‘วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก’ ถูกกำหนดขึ้นในทุกๆวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี จริง ๆ แล้วเราเองรู้จักพื้นที่ลักษณะนี้ดีในชื่อภาษาไทยว่า “ป่าชายเลน” “พรุ” “ดอน” นั่นเอง ซึ่งป่าพรุหรือป่าชายเลนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในธรรมชาติเพราะเป็นพื้นที่เพื่ออนุบาลสัตว์น้ำตามธรรมชาติ คอยผลิตอาหารให้แก่สัตว์ในระบบนิเวศ ช่วยควบคุมกระแสน้ำในเวลาที่เกิดพายุหรือคลื่นแรงรวมทั้งควบคุมคุณภาพน้ำ 

Pantanal Wetlands in Brazil. © Markus Mauthe / Greenpeace
ภาพมุมสูงของพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาค Pantanal ในบราซิล © Markus Mauthe / Greenpeace

พื้นที่ชุ่มน้ำมีบทบาทสำคัญต่อการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วยเพราะพื้นที่อันมีเอกลักษณ์นี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ได้อีกด้วย ยกตัวอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร็วกว่าป่าฝนเขตร้อนถึง 55 เท่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ป่าพรุที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในดินได้มากถึง 30% ของก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาสู่บรรยากาศด้วยพื้นที่เล็กๆเพียง 3% ทั่วโลกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศแบบนี้กลับถูกคุกคามและถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วกว่าพื้นที่ป่าถึง 3 เท่า แน่นอนว่าความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดังกล่าวที่เคยมีมากมายก็สูญพันธุ์ตามไปด้วย

สถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลก

ยกตัวอย่างในปี 2564 ที่ผ่านมา กรีนพีซได้เผยแพร่รายงานสถิติไฟป่าที่ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาค Pantanal ของบราซิลไปว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ พบว่ามีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมผลิตเนื้อสัตว์ระดับโลก ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยบริษัทอุตสาหกรรมดังกล่าวผลิตเนื้อสัตว์ให้กับแบรนด์อาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก

นอกจากการทำลายป่าแล้ว จากรายงาน Global Wetland Outlook ฉบับพิเศษปี 2564 ขององค์กร Ramsar Conventions on Wetlands ระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้ เพราะการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การกัดเซาะชายฝั่งรวมทั้งปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถทำงานตามคุณสมบัติของตัวเองได้อย่างเต็มที่ (การผลิตอาหาร อนุบาลสัตว์น้ำ และการปกป้องชายฝั่ง)

Peatland Burning on North York Moors UK. © Steve Morgan / Greenpeace
ไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ บริเวณอุทยานแห่งชาติ North York Moors National Park สหราชอาณาจักร จากอุณหภูมิที่สูงขึ้น © Steve Morgan / Greenpeace

ทั้งนี้ ยังระบุอีกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำในทะเลเมดิเตอเรเนียนนั้นมีความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศสูงมากเพราะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นมากกว่าพื้นที่อื่นๆ 20% สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน พายุฝน และภัยแล้ง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 อาจมีประชากรที่ต้องอาศัยอยู่กับการขาดแคลนน้ำสะอาดและผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ในรายงานได้แนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อช่วยชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศอีกด้วยว่า หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมายคงอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีสแล้วก็จะต้องปกป้องไม่ให้พื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายไปมากกว่านี้ และจะต้องฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่เคยถูกทำลายไปก่อนหน้านี้กลับคืนมา 50% ก่อนปี 2573

พื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์ = ความมั่นคงทางอาหาร

การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำไม่เพียงแต่จะช่วยให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แต่จะช่วยให้เรายังคงมีความมั่นคงทางอาหารและน้ำสำหรับการดำรงชีวิต เพราะมีผู้คนมากกว่า 40 ล้านคนทั่วโลกที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ หากคิดเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจแล้วแต่ละปีพื้นที่ชุ่มน้ำได้ให้ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์และสุขภาพที่ดี ปลอดภัย แก่มนุษย์ประมาณ 47.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะโลกร้อนและอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มีพรมแดน ในปี 2564 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นทั่วโลกแทบจะทุกเดือนของปี ตั้งแต่พายุหิมะไปจนถึงน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และในภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีระบบเศรษฐกิจใดที่มั่นคงยั่งยืน


วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ควรเพิกเฉยหรือถูกปฏิเสธอีกต่อไป เราเดินทางมาถึงจุดสำคัญของประวัติศาสตร์ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายจะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราตัดสินใจทำในวันนี้ เราจะปกป้องสภาพภูมิอากาศได้หากเหล่าผู้นำประเทศดำเนินนโยบายอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด