ตอนนี้อุณหภูมิในภูมิภาคอาร์กติกกำลังสูงขึ้น และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังค้นหาความเสี่ยงของการเกิดการระบาดของเชื้อโรคร้ายแรงในภูมิภาคนั้น

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่พื้นที่บางส่วนในเขตวงกลมอาร์กติกมีอุณหภูมิสูงกว่าในสหราชอาณาจักรเสียอีก

เพราะข้อมูลจากดาวเทียมชี้ว่า ขณะที่ชั้นบรรยากาศทางตะวันออกเฉียงเหนือในไซบีเรียถูกแสงแดดแผดเผาและมีอุณหภูมิอยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่ผิวดินพุ่งสูงขึ้นไปถึง 45 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อย

สถิติดังกล่าวเอาชนะสถิติจากคลื่นความร้อน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับอุณภูมิโลกที่สูงขึ้น และสถิตินี้เกิดขึ้นในช่วงที่โลกทั้งโลกเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 เชื้อไวรัสที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าล้านคนและสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างหนัก

ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตทั้งสองนี้แทบไม่ต่างจากตอนที่วิกฤตเหล่านี้เริ่มขึ้น

ทวีปอาร์กติกมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพราะไม่เพียงแค่อาร์กติกจะอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 2 เท่าเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของโลก สิ่งที่เกิดตามมาสร้างผลสะเทือนไปทั่วทุกที่ ธารน้ำแข็งที่ละลายส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อีกทั้งยังทำให้มีเทนและคาร์บอนที่ถูกสะสมในชั้นดินเยือกแข็งถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกลายเป็นตัวเร่งกระบวนการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ความเข้าใจที่ไม่มากพอต่อบทบาทของอาร์กติกที่อาจเป็นพื้นที่ที่ปล่อยเชื้อโรคที่ถูกแช่แข็ง ฟังแล้วอาจดูเหมือนพล็อตงานเขียนไซไฟ แต่ที่จริงแล้วมันคืองานวิจัยทางวิทยาศาสตร์​ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีเพียงรัสเซียเท่านั้นที่ได้ทดลองว่าเชื้อจุลินทรีย์จะมีชีวิตอยู่รอดในชั้นดินเยือกแข็งได้นานเท่าไร แต่ตอนนี้การวิจัยในลักษณะดังกล่าวกว้างขวางขึ้นและกำลังถูกจับตามอง

ในเดือนพฤศจิกายน 2562 กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกมารวมตัวที่เมืองฮันโนเฟอร์ เยอรมนี เพื่อร่วมลงพื้นที่วิจัย นักวิทยาศาสตร์ที่มาร่วมการวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสาขาภูมิอากาศวิทยา ธรณีวิทยา และไวรัสวิทยา โดยร่วมกันแชร์ประสบการณ์ด้านวิชาชีพเป็นครั้งแรก และยังพูดถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นหากจุลินทรีย์ถูกปลดปล่อยออกมาจากชั้นดินเยือกแข็ง

ชั้นดินเยือกแข็งกำลังหายไป

ผู้พูดคนแรกในการประชุมที่ฮันโนเฟอร์คือ ดร.วลาดิเมียร์ โรมานอฟสกี้ ศาสตราจารย์สาขาธรณีฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยอลาสก้า แฟย์แบงค์ส และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชั้นเยือกแข็ง

เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจจุลินทรีย์ปริศนาที่ถูกแช่แข็งอยู่ในชั้นน้ำแข็งบนโลก เพราะแผ่นน้ำแข็งเหล่านั้นกำลังละลาย และการละลายนั้นทำให้เกิดระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

สำหรับชั้นดินเยือกแข็งนั้น ดร.โรมานอฟกี้ กล่าวกับเราว่า มันกำลังลดลงเรื่อยๆ หมายความว่ายังคงมีส่วนที่เป็นน้ำแข็งอยู่และเมื่อมันละลายก็ยังมีส่วนที่เป็นแผ่นดินอยู่นั่นเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้ชั้นดินดังกล่าวไม่ได้เป็นชั้นดินเยือกแข็งอีกต่อไป

การลดลงของน้ำแข็งอาจนำไปสู่การระเหยของก๊าซต่าง ๆ ในปริมาณมหาศาล เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นจุดเปลี่ยนว่าเราสามารถหลบเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้หรือไม่

ดร.โรมานอฟกี้กล่าวว่า “ชั้นดินเยือกแข็งในหลายพื้นที่กำลังลดลงจากชั้นบนสู่ชั้นล่าง” แม้ว่าชั้นดินเยือกแข็งจะยังคงตัวได้ตลอดปี แต่ว่าชั้นบนของดินเยือกแข็งกำลังหดตัวเป็นบริเวณกว้างโดยลดลงมากถึง  ½ เมตร 

“เราสำรวจพื้นที่ทางตอนเหนือของอาร์กติกในแคนาดา ที่นั่นเป็นที่ที่อุณหภูมิของชั้นดินเยือกแข็งอยู่ที่ราวๆ -14 องศาเซลเซียส แต่ก็เริ่มระเหยจากชั้นบนแล้ว นั่นหมายความว่าจะมีส่วนที่เคยถูกน้ำแข็งแช่เอาไว้มาหลายพันปีจะไม่ถูกแช่ในน้ำแข็งอีกต่อไป”

“จากการสำรวจล่าสุด อาจใช้เวลาเพียงแค่ 10 หรือ 20 ปีเท่านั้น”

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิอย่างทันทีทันใดในภูมิภาคกำลังทำให้ชั้นดินเยือกแข็งบางลงจนใกล้ถึงผิวดิน และในฤดูร้อนก็จะกลายเป็นน้ำแทนที่จะเป็นน้ำแข็ง

ดร.โรมานอฟกี้กล่าวว่า “ถ้าถามว่าชั้นดินเยือกแข็งหายไปมากเท่าไรแล้ว เราตอบได้ว่ายังไม่มากเพราะกระบวนการดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้น”

“การละลายอย่างรวดเร็วของชั้นดินเพิ่งเริ่มในช่วงปี 2524-2533 การหดตัวลงเรื่อย ๆ ของชั้นดินเยือกแข็งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาและเพิ่งเริ่มต้น อย่างไรก็ตามจะมีการเร่งการหดตัวไปตามเวลา และเราควรคาดหวังให้ชั้นดินเยือกแข็งนี้กลับมาคืนตัวดังเดิมในช่วงทศวรรษที่จะถึงนี้”

จากภาพ พื้นที่ที่มีสีม่วงกำกับเป็นตัววัดบริเวณชั้นดินเยือกแข็งที่มีเปอร์เซ็นต์ความหนาจากผิวดิน โดยสีม่วงเข้มแปลว่ามีเปอร์เซ็นต์ความหนาจากผิวดินมาก Map: Philippe Rekacewicz, UNEP/GRID-Arendal, data from International Permafrost Association, 1998. Circumpolar Active-Layer Permafrost System (CAPS), version 1.0.

กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ความจริงแล้ว ชั้นดินเยือกแข็งไม่ควรจะละลายออกไปทั้งหมดหรือละลายตลอดทั้งปี เพราะไม่อย่างนั้นจุลินทรีย์ที่ยังคงถูกแช่ไว้ตรงพื้นดินของโลก จะกลับมามีชีวิตหรือออกมาสู่ชั้นของพื้นดินที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง 

ชั้นดินที่ยังมีจุลินทรีย์เป็นชั้นดินที่มีขนาดกว้างกว่าและใช้เวลาระเหยนานกว่า ปัจจุบันกำลังกลายเป็นชั้นดินที่ ‘มีน้ำจากการละลายของน้ำแข็งเพิ่มขึ้น ซึ่งมากพอที่จะทำให้เกิดระบบที่จุลินทรีย์กลับมามีชีวิตอีกครั้ง’

ในความเป็นจริง จุลินทรีย์จิ๋วเหล่านี้ที่กลับมามีชีวิตหลังจากถูกแช่แข็งอยู่นาน อาจะทำให้เกิดโอกาสเล็ดรอดออกมาได้จากชั้นน้ำแข็งที่ละลายไป

จีน มิเชล แคลเวอรี นักไวรัสวิทยาจาก มหาวิทยาลัย Aix-Marseille ได้นำเสนอข้อมูลหลังจากการนำเสนอของ ดร.โรมานอฟกี้ โดยเขาทำงานร่วมกับภรรยา ฌ็องทาล อเบอร์เกล (Chantal Abergel) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน

“ผมยอมรับไอเดียที่ว่าเชื้อแบคทีเรียสามารถมีชีวิตรอดได้นาน” ดร.แคลเวอรีบอกกับเรา “เรากำลังถกเถียงกันเรื่องระยะเวลา อาจจะเป็น 1 ล้านปี 500,000 ปี หรือ 50,000 ปี”

“อย่างไรก็ตามมีรายงานที่วิจัยออกมาแล้วว่าแบคทีเรียที่อยู่ลึกลงไปในชั้นดินเยือกแข็งสามารถฟื้นคืนชีพได้”

ทั้งคู่ใช้รหัสพันธุกรรมจากเชื้อไวรัสที่กลับมามีชีวิต โดยเก็บจากชั้นดินเยือกแข็งรอบ ๆ แม่น้ำ Kolyma ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียแล้วใส่เชื้ออะมีบาเข้าไป เพื่อตรวจสอบว่าเชื้อไวรัสที่อยู่ตรงนั้นยังมีประสิทธิภาพเช่นเดิมหรือไม่

ดร.อเบอร์เกลกล่าวว่า “นี่เป็นการพิสูจน์หลักการที่เรากำลังทดลองอยู่ในแล็บวิจัย เราสามารถฟื้นคืนชีพไวรัสจากตัวอย่างชั้นดินเยือกแข็งที่อยู่มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ แม้ว่าเราจะยังไปไม่ถึงระดับ 30,000 ปี แต่สักวันอาจมีโอกาสนั้นได้”

รายชื่อที่น่าจับตามอง

แล้วปัจจุบันมีการศึกษาเชื้อโรคอะไรอยู่บ้าง แล้วเราควรกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดที่เกิดจากชั้นดินเยือกแข็งมากแค่ไหน? นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่พบคำตอบ

จากข้อมูลของ อเบอร์เกลและแคลเวอรีนั้นทำให้เห็นว่า รหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุสำคัญที่ควรกังวล เพราะพวกมันเป็นรหัสพันธุกรรมแบบสายคู่ หรือ DNA ที่มีแนวโน้มเล็ดรอดออกมาจากการแช่แข็งได้ง่ายกว่าไวรัสที่มีรหัสพันธุกรรมแบบสายเดี่ยว หรือ RNA 

“ไวรัสแบบ RNA มีความเปราะบางกว่า โดยปกติไวรัสประเภทนี้จะมีชีวิตรอดได้ไม่นาน แต่ในกรณีของไวรัสแบบ DNA เพราะไวรัสประเภทนี้มีความคงตัวทางเคมีมากกว่าและแข็งแร็งกว่า” ดร.แคลเวอรีกล่าว

“ไม่มีใครพยายามจะกู้ไวรัสแบบ RNA จากชั้นดินเยือกแข็งเพราะไวรัส RNA จะไม่เข้าสู่อะมีบาหรือสิ่งอื่น และทางเดียวที่คุณจะทำให้ไวรัสมีชีวิตอยู่ได้คือการใช้พาหะ”

“นั่นหมายความว่าไวรัสของไข้หวัดสเปน หรือไวรัสโควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสแบบ RNA ที่พบได้ตามพื้นที่รกร้างในตอนเหนือของอลาสกา และดูเหมือนจะไม่มีทางเล็ดรอดออกมาจากน้ำแข็งได้”

“ส่วนไวรัสแบบ DNA ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้ทรพิษ อีกทั้งยังเป็นเชื้อไวรัสที่นักไวรัสวิทยา แคลเวอรีและอเบอร์เกลศึกษาอยู่ ไวรัสชนิดนี้กลายเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อย่างไรก็ตามพวกมันถูกกำจัดไปแล้วเพราะวัคซีน”

ดร.แคลเวอรีแทบจะไม่สนใจภัยคุกคามของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเลย เช่น ปรสิต เป็นต้น เขายกตัวอย่างว่า “เพราะโรคจากแบคทีเรียมีอัตราการตายที่ต่ำมาก และตอนนี้เราก็พัฒนายาปฏิชีวนะแล้ว”

หากจะพูดถึงโรคระบาดจากภูมิภาคอาร์กติกที่เกิดจากแบคทีเรียแล้ว ต้องพูดถึงโรคที่หลายคนรู้จักดี นั่นคือโรคแอนแทร็กซ์

อย่างไรก็ตามพบการรายงานที่ในปี 2559 เมื่อโรคแอนแทร็กซ์คร่าชีวิตกวางเรนเดียร์ในไซบีเรียและมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งติดเชื้อ แต่ถึงกระนั้นในการรายงานเปิดเผยว่าการระบาดอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียในชั้นดินเยือกแข็ง

โรมานอฟกี้และเพื่อนของเขาเชื่อว่าโรคระบาดดังกล่าวเกิดจากนโยบายการเปลี่ยนแปลงการฉีดวัคซีนในสัตว์ของรัฐบาลรัสเซีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โรคดังกล่าวกลับมา

ในปี 2559 การระบาดของโรคแอนแทร็กซ์ในไซบีเรียทำให้กวางเรนเดียร์ตายไปหลายพันตัว ภาพ : Denis Sinyakov, Greenpeace

อย่างไรก็ตาม ดร.บริกิทต้า อีเวนการ์ด นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้จัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ในเมืองฮันโนเฟอร์ มองว่าเราไม่สามารถละเลยภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียในชั้นดินเยือกแข็ง เพราะเธอมองว่าวิกฤตการดื้อยาปฏิชีวนะก็ถือเป็นภัยคุกคามเช่นกัน

หลังจากการพักร้อนในช่วงสั้น ๆ ของแพทย์ในสวีเดนที่ถูกเรียกตัวไปรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ดร.บริกิทต้ากล่าวกับเราว่า “ถ้าถามว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับฉันเป็นแบบไหนเหรอ? สถานการณ์นั้นมันเกิดขึ้นแล้ว เพราะก่อนหน้านี้มีโรคระบาดเกิดขึ้นที่มาดากัสการ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมันคือปรสิตที่นำมาสู่กาฬโรค โดยเกิดจากการดื้อยาปฏิชีวนะ”

แม้ว่าเธอเองจะยอมรับว่าความเสี่ยงที่โรคจากเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะจะมีน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

“โรคระบาดจากการดื้อยาปฏิชีวนะจะคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าโรคระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่าเสียอีก”

แล้วความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคระบาดจากอาร์กติกล่ะ? เธอให้คำตอบว่า “ตอนนี้เราทราบอยู่สองข้อ ข้อที่หนึ่งคือเรารู้แล้วว่าเชื้อไวรัสสามารถเล็ดรอดออกจากชั้นดินเยือกแข็งที่ละลาย เช่น แอนแทร็กซ์ และกาฬโรค และข้อที่สองคือใต้ชั้นดินเยือกแข็งนั้นอาจมีสิ่งอันตรายซ่อนอยู่”

มองหาพาหะ

ก่อนที่ชั้นดินเยือกแข็งจะละลายไปหมด จุลินทรีย์เหล่านี้จะต้องมองหาพาหะเพื่อให้พวกมันมีชีวิตรอด แต่ปัญหาคือที่ภูมิภาคนั้นไม่ได้มีคนอาศัยอยู่มากพอ และคนที่อาศัยในภูมิภาคนั้นมักจะเป็นชาวพื้นเมืองซึ่งพวกเขาไม่ได้ติดต่อกับคนภายนอกมากนัก ดังนั้นการแพร่กระจายเชื้อจึงอยู่ในวงจำกัด

ดร.แคลเวอรีกล่าวว่า “อันตรายที่แท้จริงไม่ใช่การที่ชั้นดินเยือกแข็งระเหยไปเรื่อย ๆ แต่มนุษย์ต่างหาก โดยเฉพาะในรัสเซียที่มีการเข้าไปสำรวจอาร์กติกและกำลังขุดชั้นดินเยือกแข็งที่มีอายุเป็นล้านปีจนเกิดช่องโหว่” 

“นี่คือตัวแปรของหายนะเพราะมนุษย์ไปที่นั่นและที่นั่นก็มีไวรัสที่เพิ่งกลับมามีชีวิต เมื่อไวรัสเล็ดรอดออกจากชั้นดินเยือกแข็งเข้าสู่สิ่งแวดล้อม เดาไม่ยากเลยใช่มั้ยว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะไวรัสคงไม่ฆ่าตัวตายด้วยการตกน้ำ เมื่อพวกมันสัมผัสกับออกซิเจนหรือแสง นั่นทำให้ไวรัสอ่อนแอ และพวกมันไม่อาจรอดชีวิตได้นานหากไม่หาพาหะอย่างรวดเร็ว”

เปรียบเทียบง่าย ๆ ว่าชั้นดินเยือกแข็งนั้นเป็นมหาสมุทรและจุลินทรีย์จิ๋วเหล่านี้เป็นฉลาม เราต้องระวังไม่ไปเล่นโต้คลื่นในบริเวณที่มีฉลามอาศัยอยู่แล้วทุกอย่างจะปลอดภัย

ดร.อเบอเกลยังกล่าวอีกว่า “ถ้าไวรัสเข้าสู่พาหะที่เหมาะสมแล้วพวกมันก็จะเริ่มทำงาน ดังนั้นหากคุณพามนุษย์เข้าไปในพื้นที่ที่มีไวรัสโรคระบาดถูกแช่แข็งอยู่ มนุษย์เหล่านั้นก็อาจติดเชื้อและแพร่พันธุ์ทำให้เกิดโรคระบาดในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ตามที่ดร.อีเวนการ์ดกล่าว มนุษย์ไม่ใช่พาหะที่เป็นไปได้เพียงสายพันธุ์เดียว “ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้สัตว์เคลื่อนที่ไปมาตลอดเวลา ขณะที่มนุษย์เรามีแนวโน้มจะอยู่บ้านมากกว่า แต่หากสัตว์เหล่านั้นอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของบังคลาเทศ พวกมันอาจจะกำลังเดินทางย้ายเข้าบนผืนดินก็ได้ แม้จะมีการอพยพครั้งใหญ่ของผู้ลี้ภัยด้านสภาพภูมิอากาศแต่พวกเขายังอาศัยอยู่ในบ้าน แต่สัตว์ไม่ได้มีชีวิตแบบนั้นเพราะพวกมันเคลื่อนที่ตลอดเวลา”

เธอชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระบบนิเวศทั่วโลกปั่นป่วน และแทบจะคาดเดาไม่ได้เลยว่ามันจะจบลงอย่างไร

มีข้อมูลพบว่า ทั้งกวางมูสและกระต่าย กำลังอพยพไปทางตอนเหนือชั่วคราวเนื่องด้วยการเติบโตของพืชพรรณที่เป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีนกและปลาอีกหลายสายพันธุ์ยังเริ่มสร้างแบบแผนการอพยพเกิดขึ้นทั่วโลก

“สัตว์เหล่านี้สามารถพาเชื้อโรคไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้” ดร.อีเวนการ์ดกล่าว “และเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถคาดเดาได้เลย คุณอาจพูดได้ว่าอาร์กติกมีพื้นที่กว้างใหญ่และไม่ได้มีผู้คนอาศัยอยู่มากมายแต่จริง ๆ แล้วที่นั่นมีผู้คนที่ไปและกลับออกมา นั่นคือนักขุดเหมือง อีกทั้งยังมีสัตว์ที่อาจนำเชื้อจุลินทรีย์ที่กลับมามีชีวิตในโลกนี้ได้ ซึ่งความผันผวนในลักษณะนี้เป็นเรื่องใหม่อยู่มาก”

จากประสบการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส เธอกล่าวว่า “สิ่งที่ฉันศึกษาตอกย้ำว่ามันมีความสำคัญอย่างยิ่ง”

“ฉันไม่แปลกใจเลย และไม่เคยตั้งคำถามว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ศัตรูที่แท้จริงของเราคือความเพิกเฉยของเราต่างหากที่ทำให้เราไม่ได้เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องหาความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับประเด็นนี้และมันไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ความผันผวนที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเราควรเตรียมตัวรับมือแทนที่จะเพิกเฉยหรือหวาดกลัวมัน”

“ฉันมั่นใจว่านี่คือสัญญาณเตือนจากธรรมชาติและธรรมชาติได้ส่งสัญญาณมาแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”


บทความนี้แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษชื่อว่า ‘The permafrost pandemic: could the melting Arctic release a deadly disease?’