การเรียกร้องจากผู้คนกว่าล้านคนทั่วโลกทำให้รัฐบาลทั่วโลกเริ่มรับรู้ว่าทางเดียวที่จะแก้ปัญหามลพิษพลาสติกได้ก็คือการเปลี่ยนไปสู่ระบบการใช้ซ้ำ ที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างค่อยเป็นค่อยไปของโมเดลธุรกิจที่ใช้ระบบการใช้ซ้ำและการเติมเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ถึงเวลาของเราแล้วที่จะต้องลงมือขยายระบบดังกล่าวไปสู่อุตสาหกรรมและชุมชนให้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันผ่านนโยบายและกฎหมาย

เรามีโอกาสเจรจาในข้อตกลงที่ชื่อว่า “Global Plastics Treaty” ซึ่งเป็นสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มีความเข้มแข็ง และนี่คือสิ่งที่เราต้องการให้รัฐบาลทั่วโลกและกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ต้องลดรอยเท้าพลาสติกที่พวกเขาผลิตออกมาทันทีและเปลี่ยนไปสู่ระบบใช้ซ้ำและการเติม ข่าวดีอย่างหนึ่งคือ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขนโยบายสำคัญที่เกี่ยวกับการใช้ซ้ำเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง

เริ่มตั้งค่ามาตรฐาน

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ออสเตรียเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บังคับใช้ข้อบังคับการใช้ซ้ำใน พ.ร.บ.การจัดการขยะ เพื่อกำหนดให้แบรนด์เครื่องดื่มต้องใช้ระบบใช้ซ้ำสำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม 25% ภายในปี 2568 นอกจากนี้ กฏหมายดังกล่าวมีคำสั่งให้แบรนด์จำพวกเครื่องดื่มต้องมีบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำขั้นต่ำ 10% – 15% นั่นหมายถึงว่า ชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตจะต้องมีน้ำและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำอย่างน้อย 15% และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เช่น นมและน้ำผลไม้ อย่างน้อย 10%

"Plastikberg" - Action with Plastic Mountain in Vienna. © Mitja  Kobal / Greenpeace
อาสาสมัครกรีนพีซ ออสเตรีย ประท้วงด้วยการแสดงเชิงสัญลักษณ์โดยใช้ขวดพลาสติกกว่า 100,000 ขวดที่ถูกบีบอัดและวางเป็นภูเขา ในจตุรัสเซนท์สเตฟานมหาวิหาร ใจกลางกรุงเวียนนา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบอันร้ายแรงของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวต่อสิ่งแวดล้อม การประท้วงดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 © Mitja Kobal / Greenpeace © Mitja Kobal / Greenpeace

ตั้งแต่อดีตจนถึงเมื่อ 25 ปีก่อน แบรนด์เครื่องดื่มในออสเตรียใช้ระบบใช้ซ้ำราว ๆ 80% และด้วยความสะดวกสบายของพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวจึงทำให้หันมาใช้ขวดพลาสติกแทน ปัจจุบันออสเตรียมีอัตราการใช้บรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ซ้ำเพียง 19% เท่านั้น

ยุคของระบบการใช้ซ้ำ

ด้านฝรั่งเศสเองก็มี กฎหมายบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ ซึ่งระบุว่าบรรจุภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดจะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ 10% ภายในปี 2570 และเมื่อไม่นานก็ได้ออก รัฐกฤษฎีกาลดใช้พลาสติก (Reduction) เพิ่มการใช้ซ้ำ (Reuse) และ การรีไซเคิล (Recycling) หรือ 3R โดยระบุเป้าหมายการลดการผลิตและการใช้ซ้ำ ภายในปี 2568 ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายไว้ด้วยว่า 50% ของการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งตั้งไว้ที่ 20% นั้น จะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำ  ที่ผ่านมาเป็นที่น่าสังเกตว่าฝรั่งเศสได้จัดสรรเงินกว่า 40 ล้านยูโรเพื่อลงทุนในระบบใช้ซ้ำสำหรับปี 2564-2565 ซึ่งเป็นเงินส่วนหนึ่งในกองทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน

มาดูในฝั่งของเพื่อนบ้านอย่างโปรตุเกส ซึ่งได้แก้ไขกฎหมายของรัฐ โดยภายในปี 2573 บรรจุภัณฑ์ 30% ที่ออกสู่ตลาดจะต้องใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำได้ คล้ายคลึงกับโรมาเนียที่ระบุให้เพิ่มบรรจุภัณฑ์ทั่วไปที่ใช้ซ้ำได้ 5% ต่อปี ไปจนถึงปี 2568 (ถึงเป้าหมาย 25% ภายในปี 2568) เข้าไปในรัฐกฤษฎีกา นอกจากนี้ยังมีสเปนที่อยู่ในขั้นตอนการร่างรัฐกฤษฎีกาที่จะเป็นก้าวสำคัญ เนื่องจากมีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการใช้ซ้ำหลายประการ เช่น การให้โควต้าบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ซ้ำ เช่น น้ำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้และน้ำอัดลมในภาคบริการ เช่นเดียวกับเป้าหมายบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มใช้ซ้ำในครัวเรือน เป็นที่น่าสังเกตว่าภูมิภาคในสเปนอย่าง นาบาร์รา และ หมู่เกาะบาเลอาเรส มีกฎหมายเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแบบใช้ซ้ำมาตั้งแต่ปี 2561

Action at Coca-Cola Bottling Plant in Austria. © Mitja  Kobal / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซในออสเตรียจัดพื้นที่ให้เป็นงานศิลปะขวดพลาสติกที่ไหลออกมาจากท่อ เพื่อทวงถามโค้กในการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ซ้ำแทนการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ป้ายข้อความเขียนว่า ‘หยุดกระแสพลาสติก’ © Mitja Kobal / Greenpeace

ซีกโลกใต้คือผู้นำทางระบบใช้ซ้ำ

ระบบการใช้ซ้ำไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังมีนโยบายที่เป็นตัวสนับสนุนให้ระบบดังกล่าวได้รับการยอมรับและในขณะเดียวกันก็ยังทำให้ลดการผลิตพลาสติกและการใช้ลง อย่างไรก็ตาม ระบบการใช้ซ้ำยังถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนด้วย ในการสนับสนุนให้ชุมชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงทรัพยากรมากขึ้น

ชิลีเป็นตัวอย่างประเทศที่มีระบบการใช้ซ้ำก้าวไกลที่สุดในทวีปอเมริกา โดยริเริ่มร่างกฎหมายพลาสติก ในเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งส่งเสริมและสนับสนุนการขายเครื่องดื่มที่บรรจุด้วยผลิตภัณฑ์ใช้ซ้ำได้ กล่าวคือ ผู้ผลิตจะต้องใช้ขวดใช้ซ้ำและจะต้องมีการนำกลับมาคืนเพื่อเอาขวดมาใช้ซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น หลังจาก 3 ปีที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีขวดใช้ซ้ำอย่างน้อย 30% ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะต้องถูกนำกลับมาคืนเพื่อใช้ซ้ำอีกครั้ง

ในอินเดีย รัฐบาลประกาศให้ ถ้วย แก้ว มีด และภาชนะอะไรก็ตามในรูปแบบพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวที่ไม่จำเป็น จะถูกแบนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ในขณะที่การแบนนี้เป็นสิ่งจำเป็น เรายังต้องไม่ลืมว่า ยังมีอีกหลายประเทศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยังคงมีวัฒนธรรมการใช้ซ้ำซึ่งไม่ได้พึ่งพาพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวตั้งแต่แรก เช่น วัฒนธรรม ‘ดับบาวาลา’ หรือการส่งอาหารกลางวันด้วยปิ่นโต ที่ไม่พึ่งพาพลาสติกตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ระบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมซึ่งยังไม่มีการกำหนดเป็นนโยบายและยังห่างไกลจากการกำหนดเป็นตัวบทกฎหมาย นอกจากนโยบายต่าง ๆ ประเทศเช่น อินโดนีเซียเองก็มีธุรกิจเกี่ยวกับระบบการนำกลับมาใช้ใหม่มากมายเช่นแอพพลิเคชั่น KoinPack, Qyos โดย ออลกราโม (Algramo) และธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ ธุรกิจเหล่านี้คือตัวเปลี่ยนเกมส์ในการทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมความสะดวกสบายสามารถใช้ระบบนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยได้

ก้าวต่อไปของการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ในขณะที่เรากำลังมุ่งไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องในการลดมลพิษพลาสติก แต่อย่าลืมว่าเราจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบการใช้ซ้ำและการเติมไปพร้อม ๆ กับการลดการผลิตพลาสติกในระดับโลก ทุก ๆ ปี องค์กร เอเลน แมคอาเธอร์ ได้เผยแพร่รายงานที่จับตาดูความมุ่งมั่นในการลดการผลิตพลาสติกของภาคการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ในแถลงการณ์บางส่วนขององค์กรกล่าวว่า “ยังคงมีความน่ากังวลเกี่ยวกับการไม่ตระหนักถึงการนำระบบใช้ซ้ำมาใช้อย่างเร่งด่วน” ถึงกระนั้น ยังคงมีข้อความในเชิงบวกจากสถาบัน World Economic Forum ผ่านโครงการ ‘Consumers Beyond Waste’ ที่ได้นำกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม (ธุรกิจ ผู้กำหนดนโยบาย และองค์กรไม่แสวงหากำไร) มาร่วมกันหานโยบายสำคัญในการใช้ซ้ำและร่วมกันถกเพื่อหาทางออกในอนาคต

ปัจจุบันระบบใช้ซ้ำนี้สร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะบรรลุเป้าหมายของเศรษฐกิจหมุนเวียนดังที่รายงาน Realising Reuse ระบุไว้ (รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี 2564) ในความเป็นจริง การขยายระบบการใช้ซ้ำในภาคสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มให้ได้ 50% ภายในปี 2573 จะมีโอกาสที่จะลดใช้ทรัพยากรลงถึง 27.1 ล้านตัน

Waitrose Refill Station in Oxford. © Isabelle Rose Povey / Greenpeace
เครื่องกดอาหารแห้งในร้านขายสินค้าแบบการเติม (refill station) เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าลดการใช้บรรจุภัณฑ์ ด้วยเป้าหมายที่จะลดใช้พลาสติกโดยไม่จำเป็นปริมาณหลายตัน © Isabelle Rose Povey / Greenpeace

เพื่อรับมือกับมลพิษพลาสติกและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เราต้องการให้กลุ่มรัฐบาลมาร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบพื้นฐานยของการนำกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรามีโอกาสครั้งสำคัญที่จะ ‘ปฏิวัติการใช้ซ้ำ’ ( Reuse Revolution ) ผ่านสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่ถูกกำหนดขึ้นเป็นกรอบการทำงานสำหรับแต่ละประเทศเพื่อลดการผลิตพลาสติกและการบริโภค รวมทั้งเป็นกรอบในการมุ่งสู่อนาคตที่ไร้พลาสติก และการออกกฎหมายเหล่านี้จำเป็นต้องนำเอาระบบการใช้ซ้ำและการเติมเข้าไปพิจารณาร่วมกันอีกด้วย

เราเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกและธุรกิจแบรนด์ชื่อดังทุกแบรนด์ลงนามในสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อลดปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์และลงทุนกับระบบใช้ซ้ำและการเติมให้มากขึ้น เพื่อช่วยโลกของเรา


แครอไลน์ แว็กเนอร์ ผู้ประสานงานรณรงค์พลาสติกระดับสากล