วิกฤตสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกมากมายกลายเป็นเชื้อไฟก่อให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นแนวหน้าในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมคนเหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายหลักที่จะถูกใช้ความรุนแรง พวกเขาถูกคุกคาม ข่มขู่ ถูกทำร้าย หรือแม้กระทั่งถูกสังหารในขณะที่กำลังปกป้องทรัพยากรบ้านเกิด ชุมชน วิถีชีวิตและระบบนิเวศ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเป็นวันต่อต้านความรุนแรงทางเพศต่อสตรีและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราจึงอยากยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อตระหนักว่า ความเท่าเทียมหลากหลายจะไม่เกิดขึ้น หากไร้ซึ่งความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ 

ฟิกิ แชงเกส( Fikile Ntshangase) , เบอร์ตา คาเซเรส ( Berta Cáceres), มาเรียล ฟรานโก ( Marielle Franco), นอรา เอพีค (Nora Apique)  ผู้หญิงเหล่านี้ พวกเธอต่างมี 2 สิ่งที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือพวกเธอเป็นคนสำคัญที่รณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศอย่างสันติ แต่พวกเธอกลับถูกสังหารอย่างโหดร้าย

ความรุนแรงต่อผู้ปกป้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม กลายเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ซัลวาดอร์ ซูนิกา คาเซเรส บุตรชายของ เบอร์ตา คาเซเรส เป็นตัวแทนในนาม COPINH (Civic Council of Popular and Indigenous Organizations of Honduras) เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความยุติธรรมต่อแม่ผู้ถูกสังหาร บริเวณหน้าสถานทูตฮอนดูรัส ในกรุงบัวโนส ไอเรส © Martin Katz / Greenpeace

สถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศไม่เคยน่ากังวลมากเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก่อน จากงานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่โดยองค์กร Nature Climate Change ที่ระบุว่ากิจกรรมของมนุษย์กว่า 85% ทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนัก ภัยแล้ง ไฟป่า คลื่นความร้อนและภาวะอุณหภูมิลดต่ำลงอย่างผิดปกติ ทำให้การขับเคลื่อนที่เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อคัดค้านการปล่อยมลพิษ เกิดการคุกคามด้วยความรุนแรงและการสังหารนักรณรงค์และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันด้วย

รายงานล่าสุดจากโกลบอล วิทเนส แสดงสถิติจำนวนอย่างเป็นทางการของนักปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ถูกลอบฆ่าในปี 2563 ว่ามีจำนวนมากถึง 227 กรณี โดยส่วนใหญ่มีอาชีพเป็น ชาวไร่ ทนายความ นักข่าว นักกิจกรรม แพทย์ และเจ้าหน้าที่ในองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ลงพื้นที่ร่วมกับชุมชนเพื่อคัดค้านอุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร การขุดเจาะน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมเหมืองที่กำลังเป็นภัยต่อชุมชนของพวกเขา

ทั้งนี้ หนึ่งในสามของเหยื่อที่ถูกคุกคามทั่วโลกเป็นกลุ่มชนพื้นเมือง แม้ว่าชนพื้นเมืองจะมีจำนวนประชากรเพียง 5% เท่านั้น โดยกลุ่มชายขอบผู้ได้รับผลกระทบหรือที่เรียกว่า MAPA (Most Affected People and Areas) จะเป็นกลุ่มที่เปราะบางต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างมากกว่าคนกลุ่มอื่นเพราะการถูกผลักออกจากสังคมและการล่าอาณานิคมในยุคใหม่ อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนของชนพื้นเมืองมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการปกป้องพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และยังสร้างประวัติศาสตร์ในการณรงค์อีกด้วย

ผลการวิจัยของ โกลบอล วิทเนส นั้นแสดงให้เห็นว่าการคุกคามอันเป็นอันตรายถึงชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้งกว่า 95% ได้รับการงดเว้นโทษ เราจะเห็นว่าไม่เพียงแค่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษที่เป็นสาเหตุของการล่มสลายของสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายของชีวภาพแล้ว แต่อุตสาหกรรมที่มีอำนาจหรือนักการเมืองนั้นยังได้รับการปกป้องในเชิงกฎหมายอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากวงจรการเกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วิกฤตสภาพภูมิอากาศ จะเติมเชื้อไฟความรุนแรงต่อสตรีและกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ

ในรายงานฉบับเดียวกันยังเปิดเผยว่า เหยื่อที่ถูกสังหารเป็นเพศชาย เกิดกรณีการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิงและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อคัดค้านการทำลายสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ในความจริงแล้ว ผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังนำไปสู่กรณีการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นต่อเด็กและสตรีทั่วโลกอีกด้วย มีวิธีอื่นๆ ที่จะปราบปรามและถูกใช้กับกลุ่มผู้หญิงที่เป็นขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมนอกจากการฆาตกรรมคือ การข่มขืน กักขังหน่วงเหนี่ยว และการกรรโชก มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมกับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน

สังคมปิตาธิปไตยมีแนวโน้มที่จะเพิกเฉยและลดค่าให้เสียงของสตรีและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เบาลง นั่นรวมถึงลดความสำคัญของการรณรงค์เพื่อคัดค้านการปล่อยมลพิษ และการจัดกิจกรรมการคัดค้านยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการคุกคามเป็นสองเท่าจากเดิมที่เป็นอยู่ ไม่เพียงแค่ความท้าทายที่พวกเขาจะต้องต่อกรกับอำนาจเชิงโครงสร้างที่ผู้มีอำนาจมีแล้ว การแสดงตัวออกมาพูดคัดค้านต่อสาธารณะยิ่งเป็นการกระทำที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นขบถด้วย ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องขุดรากถอนโคนระบอบปิตาธิปไตย อย่างไรก็ตาม การปกป้องสิ่งแวดล้อมทั่วโลกก็ยังเป็นกลุ่มสตรีและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นกลุ่มแนวหน้าในการขับเคลื่อน

ความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมจะไม่เกิดขึ้น หากไม่มีความเท่าเทียมและหลากหลายในสังคม

พนักงานและอาสาสมัครของกรีนพีซที่กรุงโซล ร่วมเดินขบวนในวันสตรีสากล ที่จัดขึ้นที่กวังฮามุน โซล (มีนาคม 2562) © Soojung Do / Greenpeace

มีหลักฐานมากมายที่สนับสนุนความรับผิดชอบต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ไม่เท่ากันในประเทศซีกโลกเหนือกับประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมของกลุ่มประเทศดังกล่าว และนี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องแสดงให้ใครก็ตามที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบได้ตระหนักและแก้ไขต่อความเสียหายที่พวกเขาเป็นต้นเหตุ รวมถึงการที่ยังคงผลักให้ชุมชนกลายเป็นคนชายขอบไป เพื่อป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเหล่านี้ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation : WHO) ที่ระบุว่า 1 ใน 3 ของเด็กผู้หญิงและสตรี เคยเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศในตลอดช่วงชีวิต กรณีที่เกิดขึ้นมากที่สุดมักเกิดขึ้นโดยคนใกล้ชิด โดยพวกเธอจะพบความรุนแรงแบบนี้ก่อนช่วงอายุ 20 ปี ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยแล้ง น้ำท่วมรุนแรงและการอพยพย้ายถิ่นเป็นปัจจัยบังคับให้สตรีและเด็กผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มเปราะบางเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัว บ่อยครั้งที่พวกเธอถูกบังคับให้ไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายและรุนแรงเพื่อให้อยู่รอด

ทั่วโลก ทั้งในแอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ยุโรป และเอเชีย กลุ่มที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิสตรีและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกำลังประณามความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ และกำลังเรียกร้องให้มีการปกป้องเหล่าผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ผู้หญิงส่งเสียงของพวกเธอจากทั่วโลก ตั้งแต่ในห้องประชุมเพื่อการกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการทำงานระดับชุมชน เสียงของพวกเธอมาจากแวดวงวิทยาศาสตร์ไปจนถึงการขับเคลื่อนงานรณรงค์ เพื่อเป็นผู้นำในการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

โลกที่สงบสุขและอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแท้จริงจะต้องมีความเท่าเทียมและความเคารพซึ่งกันและกันจากทุกคนที่อาศัยร่วมกันในโลกใบนี้ เราจะไม่สามารถหยุดการการทำลายสิ่งแวดล้อมได้เลยหากเราไม่สนับสนุนให้ยุติการเหยียดเพศและความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ เพราะทั้งสองสิ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน

และตอนนี้ ถึงเวลาที่เราจะต้องปฎิวัติเพื่อความหลากหลายเท่าเทียม!


Helena Smuha ผู้ประสานงานด้านการขับเคลื่อนพลังมวลชน กรีนพีซ เบลเยียม