ผ่านมากว่า 20 ปี เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซเดินทางไปทั่วโลก ลูกเรือของเรือเอสเพอรันซาได้เผชิญหน้ากับการทำประมงผิดกฎหมายและประจันหน้ากับฉมวกจากการล่าวาฬ เดินทางจากขั้วโลกไปจนถึงทวีปแอฟริกา เพื่อทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และสื่อมวลชนในการเปิดโปงอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่อันห่างไกลจากสายตาผู้คน อีกทั้งเดินทางสำรวจทรัพยากรทางทะเลและเปิดเผยงานศึกษาถึงระบบนิเวศทางทะเลอันอุดมสมบูรณ์ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและสรรพสัตว์นานาชนิด ในปีนี้ (พ.ศ.2565) เรือเอสเพอรันซา จะถูกปลดระวางและกำลังจะเดินทางไปสู่จุดหมายสุดท้ายในประเทศสเปน

ย้อนกลับไปในวันที่ 15 มิถุนายน 2556 เรือลำใหญ่สีเขียวเข้มสลับขาวเข้าเทียบท่าที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ข้างเรือมีตัวอักษรภาษาอังกฤษพาดทับเป็นชื่อ GREENPEACE พร้อมกับป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่เขียนว่า “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา”

The Esperanza Arrives in Songkhla. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
เรือเอสเพอรันซาแล่นมาถึงหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เพื่อร่วมรณรงค์ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทะเลไทยร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน รวมทั้งนำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ © Athit Perawongmetha / Greenpeace

เรือลำนี้คือเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซที่เดินทางไปในหลายน่านน้ำเพื่อเปิดโปงอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการล่าวาฬ อุตสาหกรรมประมงทำลายล้าง การขนส่งน้ำมันปาล์มดิบที่มาจากการทำลายผืนป่าฝนเขตร้อน และรณรงค์เปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ในปีนั้น เป็นครั้งแรกที่เรือเอสเพอรันซามีโอกาสมาเยี่ยมเมืองไทยในส่วนหนึ่งของภารกิจรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ครั้งนั้น เรือเอสเพอรันซาเดินทางมาร่วมรณรงค์เพื่อปกป้องให้มหาสมุทรยังคงอุดมสมบูรณ์กับชุมชนเรือประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา และภาคีเครือข่าย เพื่อเรียกร้องรัฐบาลฟื้นฟูทะเลให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง พร้อมปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสิทธิชุมชน เพราะสงขลาเป็นจังหวัดที่ต้องพึ่งพิงทะเล จำเป็นจะต้องดูแลปกปักรักษาทะเลไว้ให้มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ไปถึงคนรุ่นหลัง เพราะนอกจากทะเลจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญแล้ว ยังมีความสำคัญกับผู้คนริมชายฝั่งอีกด้วย

สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพมหานคร ถือเป็น 3 จังหวัดที่เอสเพอรันซามาเยี่ยมเยือนในฐานะเรือรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซที่เดินทางมาเพื่อสนับสนุนชุมชนชาวประมงพื้นบ้านในไทย ร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงกฎหมายประมงไทยให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น 

เป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้วที่เรือเอสเพอรันซา (Esperanza) ร่วมรณรงค์เพื่อต่อสู้และปกป้องสิ่งแวดล้อม ชื่อเอสเพอรันซาของเรือเป็นภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความหวัง’  และแม้ว่าในปีนี้การเดินทางของเอสเพอรันซาก็มาถึงจุดสิ้นสุด แต่เรือลำนี้ได้ให้มรดกที่เต็มไปด้วยความภูมิใจและแรงบันดาลใจมากมายต่อผู้คนในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ในบทความนี้เรารวบรวมช่วงเวลาที่น่าจดจำของเรือเอสเพอรันซากับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมตลอดสองทศวรรษ

เรื่องราวของเอสเพอรันซา (พ.ศ.2543 – 2565)

พวกเรามักเรียกเรือลำนี้ด้วยชื่อเล่นว่า ‘เอสพี’ (Espy) เรือลำนี้พานักกิจกรรมของเราเดินทางไปยังหลายพื้นที่ของโลกที่ยากแก่การเดินทางไปเยือน พื้นที่เหล่านี้มักจะเป็นพื้นที่ที่เกิดอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรือเอสเพอรันซายังนำความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเฮติ เมื่อปี 2553 และเหตุการณ์ไต้ฝุ่นโบพา (Typhoon Bopha) เมื่อช่วงปี 2555 ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์อย่างหนัก

เอสเพอรันซาเป็นเรือที่เร็วที่สุดในบรรดาเรือรณรงค์ของกรีนพีซ ทำให้เอสเพอรันซาถูกใช้ในการไล่ล่าอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมในทะเล (ที่ปกติมักจะไม่มีใครไล่ตามทัน) อยู่บ่อยครั้ง ด้วยความสามารถของเอสเพอรันซาที่แล่นเข้าในจุดที่มีระดับน้ำแข็งได้ ทำให้เอสเพอรันซาสามารถเดินเรือเพื่อเผชิญหน้ากับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมในเขตธารน้ำแข็งของแอนตาร์กติกและคอยสำรวจพื้นที่ขั้วโลกอยู่เสมอ

MY Esperanza at Svalbard Ice Edge. © Will Rose / Greenpeace
ภาพมุมสูงของเรือเอสเพอรันซาที่กำลังแล่นอยู่รอบ ๆ เกาะสฟาลบาร์ในระหว่างการสำรวจมหาสมุทรจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ของกรีนพีซในช่วงปี 2562-2563 © Will Rose / Greenpeace

ไฮไลท์การรณรงค์ของเอสเพอรันซาที่น่าจดจำ

ปี 2546 ร่วมปกป้องการทำลายป่ากับชนพื้นเมือง เรือเอสเพอรันซาเดินทางไปยังป่าสงวนแห่งชาติ Tongass ในอลาสกา เพื่อสืบสวนการทำลายผืนป่าเป็นบริเวณกว้างทั่วสหรัฐอเมริกา การเดินทางครั้งนั้นได้รับการต้อนรับจากชุมชนท้องถิ่นรวมถึงกลุ่มชนพื้นเมืองทลิงกิต (Tlingit) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านโลจิสติกส์ และในปีนั้นเองที่ลูกเรือของเอสเพอรันซาถูกจับกุมเป็นครั้งแรกที่อ่าวยิบรอลตาร์ ในขณะที่พวกเขากำลังทำกิจกรรมเผชิญหน้าอย่างสันติในประเด็นการนำเข้าน้ำมันผิดกฎหมาย

Forests Background Documentation Alaska (USA : 2003). © Gavin Newman / Greenpeace
ปี 2546 เอสเพอรันซาร่วมปกป้องการทำลายป่ากับชนพื้นเมือง © Gavin Newman / Greenpeace

ปี 2549 เดินทางปกป้องมหาสมุทร ตั้งแต่ภารกิจเปิดโปงการล่าวาฬในปี 2548 เรือเอสเพอรันซาจึงเริ่มภารกิจใหม่ในการเดินทางเพื่อปกป้องมหาสมุทรเป็นระยะเวลากว่า 18 เดือน ซึ่งเป็นการสำรวจมหาสมุทรที่ยาวนานที่สุดที่กรีนพีซเคยทำมา โดยมีประเด็นการเปิดโปงการทำประมงแบบกองโจรทางตอนเหนือของแอฟริกา ภูมิภาคเมดิเตอเรเนียน อินเดีย สิงคโปร์ หมู่เกาะแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ สหรัฐ (ฮาวาย, แคลิฟอเนียร์) และเม็กซิโก

Action against Japanese Whaling Fleet - Southern Ocean Tour 2005 - Sutton-Hibbert. © Greenpeace / Jeremy Sutton-Hibbert
ปี 2549 ภาพเรือเอสเพอรันซากำลังเดินเรือไล่ตามเรือล่าวาฬของญี่ปุ่น ระหว่างการสำรวจมหาสมุทรเป็นระยะเวลา 18 เดือน © Greenpeace / Jeremy Sutton-Hibbert

ปี 2551 เรือเอสเพอรันซาเผชิญหน้าอย่างสันติเพื่อคัดค้านการทำลายผืนป่าในอินโดนีเซีย กรีนพีซอินโดนีเซียและเรือเอสเพอรันซาขวางการเดินเรือของเรือ Gran Couva ซึ่งใช้ขนส่งน้ำมันปาล์มดิบ โดยลูกเรือเพนท์ข้อความข้าง ๆ เรือลำนั้นเป็นสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินโดนีเซียปกป้องผืนป่าจากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษที่กำลังทำลายผืนป่าอย่างรุนแรง

Palm Oil action against Ship Gran Couva in Riau. © Greenpeace / John Novis
ปี 2551 เรือเอสเพอรันซาเผชิญหน้าอย่างสันติเพื่อคัดค้านการทำลายผืนป่าในอินโดนีเซีย © Greenpeace / John Novis

ปี 2556 ขยายการรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรมายังมหาสมุทรแปซิฟิก เอสเพอรันซาเดินทางถึงมหาสมุทรแปซิฟิก สำรวจการประมงในศรีลังกา ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ หลังจากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังประเทศมอริเซียส โมซัมบิก และมาดาดัสกา เพื่อทำงานรณรงค์ในมหาสมุทรอินเดีย เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งทูน่าและร่วมลาดตระเวนกับหน่วยงานรัฐ ทั้งนี้เรือยังมีภารกิจไปยังอ่าวควีนส์แลนด์เพื่อรณรงค์ปกป้องเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ หลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียอนุมัติโครงการขุดลอกขนาดใหญ่ในท่าเรือถ่านหิน Abbot Point เพื่อให้เรือขนส่งถ่านหินสามารถเทียบท่าได้

Bulk Carriers Moored off Hay Point at Great Barrier Reef. © Dean Sewell / Greenpeace
เรือเอสเพอรันซากับเรือขนส่งถ่านหินขนาดใหญ่ที่รอการขนส่งถ่านหิน ในเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ © Dean Sewell / Greenpeace

ปี 2556 เอสเพอรันซา เยือนประเทศไทยที่จังหวัดสงขลาและประจวบคีรีขันธ์ โดยจัดกิจกรรมร่วมกับกรีนพีซประเทศไทยในโครงการ “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” เรียกร้องรัฐบาลฟื้นฟูทะเลให้กลับมาสมบูรณ์ภายใน 5 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประมงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสิทธิชุมชน

CEC Oil Platform Protest near Songkhla. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้านในจังหวัดสงขลารณรงค์ ‘หยุดทำร้ายทะเล’ บริเวณใกล้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัท CEC ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลาเพียงแค่ 12 กิโลเมตร เรียกร้องให้ตระหนักถึงภัยคุกคามของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อทะเลและมหาสมุทร © Athit Perawongmetha / Greenpeace

ปี 2558 เรือเอสเพอรันซาไล่ล่าอุตสาหกรรมฟอสซิลทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นทะเลและมหาสมุทรเท่านั้น แต่เรือเอสเพอรันซา ลูกเรือ และนักกิจกรรมกรีนพีซยังได้รณรงค์เพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ในเดือนเมษายน มีการรณรงค์คัดค้านการสร้างแท่นขุดเจาะนำมันของเชลล์ตั้งแต่มาเลเซียไปจนถึงอลาสกา โดยร่วมกับกลุ่มนักกิจกรรมชนพื้นเมือง First Nations และชนพื้นเมืองอีกหลากหลายกลุ่ม ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการรวมกลุ่มคายัคและเรืออื่นๆ ในเดือนพฤษภาคม พวกเขาร่วมทำกิจกรรมชื่อว่า ‘Paddle in Seattle’ เพื่อคัดค้านแผนการณ์ดำเนินงานของเชลล์ นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน กลุ่มนักปีนห้อยตัวเองลงมาจากสะพาน เซนท์ จอห์น เพื่อบล็อกเรือขุดเจาะของเชลล์ไม่ให้เข้าเทียบท่าอีกด้วย

Six Greenpeace Climbers Scale Shell’s Arctic-Bound Oil Rig. © Vincenzo Floramo / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายข้อความว่า ‘The People vs. Shell’ หลังจากที่ทั้ง 6 ปีนขึ้นไปขัดขวางการขุดเจาะน้ำมันของแท่นที่ขุดเจาะในอาร์กติก ซึ่งอยู่ห่างจากฮาวาย 750 ไมลส์ © Vincenzo Floramo / Greenpeace

ปี 2560 เอสเพอรันซาสำรวจ แอมะซอน รีฟ และแอฟริกาตะวันตก การเดินทางครั้งนี้เรือเอสเพอรันซามีภารภิจเพื่อวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเปิดเผยภาพใต้น้ำภาพแรกของ แอมะซอน รีฟ พื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์ด้านระบบนิเวศ พื้นที่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสกำลังนำเงินมาประมูลเพื่อขอใบอนุญาตเพื่อสำรวจทรัพยากรน้ำมัน หลังจากแรงกดดันอย่างหนักและต่อเนื่อง ในที่สุดบริษัท Total ก็พ่ายแพ้ต่อความพยายามเข้าไปขุดเจาะพื้นที่ ตอนนั้นการเดินทางของเอสเพอรันซาในแอฟริกาตะวันตกได้เดินทางไปเยี่ยม 6 ประเทศ พร้อมการรณรงค์คัดค้านการประมงที่ผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และในการเดินทางครั้งนี้ คณะรัฐมนตรีจากประเทศมอริเตเนียและประธานาธิบดีของสาธารณรัฐกินี-บิสเซา ได้เยี่ยมเยือนเอสเพอรันซาเพื่อแสดงการสนับสนุนกรีนพีซในการทำงานรณรงค์กับการประมงในแอฟริกาตะวันตก

Amazon Reef. © Greenpeace
หนึ่งในภาพที่ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกของ แอมะซอน รีฟ พื้นที่อันเป็นเอกลักษณ์ด้านระบบนิเวศ กรีนพีซและเรือเอสเพอรันซาเดินทางมาที่นี่โดยภารภิจเพื่อวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเปิดเผยภาพ พื้นที่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสกำลังนำเงินมาประมูลเพื่อขอใบอนุญาตเพื่อสำรวจทรัพยากรน้ำมัน © Greenpeace

ปี 2562-2563 การสำรวจจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ สำหรับภารกิจการสำรวจมหาสมุทรจากขั้วโลกเหนือลงมาสู่ขั้วโลกใต้นี้เป็นความร่วมมือของทั้งเรือเอสเพอรันซาและเรืออาร์กติกซันไรส์ ซึ่งเป็นภารกิจครั้งที่ใหญ่ที่สุดในช่วงปี 62-63 ของกรีนพีซ เราเดินเรือสำรวจอย่างยาวนานในครั้งนี้ก็เพื่อรณรงค์ผลักดันให้ผู้นำประเทศทั่วโลกลงนามใน ‘สนธิสัญญาหลวง’ ขององค์การสหประชาชาติ เป็นการรวมตัวของเหล่านักวิทยาศาสตร์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม นักรณรงค์ และนักแสดงผู้มีชื่อเสียงจากฝรั่งเศสอย่างมารียง กอตียาร์ นักแสดงชาวอเมริกัน เชลีน วูดลีย์ และ กุสตาฟ สกาส์กอร์ด นักแสดงชาวสวีเดน ซึ่งทั้งหมดเดินทางมาเพื่อขึ้นเรือเอสเพอรันซา ร่วมรณรงค์ในแคมเปญสำรวจชื่อว่า ‘ปกป้องมหาสมุทร (Protect the Oceans)’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการประมงเกินขนาด มลพิษพลาสติก การทำเหมืองใต้ทะเลลึก การขุดเจาะน้ำมัน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Penguins in Antarctica. © Christian Åslund / Greenpeace
ฝูงเพนกวินชินสเตรปบนเกาะช้าง (Elephant Island) ด้านหลังของภาพเป็นภาพเรือเอสเพอรันซา ในปี 2562-2563 เรือเอสเพอรันซาได้ออกเดินทางในภาพรกิจสำรวจทะเลและมหาสมุทรตั้งแต่ขั้วโลกเหนือไปจนถึงขั้วโลกใต้ เพื่อสำรวจระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอึตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประมง การทำเหมืองใต้ทะเลลึก การขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ © Christian Åslund / Greenpeace

สำหรับเรา เรือเอสเพอรันซาคือสัญลักษณ์ของความหวังตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้ เอสเพอรันซาแล่นไปทั่วโลกพร้อมกับสนับสนุนผู้คนทั่วโลก เอสเพอรันซากลายเป็นด่านหน้าในการต่อสู้ให้กับผู้คนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากความปลอดภัยและยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่บางครั้งก็ดูราวกับว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีโอกาสได้รับชัยชนะ

ตอนนี้ เรือเอสเพอรันซาเดินทางไปถึงจุดหมายสุดท้ายในเมืองชายฝั่ง กิฆอน (Gijón) ประเทศสเปน และปลดระวางจากหน้าที่ของตัวเอง

ขณะที่โลกของเราเปลี่ยนแปลงไป กรีนพีซเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานในท้องทะเลตามเช่นกัน เพราะแม้ว่าเรือเอสเพอรันซาจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แต่ถึงอย่างนั้นมันก็สร้างรอยเท้าคาร์บอนมากกว่าเรือลำอื่นๆของกรีนพีซ ถึงจะมีความพยายามและการสนับสนุนจากทั้งลูกเรือ ช่างเทคนิค อาสาสมัครหรือแม้กระทั่งผู้สนับสนุนกรีนพีซที่เข้ามาช่วยในด้านการพัฒนาปรับปรุงคุณสมบัติให้เรือมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ตาม แต่ด้วยพื้นฐานของเครื่องเรือลำนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อวิสัยทัศน์ของกรีนพีซที่ต้องการให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์

ที่ผ่านมา ลูกเรือของเอสเพอรันซา ทำหน้าที่เป็นเรือปล่อยยานบินจากพลังงานแสงอาทิตย์ เฮลิคอปเตอร์ และยานสำรวจใต้ทะเลจากดาดฟ้าของเอสเพอรันซา อีกทั้งยังช่วยพัฒนาให้เรือมีนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตลอดการผจญภัยของเรือเอสเพอรันซา อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤตสภาพภูมิอากาศและอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก กรีนพีซจำเป็นต้องเป็นผู้นำในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันก็จะต้องหาเรือจากท้องถิ่นและทรัพยากรที่ยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้เรายังคงเดินทางไปเปิดโปงกับการทำลายสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรซึ่งเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยากได้

Esperanza Crew Prepare for a Search Flight. © Will Rose / Greenpeace
ภาพลูกเรือเอสเพอรันซาเตรียมพื้นที่ให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดเหนือมหาสมุทรอินเดียในปี 2559 เป็นช่วงระหว่างการเดินทางสำรวจมหาสมุทรซึ่งมีการใช้ยานบินจากพลังงานแสงอาทิตย์และยานสำรวจใต้ทะเลเพื่อเปิดโปงอุตสาหกรรมประมงทำลายล้าง © Will Rose / Greenpeace

เอสเพอรันซาได้ฝากความหวังของอนาคตที่ยั่งยืนไว้มากมาย

ก่อนหน้าที่เอสเพอรันซาจะกลายเป็นหนึ่งในกองเรือที่ออกรณรงค์กับกรีนพีซในปี 2543 มันเคยเป็นเรือลำที่ 4 ในกองเรือดับเพลิงของรัฐบาลรัสเซีย มันเคยมีชื่อว่า ‘Echo Fighter’ ลูกเรือกรีนพีซเคยตั้งชื่อเล่นให้ในเอสเพอรันซาในช่วงแรกโดยตัดตัวอักษร h ออกกลายเป็น ‘Eco Fighter’ หลังจากนั้นองค์กรจึงเริ่มจัดอีเวนท์การโหวตชื่อเรืออย่างเป็นทางการให้กับเรือลำนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ 

นั่นทำให้นักกิจกรรมหลายพันคนจากอาร์เจนตินาและจากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลักเห็นถึงโอกาสที่จะตั้งชื่อเรือกรีนพีซในภาษาสเปน ด้วยเอกลักษณ์ความกระตือรือร้นในการออกท่องทะเลเพื่อเผชิญหน้าของพวกเขากับการเกิดขึ้นของยุคการขับเคลื่อนงานรณรงค์แบบดิจิตอล นั่นทำให้พวกเขาเทผลโหวตไปที่ชื่อ เอสเพอรันซา ‘Esperanza’

และเป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่เอสเพอรันซาเป็นสถานที่ที่รวบรวมเรื่องราวการทำกิจกรรมรณรงค์ของเหล่าลูกเรือที่เต็มไปด้วยความสามารถและพรสวรรค์ นักกิจกรรมที่กล้าหาญและอาสาสมัครที่มองว่าเรือลำนี้เป็นเหมือนบ้านอีกหลัง ทีมงานที่ช่วยขับเคลื่อนให้งานรณรงค์และกิจกรรมเกิดขึ้นจริง รวมทั้งผู้สนับสนุนทุกคนที่นำเรือเอสเพอรันซามาให้กรีนพีซ ช่วยตั้งชื่อ และเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางตลอดการเดินทาง 20 ปีของเรือเอสเพอรันซา

MY Esperanza Open Boat in Bangkok. © Athit Perawongmetha / Greenpeace
ข้อความเขียนมือของเยาวชนที่มาเยี่ยมเรือเอสเพอรันซา ที่เทียบท่าในกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 © Athit Perawongmetha / Greenpeace

หากเอสเพอรันซาเป็นคน เธอเองก็คงอยากขอบคุณผู้คนอีกนับแสนนับล้านที่ช่วยตั้งชื่อเธอ เพราะมันช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ตอนนี้เธอจะได้พักผ่อนอยู่ในสเปนกับชื่อของเธอเองที่เป็นภาษาสเปนเช่นกัน

จากนี้คือข้อความที่ส่งถึงคุณทุกคนที่มีแสงแห่งความหวังอยู่ในหัวใจ เราขอส่งคำว่า “กราเซียส – gracias ” (ขอบคุณ) ถึงแม้ว่าเราไม่อาจรู้ได้ว่าในอนาคตจะยังมีสถานที่ไหนที่ต้องการแสงแห่งความหวังแบบนี้อยู่หรือไม่ แต่เราต่างรู้ดีว่าแสงไฟนี้จะไม่มีวันดับลงและเราจะนำแสงไฟแห่งความหวังนี้ไปมอบให้กับใครก็ตามที่ต้องการมัน

เรามักได้ยินคำบอกเล่าบ่อยครั้งที่ว่า เรือ เป็นมากกว่าแค่ยานพาหนะ แต่เรือได้รับพลังงานและจิตวิญญาณจากผู้คนที่ทำให้เรือแล่นออกไปได้ ดังที่นักเขียนชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า “หากคุณอยากจะสร้างเรือ อย่ามอบหมายแค่ให้เขาไปรวบรวมไม้หรือแค่ให้เขามาทำงาน แต่จงสอนให้พวกเขาเข้าใจถึงมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด”

Esperanza off the Coast of Greenland. © Jiri Rezac / Greenpeace
เรือเอสเพอรันซา (The Esperanza) ล่องเรือในช่องแคบเดวิส นอกชายฝั่งกรีนแลนด์ เพื่อปกป้องแหล่งทรัพยากรอันเก่าแก่ของอาร์กติกจากจากขุดเจาะน้ำมันในทะเล © Jiri Rezac / Greenpeace