ปีนี้เป็นปีที่เหตุการณ์อย่างโรคระบาดโควิด19 ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ยังคงดำเนินต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และเป็นอีกปีที่ผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแสดงออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจนกว่าที่เคย

เราได้ข่าวภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลก สอดคล้องกับคำเตือนของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ที่ได้เผยแพร่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 นอกจากนั้นยังเกิดการประชุมเจรจาสุดยอดว่าด้วยสภาพภูมิอากาศหรือ COP26 แม้ว่าผลการเจรจามีข้อสรุปยังไม่หนักแน่นเท่าที่ควร  แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องจากประชาชนในประเทศต่าง ๆ ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นทุกวันและต่างพุ่งเป้าไปที่ผู้นำของประเทศตนเองให้ต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหานี้เสียที และจะขยายเพิ่มขึ้น ทวนกระแสและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจต้านทานได้

เราจึงรวบรวมกิจกรรมรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจากกรีนพีซ ที่ได้ส่งข้อความถึงผู้มีอำนาจจากหลายประเทศทั่วโลกในปี 2564 เพราะพวกเราอยากเห็นความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ที่มาพร้อมกับความเป็นธรรมทางสังคม 

แล้วปีนี้ทุกคน call out เรื่องอะไรบ้าง? มาแชร์กันได้นะคะ


มกราคม

มอบรางวัล Fossil Fools ประจำปี 2563 ในปารีส

Fossil Fools Price 2020 in Paris. © Andrea Olga Mantovani / Greenpeace
© Andrea Olga Mantovani / Greenpeace

ในระหว่างพิธีหน้ารัฐสภาฝรั่งเศส นักกิจกรรมและอาสาสมัครของกรีนพีซฝรั่งเศสได้มอบรางวัล “Fossil fools Price” ประจำปี 2563

ให้กับผู้กระทำความผิดที่เลวร้ายที่สุดเนื่องจากการเพิกเฉยต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้กับ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส, บาร์บารา ปอมปิลิ รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยา และโมฮัมเหม็ด ลักฮิลา สมาชิกรัฐสภา

กุมภาพันธ์

ภูเขาพลาสติกในเวียนนา

"Plastikberg" - Action with Plastic Mountain in Vienna. © Mitja  Kobal / Greenpeace
© Mitja Kobal / Greenpeace

กรีนพีซ ออสเตรีย จัดการประท้วงด้วยขวดพลาสติก 100,000 ขวดที่อัดเป็นก้อนจนกลายเป็นภูเขา ที่จัตุรัสโบสถ์เซนต์สเตฟานอันเป็นสัญลักษณ์และตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองเวียนนา เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายของขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรียยุติวัฒนธรรมแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยดำเนินการผ่านโครงการมัดจำขวดเครื่องดื่มและภาชนะบรรจุทั้งหมด และสนับสนุนระบบขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้

มีนาคม

Climate Strike ใต้น้ำ ณ ใจกลางมหาสมุทรอินเดีย

Climate Strike on the Saya de Malha Bank in the Indian Ocean. © Tommy Trenchard / Greenpeace
© Tommy Trenchard / Greenpeace

นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศกำลังถือป้าย ‘Youth Strike For Climate’ ที่ใต้น้ำในเขต ซายา เดอ มัลฮา แบงก์ (Saya de Malha Bank) ในมหาสมุทรอินเดีย

เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวประท้วงเพื่อสภาพภูมิอากาศของเยาวชน #FridaysForFuture ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในวันที่ 19 มีนาคม 2564 โดยทีมงานบนเรือ อาร์กติก ซันไรส์ของกรีนพีซ อยู่ระหว่างการเดินทางไปเพื่อสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์และความหลากหลายของภูมิภาคนี้ให้ดียิ่งขึ้น และทำให้พื้นที่นี้ได้รับการคุ้มครอง

เมษายน

ยื่นรายชื่อคัดค้านการปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสีจากฟุกุชิมะในญี่ปุ่น

Petition against Discharging Fukushima Radiated Water in Japan. © Masaya Noda / Greenpeace
© Masaya Noda / Greenpeace

กรีนพีซญี่ปุ่นได้ยื่นรายชื่อคัดค้านต่อรัฐบาลโดยจัดงานแถลงข่าวร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ และผู้อยู่อาศัยในฟุกุชิมะ โดยกรีนพีซได้รวบรวม 183,754 รายชื่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ในขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มพลเมืองจำนวนมากได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดปล่อยน้ำกัมมันตภาพรังสี และต้องสร้างความมั่นใจให้กับอนาคตของประชาชนด้วยการลงมือปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศโดยลด ละ เลิกถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ที่สกปรกและเป็นอันตรายให้หมดสิ้นไป

พฤษภาคม

ประท้วงต่อหน้าบริษัท Mondelez สำนักงานใหญ่ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย

Protest in front of Mondelez Int. HQ in Vienna, Austria. © Mitja  Kobal / Greenpeace
© Mitja Kobal / Greenpeace

กรีนพีซออสเตรียประท้วงที่หน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัท Mondelez ในกรุงเวียนนา เพื่อต่อต้านการทำลายป่าในแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มและโกโก้ในห่วงโซ่อุปทานสำหรับช็อกโกแลตมิลก้า นักเคลื่อนไหวของกรีนพีซได้สร้างฉากป่าฝนที่ถูกไฟไหม้ขนาดเกือบเท่าของจริงและวางวัวไว้ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท โดยนักปีนเขาสองคนติดป้ายเหนือประตูทางเข้า แคมเปญนี้ทำเพื่อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย FERC ที่เข้มงวดเพื่อหยุดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากก่อให้เกิดการทำลายป่าและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต้นทาง เช่น แหล่งน้ำมันปาล์มในมาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือโกโก้ในกานาและไอวอรีโคสต์

มิถุนายน

นักกิจกรรมกรีนพีซเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 400,000 คนที่ลงชื่อคัดค้าน CPTPP 

NO CPTPP Action in Bangkok. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

ในนามของประชาชนที่ลงนามผ่านแคมเปญออนไลน์ #NoCPTPP เราต้องการเห็นความกล้าหาญของคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจครั้งสำคัญ เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร สิทธิของผู้บริโภค ความมั่นคงทางอาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพของไทย ตลอดจนการเข้าถึงยา การสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก โดยยุติการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อย่างถาวรในทันที

กรกฎาคม

นักกิจกรรมทิ้งขยะพลาสติก 625 กก. ที่ประตูบ้านนายกรัฐมนตรีในลอนดอน

Activists Dump 625kg of Plastic Waste at Prime Minister’s Gate in London. © Chris J Ratcliffe / Greenpeace
© Chris J Ratcliffe / Greenpeace

นักกิจกรรมของกรีนพีซในสหราชอาณาจักรทิ้งขยะพลาสติกจำนวน 625 กิโลกรัมที่หน้าประตูบ้านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นปริมาณพลาสติกเท่ากับที่สหราชอาณาจักรส่งออกทุกๆ 30 วินาที เพื่อเรียกร้องให้มีการห้ามส่งออกขยะพลาสติก โดยมีนักกิจกรรมแต่งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในบริเวณเดียวกัน พร้อมรถบรรทุกที่มีข้อความว่า “หยุดการส่งออกพลาสติก” 

สิงหาคม

Pride Walk อัมสเตอร์ดัม

Pride Walk Amsterdam. © Marten  van Dijl / Greenpeace
© Marten van Dijl / Greenpeace

เจ้าหน้าที่กรีนพีซเนเธอร์แลนด์และอาสาสมัครเข้าร่วม Pride Walk ในอัมสเตอร์ดัมพร้อมกับกลุ่ม Queers4Climate และ Extinction Rebellion เพื่อยืนหยัดร่วมกับชุมชน LGBTQIA+ ในประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

กรีนพีซต่อสู้เพื่อสังคมที่ยุติธรรมและสงบสุขเพื่อผู้คน สัตว์ และโลก อันประกอบไปด้วยความหลากหลายมาเป็นเวลา 50 ปี และนั่นคือเหตุผลที่กรีนพีซเข้าร่วมงาน Pride ทั่วโลก ตั้งแต่งาน Sydney Mardi Gras ไปจนถึงงาน Queer Culture Festival ในกรุงโซล กรีนพีซต้องการเป็นองค์กรที่เคลื่อนไหวไปพร้อม ๆ กับชาว LGBTQIA+ ทั่วโลก เพราะเราเชื่อว่าการเคลื่อนไหวที่มีความหลากหลายและเป็นของทุกคน จะเป็นการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็ง

กันยายน

การประท้วงที่งาน IAA Mobility 2021 ในมิวนิก

Protest at the IAA Mobility 2021 in Munich. © Gordon Welters / Greenpeace
© Gordon Welters / Greenpeace

นักกิจกรรมรุ่นใหม่ของกรีนพีซ 15 คนประท้วงหน้าทางเข้างานแสดงรถยนต์นานาชาติ IAA Mobility 2021ในมิวนิก พวกเขายืนอยู่ในแอ่งน้ำขนาด 100 x 90 เมตร เพื่อจำลองเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วพร้อมถือแบนเนอร์ที่มีสโลแกน “วิกฤตสภาพภูมิอากาศเริ่มต้นที่นี่” และ “หยุดขับเคลื่อนรถยนต์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

ตุลาคม

 “สัตว์ประหลาดคณาธิปไตย” ในจาการ์ตา

Oligarchy Monster Action in Jakarta. © Rivan Hanggarai / Greenpeace
© Rivan Hanggarai / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซอินโดนีเซียติดตั้ง “สัตว์ประหลาดคณาธิปไตย” ขนาดยักษ์ระหว่างการแสดงออกที่อาคารรัฐสภาในกรุงจาการ์ตา สัตว์ประหลาดรูปร่างปลาหมึกยักษ์นี้สะท้อนมิติและแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตพลเมือง เช่น พลังงาน เกษตรกรรม เสรีภาพในการแสดงออก ชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง เช่นเดียวกับความอ่อนแอของคณะกรรมการกำจัดการทุจริต (KPK) กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงอย่างสันติโดยกรีนพีซ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีตั้งแต่กฎหมายการสร้างงาน (Omnibus Law on Creation) ซึ่งเป็นที่ถกเถียงได้รับการให้สัตยาบัน

พฤศจิกายน

ประท้วงการฟอกเขียวที่ COP26 ในกลาสโกว์

Indigenous Peoples Protest outside COP26 in Glasgow. © Bianka Csenki / Greenpeace
© Bianka Csenki / Greenpeace

ชนเผ่าพื้นเมืองประท้วงเรื่องการชดเชยคาร์บอน ณ บริเวณนอกสถานที่ประชุมเจรจาสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยพวกเขาเป็นสมาชิกของเครือข่ายสิ่งแวดล้อมของชนพื้นเมืองและการดำเนินการด้านสภาพอากาศของชนพื้นเมือง ในขณะเดียวกันผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ สากล ได้ร่วมประท้วง คณะทำงานการชดเชยคาร์บอน (Offset Taskforce) ซึ่งนำโดยคาร์นีย์ เนื่องจากการชดเชยคาร์บอนเป็นการฟอกเขียว

ธันวาคม

ไดโนเสาร์ ‘Taxonosaurus’ ที่สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการยุโรป

‘Taxonosaurus’ Dinosaur at European Commission headquarters, Brussels. © Johanna de Tessières / Greenpeace
© Johanna de Tessières / Greenpeace

นักกิจกรรมกรีนพีซเบลเยี่ยมติดตั้งไดโนเสาร์ ‘Taxonosaurus’ ขนาดยักษ์นอกสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการยุโรปและสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เพื่อประท้วงการจัดหมวดหมู่ให้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ให้อยู่ใน ‘อนุกรมวิธาน’ ของสหภาพยุโรป และบรรจุไว้ในรายการของแนวทางการลงทุนที่ยั่งยืน

แล้วปีนี้ทุกคน call out เรื่องอะไรบ้าง? มาแชร์กันได้นะคะ