ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้แหล่งพลังงานหมุนเวียนได้กลายเป็นแหล่งพลังงานที่มีคนกล่าวถึงมากขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานหรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในไทยเอง ปัจจุบันทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนเล็งเห็นถึงโอกาสของแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย หรือความต้องการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงอย่างแหล่งพลังงานถ่านหินก็ตาม แต่เทรนด์ของพลังงานโซลาร์เซลล์ก็กลายเป็นตัวยขับเคลื่อนที่ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนต้องการกำลังคนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมากขึ้น

แผงโซลาร์เซลล์ 40 แผง กำลังผลิต 12.4 กิโลวัตต์ บนหลังคาของตลาดเทศบาลนครขอนแก่น
แผงโซลาร์เซลล์ 40 แผง กำลังผลิต 12.4 กิโลวัตต์ บนหลังคาของตลาดเทศบาลนครขอนแก่น

นี่คือที่มาของการหยิบยกเอาหลักสูตร ‘เซลล์แสงอาทิตย์’ ที่มีการเรียนการสอนให้กับนักศึกษา แผนกไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ในจังหวัดสกลนคร เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์หลายท่านรวมทั้งนักศึกษาของแผนกโดยพบว่าวิทยาลัยแห่งนี้สนับสนุนการพัฒนาและนำพลังงานจากโซลาร์เซลล์ไปประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน การเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย

รอบๆแผนกวิชาไฟฟ้ากำลังเต็มไปด้วยตัวอย่างงานการทดลองที่นำโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้ จำนวนหนึ่ง ครูมงคล หรือนายมงคล เกตวงษา คุณครูแผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง เล่าที่มาที่ไปว่าทำไมวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีการทดลองด้านพลังงานแสงอาทิตย์อยู่รอบๆแผนกเต็มไปหมด

วิชา เซลล์แสงอาทิตย์และการประยุกต์ใช้

ครูมงคลเล่าให้ฟังว่ารายวิชานี้เป็นรายวิชาที่มีอยู่แล้วแต่เราเลือกหยิบมาเป็นวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปวส. 2 โดยเน้นการสอนแบบทฤษฎีเชิงลึก นั่นคือแสงอาทิตย์ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าได้อย่างไร การเรียนช่วงแรกๆ ก็จะต้องจำเสียส่วนใหญ่ ครูจะคอยเป็นโค๊ชที่คอยแนะนำให้นักศึกษารู้และเข้าใจการทำงานของเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมด พอรู้จักและเข้าใจแล้วเราก็จะนำมาผูกโยงว่าเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์นี้จะมาใช้งานกับพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไร

มงคล เกตวงษา ครูแผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

หลักสูตรนี้ขั้นตอนที่สนุกคือการเอาทฤษฎีเหล่านี้มาทดลองใช้ไปจนถึงประยุกต์ใช้กับพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ครูจะตั้งโจทย์ให้นักศึกษาหาคำตอบโดยมีอุปกรณ์ให้เขาลองต่อ ลองหาแรงดันไฟฟ้า ซึ่งในช่วงของการทดลองและการนำไปประยุกต์ใช้กับเครื่องไฟฟ้าเราจะเห็นได้เลยว่าจริง ๆ แล้วพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด นักศึกษาจะชอบแชร์ว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าของใช้ในบ้านหลายอย่างใช้พลังงานแสงอาทิตย์แม้แต่อุปกรณ์ขนาดเล็กอย่างเช่น เครื่องคิดเลข 

ครูมงคลเสริมว่าเพราะวิทยาลัยของเราเองต้องตามเทคโนโลยีและผลิตบุคลากรให้ทันกับอุตสาหกรรมที่กำลังให้ความสนใจนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับบริษัทตัวเองมากขึ้น จึงทำให้เราเลือกวิชาดังกล่าวมาเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากรของอุตสาหกรรมและสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้นักศึกษาเข้าถึงได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่วิทยาลัยปรับตัวกับความต้องการบุคลากรที่มีความเข้าใจด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มสูงขึ้น

“สมัยที่ผมเรียนยังไม่มีหลักสูตรแบบนี้ มีแต่เรียนเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มีทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังงานลมซึ่งก็เป็นพลังงานหมุนเวียนอย่างหนึ่ง จะเหมาะกับพื้นที่จังหวัดที่มีกระแสลมดี”

เครื่องต้นแบบ Smart Farming เครื่องพ่นน้ำเซนเซอร์ โดยนักศึกษาชั้น ปวช.ของวิทยาลัย เป็นการทดลองประยุกต์เอาแผงโซลาร์เซลล์มาให้พลังงานกับการเกษตรกรรม

แม้ว่าจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากภาคอุตสาหกรรม แต่ในภาคการเกษตรกรรมหรือภาคครัวเรือนนั้น ‘ต้นทุน’ ยังคงเป็นเรื่องท้าทายของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

แม้ว่าปัจจุบัน อุปกรณ์และแผงโซลาร์เซลล์จะมีต้นทุนที่ถูกลงกว่าในอดีต แต่ในมุมมองของครูที่ได้พูดคุยกับเกษตรกร หรือกลุ่มคนที่อยากใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับยกระดับอาชีพของตัวเองแล้ว ทั้งอุปกรณ์และการติดตั้งก็ยังคงมีราคาสูงเกินไปสำหรับพวกเขาอยู่ดี แล้วเราจะเข้าถึงพลังงานเหล่านี้ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนที่เป็นต้นเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร?

ภาครัฐคือส่วนสำคัญในการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน

ในเชิงเทคนิค ครูมงคลให้ความเห็นว่าเพราะยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนบางอย่างที่สูงอยู่ โดยปกติแล้วไฟฟ้าที่เราใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นกระแสสลับ (Alternating Current : AC) แต่กระแสไฟฟ้าจากเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current : DC) และจะต้องใช้ตัวแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อแปลงให้กระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้งานกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายตัวแปลงไฟฟ้าหรือที่เราเรียกว่าอินเวอร์เตอร์ยังมีราคาสูง ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนให้บ้านของเราสามารถใช้ไฟฟ้ากระแสตรงได้เลยโดยไม่ต้องผ่านอินเวอร์เตอร์ ก็ดูจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นครูมงคลเองมองว่า ภาครัฐควรมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ อย่างเช่น กรมการปกครองสามารถประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนเกี่ยวกับการลงทุนใช้โซลาร์เซลล์ทั้งในด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย ความคุ้มทุน และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ถ้าภาครัฐเข้ามาสนับสนุนแบบนี้ภาพที่เราจะเห็นภาพแรกเลยคือเมืองจะไม่มีเสาไฟฟ้า ทำให้รัฐเองก็ได้ลดต้นทุนการดูแลสายไฟ เสาไฟฟ้า อุปกรณ์ที่ใช้ส่งจ่ายไฟฟ้าพวกนี้เป็นอุปกรณ์ที่นำมารีไซเคิลได้ยาก อีกทั้งเพิ่มคุณภาพทางเท้า ลดอุบัติเหตุ ทำให้พื้นที่เมืองเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้นอีกด้วย

“พลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลมนั้นเป็นพลังงานที่น่าใช้ ในอุดมคติของผม ผมมองว่าบ้านเราจะต้องปรับระบบการจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้เราได้ใช้พลังงานแบบนี้มากขึ้น หากประเทศของเราสามารถใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ผู้คนในหลายพื้นที่ อย่างเช่น ประชาชนในพื้นที่สูงจะเข้าถึงพลังงานได้ง่ายขึ้น เพราะอย่างที่บอกไปว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้เสาไฟฟ้าและสายส่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งยากในพื้นที่สูง การไฟฟ้าฯก็ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนกับการทำสายส่ง การปักเสาที่มีต้นทุนการติดตั้งสูง หมดปัญหาเรื่องไฟดับในพื้นที่ที่อยู่ปลายสายส่งเพราะแรงดันปลายสายไปไม่ถึง”

ชุมชนในจังหวัดตากใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตกระแสไฟฟ้าในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน

ความท้าทายเรื่องการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์

เท่าที่ติดตามข่าวมาครูมงคลเล่าว่าแม้ว่าในต่างประเทศจะเริ่มมีเทคโนโลยีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์แล้ว แต่เทคโนโลยีนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยและกระจุกตัว แต่ก็คาดหวังว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์จะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตามระยะการใช้งานของแผงหนึ่งแผงก็ยาวนานได้ถึง 15-20 ปี ถือว่านาน อย่างน้อย ๆ ก็สามารถลดต้นทุนต่าง ๆ ที่ต้องเสียไปกับพลังงานถ่านหิน น้ำมันและพลังงานนิวเคลียร์ลงได้เยอะ  และก็หวังว่าเทคโนโลยีการรีไซเคิลจะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งหากทำได้ก็จะพลิกวงการพลังงานไปเยอะมาก

เมื่อตลาดต้องการบุคลากรที่ชำนาญเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์ วิทยาลัยก็ต้องปรับตัว

เพราะว่าวิทยาลัยเองเป็นส่วนสำคัญในการผลิตบุคลากร ช่างมีฝีมือเข้าสู่สาขาอาชีพต่างๆ ครูมงคลเล่าว่าเวลาที่ครูไปนิเทศนักศึกษาก็จะต้องรับคำแนะนำจากผู้ประกอบการมา ซึ่งในช่วงระยะหลัง ๆ มานี้ก็มีผู้ประกอบการจำนวนมากแนะนำมาว่าถ้ามีนักศึกษาที่มีทักษะเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ก็จะดี ครูในวิทยาลัยก็ต้องมาจับเข่าคุยกัน นำคำแนะนำเหล่านั้นมาพัฒนาการสอน

“อย่างโรงงานภาคใต้หรือตะวันออกก็จะส่งมาว่าอยากให้เน้นทักษะเกี่ยวกับกังหันลมให้หน่อยเพราะภาคใต้กับภาคตะวันออกเนี่ยลมดี แต่อย่างภาคตะวันตกเขาก็จะสนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ เราก็รวบรวมส่งเรื่องให้ผู้บริหารเพื่อจัดหลักสูตรการสอน เราก็จะเห็นได้ว่าตอนนี้ตลาดต้องการบุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน”

“พอพวกเราเข้าไปดูหลักสูตรจาก สอศ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) ก็มีรายวิชาที่สอนเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เราเลยจับรายวิชานี้เข้ามาเพื่อสอนนักศึกษาและเพื่อตอบโจทย์ของตลาดที่ต้องการบุคลากรด้านนี้ด้วย ซึ่งผลตอบรับจากโรงงานก็ดีมากเพราะนักศึกษาสามารถเอาทักษะที่เรียนเกี่ยวกับเซลล์แสงอาทิตย์และการประยุกต์ใช้ไปใช้ในการทำงานกับโรงงานได้จริง”

มงคล เกตวงษา ครูแผนกวิชาไฟฟ้ากำลัง วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร

การพูดคุยกับครูมงคลในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นการทำงานของครูที่นี่ในเชิงนโยบายเกี่ยวกับหลักสูตรพลังงานหมุนเวียน เรียกได้ว่าวิทยาลัยเทคนิคสกลนครเป็นหนึ่งตัวอย่างของวิทยาลัยที่มีส่วนในการสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม สร้างอาชีพโดยมอบทักษะด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนให้กับนักศึกษา เพื่อตอบโจทย์ของตลาดอุตสาหกรรมโรงงานซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคที่โลกของเราจะต้องเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ชะลอความรุนแรงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถือเป็นอีกสถานที่สำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อการเรียนการสอนรวมทั้งการสนับสนุนด้านวิชาชีพ จึงเป็นส่วนที่น่าสนใจที่จะสนับสนุนการสร้างอาชีพจากการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะวิทยาลัยการอาชีพ กรีนพีซและกองทุนแสงอาทิตย์จึงได้เริ่มโครงการ ‘โซลาร์เจเนอเรชั่น วิทยาลัยแสงอาทิตย์  (SOLAR GENERATION)’ เพื่อสร้างการเรียนรู้และการจ้างงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ และติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปให้วิทยาลัยสายอาชีพ 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ทั่วประเทศ ต่อจากโครงการโรงพยาบาลแสงอาทิตย์

กองทุนแสงอาทิตย์และกรีนพีซ เปิดตัว Solar Generation วิทยาลัยแสงอาทิตย์ ที่วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 กิโลวัตต์ จากการระดมทุนของภาคประชาชน เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564

นอกจากการขับเคลื่อนในฝั่งภาคประชาชน การผลักดันเชิงนโยบายให้พลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานหลักในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยกรีนพีซมีข้อเสนอเกี่ยวกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนสถานศึกษา นั่นคือ “การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 30,000 โรงเรียน” โดยเสนอแนวทางการดำเนินงานติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงเรียน ด้วยงบประมาณ 7,600 ล้านบาทต่อปี (3 ปี)

กรีนพีซรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) และผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน