จากการที่ ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้าน 7-Eleven ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อครบวงจรในประเทศไทย เดินหน้านโยบาย 7 GO Green (เซเว่น โก กรีน) ได้ฤกษ์วันที่ 7 เดือน 11 ประกาศเจตนารมณ์ “ลด และเลิกใช้ถุงพลาสติก” ที่ร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศ ตามปณิธานอันมุ่งมั่นของซีพี ออลล์  “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ที่จะร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น บทความสั้นนี้จะเน้นวิเคราะห์ถึงนโยบาย 7 GO Green รวมถึงโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Green Packaging ตามรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ซีพี ออลล์ เพื่อตอบคำถามว่า นโยบายดังกล่าวมีความมุ่งมั่นและส่งผลสะเทือนมากน้อยเพียงใดต่อการหาทางออกจากวิกฤตมลพิษพลาสติกในประเทศไทย

ขอบคุณภาพจาก www.cpall.co.th/news/เซเว่น-อีเลฟเว่นได้ฤก

ข้อมูลในปี พ.ศ.2560 ร้าน 7-Eleven มีจำนวนรวม 10,268 สาขาทั่วประเทศรวมถึงร้านสาขาบริษัท ซีพี ออลล์ ร้านสาขาประเภทร่วมลงทุน (store business partner) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต (sub area) มีลูกค้าเข้าร้าน 7-Eleven เฉลี่ยวันละ 11.8 ล้านคน การดำเนินการเพื่อลดใช้ถุงพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ในปี พ.ศ. 2560 สามารถลดได้ถึง 24.09 ล้านใบ

เนื่องจากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ ซีพี ออลล์ ที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะไม่มีข้อมูลว่าด้วย “รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint)” จึงไม่สามารถประเมินได้อย่างถูกต้องว่ามาตรการของ 7-Eleven ที่ดำเนินการไปนั้นทำให้เกิดการลดถุงพลาสติกเป็นสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับปริมาณถุงพลาสติกทั้งหมดที่มีการใช้

“รอยเท้าพลาสติก” ที่ ซีพี ออลล์ เปิดเผยนั้นมีเพียงการยกเลิกการใช้วัสดุ PVC โดยระบุว่า ในปี พ.ศ.2560 สามารถยกเลิกการใช้วัสดุ PVC สำหรับกลุ่มสินค้าตราสินค้าของบริษัทประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร เพิ่มอีก 3 รายการคิดเป็น 33% และมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ PVC เป็นส่วนประกอบของบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้ากลุ่มดังกล่าวภายในปี 2563

”รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint)” คือปริมาณ (หน่วย)ของพลาสติกทั้งหมดที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์และการขนส่งภายในช่วงเวลา 12 เดือนที่มีการระบุไว้ รวมถึงประเภทของผลิตภัณฑ์และข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติก ความโปร่งใสเรื่อง “รอยเท้าพลาสติก” นี้รวมถึงการรายงานว่ามีการใช้พลาสติกมากเท่าไร จำนวนของบรรจุภัณฑ์ ชนิดของพลาสติกและวัตถุประสงค์ในการใช้พลาสติกนั้น ทั้งนี้เพื่อสร้างเส้นฐาน(baseline)ในการวัดผลการดำเนินงาน ด้วยเหตุนี้ การนำเสนอข้อมูลการขายอย่างเดียวหรือข้อมูลบางส่วนในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้เป็นการเปิดเผยถึง “รอยเท้าพลาสติก” ของบริษัท

โดยการตั้งสมมุติฐานว่า ลูกค้าทุกคนที่เข้าร้าน 7-Eleven รับถุงพลาสติกโดยเฉลี่ย 1 ถุงต่อวัน ในปีหนึ่งๆ จะมีถุงพลาสติกออกจากร้าน 7-Eleven จำนวน 4,307 ล้านใบ ดังนั้น การลดการใช้ถุงพลาสติก 24.09 ล้านใบของ 7-Eleven ในปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.5 เท่านั้น

เมื่อพิจารณาถึงร้านสะดวกซื้อครบวงจรอย่าง 7-Eleven ที่มีกระจายอยู่แทบทุกหัวระแหงของประเทศและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่เรียกว่า Fast Moving Consumer Goods (FMCGs)ให้กับผู้บริโภค นโยบาย 7 GO Green ดังกล่าวแม้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดูดี แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การลดปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างมีนัยยะสำคัญใด ๆ

นอกเหนือจากถุงพลาสติกหูหิ้ว สิ่งที่ 7-Eleven ยังไม่ได้ระบุไว้ในนโยบาย 7 GO Green (เซเว่น โก กรีน) คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตทั้งหมดที่นอกเหนือไปจากพลาสติก PVC

บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีส่วนสำคัญในการก่อปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลกสูงที่สุด แบรนด์ต่างๆ ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มีความโดดเด่นจากคู่แข่ง และเพื่อให้เกิดความจงรักภักดีจากลูกค้า (Brand Loyalty) พร้อมทั้งถูกออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียวและทิ้งหลังใช้ได้เลย โดยแทบจะไม่ได้มีการคำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมาเลยแม้แต่น้อย การขยายธุรกิจในตลาดใหม่ ๆ บริษัทผู้ผลิต FMCGs จึงขายสินค้าที่บรรจุอยู่ในซองพลาสติกชั้นเดียวที่มีขนาดเล็ก (Single Portion) ให้มากขึ้นโดยซองพลาสติกชั้นเดียวขนาดเล็กเหล่านี้นำมารีไซเคิล (Recycle) ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ  บริษัทผู้ผลิต FMCGs ทั้งหลายเหล่านี้เองก่อให้เกิดวิกฤติแห่งความสะดวกสบาย(Crisis of Convenience)

ในประเทศไทยพบว่ามีสัดส่วนการใช้พลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์มากที่สุด และเป็นการใช้ในระยะสั้นก่อให้เกิดขยะมากที่สุด ในปี พ.ศ.2558 มีการใช้พลาสติกเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์สูงถึง 2.048 ล้านตัน

ผลการตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) จากขยะพลาสติกโดยอาสาสมัครของกรีนพีซที่หาดวอนนภาซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองแสนสุข ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ในเดือนกันยายน พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ก็พบบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นพลาสติก(food packaging)เป็นส่วนใหญ่โดยพบแบรนด์ของกลุ่ม CP มากเป็นลำดับที่ 2

หาก ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะทำนโยบาย 7 GO Green (เซเว่น โก กรีน) ให้เป็นแบบอย่างเพื่อร่วมกู้วิกฤตมลพิษพลาสติก ควรที่จะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการดังต่อไป

  • เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของ “รอยเท้าพลาสติก (plastic footprint)” ทั้งหมดโดยสาธารณชนเข้าถึงได้
  • มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยตั้งเป้าหมายที่มุ่งมั่นและชัดเจนในแต่ละปี
  • ขจัดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุดภายปี 2562
  • ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซ้ำและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่
ธารา บัวคำศรี

About the author

ธารา บัวคำศรี
เป็นผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย และร่วมก่อตั้งกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ.2543 งานอดิเรกคืออ่าน เขียน และเดินทาง ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ g">บันทึกของธารา