แน่นอนว่าการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์ในระบบอาหารแบบอุตสาหกรรมนั้นส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ คุณภาพชีวิตของสัตว์ รวมถึงผู้บริโภคและเกษตรกรอย่างใหญ่หลวง แล้วเนื้อสัตว์ทางเลือกอย่างเนื้อสัตว์จากพืช หรือ “เนื้อเทียม” ล่ะ ในแง่ของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ลองมาทำความรู้จักกับผลิตภัณฑ์อาหารระหว่าง Vegan/Vegetarian หรืออาหารประเภทมังสวิรัติและวีแกนโดยรวม และเนื้อสัตว์จากพืชซึ่งในที่นี้จะขอเรียกว่า “เนื้อเทียม” ว่ามีรูปแบบลักษณะอย่างไร

การลดบริโภคเนื้อสัตว์ไม่ใช่เรื่องใหม่ และผู้คนที่มีวิถีชีวิตแบบวีแกนและมังสวิรัตินั้นก็มีทางเลือกที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หรือเนื้อสัตว์เทียมมานานแล้ว เช่น การใช้เต้าหู้ ถั่ว เห็ด เทมเป้ หรืออาหารอุดมโปรตีนอื่น ๆ และสำหรับในฝั่งตะวันตกนั้นก็จะคุ้นเคยกันดีกับอาหารประเภท Veggie Burger ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเนื้อเทียม แต่ไม่ได้ผ่านการสังเคราะห์เติมแต่งให้มีลักษณะและเลียนแบบรสชาติคล้ายเนื้อ ใช้เพียงส่วนประกอบจากพืชมาประกอบเข้ากันเป็นแผ่นเบอร์เกอร์ เช่น ถั่วต่าง ๆ เห็ด และเต้าหู้ สังเกตได้ง่ายว่าจะยังคงเห็นชิ้นผักเป็นชิ้น ๆ ในนั้น เพราะชาวมังสวิรัติและวีแกนไม่ได้หยุดบริโภคเนื้อสัตว์เพียงเพราะยังต้องการความอร่อยของเนื้อสัตว์ ดังนั้นอาหารแบบ Veggie Burger หรืออาหารโดยทั่วไปที่ไม่มีเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์นั้น เป็นเมนูอาหารที่มีกลุ่มเป้าหมายคือวีแกนและมังสวิรัติ แต่สำหรับเนื้อเทียมนั้น ถูกผลิตขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริโภคเนื้อสัตว์ จึงมีการเลียนแบบรสชาติ เนื้อสัมผัส ของเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ บางแบรนด์มีการเลียนแบบแม้กระทั่งเลือดที่มักจะอยู่ในแฮมเบอร์เกอร์อีกด้วย การผลิตเนื้อเทียมจึงมีการนำวิทยาศาสตร์ (Food Science) เข้ามาใช้ในการทำส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น นำยีสต์ที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม เพื่อให้มีรสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อวัว ต่างจากการทำเนื้อเจในอดีตที่เคยมีมาบ้างที่มักใช้โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก

นั่นความหมายว่า เนื้อเทียมก็คืออาหารประเภทที่ผ่านกระบวนการแปรรูป “อย่างหนัก” อุดมด้วยโซเดียม และส่วนประกอบ (ingredients) ที่เราอาจไม่รู้จักเกินครึ่ง ในแง่สุขภาพของคนกินแล้ว นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อมูลว่า เนื้อเทียมเหล่านี้ แม้จะมีไขมันและคลอเรสตอรอลต่ำแต่ไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพน้อยไปกว่าเนื้อสัตว์จริง ๆ เลย และอาจจะไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการแม้จะมีการแต่งเติมวิตามินเข้าไป (ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในแวดวงอุตสาหกรรมอาหาร แม้แต่ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ นมวัว ก็มีการเสริมวิตามินดีเข้าไป เพราะนมจากวัวที่เลี้ยงในแบบอุตสาหกรรมนั้นไม่ได้มีโภชนาการอาหารดังตามที่โฆษณา) 

Vegan Burger with Salad. © Lisa-Maria Otte / Greenpeace
© Lisa-Maria Otte / Greenpeace

แน่นอนว่า พืชผักผลไม้และอาหารจานผักที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หรือจะให้ดีก็คืออาหารจานผักประเภท whole food นั้น ย่อมให้ประโยชน์กับร่างกายของเราสูงสุด รวมถึงระบบนิเวศในร่างกายของเราด้วย ทั้งสารอาหาร การย่อย การดูดซึม ระบบบไหลเวียนโลหิต และเป็นอาหารที่ดีกับจุลินทรีย์ดีในร่างกายของเราที่คอยรักษาความสมดุล ในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น แน่นอนว่าในแง่ของรอยเท้าคาร์บอน อาหารประเภทไร้เนื้อสัตว์แม้จะผ่านกระบวนการแปรรูปและการผลิตในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม ก็ยังสร้างผลกระทบที่น้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้น้ำ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดิน พื้นที่ป่า สภาพภูมิอากาศ รวมถึงด้านสิทธิสัตว์ซึ่งคุณภาพชีวิตสัตว์ที่เลวร้ายนั้น สามารถส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสัตว์ และจากสัตว์สู่คน อีกทั้งยังมีเชื้อดื้อยาที่มาพร้อมกับการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์เชิงอุตสาหกรรม การที่หันมาแทนที่ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ด้วยอาหารประเภทเนื้อเทียมจึงอาจจะช่วยได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคยังคงต้องการรสชาติที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์

อย่างไรก็ตาม เนื้อเทียมไม่ใช่กระสุนเงินที่จะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนของระบบอาหาร และไม่ได้ “green” และ “clean” สำหรับสิ่งแวดล้อมเสมอ เนื่องจากกระบวนการผลิตเนื้อเทียมเป็นรูปแบบอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และใช้พืชประเภทเดียวกับพืชที่เป็นอาหารของสัตว์ ได้แก่ ถั่วเหลือง และธัญพืชอื่น ๆ มีการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สามารถทำลายระบบนิเวศ น้ำ ดิน และพื้นที่ป่าได้ไม่น้อยไปกว่าปัญหาพืชเชิงเดี่ยวแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ซึ่งดินนั้นเป็นแหล่งสำคัญในการกักเก็บคาร์บอนของโลกเพื่อต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ อีกข้อกังวลหนึ่งที่สำคัญพันธุ์พืชที่เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้นั้นมีส่วนผสมของพืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) หรือไม่ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ใดอยู่เบื้องหลังเป็นเจ้าของพันธุ์พืชเมล็ดพันธุ์นั้นหรือไม่ 

Action against Genetically Engineered Maize. © Paul Langrock / Greenpeace
© Paul Langrock / Greenpeace

ปัจจุบันนี้เมล็ดพันธุ์พืช GMO อยู่ภายใต้การครอบครองในมือของ 4 บริษัทอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่ของโลก ได้แก่ BASF, DowDuPont/Corteva Chemical Company และ Bayer-Monsanto และ Syngenta ที่มาพร้อมกับการครองครองเทคโนโลยีทางพันธุกรรม ปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร พืช GMO นั้นถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเหลือง ซึ่งโดยมากมักจะถูกนำไปใช้เป็นพืชอาหารสัตว์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ สำหรับในเนื้อเทียมจะมีการนำโปรตีนสังเคราะห์ที่สกัดจากรากของพืชตระกูลถั่ว (soy leghemoglobin) เข้ามาใช้ ซึ่งมีลักษณะทางเคมีใกล้กับฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนธาตุเหล็กในพบในเซลล์เม็ดเลือดแดง เพื่อช่วยสร้างกลิ่นและรสสัมผัสที่เหมือนเลือด ดึงดูดให้น่ากิน แต่พืช GMO นี้ยังคงถูกแบนในหลายพื้นที่ของยุโรป การใช้พืช GMO ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้นจึงยังไม่ควรได้รับการยอมรับว่าปลอดภัย ทั้งต่อสุขภาพของคน และต่อการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อมและพืชพรรณท้องถิ่น

เช่นนั้นแล้ว หากเทียบกันหมัดต่อหมัด แม้เนื้อเทียมจะชนะใสในด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่กอบกู้โลกได้แต่อย่างไร หากเรายังไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบที่เป็นชื่อทางวิทยาศาตร์ที่เราไม่รู้ที่มาเกินกว่าครึ่ง หรือข้อมูลที่ชัดเจนของการผลิตทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนตบตลอดห่วงโซ่อุปทาน สำนักข่าว New York Times เผยว่า บริษัทเนื้อเทียมในตลาดอย่าง Impossible Foods และ Beyond Meat ยังคงไม่มีการเปิดเผยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอยู่ ตัวเนื้อและรูปแบบการทำฟาร์มเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสัดส่วนการคำนวนผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ ของกระบวนการผลิต เราจะไม่มีทางรู้ถึงรอยเท้าคาร์บอนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงของเนื้อเทียมได้ อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ปัญหาของบริษัทผู้ผลิตเนื้อเทียมเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เองก็เช่นกันที่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างแท้จริงตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต และนี่คือความท้าทายที่สำคัญของอุตสาหกรรม 

กรีนพีซกำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดยเฉพาะการผลิตเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเพียงอย่างเดียวได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกพอ ๆ กันกับภาคการคมนาคมขนส่ง หากเราไม่ลงมือทำอะไรเลย ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหาร ในปี พ.ศ. 2593 อาจเพิ่มเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานรณรงค์ของเราได้ที่