เดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นมีมติอนุมัติให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิสามารถปล่อยน้ำเสียที่เปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้ โดยแผนของบริษัทเทปโก (TEPCO)คือการสร้างท่อปล่อยน้ำเสียใต้มหาสมุทร และปล่อยน้ำที่เปื้อนกัมมันตรังสีห่างจากชายฝั่งฟุกุชิมะหนึ่งกิโลเมตร

ในเดือนพฤศจิกายน กรีนพีซได้ทำเซอร์เวย์ผลกระทบจากสารตกค้างจากการระเบิดของโรงงานนิวเคลียร์ครั้งที่ 33 และมีโอกาสพูดคุยกับชาวประมงท้องถิ่น นายฮารุโอะ โอโนะ (Haruo Ono) ซึ่งเปิดใจกับเราถึงความเจ็บปวดจากมติดังกล่าว เพราะสำหรับเขาแล้ว มันคือการทำลายอุตสาหกรรมประมงของฟุกุชิมะ

กว่าสิบปีถึงเริ่มฟื้น แต่…

“มีการปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ยังไง มหาสมุทรมันก็มีชีวิตเหมือนกันนะ”  โอโนะเปรยด้วยสำเนียงฟูกิชิมะ ขณะอ่านหนังสือพิมพ์ในบ้านของเขา

ฮารุโอะ โอโนะ ชาวประมงท้องถิ่นเมืองชินชิ จังหวะฟุกุชิมะ © Greenpeace

ฮารุโอะ โอโนะ เกิดในเมืองชินชิ จังหวัดฟุกุชิมะ เติบโตในครอบครัวที่ประกอบอาชีพประมงมาแล้วสามรุ่น ช่วยธุรกิจของครอบครัวมาตลอดตั้งแต่จำความได้ แต่ทุกอย่างพังลงในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อฟุกุชิมะถูกสึนามิถล่ม ตามด้วยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และที่โหดร้ายกว่านั้นคือการรั่วไหลสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น มีการพบสารกัมมันตรังสีในปลาที่พวกเขาจับได้ ชาวประมงในฟุกุชิมะทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องหยุดทำประมงกว่าหนึ่งปี

เดือนมิถุนายนปี ‘55 หนึ่งปีหลังเกิดสึนามิ มีการอนุญาตให้ทดลองจับปลาและนำอาหารทะเลบางชนิดมาวางขาย จนกระทั่งมีการยกเลิกแบนการขายอาหารทะเลทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ‘63  ทำให้โอโนะสามารถออกทะเลเพื่อจับปลาประมาณสิบครั้งต่อเดือน

แต่ในเดือนเมษายนปี ‘64 หนึ่งเดือนหลังครบรอบสิบปีภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมีมติ อนุมัติให้ปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรเสียอย่างนั้น

“ปลาเพิ่งจะกำลังกลับมาหลังผ่านไปสิบปี ถ้ามีการปล่อยสารทริเทียมลงในมหาสมุทร ไม่ว่ามันจะเจือจางแค่ไหน แต่ใครที่ไหนจะมาซื้อปลาพวกนั้น ใครมันจะอยากกินปลาที่มีสารพิษ

ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกิชิมะ โอโนะต้องทนกับสภาพที่ไม่สามารถออกไปทำประมงได้อย่างอิสระนับสิบปี ขณะที่อาหารทะเลที่เขาจับได้ไม่มีคนสนใจซื้อ เพียงเพราะมันมาจากฟุกุชิมะ 

“งั้นทำไมพวกเขาไม่ปล่อยมันลงไปในทะเลตั้งแต่สิบปีก่อนนู่นเลย เพราะมันผิดใช่ไหมล่ะ”  โอโนะปล่อยอารมณ์จากความอึดอัดที่เก็บเอาไว้

เสียงที่ถูกมองข้าม

หลังมีมติอนุมัติให้ปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล รัฐบาลญี่ปุ่นได้นำข้อมูลมาร่วมพูดคุยกับชาวเมืองชินชิ ซึ่งโอโนะก็ได้เข้าร่วม แต่จนแล้วจนรอด เขาก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าทำไมรัฐบาลต้องปล่อยน้ำเสียลงทะเล

“คนที่ดูแลงานมาถึงเวลาประมาณบ่ายสามครึ่ง และงานก็เลิกประมาณห้าโมง ระหว่างนั้นมีช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงสำหรับถามตอบ แล้วอยู่ ๆ พวกเขาก็แบกเอกสารกองใหญ่ ๆ มาวาง และหวังว่าพวกเราจะเข้าใจ

“เรามีสิทธิ์ตั้งคำถาม เรามีสิทธิ์ที่จะรู้ ถ้ามันไม่มีหนทางอื่นแล้วจริง ๆ นอกจากการปล่อยน้ำเสียลงทะเล พวกเราแค่ต้องการคำตอบที่ยอมรับได้จากมติครั้งนี้

รายงานของบริษัทเทปโก[1] ที่ปล่อยมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 ก็มีลักษณะคล้ายๆกัน

“บริษัทเทปโกเก่งมากในการบิดเบือดข้อมูล พวกเขาทำให้มันดูเหมือนว่าพวกเรายอมรับมติครั้งนี้ พวกเขาเก่งในการเล่นกับภาษา และยิ่งไปกว่านั้น ใครมันจะไปอ่านเอกสารที่กองเป็นภูเขาเลากาขนาดนั้น”

อุตสาหกรรมประมงฟุกุชิมะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากแผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นและสึนามิ ตามมาด้วยอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ © Greenpeace

ที่มาของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อบริษัทเทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มจากการไร้ซึ่งสัจจะของทั้งสอง ในปี 2558 เทปโกให้สัญญากับ สมาคมประมงฟุกุชิมะ (Fukushima Prefectural Federation of Fisheries Co-operative Association) ว่าพวกเขาจะไม่บำบัดหรือปล่อยน้ำเสียที่มีสารปนเปื้อนที่ถูกกักไว้ในโรงงาน ‘ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม หากผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ยินยอมจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง’ 

นอกจากนั้น มีรายงานว่ามีการใช้ Advanced Liquid Processing System (ALPS) บำบัดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ไม่ใช่ทริเทียม เช่น cabon-14 ซึ่งมีปริมาณเกินกว่าที่กำหนด พวกเขาทรยศความเชื่อมั่นของคนท้องถิ่นและผู้คนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมประมงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“ทำไมรัฐบาลต้องปกป้องเทปโกขนาดนั้น ไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบอย่างชาวบ้านเหรอที่ควรได้รับการปกป้อง” โอโนะกล่าว

“ไม่มีใครที่นี่เห็นด้วยเลย  แต่พวกเขาก็ลงมติกันเสียอย่างนั้น มหาสมุทรคือที่ทำงานของพวกเรา คิดภาพออกไหมว่ามันจะรู้สึกยังไงถ้ามันถูกทำให้เป็นมลพิษ”

ความรับผิดชอบต่ออนาคต

ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2564 มีน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีประมาณ 1.285 ล้านตันถูกกักเก็บไว้ในแท็งก์ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในปี 2563 มีน้ำบาดาลไหลเข้าสู่โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์และแหล่งหล่อเย็นขยะเชื้อเพลิง ทำให้จำนวนน้ำปนเปื้อนที่กักเก็บไว้เพิ่มขึ้นประมาณ 140 ตันต่อวัน

อ้างอิงข้อมูลจากเทปโก แท็งก์กักน้ำปนเปื้อนของพวกเขาจะเต็มภายในปี 2566 ด้วยเหตุนี้ ทำให้พวกเขาวางแผนปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนนี้ลงสู่ทะเล ทั้งนี้อนุกรรมการของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมที่ตั้งขึ้นในปี 2562 แนะนำว่ายังมีพื้นที่เหลือให้สร้างแท็งก์เพิ่มภายในโรงงาน

“ถ้าพวกเขายังเดินหน้ากักเก็บน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษ งั้นมันไม่มีเหตุผลเลยที่จะต้องเร่งลงมติ ทำไมพวกเขาต้องรีบลงมติขนาดนั้น เมื่อพวกเราอาจจะพบทางที่ดีกว่าในการบำบัดแหล่งน้ำในอนาคต

เทปโกยังวางแผนจำกัดการปนเปื้อนของนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclides) ให้ต่ำกว่าข้อกำหนด และความเจือจางของทรีเทียมให้ต่ำกว่า 1 ใน 40 ของระดับที่กำหนด ก่อนจะปล่อยน้ำลงสู่ทะเล โดยพวกเขากล่าวว่าระดับปนเปื้อนของทรีเทียมที่ปล่อยลงสู่ทะเลในแต่ละปีจะต่ำกว่า 22 ล้านล้านเบคเคอเรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดที่ถูกกำหนดไว้ก่อนจะเกิดภัยภิบัติโรงงานนิวเคลียร์ และเทปโกเองจะดำเนินการตรวจสอบเป็นประจำ

10 ปีหลังอุบัติภัยที่ฟุกุชิมะ ปริมาณน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิเพิ่มขึ้น © Greenpeace

ทั้งนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะปล่อยน้ำปนเปื้อนเจือจางแค่ไหน หรือใช้เทคนิคอะไรในการปล่อยมัน จำนวนรวมทั้งหมดของสารกัมมันตรังสีที่ไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมก็เหมือนเดิม ระยะเวลาที่ใช้ในการสลายตัวของทรีเทียมประมาณ 12 ปี  ขณะที่ carbon-14 ใช้เวลากว่า 5,730 ปี ตราบเท่าที่น้ำเสียเหล่านี้ถูกปล่อยลงทะเล กากกัมมันตรังสีจะเก็บสะสมในน้ำมหาสมุทรต่อไป

“จะต้องใช้เวลา 30-40 ปีเราถึงจะเห็นผลกระทบ ความสัมพันธ์ภายในระบบนิเวศเปลี่ยนไป และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะพิสูจน์อะไรได้ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตกับลูกหลานเรา และไม่ชัดเจนเลยว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ”

ทะเลก็มีชีวิต

“มันรู้สึกเหมือน ทะเลเป็นของเรา และก็ไม่ใช่ของเรา” นี่คือสิ่งที่โอโนะพูดอยู่บ่อยๆ หลายสิ่งกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยชาวประมงและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่ได้เคลื่อนไปด้วย

ชาวประมงในจังหวัดฟุกุชิมะต้องเผชิญกับความจริงอันโหดร้าย พวกเขาได้รับอนุญาตให้ออกไปทำประมงสูงสุด 10 ครั้งต่อเดือน โดยมีรายได้ต่อเดือนตกอยู่ที่ประมาณ 120,000 เยน (หรือประมาณ 34,000 บาท) อนาคตที่ไม่แน่นอนทำให้ปัญหาดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

“ในสภาพสิ่งแวดล้อมแบบนี้ ใครจะอยากทำประมง ใครจะอยากให้ลูกหลานเป็นชาวประมง ถ้ามันยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป คงไม่มีชาวประมงรุ่นใหม่ การปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารพิษเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายแล้ว”

รัฐบาลและบริษัทเทปโกให้สัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชย และมีมาตรการรองรับกับความเสียหายต่อชื่อเสียงของอุตสาหกรรมป่าไม้และประมงท้องถิ่น แต่นี่มันนอกเหนือจุดประสงค์ 

“พวกเขาโฟกัสไปที่การเยียวยาชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือให้คำสัญญาว่าจะซื้อปลาของพวกเรา แต่มันไม่สำคัญเลย เราไม่ได้ทำประมงเพื่อให้พวกเขาเอาปลาไปโยนทิ้ง พวกเราต้องการจับปลาเพื่อให้ผู้คนกินและมีความสุข” โอโนะพูดพร้อมถอนหายใจ 

นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้รัฐบาลหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ในวันครบรอบสิบปีอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ © Taishi Takahashi / Greenpeace

“อันดับแรกเลย ทำไมมันไม่โอเคที่จะปล่อยสารกัมมันตรังสีลงบนพื้นดิน แต่กลับโอเคที่จะปล่อยลงทะเล ภูเขาและน้ำจากแม่น้ำก็ไหลมาจากทะเล แพลงก์ตอนเติบโต ปลาเล็กก็กินแพลงก์ตอน ปลาใหญ่กินปลาเล็ก นี่เป็นวงจร การทำให้มันปนเปื้อนนี่ง่ายมาก แต่เมื่อไรที่มันปนเปื้อนแล้ว เราย้อนเวลากลับไม่ได้แล้วนะ ทะเลก็มีชีวิตนะ”

มหาสมุทรที่โอโนะพยายามปกป้อง คือมหาสมุทรเดียวกันที่พรากชีวิตพี่ชายของเขาไปเมื่อสิบปีที่แล้วจากเหตุการณ์สึนามิ

มหาสมุทรสามารถเอาชีวิตไปได้ เช่นเดียวกับการมอบชีวิต ถ้าเราไม่ปกป้องมัน ใครจะทำ ปลามันไม่มีเสียงนี่

ทะเลก็มีชีวิตเหมือนกัน และพวกเราเป็นประชากรของประเทศนี้ เราอ้อนวอนใครสักคน โปรดฟังเราที

ณ วันนี้ที่โรงผลิตไฟฟ้าฟุกุชิมะ  การเตรียมตัวเพื่อปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนลงสู่ทะเลในฤดูใบไม้ผลิปี 2566 ยังเดินต่อไป ซึ่งจะทำลายชีวิตและศักดิ์ศรีของชาวประมงในจังหวัด คำขอร้องจากใจของพวกเขายังไปไม่ถึงรัฐบาลญี่ปุ่นหรือเทปโก โดยทั้งสองกลับหันไปใส่ใจกับคำฉาบฉวยอย่าง “การฟื้นฟู” 


[1] TEPCO’s “Radiological Impact Assessment Regarding the Discharge of ALPS Treated Water into the Sea

อ้างอิง: 

Radiological Impact Assessment Regarding the Discharge of ALPS Treated Water into the Sea (Design stage) at the Fukushima Daiichi Nuclear Power Station

TEPCO https://www.tepco.co.jp/news/2015/images/150825a.pdf (ภาษาญี่ปุ่น)

TEPCO Treated Water Portal Site

TEPCO How much contaminated water is being generated

METI The Subcommittee on Handling ALPS Treated Water