นว่าถ้ามีโรงงานประมาณ 20,000แห่ง ในจำนวนนี้มีการปล่อยมลพิษโดยรวมออกมาแล้ว 300 ชนิด ใน 300 ชนิดนี้ปล่อยออกมาในปริมาณกี่กิโลกรัมต่อปี มันจะเห็นภาพเลยว่าจังหวัดนี้มลพิษมากน้อยแค่ไหน การรับรู้ข้อมูลนี้ไม่ได้ใช้เพื่อจับผิดหรือลงโทษโรงงาน แต่คือข้อมูลที่จะทำให้เรารู้ว่าพื้นที่นี้มีมลพิษหนักแล้ว ต้องมีมาตรการเฉพาะบางอย่างเข้าไปช่วยเหลือโรงงานในการแก้ไขปัญหา PRTR จะทำให้รัฐทุกหน่วยงานมีข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนแก้ปัญหา และป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้น PRTR ไม่ได้มีประโยชน์กับทุกคนแค่ในภาพรวม แต่มันยังช่วยทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละบริษัทรู้ข้อบกพร่องภายในบริษัทของเขา แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็วขึ้น เอาเข้าจริง ๆ กฎหมาย PRTR มีประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมมากพอ ๆ กับประโยชน์ของประเทศเลย”

สุรชัยให้ข้อมูลเสริมว่าปัจจุบันไทยมีการกำหนดค่ามาตรฐานปลายปล่องอยู่บ้าง แต่เป็นการควบคุมฝุ่นรวม ไม่ได้กำหนดว่าเป็นฝุ่นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก อีกทั้งค่าดังกล่าวยังออกมาตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 ซึ่งนานมากว่า 10 ปีแล้ว 

“เมื่อไม่มีค่ามาตรฐานนี้ใช้กำกับโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจึงไม่มีข้อมูลว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่มีการปล่อย PM2.5 ออกมาหรือเปล่า และหากปล่อยออกมาจะปล่อยในปริมาณเท่าไหร่ สิ่งที่เราพอจะมีข้อมูลคือ PM2.5 ในบรรยากาศมันอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ไม่เคยรู้เลยว่าแต่ละแหล่งมันปล่อยออกมาแค่ไหน ฝุ่นที่ออกมาจริง ๆ อาจจะเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ที่ไม่มีอันตรายก็ได้ เราเลยอยากฟ้องร้องให้มีการกำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 โดยตรง 

“เรารู้สึกว่าแม้เขาจะพยายามบูรณาการความร่วมมือของกระทรวงต่าง ๆ ภายใต้แผนฝุ่นแห่งชาติ แต่มันไม่ใช่การบูรณาการจริง ไม่ได้มีการที่จะพยายามวิเคราะห์ปัญหาจริง ไม่พยายามไปแตะสิ่งที่เป็นรากฐานของปัญหาของฝุ่น PM2.5 อย่างแท้จริง บ้านเราจึงแก้ไขปัญหาฝุ่นไม่ได้ อีกสองปีก็ยังแก้ไม่ได้ ถ้ายังไม่แตะปัญหาฝุ่นจริงๆ” เพ็ญโฉมกล่าว 

“การฟ้องนี้เป็นการทำให้ประชาชนได้เห็น ทำให้ความจริงปรากฎว่ามันช้าเพราะอะไร เมื่อความจริงปรากฎอาจจะมีเกิดความเปลี่ยนแปลง กระตุ้นให้เกิดการทำงานของภาครัฐก็ได้” สุรชัยเสริมทิ้งท้าย

ฟังย้อนหลัง >> https://www.youtube.com/watch?v=vt95eLMriSg

อ่าน อุบัติภัยอุตสาหกรรมในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : สิทธิการรับรู้และความจำเป็นของกฎหมาย PRTR ในประเทศไทย >> https://www.greenpeace.org/thailand/story/18384/toxic-prtr-law-in-thailand/