ในปี 2564 นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้โลกยังเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เพราะท้าทาย และการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องรอไม่ได้ จึงทำให้ในปีนี้เกิดงานรณรงค์ดีๆมากมายเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อเรา 

© Luke Duggleby / Greenpeace

ด้านสภาพภูมิอากาศ

กรีนพีซจับตาการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ นำเสนอข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศสำหรับทุกคน

ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คน

กรีนพีซได้เปิดโปงการนำเข้าถ่านหินและการเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินในไทย เผยข้อมูลการนำเข้าถ่านหินมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และเสนอแนวทางการปลดระวางถ่านหินจากระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 

เราติดตามการเจรจาสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศที่กลาสโกว์ หรือ COP26 เพื่อจับตาแผนการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความร่วมมือของแต่ละประเทศทั่วโลก 

และเสนอความเห็นต่อแผนการดำเนินการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศของไทย
เรายังเรียกร้องให้ประเทศไทยประกาศ ‘สภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ’ เพื่อยกประเด็นดังกล่าวให้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งมือแก้ไข เพราะไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งคุกคามต่อการเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความยากจน และโรคระบาดในอนาคต

© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ด้านพลังงานหมุนเวียน

ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ร่วมทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ภายใต้กองทุนแสงอาทิตย์ เร่งผลักดันรัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง 

กรีนพีซทำงานกับเครือข่ายกองทุนแสงอาทิตย์ ในการระดมทุนจากประชาชนเพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้สถาบันการศึกษา 7 แห่ง แห่งละ 10 กิโลวัตต์ และจัดทำ ข้อเสนอ ‘ปฎิวัติพลังงานบนหลังคา’ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ได้ 1 ล้านหลังคาเรือน’ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการนำระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า (net-metering) มาใช้ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีระบบโซลาร์รูฟท็อป 3,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี 

© Arnaud Vittet / Greenpeace

ด้านอากาศสะอาด

#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา กรีนพีซ ยังคงรณรงค์เพื่อลมหายใจของชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “ไม่มีระดับของมลพิษทางอากาศขั้นต่ำใด ๆ ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์” เพื่อให้ได้มาซึ่งอากาศสะอาดที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน กรีนพีซรณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นจากการที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับค่าแนะนําคุณภาพอากาศใหม่ ค่าเฉลี่ย PM 2.5 เข้มงวดกว่าเดิมร้อยละ 40-50  โดยทั่วไปคุณภาพอากาศเฉลี่ย 1 ปี ของประเทศไทยเกินค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับเกณฑ์ใหม่ ค่าเฉลี่ยรายปีของประเทศไทยจะสูงถึง 5 เท่าของค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่ของ WHO เลยทีเดียว ฉะนั้นหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนจึงควรแก้ปัญหาให้ทันท่วงที ไม่เพิกเฉยต่อสิ่งที่กระทบต่อสุขภาพประชาชนเช่นนี้ต่อไป

© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

ด้านระบบอาหาร

เผยสาเหตุ #ฝุ่นภาคเหนือ เปลี่ยนแปลง #ระบบอาหาร และร่วมกับประชาชน 4 แสนรายชื่อเพื่อ #คัดค้านCPTPP

แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงต้นปีปัญหาฝุ่นภาคเหนือก็ได้กลับมาอีกครั้ง กรีนพีซยังคงรณรงค์ ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เชื่อมโยงกับการก่อหมอกควันพิษข้ามพรมแดน มลพิษ PM2.5 และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าผ่านรายงาน ข้าวโพด การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน และ ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี 2558-2563

ในช่วงกลางปี มีความเคลื่อนไหวสำคัญคือการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเข้าร่วมความตกลง ที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) กรีนพีซได้ส่งเสียงที่มาจากประชาชนที่ร่วมคัดค้านผ่านแฮชแทกมากกว่าล้านครั้ง รวมชื่อรณรงค์ของประชาชนอีกกว่า 400,000 คน (ทั้งจากกรีนพีซและ Change.org) และยังปล่อยรถตุ๊กตุ๊กรณรงค์จำนวน 32 คันวิ่งไปยัง 6 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ 

อีกหนึ่งในการรณรงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร คือ การใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและวิกฤตเชื้อดื้อยา และสิทธิของผู้บริโภค เราร่วมกับหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด (MORU) และองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดตัวเว็บไซต์ “สืบรอยเท้ายาปฏิชีวนะในตัวคุณ” หรือ Antibiotic Footprint – Individual Calculator ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มแบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่มีวัตถุประสงค์ให้คนสามารถเข้ามาเรียนรู้และลดปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น 

องค์การอนามัยโลก (WHO) ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตที่สำคัญในปัจจุบัน การได้รับรู้วิธีการเลี้ยงของฟาร์ม และแหล่งที่มาของการผลิตอาหารของเราตลอดห่วงโซ่อุปทานในระบบอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเพื่อระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสภาพภูมิอากาศ

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

งานรณรงค์ลดพลาสติก

เปิดโปงปัญหาวิกฤติมลพิษขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น วิพากษ์ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกไทย จัดโครงการ Plastic Audit Volunteer Leader ขับเคลื่อนงานรณรงค์ลดพลาสติกอย่างสร้างสรรค์  

กรีนพีซยังคงสร้างควาตระหนักรู้ ชี้ให้ประชาชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาผ่านภาพยนตร์สารคดี The Story of plastic ที่ฉายภาพเรื่องราวผลกระทบของขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ และจัดอมรบผู้นำอาสาสมัครโครงการ Plastic Audit Volunteer Leader (รุ่นที่ 1) แนะนำวิธีการสื่อสารที่สร้างการเปลี่ยนแปลง การออกแบบโครงการ และขับเคลื่อนงานรณรงค์ลดพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ 

เนื่องจากปัญหาพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้าง เราจึงการเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผ่าน ‘Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของไทย พ.ศ. 2561-2573’ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การจัดการขยะพลาสติกไทยยังไร้ทิศทาง และยังสวนทางกับแผนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) พ.ศ.2608-2613 อีกด้วย!

ในช่วงท้ายปีกรีนพีซปล่อยผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทยประจำปี 2564 พบว่าจำนวนขยะที่เก็บได้รวมทั้งหมด 7,699 ชิ้น ระบุแบรนด์ได้ 2,616 ชิ้น และไม่สามารถระบุแบรนด์ได้ 5,083 ชิ้น ชี้ให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งควรมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตที่ก่อมลพิษพลาสติกและพวกเขาจะต้องแก้ปัญหานี้ทันที!!!

© Athit Perawongmetha / Greenpeace

ทะเลและมหาสมุทธ

กรีนพีซยังคงมุ่งมั่นปกป้องทะเลไทย เพื่อความมั่นคงของชีวิตแรงงานประมงกลางทะเล ที่เชื่อมโยงกับการรู้ที่มาที่ไปของอาหารทะเล 

กรีนพีซทำงานร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และองค์กรภาคประชาสังคมอีกหลายแห่งรณรงค์ให้ห้างร้านหยุดขายสัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ยังไม่โตเต็มวัยส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารโดยตรง 

เรายังรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานประมงกลางทะเล ที่เชื่อมโยงกับการรู้ที่ไปที่มาของอาหารทะเลผ่านรายงาน ‘Tuna Rangking’ ที่จัดอันดับแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่มีความยั่งยืนที่สุด เพื่อกดดันให้บริษัทพัฒนาวิธีการจับทูน่าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนโยบายด้านแรงงาน

เราฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับทะเลและมหาสมุทธถึง 2 เรื่องคือ ‘Entangled’ นำเสนอความขัดแย้งระหว่างวิถีของชุมชนประมงล็อบสเตอร์กับความเร่งด่วนในการอนุรักษ์วาฬไรต์แอตแลนติกเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์ และ ‘The Buoyancy’ ภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงไทย ควบคู่กับการจัดกิจกรรมออนไลน์บอร์ดเกม โดยชวนผู้เข้าร่วมส่วนบทบาทเป็นแรงงานประมงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ บนเรือ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในมหาสมุทรในมิติที่หลากหลายและได้มีส่วนรวมมากขึ้น

ในช่วงท้ายปีกรีนพีซปล่อยผลการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกในประเทศไทยประจำปี 2564 พบว่าจำนวนขยะที่เก็บได้รวมทั้งหมด 7,699 ชิ้น ระบุแบรนด์ได้ 2,616 ชิ้น และไม่สามารถระบุแบรนด์ได้ 5,083 ชิ้น ชี้ให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งควรมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้ผลิตที่ก่อมลพิษพลาสติกและพวกเขาจะต้องแก้ปัญหานี้ทันที!!!