เชื่อว่าในปัจจุบันการลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ถุงพลาสติก ขวด และหลอด ต่างเป็นสิ่งที่หลายคนช่วยกันลดใช้แบบคนละไม้คนละมือ มากบ้างน้อยบ้าง ทุกวันบ้าง นานๆทีบ้าง ถือว่าช่วยๆกันไป ต่างจากเมื่อก่อนที่การลดใช้พลาสติกนั้นเป็นเรื่องใหม่ และคิดว่ายากเกินไปสำหรับการใช้พลาสติกอย่างเคยตัวในทุกเมื่อเชื่อวัน

ก่อนหน้านี้ตัวผมเองก็แทบไม่ได้สนใจเรื่องการลดใช้พลาสติกเลยด้วยซ้ำซึ่งคิดเองอย่างมักง่ายเสมอว่า แค่ถุงเดียวเองชิ้นเดียวเองมันไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรมากมายเยอะแยะหรอก ใครจะไปรู้ใครจะไปเห็น จนวันนึงผมได้เห็นผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราทำ มันส่งผลไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น ขยะพลาสติกจำนวนมากไปอุดตันท่อระบายน้ำจนเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักทำให้เกิดน้ำท่วม ฯลฯ เอาจริงผมก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นสิ่งที่ผมทำจริงๆหรือไม่ แต่พอได้ลดใช้มันก็ดีต่อความรู้สึกของเราเองที่อย่างน้อยๆผมก็ทำ คนรอบๆข้างผมก็ทำ

   หลังจากที่ผมลดใช้มันทำให้ผมสนใจต่อว่าจริงๆแล้วสิ่งที่เราทำมันก่อประโยชน์อะไรต่ออีกบ้าง นอกเหนือจากขยะไม่ล้น เต่าไม่ตาย ผมเลยไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมมาอีกว่า การลดใช้พลาสติกเนี่ยะ มันก่อให้เกิดอะไรอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ลดการเกิดสภาวะโลกร้อน ยังไงอ่ะ? ก็รู้หรือเปล่าว่าวัตถุดิบที่สร้างพลาสติกมันไม่ได้เกิดจากดินหรือต้นหญ้าที่เด็ดเอามาง่ายๆ มันเกิดจากการขุดเจาะน้ำมัน และนำมาผลิตเป็นพลาสติกต่ออีกทีนึง ซึ่งการขุดเจาะน้ำมันเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยนะ

เราลองมาดูกันดีกว่าว่า คนที่เขาเริ่มลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง พวกเขามีไอเดียอะไรบ้างและอะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาเริ่มกันแล้ว

คุณวิจิตรา ยงยุทธอำไพ เป็นคนที่เห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วเกิดการตั้งคำถามต่อว่า ในต่างประเทศเขามีการแก้ไขแบบนี้อย่างจริงจัง แล้วประเทศเราล่ะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร เธอจึงเริ่มจากตัวเองโดยลดใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น หีบห่อบรรจุภัณฑ์ต่างๆ จนถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองจนคนรอบข้างเห็นเป็นแบบอย่าง และทำตาม

คุณพงศ์พุฒิ วรรัตนธรรม ก็เริ่มจากวิธีที่แสนจะเรียบง่าย โดยการพกกระบอกน้ำ ถุงผ้า ช้อนส้อมส่วนตัว ซึ่งพกแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร ถามต่อว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างไหม ก็มีนะแต่อย่างน้อยๆมันก็ทำให้สุขใจและเชื่อว่าถ้าหลายๆคนช่วยกันทำ การเปลี่ยนแปลงที่เรียบง่ายนี้จะเกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และยั่งยืนกว่า

คุณวรรณแวว และแวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ผู้ที่คิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม มันเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ก็ต้องแก้ที่พฤติกรรมมนุษย์ โดยการเริ่มการปรับเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน และมองหาจุดตรงกลางที่ภาครัฐ ร้านค้า ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด

ไปกันต่อที่คุณ Rex Huang เจ้าของร้าน Unpackaged.U ที่ไทเป ไต้หวัน เริ่มจากการที่ตัวเองได้เห็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะต่อไปอีกนานแสนนาน เลยคิดว่าอยากลองเปิดร้านที่ใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยที่สุดดู ซึ่งรู้สึกว้าวมากที่มีคนให้ความสนใจเยอะมาก เพราะตอนแรกไม่คิดว่าจะมีคนสนใจมากขนาดนี้

นอกจากผู้คนตัวเล็กๆเหล่านี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงร้านร้านนึงที่พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองให้ส่งผลกระทบต่อโลกให้น้อยที่สุดอย่างร้าน Better Moon x Refill Station อีกด้วย

ร้านแบบนี้แหล่ะที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหญ่ที่ทำให้ผู้บริโภคลดใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้เราหันหลังให้กับพลาสติกได้ โดยที่เราในฐานะผู้บริโภคเป็นผู้เลือกเอง

ท้ายสุดแล้วไม่ว่าเราจะเริ่มอย่างไรหรือใช้วิธีไหนที่จะลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หัวใหญ่ใจความสำคัญเลยคือเราต้องปฏิเสธหรือหยุดใช้ตั้งแต่ต้นทาง สร้างการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ห้างร้าน รวมถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ อย่างชาญฉลาด โฟกัสให้ถูกจุด และแก้ไขอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาขยะพลาสติกไม่ได้เป็นปัญหาของใครคนใดคนนึง แต่เป็นปัญหาของพวกเราทุกๆ คน และมันจะกลายเป็นปัญหาขยะกองโตที่ไม่หายไปดังเช่นพลาสติกที่แทบจะไม่ย่อยสลายอย่างแน่นอน

อยากลดใช้พลาสติกหรอ? ก็มาดิค้าบ มาลดกัน

#BreakFreeFromPlastic

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม