ทำไมกรีนพีซซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจึงพูดถึงการเก็บภาษีคนรวย? เจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ โดยผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกต้องมีส่วนรับผิดชอบ

© Fight Inequality Alliance

ปี 2564 โลกประสบกับคลื่นความร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การขาดแคลนอาหาร ความขัดแย้ง และสถานการณ์อื่น ๆ ที่เลวร้ายลง ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคน สิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญมาหลายปีกำลังเข้มข้นทุกที และ “ตอนนี้” ผลกระทบได้มาถึงผู้คนและรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่คือความเป็นจริงอันเลวร้ายที่เราต้องเผชิญแต่กลับถูกพูดถึงน้อยเกินไป และนั่นคือสิ่งที่สหประชาชาติเรียกว่า : รหัสสีแดงสำหรับมนุษยชาติ

ปี 2565 ถือเป็นเวลาครบรอบ 50 ปีนับตั้งแต่มีการเผยแพร่หนังสือชื่อ The Limits to Growth โดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย MIT อธิบายว่าทรัพยากรที่เชื่อมต่อกันของโลก ซึ่งเป็นระบบของธรรมชาติที่เราทุกคนอาศัยอยู่ อาจไม่สามารถรองรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและจำนวนประชากรที่เป็นอยู่ได้เกินกว่าปี 2643

เราไม่สามารถพูดได้ว่าสังคมมนุษย์ในปัจจุบันมีความยั่งยืนมากกว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เรามีพื้นที่ธรรมชาติน้อยลง แต่กลับมีพลาสติกในมหาสมุทรและสารพิษในดินมากขึ้น เกิดการตัดไม้ทำลายป่าโดยเฉลี่ย  10 ล้านเฮกตาร์ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2558 ถึง 2563 ซึ่งเท่ากับหนึ่งสนามฟุตบอลต่อทุก ๆ 2 วินาที แม้ว่าจะเกิดความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น แต่การดำเนินการทางนิเวศวิทยาที่มีประสิทธิภาพหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกี่ยวข้องได้สะดุดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในขณะที่เราเห็นความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น

ทำไมกรีนพีซซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมพูดถึงการเก็บภาษีคนรวย? พวกเราทุกคนในเครือข่าย Fight Inequality Alliance ได้ทำงานในหัวข้อต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเราไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ หนี้ ความเท่าเทียมทางเพศ และความเสมอภาคทางเชื้อชาติ เป็นต้น ซึ่งในที่สุดแล้ว การต่อสู้ของพวกเราก็มีความคล้ายคลึงกันเพราะที่มาของปัญหาก็คือสิ่งเดียวกัน คือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ครอบครองทรัพยากร โดยมีราคาที่พวกเราทั้งหมดต้องจ่ายคือความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาวะของโลกเรา

อภิมหาเศรษฐีจำนวนหยิบมือและบริษัทที่แสวงหากำไรกำลังทำลายระบอบประชาธิปไตยของเรา จำกัดการเข้าถึงสินค้าสาธารณะของเรา และก่ออันตรายต่อโลกซึ่งเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบอาศัยอยู่

ตามรายงานความเสี่ยงทั่วโลกของ World Economic Forum ในปีนี้ ระบุว่าร้อยละ 42 ของผู้ที่มาร่วมการประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมือง Davos กล่าวว่า ความล้มเหลวในการดำเนินการกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดปัญหาหนึ่งในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าร้อยละ 58 ของคนเหล่านี้มองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาระยะยาว และดูเหมือนว่าไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบต่อการเพิกเฉยนั้นเลย

กรีนพีซเข้าร่วมเครือข่าย Fight Inequality Alliance เนื่องจากเราและสมาชิกในเครือข่ายต้องการสิ่งเดียวกันนั่นคือ ความเป็นอยู่ที่ดีของสาธารณะและโลกจะต้องอยู่เหนือเหนือความมั่งคั่งส่วนตัว โดยมีวิธีแก้ปัญหาก็เหมือนกันก็คือเก็บภาษีคนรวย ยุติความโลภของบริษัท และนั่นเป็นก้าวแรกในการสร้างหลักประกันว่าอภิสิทธิ์ชนจะต้องใช้ชีวิตภายใต้ขอบเขตของโลกใบเดียวกับเราทุกคน ไม่ใช่เป็นคนทำลายโลกใบนี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ผลกระทบที่ไม่เท่ากันของวิกฤตโควิด-19 ต่อผู้ที่ร่ำรวยกับกลุ่มเปราะบาง คือภาพจำลองของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นภายใต้วิกฤตสภาพภูมิอากาศบนความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน

การยุติความโลภของบริษัท ไม่เพียงสามารถปลดล็อคทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสาธารณะและหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับมหาเศรษฐีให้หยุดทำลายสภาพภูมิอากาศ ทำลายสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่พื้นที่การแก้ปัญหา กลไกนี้จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมในสังคมได้เร็วขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ล้าหลังเปลี่ยนแปลงเสียที

ผู้คนทั่วโลกเรียกร้องให้ผู้ที่ร่ำรวยที่สุดเลิกลงทุนในการทำลายสภาพภูมิอากาศและการตัดไม้ทำลายป่า เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาใช้ทรัพยากรไปกับการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติบนโลกของเรา แทนที่จะเป็นโครงการที่ไร้สาระ เช่น การสำรวจอวกาศและซูเปอร์ยอทช์ การเก็บภาษีจากความมั่งคั่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายนั้น และรัฐบาลของเราต้องเริ่มดำเนินการเพื่อให้กลไกนี้เกิดขึ้น

วิธีอื่น ๆ ที่เราสามารถควบคุมอำนาจและความโลภของบริษัท ได้แก่ 

จากการวิจัยของ Oxfam พบว่ามีบุคคลเพียง 183,000 คนทั่วโลกที่มีความมั่งคั่งเกิน 50 ล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มที่ร่ำรวยมหาศาลนี้มีน้อยกว่า 0.002% ของประชากรโลก ซึ่งหากเรารวมพวกเขาไว้ในที่เดียวกัน พวกเขาจะมีจำนวนน้อยกว่าประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างซามัวหรือซานตาลูเซีย ซึ่งเป็นประเทศหมู่เกาะที่ต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยประชากรของประเทศเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้กลับทำให้ก่อให้เกิดกระทบอย่างมากต่อโลกทั้งในด้านการเงินและการเมือง

นี่คือความพิลึกพิลั่น น่ารังเกียจ ไม่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่าระบบของเราล้มเหลวเพียงใด

และนี่คือเหตุผลที่เราต้องเก็บภาษีคนรวยเพื่อช่วยให้โครงสร้างนี้เปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน พลังของเราคือกันและกัน จำนวนของพวกเราที่ลงมือทำคือพลังของการเคลื่อนไหวทางสังคม

นับตั้งแต่ข้อตกลงปารีสสิ้นสุดลง ฉันไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวและพลังอันแน่วแน่บนท้องถนนเช่นนี้มาก่อน ในขณะที่การประชุมที่กลาสโกว์ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่บนท้องถนน บนโซเชียลมีเดีย ผู้คนต่างออกมาเปล่งเสียงมากกว่าที่เคยเป็นมาเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้ให้ความหวังอย่างลึกซึ้งแก่ฉันในการเผชิญกับวิกฤตที่เชื่อมโยงถึงกัน และเราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างร่วมกันได้ เราสามารถมีโลกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และยุติธรรมยิ่งขึ้นหากเราทำงานร่วมกัน และเก็บภาษีคนรวย!

นำมาจากคำปราศรัยโดยเจนนิเฟอร์ มอร์แกน ผู้อำนวยการกรีนพีซสากล ที่งานชุมนุมดิจิทัลของเครือข่าย Fight Inequality Alliance #TaxTheRich เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2565 เจนนิเฟอร์ มอร์แกนเป็นหนึ่งใน #TopVoicesGreen ของ LinkedIn อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่