หลายครั้งที่คิดว่าจะลดขยะ โดยเฉพาะพวกพลาสติก แต่สุดท้ายมักจะเป็นการฮึบแค่ไม่กี่สัปดาห์ แล้วความเคร่งครัดใน Resolution นี้ก็จะหายไปเนี่ยนๆโดยไม่มีใครกล่าวอะไร แต่กระนั้นก็มีอีกหลายคนที่ทำได้ และทำไปเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในคนเหล่านั้นคือคุณ ฐิตินันท์ ศรีสถิต นักเขียนอิสระ ผู้ใช้ชีวิตลดพลาสติกมาแล้วถึง 10 ปี

เมื่อไปเยือนบ้านพักของคุณฐิตินันท์ ที่จังหวัดอยุธยา เราก็ได้พบกับการใช้ชีวิตสุดแสนเรียบง่าย ที่ข้างฝามีถุงพลาสติกสำหรับใช้ซ้ำจำนวนหนึ่ง ที่หลังบ้านมีแปลงผักสวนครัวและปุ๋ยหมักจากขยะสด ไม่รู้เพราะบรรยากาศลมเย็นๆของบ้านริมคลองหรืออะไร หลังจากพูดคุยกับคุณฐิตินันท์จบ เราก็คิดว่ามันเป็นไปได้ที่จะขุด Resolution นี้ขึ้นมาทำอีกครั้ง เลยอยากจะมาหว่านล้อมท่านผู้อ่านด้วยถ้อยคำบอกเล่าประสบการณ์ของคุณฐิตินันท์ดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นของการตั้งใจจะลดการใช้พลาสติกคืออะไรคะ

เกิดขึ้นตอนที่ทำงานประจำ มีช่วงที่กินส้มตำเยอะ เป็นร้านรถเข็นที่มาขายหน้าออฟฟิศ มีวันหนึ่งคือเราก็กินกันสี่ห้าคน ป้าแม่ค้าก็จะใส่ถุงพลาสติก ถุงร้อนมัดหนังยาง ใส่ถุงก๊อบแก๊บอีกชั้นเป็นปกติ แล้วเราก็หิ้วขึ้นไปกิน ซึ่งจากระยะปากครกไปถึงโต๊ะอาหารที่เรานั่งกินมันแค่ขึ้นบันไดมาชั้นเดียว ตอนที่กินเสร็จแล้วจะเก็บขยะไปทิ้ง พอเราหันมาดู เฮ้ย….ทำไมถุงร้อนมันเยอะมากเลยอะ ถุงร้อนมันถูกใช้แค่สัก 1 นาทีได้ จากปากครกหิ้วขึ้นมาถึงโต๊ะ แกะหนังยาง แล้วก็เทกิน คือมันยังถูกใช้ไม่คุ้มเลย

หลังจากวันนั้น เราก็เลยชวนเพื่อนว่าครั้งหน้าถือจานลงไปซื้อส้มตำกันดีกว่า ซึ่งแม่ค้าเขาก็โอเค ไม่ได้มีปัญหา ผ่านไปสักพัก คนในออฟฟิศชั้นอื่นก็ทำแบบนี้บ้าง เราก็รู้สึกว่า…มันก็ประหยัดถุงร้อนไปได้ตั้งเยอะแน่ะ

พอเราเริ่มลดถุงร้อนที่ใส่ส้มตำแล้ว เราก็เริ่มคิดถึงร้านอื่น คือมีร้านข้าวแกงใต้แถวบ้านที่เราซื้อประจำเพื่อไปกินที่ออฟฟิศ ซื้อเสร็จก็นั่งรถเมล์ไปทำงาน แม้พลาสติกมันจะถูกใช้เป็นระยะเวลานานขึ้น แต่เราคิดว่ามันก็มีทางเลี่ยงไม่ใช้อยู่ดี เราก็เลยเปลี่ยนมาใช้ปิ่นโตค่ะ ตอนแรกก็มีความไม่มั่นใจนะ ก็รู้สึกไปเองว่า แม่ค้าเขาจะอะไรเปล่า แต่คือแม่ค้าเขาปกติมาก เหมือนกับว่าคนที่อยู่ในระแวกบ้านแถวนี้เขาก็คงใช้ปิ่นโตเหมือนกัน สรุปคือเรากลัวไปเอง แต่ก็ยังไม่กล้าขึ้นรถเมล์ คนบนรถเมล์จะมองอะไรหรือเปล่า ก็เลยเอาถุงผ้ามาใส่ปิ่นโตอีกที ซึ่งโอเค มันก็หมดปัญหา

แล้วหลังจากนั้นมีตั้งเป้าหมายต่อหรือเปล่า

จากพลาสติก จากถุงร้อน  เราก็เริ่มมีความเข้มข้นขึ้นในการที่จะลดใช้สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นขยะ ทั้งพวกกระดาษ ลดการใช้พลังงาน ฟู้ดไมล์ อะไรทั้งหลายแหล่ คือ เราคำนึงถึงผลกระทบจากการใช้ทุกอย่างมากขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ตอนนั้นทำงานมูลนิธิโลกสีเขียว พอทำงานตรงนี้เราก็จะเห็นภาพมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเกิดเราเขียนงานโดยที่เราไม่ได้ทำอะไร มันก็เหมือนกับเราไม่เชื่อสิ่งที่เรารับข้อมูล เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าถ้าเราทำมันได้ เราก็เขียนบอกคนอื่นด้วย คือเราก็ไม่แน่ใจว่างานเขียนเรามันมีอิมแพคไหมนะ แต่ว่า อย่างน้อย ตัวเราเองไม่ได้กลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนที่เราจะไม่ทำอะไรเลยแน่นอน เราจะค่อยๆขยายและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องไปให้ถึงปลอดพลาสติกเลยเด็ดขาดนะคะ ก็ทำไปเรื่อยๆค่ะ

มีวิธีการลดพลาสติกในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

เรามองว่ามันเป็นสองสเต็ปนะ คือ ก่อนที่มันจะเข้ามาหาเรา เราก็พยายามลดมันซะ ให้มันเข้ามาหาเราน้อยลง กับอีกเสต็ปคือตอนที่เราจะปล่อยมันไปสู่การทิ้ง เราก็ดูว่ามันมีอันไหนที่ยังไม่ควรทิ้งบ้างไหม อันไหนที่มันใช้ซ้ำได้ไหม อันไหนที่มันเอากลับไปรีไซเคิลได้ไหม พยายามหาทางทำให้มันไม่กลายเป็นขยะที่ต้องทิ้งไปเปล่าๆ จริงๆก็เหมือนสามคำที่คนชอบพูดกัน คือ Reduce Reuse Recycle

อย่างถ้วยโยเกิร์ต บางทีเราก็ล้างเก็บไว้ รู้สึกว่าซาเล้งเขาจะไม่รับ ก็เลยเอาไว้ทำน้ำแข็งก้อนใหญ่ในตู้เย็นไป แต่ตอนหลังพัฒนาขึ้นไปอีก คือทำโยเกิร์ตกินเอง (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องมีถ้วยโยเกิร์ตแล้ว เพราะว่าเราทำกินเองที่บ้าน เราก็ใช้ขวดโหลแก้วที่มีฝาปิด มันก็เหมือนตัดขั้นมากขึ้นอีกสเต็ปหนึ่ง

หรือแต่ก่อน เวลาไปตลาดสด เราเอาไปแต่ถุงผ้า เคยคิดว่าน่าจะโอเคแล้ว แต่ว่าในความเป็นจริงมันไม่ใช่ เพราะว่าทุกร้านที่เราไปจ่ายตลาด เขาก็ใส่ถุงพลาสติกใหม่เอี่ยมมาให้เราอีกอยู่ดี พอกลับมาบ้านมันก็มีถุงพลาสติกเพิ่มมาอีกแล้ว เราก็เลยมาคิดว่า มันไม่ใช่แค่ถุงผ้าที่เราจะหิ้วไปตลาดแต่เราควรจะหิ้วพลาสติกไปใช้ซ้ำด้วย

ส่วนถ้าไปซูเปอร์มาร์เก็ต ตอนคิดตังค์ก็ขอไม่เอาถุง แล้วเข็นรถมาใส่ของที่ซื้อลงตระกร้าท้ายรถ พอมาถึงบ้านก็หิ้วตะกร้านั้นลง ก็โอเคสะดวก ไม่ได้อยากลำบากอะไร

แต่ถ้าจะให้ไปแบบขนาดชีวิตปลอดพลาสติกเลย เราว่ามันยากเกินไป มันจะกลายเป็นว่า เราจะรู้สึกไม่สนุกแล้ว ไม่สะดวกสบาย ไปหมกหมุ่นกับมันเกินจนไม่ได้ทำอย่างอื่นของชีวิต แต่คนที่ไปสุดทางก็อาจจะมีนะ แต่น้อยมาก แล้วเราว่ามันก็ไม่เหมาะกับคนเมืองส่วนใหญ่ด้วย เพราะฉะนั้นถึงอยากทำในเชิงที่พอทำได้ อาจจะไม่สะดวกนิดหน่อย แต่ก็ไม่สะดวกในระดับที่ยอมรับได้

มีช่วงที่รู้สึกว่ามันยากรึเปล่า

คือมันอาจจะยุ่งยากนิดหน่อยแต่ก็ไม่ได้เดือดร้อน พอชวนเพื่อนทำกันหลายๆคนมันก็เป็นความสนุกเป็นความท้าทายอีกแบบ แบบเฮ้ย…เราลองขยับขึ้นสิ ลองทำอันนั้น อันนี้ เพิ่มขึ้นสิ อะไรแบบนี้ มันก็โอเค พอมันขยายผลไปถึงคนใกล้ตัว  เช่นครอบครัวเรา แม่ก็แยกขยะ พ่อก็แยกขยะขายให้กับซาเล้งไป แม่ก็ได้เงิน ก็แฮปปี้ เอาไปซื้อขนม ซื้ออะไรเล็กๆน้อยๆ เขาก็เริ่มแยกกันเข้มข้นขึ้น แยกกระดาษ แก้ว พลาสติก อะไรที่รีไซเคิลได้ทุกอย่างก็คือแยกหมดเลย

คิดอย่างไรถ้ามีคนบอกว่า…แค่ฉันทำคนเดียวมันจะไปมีผลอะไรต่อโลกใบนี้หรอก ไม่ต้องทำก็ได้ 

เราว่าถ้าคิดแบบนี้ มักจะเป็นคนที่ยังไม่ค่อยอยากจะทำมากกว่านะ คนที่อยากจะทำน่าจะรู้สึกว่า เอ้ย…แค่นิดเดียวเนี่ยมันก็มีผลนะ สมมติ สิ่งที่เราคือลดพลาสติก 0.1% มันก็ไม่เท่ากับ 0% จริงไหม? ถ้าจะบอกว่าตัวเลข 0.1 กับ 0 ไม่ต่างกัน  จริงๆเราว่ามันต่างกันนะ (ยิ้ม)

อยากให้ชวนคนลุกขึ้นมาตั้ง New Year Resolution เป็นการลดพลาสติกดูบ้าง

คือปัจจุบันนี้การผลิตพลาสติก มันถูกลงมากๆจนทำให้คนใช้รู้สึกว่าเหมือนมันฟรี ใช้โดยไม่ต้องคิดกังวลต้นทุน ก็จะใช้ฟุ่มเฟือยเข้าไปใหญ่ แต่ว่าจริงๆมันมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมอยู่ ซึ่งเราไม่ได้จ่าย แล้วเราคงไม่ตามไปจ่ายด้วย เพราะเราจ่ายแค่ค่าเก็บขยะ แต่ว่าพอพลาสติกมันตกไปอยู่ในสิ่งแวดล้อม แล้วมันก็ยังมีผลกระทบอื่นๆมากมาย ถ้าเอาไปเผาก็มีไดออกซิน จะฝังกลบก็ไม่ย่อยสลาย คือบางทีเราตายไปก่อนแล้ว แต่พลาสติกที่เราใช้ไปก็ยังอยู่ ทิ้งลงน้ำ มันก็ไปสร้างปัญหากับสัตว์อื่นๆอีก เข้าไปสู่ห่วงโซ่อาหาร เข้าไปสู่แพลงค์ตอน ปลาเล็กปลาน้อย ปลาใหญ่จนถึงปลาที่คนกิน คือสุดท้ายพลาสติกก็ย้อนคืนกลับมาหาเรา สรุปคือเราก็กินพลาสติกที่เราทิ้ง เพราะฉะนั้นก็ควรจะลดการใช้ ลดการทิ้งให้มากขึ้น เพื่อปัญหาส่วนใหญ่ที่มันเกิดขึ้นไปแล้วก็จะได้น้อยลง มันอาจจะไม่ได้น้อยลงทันที แต่ว่าในระยะยาวต่อไป ถ้าเราลดตั้งแต่วันนี้ อีก 5 ปี 10 ปี มันก็ต้องน้อยกว่าที่เราไม่ได้ลดอะไรเลย ไม่ได้ทำอะไรเลย

ชมคลิปวิดีโอชีวิตลดพลาสติกของคุณฐิตินันท์ได้ที่

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์

Comments

Leave your reply