นับตั้งแต่ปี 2518 ที่ประเทศไทยมีกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment-EIA) [1] เฉกเช่นอารยประเทศมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน แทนที่ EIA ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายแห่งศตวรรษที่ 20 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในหลาย ๆ ประเทศ จะนำไปสู่การสงวนรักษาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลับกลายเป็นเงื่อนไขของการสร้างความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ปัจจุบันมี EIA ที่ถูกประท้วง ร้องเรียน และคัดค้านโดยชุมชนในประเทศไทยอย่างน้อยที่สุด 22 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

บทความนี้สรุปประเด็นหลัก 6 ประเด็นจากข้อสังเกตทางวิชาการว่าด้วย EIA  ของโครงการเหมืองถ่านหิน กะเบอะดิน [2] ดังนี้

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างมีความหมายและความถูกต้องของการประเมินผลกระทบ

มีการร้องเรียนโดยชุมชนในกรณีของ EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินว่า บริษัทที่ทำ EIA ทำการปลอมแปลงเอกสารการมีส่วนร่วม นำเสนอข้อมูลแต่ด้านดีด้านเดียวไม่ครบถ้วนทุกมุมของผลกระทบที่เป็นข้อเสีย และนำเสนอข้อมูล EIA โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดทางภาษาของชุมชนชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชุมชนไม่เข้าใจเนื้อหา EIA อย่างครบถ้วน ระดับของการมีส่วนร่วมดังกล่าวเป็นการมีส่วนร่วมปลอม ๆ ที่ทำเป็นเพียงพิธีกรรม

แม้ว่ามีการระบุในรายงาน EIA ว่าการดำเนินการของบริษัทที่ทำ EIA คำนึงถึงการมีส่วนร่วมที่ครบถ้วน ตามกรอบของกฎหมาย กลับทำให้ชุมชนซึ่งยังลังเลที่จะยอมรับโครงการต้องปฏิเสธโครงการและ นำไปสู่การประท้วงคัดค้านที่สำคัญ การมีส่วนร่วมของโครงการซึ่งเป็นเพียงพิธีกรรม ทำให้ การระบุปัญหาที่ต้องประเมินผลกระทบและการวางมาตรการลดผลกระทบไม่เป็นตามหลักการของ EIA และไม่อาจปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

การเบี่ยงลำห้วยแม่อ่างขางและห้วยผาขาว

เนื่องจากสายแร่ถ่านหินพาดผ่านลำห้วยสำคัญของชุมชนคือ ห้วยแม่อ่างขางและห้วยผาขาว โครงการเหมืองถ่านหินจึงวางแผนการเบี่ยงน้ำผิวดินจากห้วยทั้งสองไปสู่คลองดาดคอนกรีตที่สร้างขึ้นใหม่ การประเมินและออกแบบดังกล่าวพิจารณาเพียงความจุของลำห้วยเดิมตามธรรมชาติ เทียบกับคลองดาดคอนกรีตที่จะสร้างทดแทนเท่านั้น แต่ไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อพื้นที่เกษตกรรมและ ชุมชนที่ใช้น้ำจากลำห้วยเดิมในลักษณะของการประเมินเชิงพื้นที่ (Spatial Analysis) ว่าจะได้รับผลกระทบ ในเชิงของปริมาณน้ำจะใช้เพื่อการเกษตรหรือไม่อย่างไร

พิธีกรรมบวชป่าของชาวบ้านกะเบอะดิน
ชาวบ้านกะเบอะดินรวมเมล็ดพันธุ์มาใส่ใน ‘พ้า’ หรือหม้อดินเผาที่เป็นสัญลักษณ์ของงานบวชป่า พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์นี้สะท้อนเจตนารมณ์เพื่อปกป้องพื้นที่ทรัพยากรในชุมชนจากโครงการเหมืองถ่านหิน โดยจัดขึ้นบริเวณป่าจิตวิญญาณ
© Korawan Buadoktoom / Greenpeace

โลหะหนักในถ่านหินและการเกิดน้ำเหมืองเป็นกรด

แม้ว่าจะเป็นที่รู้กันในวงการวิชาการว่าถ่านหินปนเปื้อนโลหะหนักเสมอไม่ว่าจะมาจากแหล่งแร่ใด ๆ ก็ตาม แต่ EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินกลับไม่มีการกล่าวถึงโลหะและกึ่งโลหะหนักในถ่านหิน

ที่สำคัญคือ ไม่มีการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพดินและน้ำจากน้ำ เหมืองเป็นกรดและการปนเปื้อน โลหะหนักซึ่งไม่สมเหตุสมผลทางวิชาการ และแสดงถึงความไม่รอบคอบในการทำ EIA และทำให้ชุมชน เสี่ยงต่อผลกระทบจากน้ำเหมืองเป็นกรดและการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะพิษ จากโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน เนื่องจากไม่มีการประเมินและวางมาตรการป้องกันไว้แม้แต่น้อย

การปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินจากบ่อกักเก็บน้ำขุ่นข้น

การที่ EIA ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินไม่ได้ประเมินโลหะหนักในถ่านหิน และการเกิดน้ำเหมือง เป็นกรด จึงไม่มีการประเมินการปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดินอันเนื่องมาจากโลหะและกึ่งโลหะ พิษที่อยู่ในน้ำขุ่นข้นของเหมืองถ่านหิน ซึ่งทำให้บ่อกักเก็บน้ำขุ่นข้นของเหมืองถ่านหินไม่ได้ออกแบบมา เพื่อป้องกันการรั่วไหลผ่านทางน้ำใต้ดิน (ดังจะเห็นว่าไม่มีบ่อเฝ้าระวังการปนเปื้อนน้ำใต้ดิน) และไม่มีการออกแบบชั้นดินเหนียวบดอัน หรือการปู HDPE ที่พื้นบ่อกักเก็บน้ำขุ่นข้นเพื่อลดการรั่วไหล (Seepage) ผ่านทางน้ำใต้ดิน

โอกาสเกิดการปนเปื้อนโลหะพิษลงสู่น้ำใต้ดินและไหลลงสู่น้ำผิวดิน อย่างเช่น กรณีการปนเปื้อนตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาทแล้วแต่ก็ ยังฟื้นฟูการปนเปื้อนไม่สำเร็จซึ่งสอดคล้องกับความกังวลของชุมชนกะเบอะดินว่าโครงการเหมืองถ่านหินอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนสารอันตราย เช่น โลหะหนักในน้ำผิวดิน อย่างเช่นกรณีคลิตี้

มลพิษทางอากาศจากโครงการเหมืองถ่านหิน

EIA โครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินอ้างว่ามีการประเมินการฟุ้งกระจายของฝุ่นจากรถขนถ่านหิน ที่วิ่งไปบนถนนลูกรัง และการฟุ้งกระจายนั้นไม่มีนัยสำคัญ และอ้างว่าไม่ต้องทำการประเมิน ด้วยแบบจำลองมลพิษทางอากาศ เช่น AERMOD เป็นต้น เพราะจะใช้น้ำรดพื้นที่เพื่อไม่ฝุ่นฟุ้งกระจายมาก ถือเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีการประเมินทางวิชาการใด ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ 

ที่สำคัญคือไม่มีการประเมินการฟุ้งกระจายของโลหะและกึ่งโลหะพิษใน PM2.5 และ PM10 จากโครงการเหมืองถ่านหิน และการฟุ้งกระจายของ PM10 และ PM2.5 จากการใช้รถขนถ่านหินในเหมือง จากการกองเก็บถ่านหิน และการแยกขนาดของถ่านหิน ตลอดจนการประเมินมลพิษทางอากาศและการฟุ้งกระจายและการรับสัมผัสจากการเกิดการเผาไหม้ตนเองของถ่านหิน

การที่ EIA โครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินไม่รอบคอบรัดกุมในการประเมินผลกระทบจาก มลพิษทางอากาศที่สำคัญ ทำให้มาตรการลดผลกระทบของรายงานไม่น่าเชื่อถือ

ข้อมูลเก่ากว่า 10 ปี

EIA โครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินใช้ข้อมูลที่ล้าสมัย (ตั้งแต่ปี 2554) ข้อมูลการกระจายตัว ความเป็นอยู่ของชุมชน การประกอบอาชีพของชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งระบบนิเวศล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลเก่า

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ร่วมจับตาโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชนกะเบอะดิน

ร่วมติดตามความคืบหน้าการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยผ่าน Facebook Page โดยชุมชนกะเบอะดิน

ติดตาม

การใช้ข้อมูลและการวางมาตรการลดผลกระทบที่อิงข้อมูลเก่าอาจไม่เหมาะกับผลกระทบที่ จะเกิดขึ้นในบริบทปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีการประเมินผลกระทบและวางมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ PM10 และ PM2.5  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 ซึ่งเป็นมลพิษที่ต้องทำการ ตรวจวัดตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 36 ปี 2553

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

โดยสรุป

วัตถุประสงค์หลักของ EIA โครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ นั้นมุ่งเพื่อนำมาประกอบในการขอประทานบัตรตามที่กฎหมายกำหนด วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ นอกจากไม่สามารถตอบประเด็นความกังวลของชุมชนได้แล้ว ยังขัดแย้งกับกระบวนการ EIA ตามหลักสากลที่มุ่งสงวนรักษาผลิตภาพ (Productivity) สมรรถนะ (Capacity) และกระบวนการ (Process) ของระบบธรรมชาติและสังคมที่สนับสนุนการดำรงชีวิต หรือเพื่อการคาดการณ์ หลีกเลี่ยง ลด หรือชดเชยผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากที่เกิดขึ้นจากโครงการ

เราจำเป็นต้องปฏิรูปรื้อสร้างกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ขณะเดียวกัน หน่วยงานอนุมัติ-อนุญาต ทั้งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และสำนักนโยบายและ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องกำกับดูแลการจัดทำ EIA ให้ถูกต้องตามหลักการ ทั้งศาสตร์ การมีส่วนร่วม การประเมินทางวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ และศาสตร์การจัดการความเสี่ยง และประกันความเสี่ยง ก่อนที่กระบวนการ EIA ของไทยจะไร้ซึ่งศักดิ์ศรีมากไปกว่านี้

ติดตามความคืบหน้าจากชุมชนได้ที่เพจเฟสบุ๊ค กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์

หมายเหตุ :

[1] การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2518

[2] รายละเอียดสามารถดูได้จาก “ข้อสังเกตประเด็นปัญหาทางวิชาการและแนวทางการปรับปรุง ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดิน คําขอประทานบัตรที่ 1/2543 ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จํากัด อําเภออมกอย จังหวัดเชียงใหม่

โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม