นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชั้นนำของโลกเผยแพร่การประเมินครั้งสำคัญล่าสุดของพวกเขาว่าด้วยผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสังคมมนุษย์จะปรับตัวรับมือได้แค่ไหนอย่างไร

หากไม่มีเวลาอ่านรายงานหลายพันหน้า เราได้สรุปประเด็นสำคัญ 5 ข้อ จากรายงาน IPCC ว่าด้วย การประเมินผลกระทบ ความเปราะบาง และการปรับตัวต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Impacts, Adaptation and Vulnerability) มาให้เห็นกันดังนี้

  1. ความเสี่ยงและผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น

วิกฤตสภาพภูมิอากาศสร้างความสูญเสียและความเสียหายอย่างกว้างขวางทั้งต่อธรรมชาติและผู้คน นำไปสู่การสูญเสียชีวิต บ้านเรือน วิถีชีวิตและวัฒนธรรม และมีแต่จะแย่ลง นักวิทยาศาสตร์ยกระดับการประเมินโดยรวมถึง “เหตุผลสำหรับข้อกังวล” ของสภาวะที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มสูงมากขึ้นในอนาคต และสรุปว่า ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงและสูงมากแม้ในระดับที่อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ขณะนี้ เราประสบกับผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศแล้ว และจะขยายวงกว้างมากขึ้น และมีผลกระทบที่กระจายออกไปกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

© Thomas Mendel / Greenpeace
  1. เราไม่ได้เตรียมรับมือ แม้กระทั่งผลกระทบในปัจจุบัน และทำให้ชีวิตต้องสูญเสีย

มีความพยายามมากขึ้นทั่วโลกที่จะรับมือและปรับตัวต่ออันตรายจากสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย แต่ก็มักสายเกินไป  ผลคือ จำนวนผู้คนและทรัพย์สินที่ต้องได้รับอันตรายจากสภาพภูมิอากาศจึงเพิ่มขึ้น ไม่ลดลง

การสูญเสียชีวิตและบ้านเรือนเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในกลุ่มประเทศที่มีความล่อแหลมสูง การเสียชีวิตจากอุทกภัย ความแห้งแล้ง และพายุนั้นเพิ่มขึ้นมากถึง 15 เท่าในทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีความล่อแหลมต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศน้อยกว่า

ถ้าหากมีแผนปฏิบัติการที่รอบด้าน มีความเท่าเทียม และมีทรัพยากรที่เพียงพอในการรับมือ ปรับตัวและสร้างขีดความสามารถในการฟื้นคืนจากผลกระทบซึ่งสอดรับกับความต้องการของกลุ่มประชากรที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดนั้น ก็จะช่วยปกป้องชีวิต บ้านเรือน และอนาคตได้

3. การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่ 1.5 °C จะลดความสูญเสียและความเสียหายลงได้อย่างมาก แต่ไม่ทั้งหมด

เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้น สถานการณ์ยิ่งแย่ลง กดดันให้ผู้คนและสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลายไปอยู่เกินขอบเขตความปลอดภัย  แผนปฏิบัติการเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลก 1.5 องศาเซลเซียส (ความตกลงปารีส) จะลดความสูญเสียและความเสียหายที่คาดการณ์ไว้ต่อสังคมมนุษย์และระบบนิเวศลงได้อย่างมาก แต่ไม่อาจลดได้ทั้งหมด  ความสูญเสียและความเสียหายดังกล่าวกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียม และการเตรียมความพร้อมของกลไกด้านการเงิน ระบบธรรมาภิบาลและความพร้อมเชิงสถาบันที่มีอยู่ปัจจุบันนั้นไม่สอดคล้องกับผลกระทบจากความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางซึ่งมีความล่อแหลมต่อความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่า

© Greenpeace / Anais Hector

4. เราต้องฟื้นฟูธรรมชาติและปกป้องระบบนิเวศของโลกอย่างน้อย 30% เพื่อให้ธรรมชาติปกป้องเรา

การปกป้องดูแลโลก ดาวเคราะห์ที่เป็นบ้านหนึ่งเดียวของเรา เป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาวะของมนุษย์และสังคม และเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการพัฒนาขีดความสามารถในการรับแรงกระแทกและฟื้นฟูจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ระบบนิเวศที่หลากหลายและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองพร้อมกับความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์นั้นเอื้อให้สังคมมนุษย์ต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ IPCC ให้ความสำคัญกับศักยภาพและความต้องการเพื่อการปรับตัวและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนฐานของระบบนิเวศ ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์เน้นว่า การคงไว้ซึ่งศักยภาพในการรับแรงกระแทกและฟื้นคืนของความหลากหลายทางชีวภาพและการบริการของระบบนิเวศนั้นขึ้นอยู่กับการรักษาพื้นที่ 30% – 50% ของที่ดิน น้ำจืด และมหาสมุทรของโลก รวมถึงระบบนิเวศที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติในปัจจุบัน

5. นี่เป็นทศวรรษที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคตที่น่าอยู่ เป็นธรรมและยั่งยืน เราจำเป็นต้องปรับจากการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไปสู่การเปลี่ยนผ่านเชิงระบบและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ผลกระทบและความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความซับซ้อนมากขึ้นและรับมือได้ยากมากขึ้น เนื่องจากอันตรายต่างๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และมีปฏิสัมพันธ์กับความเสี่ยงหลากมิติของแบบจำลองการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและความไม่เป็นธรรมทางสังคม ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนผ่านที่ถี่ถ้วนรอบด้านในระบบพลังงาน อาหาร อุตสาหกรรม เมืองและสังคมที่นำไปสู่การพัฒนาที่เท่าเทียมและสามารถฟื้นคืนจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ตามที่ IPCC สรุป: “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สะสมมานั้นชัดเจน : วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาวะของมนุษย์และโลก ความล่าช้าใด ๆ ของแผนปฏิบัติการร่วมกันทั่วทั้งโลก จะทำให้เราพลาดโอกาสที่แสนสั้นและหมดลงอย่างรวดเร็ว ในการสร้างอนาคตที่น่าอยู่และยั่งยืนสำหรับทุกคน”

หากพร้อมลงมือทำ นี่คือแนวปฏิบัติ 5 ข้อที่เราทำได้ 

1.ปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล

นี่คือเรื่องง่ายๆ เก็บฟอสซิลไว้ใต้ดิน ทุกๆ ตันของคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้สถานการณ์แย่ลง  แม้แต่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักถึงการคาดการณ์โลกแบบอนุรักษ์นิยม ขณะนี้ ออกมากล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน

ร่วมเรียกร้องรัฐสภาไทยประกาศภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศเริ่มจากการปลดระวางถ่านหินและปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล

2. ร่วมปกป้องธรรมชาติอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573

ในเดือนมีนาคม รัฐบาลต่างๆ ประชุมกันที่สหประชาชาติเพื่อเจรจาสนธิสัญญามหาสมุทรโลก ซึ่งช่วยให้สามารถสร้างพื้นที่คุ้มครองในมหาสมุทรโลกได้  ปลายปี 2565 นี้ รัฐบาลต่างๆ จะรวมตัวกันที่การประชุมสุดยอดว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) COP15 รัฐบาลของประเทศทั่วโลกต้องให้คำมั่นที่จะปกป้องผืนดินและมหาสมุทรอย่างน้อย 30% ภายในปี 2573 โดยคำนึงถึงและเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิชุมชนท้องถิ่น

© Sirachai Arunrugstichai / Greenpeace

ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

3. ส่งมอบความเป็นธรรมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ

ประชาชนมีสิทธิ  รัฐบาลมีภาระผูกพัน  เราต้องทำให้รัฐบาลรับผิดชอบ ในปี 2564 เพียงปีเดียว มีการตัดสินใจครั้งสำคัญจำนวนมากที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งมีผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในห้องพิจารณาคดี  เช่นเดียวกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่โยงใยกัน คดีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศก็เชื่อมโยงและเสริมบรรทัดฐานระดับโลกว่า การปกป้องสภาพภูมิอากาศคือการปกป้องสิทธิมนุษยชน เราสามารถเข้าร่วมการเคลื่อนไหวระดับโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเสียงของเรามีพลัง !

ร่วมกับคนทั่วโลกเป็นพลังเรียกร้องความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ!

4. ต่อสู้เพื่ออนาคตที่เราต้องการ

แบบจำลองการพัฒนาในปัจจุบันอยู่บนฐานของการขยายตัวและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุด แบบจำลองดังกล่าวนี้ไม่เป็นธรรมและตกยุค แบบจำลองการพัฒนานี้ต้องยุติลง อนาคตที่เราต้องการคือ อนาคตที่เคารพผู้คนและขีดจำกัดของโลกธรรมชาติ อนาคตที่ปราศจากอำนาจที่อิงผลกำไรทางเศรษฐกิจเหนือชีวิต อนาคตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ หยั่งรากลึกในความหลากหลายของชุมชนที่ซึ่งมีการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนรอบด้านและมีความเท่าเทียม

© Jilson Tiu / Greenpeace

ยืนหยัดร่วมกับชุมชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องป่าฝนแอมะซอนจากความละโมบของบรรษัท

5. เผชิญหน้ากับความจริงอย่างตรงไปตรงมา

เพื่อจัดการปัญหา เราต้องเผชิญหน้ากับความจริงอย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้ เราไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโลกที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 1.5°C และโลกอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 2.7°C ที่เรากำลังจะก้าวเข้าไป เราอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน  เราไม่ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแม้แต่น้อย

ร่วมสร้างอนาคตที่เราต้องการ และร่วมกดดันรัฐบาลให้ลงมือทำ !