ในยุคที่เราต่างเข้าถึงสื่อออนไลน์หลายรูปแบบ คลิปสั้นและแอนิเมชั่น ก็กลายเป็นสื่อที่หลายองค์กรนำมาใช้ถ่ายทอดประเด็นต่าง ๆ รวมถึงกรีนพีซเอง หลาย ๆ ครั้งเราใช้คลิปสั้นและแอนิเมชั่นเป็นเครื่องมือเพื่อเล่าเรื่องราวและรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม สร้างแรงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการลงมือแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างและทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้น

ในปีนี้ เราขอรวบรวม 7 คลิปสั้นและแอนิเมชั่นที่สร้างแรงขับเคลื่อนในปี 2564 มัดรวมเรื่องราวที่อาจทำให้เราเศร้า โกรธ แต่ชวนให้เราตั้งคำถามและจุดไฟในใจสร้างแรงให้เราลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม

เรื่องราวทั้ง 7 นั้นประกอบไปด้วยผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่กลายเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม มลพิษพลาสติก พลังงานและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ยังมีเรื่องราวของกลุ่มคนที่ร่วมกันคัดค้านบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ เรียกร้องให้อุตสาหกรรมและรัฐผู้มีอำนาจออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องราวทั้งหมดยังแสดงให้เห็นว่ากลุ่มสตรี เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้กลายเป็นผู้นำในการปกป้องพื้นที่และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร เพื่ออนาคตที่สงบสุขและยั่งยืนของทุกคน

ผู้ก่อมลพิษและผู้ฉกฉวยโอกาส : ต้นตอของวิกฤตในแอฟริกา

แอนิเมชั่นเรื่องแรกที่เราอยากนำเสนอให้ทุกคนได้ลองชมคือเรื่องราวเกี่ยวกับขบวนการสิทธิสตรีในแอฟริกาจากองค์กรพันธมิตรของเราที่ชื่อว่า WoMin

แอนิเมชั่นเรื่อง ผู้ก่อมลพิษและผู้ฉกฉวยโอกาส (Polluters and Plunderers) บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนชั้นแรงงานในชนบททั่วทวีปแอฟริกาที่ยืนหยัดคัดค้านการล่าอาณานิคมผ่านระบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน

นี่เป็นเรื่องราวที่บอกถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนด้านภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย เนื่องจากอุตสาหกรรมทำลายล้างขนาดยักษ์ที่ใช้ความรุนแรงต่อคนผิวดำ การใช้แรงงานในกลุ่มผู้หญิงที่เอารัดเอาเปรียบและส่งผลให้ร่างกายบาดเจ็บ

แต่แอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังถ่ายทอดเรื่องราวของการลุกขึ้นต่อสู้คัดค้านที่นำโดยกลุ่มผู้หญิงและชุมชนท้องถิ่นของพวกเธอเพื่อปกป้องคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังให้มุมมองใหม่ต่อแอฟริกาและหยิบยื่นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่นี่ ซึ่งเป็นอิสระจากผู้ก่อมลพิษและเหล่าคนที่เข้ามาฉวยโอกาส รวมถึงทรัพยากรจากพวกเขาไป นอกจากนี้ แอนิเมชั่นยังมีเว็บไซต์เพื่อติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมของชุมชนในแอฟริกาและการทำงานขององค์กร WoMin อีกด้วย

สตรีและการปกป้องบ้านเกิด พวกเธอมีสิทธิ์ที่จะ ‘ปฏิเสธ’

บางส่วนจากแอนเมชั่น บอกเล่าถึงกลุ่มผู้หญิงและชุมชนบ้านเกิด พวกเธอกำลังปกป้องผู้คนและทรัพยากรธรรมชาติ

ที่ผ่านมา วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทวีปแอฟริกาและชาวแอฟริกาผู้ซึ่งมีส่วนน้อยมากในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แอนิเมชั่นบอกเล่าการคัดค้านระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยระบบดังกล่าวได้ทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมของชุมชนหายไป อีกทั้งยังแสวงหาผลประโยชน์จากการใช้แรงงาน ทำลายระบบนิเวศที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต ที่สำคัญยิ่งกว่าคือระบบนี้กำลังทำให้โลกของเราอยู่ในสภาวะวิกฤต

คลิปที่เราเล่าให้ฟังนี้เป็นแอนิเมชั่นตัวที่ 2 ของ WoMin จากซีรีย์ทั้งหมดที่จะแสดงให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานสตรีในชุมชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบนี้ พวกเธอมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่ให้ใครมาฉกชิงทรัพยากรในแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นผืนป่า น้ำสะอาด และความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะเดียวกันแอนิเมชั่นก็แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ซีรีย์นี้ยังไม่จบแต่กำลังจะมีตอนต่อไปในปี 2565 ซึ่งจะเป็นรายละเอียดของการสำรวจทิศทางอื่น ๆ ในการพัฒนาแอฟริกา ซึ่งประชาชนจะมีส่วนร่วมที่จะเสนอนโยบายหรือเลือกที่จะปกป้องบ้านเกิดของตัวเองได้ เรียกได้ว่าเป็นซีรีย์ที่น่าติดตามมาก

ฝันร้ายของโลกอนาคตกับปัญหาขยะพลาสติก

พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังถูกใช้ในปริมาณมหาศาล ในขณะที่อายุการใช้งานเฉลี่ยของพลาสติกแบบนี้อยู่ที่เพียงแค่ 6 เดือน แต่กลับใช้เวลาย่อยสลายมากถึง 500 ปี

แอนิเมชั่นสั้นจากเกาหลีใต้ที่บอกเล่าเรื่องราวในอนาคตอีก 29 ปีข้างหน้า ที่บ้านริมน้ำของชายชราและหลานสาวที่ร่วมนั่งตกปลาด้วยกันทุกวันท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติกจากอุตสาหกรรมที่เคยอัดฉีดการผลิตบรรจุภัณฑ์ออกมาเมื่อช่วงสิบปีก่อน

สิ่งที่แอนิเมชั่นนี้ตั้งใจจะสื่อสารนั้นชัดเจน ‘หากเรายังนิ่งเฉยต่อปัญหาพลาสติก ลูกหลานของเราจะได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกที่เราผลิตขึ้นในวันนี้’ นอกจากนั้นแอนิเมชั่นยังบอกเล่าให้เราเห็นว่ามลพิษพลาสติกเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม มหาสมุทรหรือแม้กระทั่งอาหารที่เรากิน ทั้งหมดเป็นผลมาจากความสะดวกสบายเพียงไม่กี่นาที แต่พลาสติกเหล่านี้กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมไปอีกหลายศตวรรษ

ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ปริมาณการผลิตพลาสติกทั่วโลกเมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2558 – 2573 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งกระบวนการผลิตพลาสติกก็มาจากการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นตัวการทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั่นเอง

ร่วมยุติมลพิษพลาสติก #BreakFreeFromPlastic กับเรา เรียกร้องให้แบรนด์ต่าง ๆ หยุดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แอนิเมชั่นเรื่องนี้มีเบื้องหลังการถ่ายทำให้ดูด้วยนะคะ คลิก เพื่อดูเบื้องหลังการถ่ายทำ

หายนะพลาสติกบนถนนดาวนิง สหราชอาณาจักร

ทุกวัน ขยะพลาสติกในสหราชอาณาจักรกว่า 1.8 ล้านกิโลกรัม ถูกส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ แล้วจะเป็นอย่างไรหากเราเอาเขยะเหล่านั้นมาเทที่ถนนดาวนิง?

เชื่อหรือไม่ว่าในสหราชอาณาจักรผลิตขยะพลาสติกเฉลี่ยต่อ 1 คน มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงยืนยันว่าจะเป็นประเทศผู้นำในการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก แต่ในความเป็นจริงนั้น พวกเขาใช้วิธีส่งขยะพลาสติกเหล่านี้ออกไปยังต่างประเทศ ไปยังหลุมฝังและเผา ซึ่งกระบวนการเผาขยะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงต่อชุมชนในท้องถิ่นและส่งผลต่อสัตว์ป่า สัตว์ทะเลในมหาสมุทรอีกด้วย

มีรายงานว่าประชากรในท้องถิ่นมีปัญหาด้านสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคทางเดินหายใจ เลือดกำเดาไหล และมีอาการปวดหัว พลาสติกยังคร่าชีวิตนกทะเลอีกหลายพันชีวิต แมวน้ำ และเต่าในทุก ๆ ปีอีกด้วย

แอนิเมชั่นเปรียบเทียบให้เห็นถึงปริมาณขยะพลาสติกที่สหราชอาณาจักรส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในทุกวัน ซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยวันละ 1.8 กิโลกรัม หรือประมาณ 688,000 ตันต่อปี

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลตุรกีประกาศแบนการนำเข้าขยะจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด รวมไปถึงขยะพลาสติกจากสหราชอาณาจักรกว่า 95% คำประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจากการณรงค์ต่อเนื่องหลายปีของกรีนพีซตุรกี และเกิดขึ้นก่อนที่แอนิเมชั่นเรื่องนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณะ

เรื่องขวดๆ (พลาสติก)

มลพิษพลาสติกมีอยู่ทุกที่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือภัยคุกคามต่อสัตว์เช่นเต่าทะเล นกทะเล และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเราอีกด้วย

ต้องขอบอกก่อนว่าวิดีโอนี้ โคคา-โคล่า เนสท์เล่ และแป๊ปซี่ ไม่อยากให้คุณเปิดมาเจอแน่ ๆ 

เพราะแบรนด์เหล่านี้อยากให้คุณเชื่อว่าพวกเขาได้ดำเนินการลดใช้พลาสติกแล้ว แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมน้ำมันรายใหญ่เพื่อผลิตพลาสติกเพิ่ม และขวดพลาสติกเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา โลกใบนี้รวมทั้งชุมชนอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นมีขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับไปรีไซเคิลจริง ๆ อีกด้วย

แต่เรายังพอมีเวลาแก้ปัญหานี้ได้ เราสามารถกระจายแนวทางที่แก้ปัญหาขยะพลาสติกได้จริงซึ่งก็คือการเรียกร้องให้แบรนด์ลดการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งและหันมาลงทุนกับระบบการใช้ซ้ำและการเติม อีกทั้งร่วมแชร์แอนิเมชั่นเรื่องนี้หรือร่วมลงชื่อเรียกร้องบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายเร็ว (Fast Moving Consumer Goods) ยกเลิกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง

แอนิเมชั่นของกรีนพีซเรื่องนี้ผลิตโดย แดเนียล เบิร์ด ให้เสียงร้องและเรียบเรียงโดย นักร้องประสานเสียงพระกิตติคุณอังกฤษ (London Community Gospel Choir)

ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ มาพร้อมกับความเท่าเทียมหลากหลาย

“ตอนนี้ เราต้องกล้าที่จะฝันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็น” ประโยคนี้เป็นโควทสรุปที่จากคลิปการสัมภาษณ์นักกิจกรรมเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ ทั้ง 4 คน โดยกรีนพีซในยุโรปได้ปล่อยคลิปสัมภาษณ์นี้เมื่อเดือนมกราคม 2564

นักรณรงค์อย่าง จอร์เจีย วิทเทคเกอร์ สรุปใจความสำคัญมาว่า “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ กระแสขวาประชานิยม (right-wing populism) วิกฤตด้านสาธารณสุข การเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ ระบบเศรษฐกิจและนโยบายทางการเมืองจากกลุ่มประเทศร่ำรวยที่กดทับกลุ่มประเทศที่ยากจนกว่า ความอยุติธรรมและความไม่เท่าเทียม นี่คือสิ่งที่เราเห็นว่ามันกำลังเพิ่มขึ้นและเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในโลกที่เราอยู่ แล้วเราจะอยู่อาศัยร่วมกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร”

นักกิจกรรมและศิลปิน กัพพี โบลา, ชิฮิโร กูย์ชีบรู๊ค (Chihiro Geuzebroek), ทาเทียนา การาวิโต (Tatiana Garavito) และ แซมี แบลสอิงแอม (Samie Blasingame) ร่วมแชร์ทัศนคติเกี่ยวกับระบบการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วม การดูแลระบบนิเวศในธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ

แอนิเมชั่นนี้เป็นหนึ่งในตัวกลางที่พวกเขาแสดงให้เราเห็นว่าระบบที่กดขี่นั้นเชื่อมโยงกับผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างไร นอกจากนี้ยังชวนพูดคุยในประเด็นที่ว่า สังคมของเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แตกต่างจากเดิมที่เป็นอยู่ได้อย่างไร อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักกิจกรรมทั้ง 4 คนได้ในบทความ รีวิวมุมมองจาก 4 นักกิจกรรมจากทั่วโลก: การเมือง สังคม เศรษฐกิจล้วนเชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

คลิปที่ 4 จากซีรีย์ 4 ตอน เป็นมุมมองของ แซมี แบลสอิงแอม (Samie Blasingame) ที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ แซมีแชร์ความคิดเกี่ยวกับความสำคัญของนโยบายการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารโลก ซึ่งจะต้องให้ความเคารพต่อสิทธิของชนพื้นเมือง รวมทั้งภูมิปัญญาและการจัดการที่ดินทำกิน ให้เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำหรับโลกของเรา

หายนะในป่าฝนเขตร้อน ลุ่มแม่น้ำคองโก

การชวนเชื่อเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอนเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งผลที่ตามมาก็อันตรายมาก

วิดีโอนี้เปิดด้วยภาพของความอุดมสมบูรณ์ มีเสียงนกร้องพร้อมกับทริปล่องเรือในป่าที่สวยงาม แต่ไม่กี่นาทีต่อมา เรื่องราวของความอุดมสมบูรณ์นั้นก็เปลี่ยนไป เมื่อลองดูดี ๆ แล้ว วิดีโอนี้เปิดโปงความจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซยักษ์ใหญ่ที่พยายามทำให้ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันพวกเขายังยึดติดอยู่กับเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นตัวการเร่งให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ

เราได้เรียนรู้แล้วว่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสอย่าง โททาลเอนเนอร์ยีส์ (TotalEnergies) อ้างว่าพวกเขายินดีที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต แต่ในขณะเดียวกันก็พยายามขุดเจาะน้ำมันที่ป่าฝนเขตร้อนอันอุดมสมบูรณ์ ในคองโก ซึ่งเขตผืนป่านั้นเป็นบ้านของชนพื้นเมืองอีกหลายชุมชน เช่นเดียวกับสัตว์สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์ุ เช่น กอริลลาที่ราบลุ่ม ( lowland gorillas) และสิ่งที่เราช่วยได้คือ ร่วมแชร์วิดีโอนี้เพื่อเปิดโปงการกระทำของบริษัทน้ำมันนี้ได้

วิดีโอนี้เป็นหนึ่งในซีรีย์ #RealZero จากกรีนพีซ ซึ่งประกอบไปด้วยเรื่องราวอีก 3 เรื่อง โดยแสดงให้เห็นว่า ทำไม ‘การฟอกเขียว’ (Greenwashing) และการชดเชยคาร์บอนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

คลิปสั้น ๆ แต่เส้นทางการปกป้องสิ่งแวดล้อมของเรายังอีกยาวไกล

เราเชื่อว่า แอนิเมชั่นที่สื่อสารเรื่องราวให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการลงมือแก้ไขปัญหานั้นย่อมเป็นตัวกลางถ่ายทอดเรื่องราวอันเต็มไปด้วยพลังในช่วงเวลาสั้น ๆ เรายังมีเรื่องราวน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษพลาสติก การปกป้องทะเลและมหาสมุทร หรือการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน สนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่น กดติดตามเราได้ที่แชนแนล Greenpeace Thailand ผ่านช่องทางยูทูบ เพื่อไม่พลาดงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยกัน