Peace Sign in Heroes’ Square, Budapest against the War in Ukraine. © Bence Jardany / Greenpeace
© Bence Jardany / Greenpeace

สงครามรัสเซีย-ยูเครนนอกจากจะสร้างแต่ความสูญเสียมหาศาลต่อชาวยูเครนแล้ว ยังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบอาหารของโลกที่พึ่งพาการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล นานาประเทศกำลังกังวลถึงภาวะขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้น หากรัสเซียไม่หยุดยั้งสงครามในเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูกของยูเครนและภูมิภาคทะเลดำ โดมิโนชิ้นหลักนี้จะล้มครืนกระทบไปทั่วโลก

ขณะที่หลายประเทศในโลก รวมถึงไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และราคาอาหารที่จ่อตัวขึ้นราคา ที่น่าเศร้าคือการรุกรานยูเครนโดยปูตินนั้นกำลังทำลายชีวิตของประชาชนในยูเครนโดยตรง และโดยอ้อม สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคือ ภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร บางสำนักข่าวรายงานว่าเมืองเคียฟ (Kyiv) หลงเหลืออาหาร น้ำ และยา เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตอีกสองสัปดาห์เท่านั้น 

แต่สำหรับพลเมืองโลก สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นกำลังส่งผลต่ออุปทานธัญพืช ทำให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้น เนื่องจากสองประเทศนี้เป็นฐานการผลิตสำคัญ โดยถือครองสัดส่วนการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 12 ของโลก ในจำนวนนี้มีการส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดจากยูเครนร้อยละ 40  ไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาความหิวโหยของประชาชนและการขาดแคลนอาหาร การที่ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นนั้นยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเดิมรุนแรงอยู่แล้วจากวิกฤต Covid-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ประชากร 1 ใน 10 คน ประสบปัญหามีอาหารไม่พอกิน

รัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งในสองประเทศที่ส่งออกธัญพืชมากที่สุดของโลก โดยประเทศ 5 อันดับแรกตามสถิติในปี 2564 คือ รัสเซีย 17.7% สหรัฐอเมริกา 14.1% แคนาดา 14.1% ฝรั่งเศส 10.1% ยูเครน 8%

ข้อมูล: 2020 ITSY Vol. II (pg. 23)
ประเทศที่นำเข้าข้าวสาลีมากที่สุดของโลกคือ อียิปต์ ตุรกี บังคลาเทศ และอิหร่าน มีสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนและรัสเซียรวมกันแล้วมากถึง ร้อยละ 60

ข้อมูล: FAO 2022
ในปี 2564 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีของโลก 18.7% ส่วนยูเครนส่งออกอยู่ที่ 9.1%

ข้อมูล: FAOSTAT 2020
ยูเครนมีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงเดนมาร์กและบังคลาเทศ 

ข้อมูล: ปี 2018 รวบรวมโดยธนาคารโลก (World Bank)
ในปี 2564 ไทยพึ่งพาข้าวสาลีนำเข้าจากยูเครน (ไม่มีสัดส่วนของรัสเซีย) อยู่ที่ราวร้อยละ 12

ธัญพืชในตลาดโลกที่มาจากรัสเซียและยูเครนไม่ได้เชื่อมโยงกับอาหารของคนเท่านั้น แต่ยังเป็นพืชอาหารสัตว์ สำหรับการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซึ่งนอกจากจะมีข้าวสาลีแล้วยังรวมถึงการส่งออกข้าวโพดร้อยละ 17% ในสัดส่วนของตลาดโลก โดยยูเครนนั้นเป็นซัพพลายเยอร์ข้าวโพดรายใหญ่ของสหภาพยุโรปและจีน นอกเหนือจากการผลิตธัญพืชแล้ว อีกสิ่งหลักที่กระทบอุตสาหกรรมเกษตรคือ ปุ๋ยเคมี เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกส่วนผสมสำคัญที่ใช้ในปุ๋ยประเภทไนโตรเจน คือ แอมโมเนีย ยูเรีย และโพแทสเซียม ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ดังนั้นราคาปุ๋ยเคมีจึงเชื่อมโยงกับราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล 

รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับปุ๋ยรายใหญ่ของโลก โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15 ของสัญญาการซื้อขายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับปุ๋ยประเภทไนโตรเจน และร้อยละ 17 สำหรับปุ๋ยประเภทแร่โพแทช ผลทางตรงประการหนึ่งที่ปรากฎขึ้นคือ ร้อยละ 60 ของการผลิตอาหารในยูเครนนั้นใช้ปุ๋ยที่มาจากรัสเซียและเบลารุส ซึ่งหากยูเครนฟื้นตัวกลับมาจากสงครามก็จะมีความจำเป็นในการนำเข้าปุ๋ยจากประเทศรายใหม่เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปเพื่อต่อยอดการผลิตของอุตสาหกรรมธัญพืช อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วจากราคาก๊าซและน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น  ดังนั้นหากสงครามยังยืดเยื้อไปเกินกว่าช่วงเพาะปลูกในฤดูใบไม้ผลิ หรือเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ใกล้จะมาถึงนี้ ประกอบกับการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงยิ่งขึ้นไปอีก ระบบอุตสาหกรรมอาหารของโลกในปีนี้จะกระเทือนอย่างแน่นอน ราคาอาหารย่อมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น และผู้บริโภคจะต้องเป็นผู้ที่แบกรับภาระดังกล่าว หากไม่มีการหันมาปรับเปลี่ยนระบบอาหารที่พึ่งพาการปลูกจากเกษตรกรรายย่อยภายในประเทศหรืออาหารในท้องถิ่น และเกษตรอินทรีย์ที่ไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี

แม้สงครามเริ่มต้นขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ในทวีปที่ห่างไกลออกไป แต่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าของยูเครน มีการซื้อข้าวสาลีจากยูเครนสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ทำรายได้ให้กับยูเครนมูลค่า 789.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระหว่างปี 2559-2563 โดยข้าวสาลีนั้นเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญสำหรับอาหารสัตว์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่ประเทศไทยนั้นเป็นผู้ผลิตอันดับต้นของโลก ทั้งด้านการส่งออกเนื้อไก่และอาหารสัตว์

ที่มาภาพ: www.investmentmonitor.ai 

เดิมทีแม้ก่อนภาวะสงครามและโรคระบาดโควิด 19 ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนของปัญหาความหิวโหยและสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องวิกฤตโลกร้อน ความแห้งแล้ง การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ระดับอุตสาหกรรมที่ขยายตัวไปเรื่อย ๆ และสารพิษต่าง ๆ รูปแบบการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรมที่ผลิตครั้งละมาก ๆ พึ่งพาปุ๋ยครั้งละมาก ๆ นั้น มาพร้อมกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบของไนตรัสออกไซด์ ปล่อยมลพิษลงสู่แหล่งน้ำและอากาศ และยังเป็นปุ๋ยที่ผลิตขึ้นจากพลังงานฟอสซิลที่ตอกย้ำซ้ำเติมวังวนวิกฤตโลกร้อนที่เป็นอยู่ สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนเป็นอีกวิกฤตที่ตอกย้ำว่าระบบอาหารของโลกที่พึ่งพาการผลิตระดับใหญ่ ผ่านการนำเข้า แทนที่จะเป็นการผลิตบนฐานเกษตรกรในประเทศ ประกอบกับการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมากซึ่งมีเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นธาตุอาหารของพืชนั้น เป็นความเปราะบางของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรม ไม่ยั่งยืน เสี่ยงต่อการล่มสลาย ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ยากจนอย่างรุนแรง และไม่สามารถเลี้ยงคนบนโลกได้อย่างแท้จริง นี่คือความไม่มั่นคงทางอาหาร

ท้ายที่สุดแล้ว แม้วิกฤตสงครามจะผ่านพ้นและยูเครนสามารถผลิตอาหารได้ทันการส่งออก แต่ด้วยระบบอาหารที่เชื่อมโยงกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งการใช้ปุ๋ยเคมี และการขนส่งวัตถุดิบมาจากแดนไกลที่ต้องอาศัยเรือและใช้น้ำมัน ราคาอาหารจำเป็นต้องแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยที่เกษตรกรตัวเล็ก ๆ เองไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากราคาอาหารที่แพงขึ้นด้วยซ้ำ ด้วยความไม่เป็นธรรมและผูกขาดของระบบอาหารแบบรวมศูนย์ ในที่สุดภาระก็จะตกอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องทนรับราคาค่าอาหารที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าครองชีพอาจจะไม่สูงขึ้นตาม

ทางออกสำคัญสำหรับระบบอาหารคือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการผลิตของเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่น เน้นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่หลากหลาย เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เน้นเฉพาะพืชพรรณชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นหลัก รวมถึงลดการผลิตเนื้อสัตว์และนมระดับอุตสาหกรรมที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาการผลิตธัญพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์มากถึงร้อยละ 70 และมีสัตส่วนที่เป็นอาหารสำหรับคนเพียงร้อยละ 30 

เกษตรกรรมเชิงนิเวศสามารถสร้างผลผลิตได้ดีเท่ากับระบบอุตสาหกรรม เพียงแค่ไม่ได้พึ่งพาปุ๋ยเคมีอันตราย และอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นสิ่งหล่อเลี้ยง สามารถปกป้องดินจากการเป็นกรด การกัดเซาะ และมลพิษอื่น ๆ รวมถึงไม่ทำลายสัตว์และแมลงที่ช่วยผสมเกสรผลิตอาหาร และไม่จำเป็นต้องทำลายพื้นที่ป่า 

ยุติสงคราม สร้างความมั่นคงทางอาหาร: การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนและเป็นธรรม จำเป็นต้องอาศัยเจตจำนงของผู้นำประเทศและผู้นำโลก

ประชาชนเป็นเหยื่อของภาวะสงคราม ปากท้องและราคาอาหารคือภาระที่ประชาชนโลกต้องแบกรับ ระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมทำให้โลกของเราป่วย การสนับสนุนนโยบายของผู้นำประเทศและผู้นำโลกต่อการผลิตรวมศูนย์ ทั้งเรื่องอาหารและพลังงานนั้น ทำให้ประชาชาชนไม่มีสิทธิอย่างแท้จริงในการมีทางเลือกที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ภาวะสงครามคือปัญหาความไม่เป็นธรรมและการริดรอนสิทธิในการดำรงชีวิตของคน การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่เป็นธรรมขึ้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ ที่สามารถใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสงคราม เป็นบทเรียนเปลี่ยนไปสู่การต่อสู้ที่สำคัญ คือต่อกรกับความไม่เป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความหิวโหย ยากจน โดยทั้งหมดนี้สามารถเริ่มต้นได้จากนโยบายที่สนับสนุนการผลิตอาหารจากเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่น เน้นความยั่งยืน กระจายรายได้และอาหารอย่างเป็นธรรมในประเทศ แทนที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตรและเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีและธัญพืชปริมาณมหาศาลต่อปี รวมถึงการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกของผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของโลก 

นี่คือทางแยกที่มนุษยชาติต้องก้าวเดิน แยกจากสงครามและระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรม และผู้นำของโลกต้องรับฟัง