ในวันที่ 13-22 ธันวาคม 2564 นี้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) ของโครงการอันอื้อฉาวของตนภายใต้ชื่ออันสวยหรูว่า “โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งประกอบไปด้วย EHIA โครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไอสงขลา EHIA โครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลา EIA โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา และ EIA โครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ระยะที่ 1

เวที ค.1 ข้างต้น เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุหลังจากกำลังเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น.ของวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพื่อทวงถามรัฐบาลให้ทำตามข้อตกลงที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment)แบบมีส่วนร่วม โดยต้องยุติการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่อื้อฉาวไว้ก่อน

ในที่นี้ เราได้สรุปประเด็น EHIA/EIA จากเอกสารเผยแพร่ที่จะใช้ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณะชนถึงความไม่ชอบมาพากลและความฉ้อฉลที่เกิดขึ้น

อนาคตอะไร อนาคตใคร?

“โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นคำสวยหรูที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อเปิดทางให้บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำการฟอกเขียว(Greenwashing) แผนการลงทุนขนาดใหญ่ของตนที่จะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล(fossil gas)

ตามเอกสารเผยแพร่ที่ใช้ในเวที ค.1 โครงการท่าเทียบเรือก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทีพีไอสงขลาจะมีลักษณะเป็นสะพานยื่นไปในทะเล (Jetty) สามารถรองรับเรือที่มีขนาดไม่เกิน 150,000 เดทเวทตัน (DWT) (หรือราวๆ 4 สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานต่อกัน) ซึ่งจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันดีเซล น้ำมันเตาและน้ำมันเครื่องบิน) ระบบท่อขนส่งและถังเก็บสำเร็จรูปไว้สำหรับรองรับการขนถ่ายจากเรือไปเก็บไว้ในพื้นที่ลานถังเก็บสำเร็จรูปบนชายฝั่ง

เฉพาะการขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปทางเรือ เอกสารเผยแพร่ระบุว่า คาดว่าจะมีจำนวนเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปเข้าเทียบท่าสูงสุดประมาณ 10 เที่ยวต่อเดือน ส่วนโครงการท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์และท่าเทียบเรือน้ำลึกทีพีไออีก 2 ท่าเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเทกองและตู้คอนเทนเนอร์จากเรือ เอกสารเผยแพร่ที่ใช้ในเวที ค.1 นั้นไม่มีรายละเอียดอื่นใดมากไปกว่าขนาดของท่าเทียบเรือและการใช้พื้นที่ร่องน้ำร่วมกันระหว่างท่าเทียบเรือที่มีอยู่ทั้งหมด และในกรณีที่เลือกท่าเทียบเรือแบบมีการขุดลอกร่องน้ำ จะมีการขุดลอกร่องน้ำในทะเลให้ได้ระดับความลึกประมาณ 18 เมตร

ที่มา : โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลา

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลาจะออกแบบให้เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle) โดยใช้ก๊าซฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงจากกระบวนการแปรสภาพก๊าซฟอสซิลเหลว (Regasification Process) โดยมีอัตราการใช้ประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปี ส่วนเชื้อเพลิงสำรองที่ใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉินคือน้ำมันดีเซลประมาณ 42,000 ลูกบาศก์เมตร โครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลาจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม (Installed Capacity) 2,900 เมกะวัตต์ ประมาณร้อยละ 95 จะจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

สุดท้ายคือโครงการสวนอุตสาหกรรมจะนะจังหวัดสงขลาระยะที่ 1 ซึ่งตามเอกสารเผยแพร่ที่ใช้ในเวที ค.1 ระบุว่า ได้ออกแบบให้พื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบาแยกเป็น 2 ส่วน ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือในพื้นที่ตำบลนาทับและด้านทิศใต้ในพื้นที่ตำบลสะกอม ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตจะอยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่ของตำบลนาทับและตำบลสะกอม

แม้จะมีการกำหนดถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ห้ามเข้ามาตั้ง เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น แต่อุตสาหกรรมเป้าหมายในโครงการสวนอุตสาหกรรมก็ไม่ใช่แบบจำลองธุรกิจของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำต้องพึ่งพานโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐ การร่วมทุนหรือการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนอุตสาหกรรมอื่นๆ

จากการชี้แจงผ่านสื่อของนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเดือนมีนาคม 2564 แผนการลงทุนที่จะนะรวมถึง “ศูนย์อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าสะอาด อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์ และแก๊สธรรมชาติ (LNG) รวม 3,700 MW” ซึ่งแตกต่างไปจากเอกสารเผยแพร่ที่ใช้ในเวที ค.1 ซึ่งไม่ระบุว่าถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ นัยว่าจะเป็นการฟอกเขียว(greenwash)แผนการลงทุนระยะต่อไปเท่านั้น

ดังนั้น เป้าหมายที่แท้จริงของโฉมหน้าโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) ไม่ใช่อะไรอื่น คือการขึ้นมาเป็นผู้เล่นหลักที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง(oligarchs) ในการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซฟอสซิล (โรงไฟฟ้า ระบบท่อส่งก๊าซ และสถานีรับ-จ่ายก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG terminal) เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองของตน

ก๊าซฟอสซิล : กับดักสู่เส้นทางหายนะสภาพภูมิอากาศ

เนื่องจากกระแสการปลดแอกถ่านหินในภูมิภาคเอเชียมาแรง ก๊าซฟอสซิลจึงถูกทำให้ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นทางเลือกที่จำเป็นในทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซฟอสซิลทั่วโลกทั้งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและการวางแผนจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 มีมูลค่าราว 3.8 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ เอเชียเป็นทวีปที่มีขีดความสามารถในการนำเข้าก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG) เกือบ 3 ใน 4 ของปริมาณที่จะมีการพัฒนาทั้งหมด

สถานนีก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG)ที่หลุยส์เซียน่า © Christian Aslund / Greenpeace

ในกรณีของประเทศไทย ทั้งแผนพลังงานชาติที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดรายละเอียดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(gas plan) ได้มุ่งเน้นไปสู่การเป็นหนึ่งใน LNG Hub ของเอเชีย 

อย่างไรก็ตาม บทบาทของก๊าซฟอสซิลในฐานะเป็นตัวเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความเชื่อที่ว่าก๊าซฟอสซิลเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศแทนถ่านหินเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง [1]

เรือบรรทุกก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG) จอดเทียบท่า © Bob Pearson / Greenpeace

ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) ระบุว่า ในปี 2562 การเผาไหม้ก๊าซฟอสซิลปล่อยก๊าซเรือนกระจก 22% ของการปล่อยจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก[2] และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป งบคาร์บอน (carbon budget) ของโลก (ซึ่งคือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ยังปล่อยสู่บรรยากาศได้โดยที่ไม่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มมากไปกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส) จะหมดลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนจากถ่านหินเป็นก๊าซฟอสซิลก็เป็นทางตัน การวิเคราะห์ของ Bloomberg New Energy Finance [3] ระบุว่า ถ้าแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดในโลกด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลภายในปี 2598 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของความตกลงปารีส

นักวิเคราะห์ด้านสภาพภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่า การปล่อยก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน(ตั้งแต่การขุดเจาะ การขนส่ง แปรสภาพ และการเผาไหม้) ของก๊าซฟอสซิลสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศมากกว่าที่เคยประเมินมาก่อน การวิจัยของ Environmental Defend Fund พบว่า การรั่วไหลของก๊าซมีเทนตลอดห่วงโซ่อุปทานก๊าซฟอสซิลในสหรัฐอเมริกามีมากกว่าที่องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา(USEPA) ประเมินในปี 2553 ถึง 60% [4] ก๊าซมีเทนมีศักยภาพก่อให้เกิดโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 86 เท่า และ 34 เท่า เมื่อพิจารณาตามกรอบเวลา 20 ปี และ 100 ปี ตามลำดับ [5]

ในการขนส่งก๊าซฟอสซิลโดยเรือเดินสมุทรจากผู้ผลิตไปยังผู้ใช้ ก๊าซจะถูกอัดให้เป็นของเหลวด้วยอุณหภูมิติดลบ 162 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาลราว 10% ของก๊าซฟอสซิลที่จ่ายเข้าไป [6] และต้องใช้สารทำความเย็นที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ การประเมินของ The Natural Resources Defense Council ระบุว่า กระบวนการทำให้ก๊าซฟอสซิลเป็นของเหลว(liquefaction) การขนส่งทางเรือ และการแปรสภาพก๊าซฟอสซิลเหลว(regasification) จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 8% ถึง 21% ในช่วงกรอบเวลา 20 ปี [7]

การขยายตัวของการใช้ก๊าซฟอสซิลในเอเชียข้ดแย้งกับฉากทัศน์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์สุทธิ(net-zero emissions scenarios) เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ [8] ย้ำว่า การใช้ก๊าซฟอสซิลทั่วโลกต้องเพิ่มสูงสุดไม่เกินปี 2568 และต้องลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้นไปจนถึงปี 2593 ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายกำลังผลิตก๊าซฟอสซิลเหลว(LNG) และการค้าก๊าซฟอสซิลในรูป LNG จะลดลง 60% ในปี 22563 และ 2593

โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล : แหล่งกำเนิดไนโตรเจนไดออกไซด์-สารตั้งต้นของ PM2.5

โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงคือแหล่งกำเนิดหลักของมลพิษทางอากาศ แม้จะเข้าใจกันกันว่า ก๊าซฟอสซิลสะอาดกว่าถ่านหิน จึงปล่อยมลพิษน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของกระทรวงการค้า อุตสาหกรรมและพลังงานของเกาหลีใต้ระบุว่า โรงไฟฟ้าก๊าซจะปล่อยมลพิษทางอากาศ 0.171 กิโลกรัมต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสามของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปล่อยมลพิษทางอากาศออกมา 0.561 กิโลกรัมต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง [9]

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลของกลุ่มประเทศในยุโรปเลิกใช้ก๊าซฟอสซิล © Max Zielinski / Greenpeace

ลักษณะการทำงานและเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าก๊าซเป็นตัวกำหนดการปล่อยมลพิษทางอากาศ  โรงไฟฟ้าก๊าซส่วนใหญ่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด การศึกษาในเกาหลีใต้ [10] ชี้ให้เห็นว่า การปิดและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซเฉลี่ยต่อหน่วยคือ 148 ในปี 2562 และเพิ่มเป็น 166 ในปี 2563 กล่าวง่ายๆ คือ ทุกๆ 2 วัน โรงไฟฟ้าก๊าซจะเปิดเดินเครื่อง 1 ครั้ง นำไปสู่การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศมากกว่าการเดินเครื่องต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุณหภูมิในช่วงเปิดและปิดจะต่ำกว่า ทำให้ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เช่น selective catalytic reduction (SCR) ลดลง และปล่อยมลพิษทางอากาศในปริมาณมาก ในกระบวนการนี้ ยังปล่อยคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ไม่ได้ควบคุมออกมาในปริมาณมาก ในเกาหลีใต้ มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างการเปิดและปิดเครื่องโรงไฟฟ้า(ไม่เกินห้าชั่วโมง) จะยกเว้นจากข้อบังคับการปล่อยมลพิษ

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์คือมลพิษทางอากาศตัวหลักที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิง  โดยเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลันและเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว และเป็นสารตั้งต้น(precursor) ตัวสำคัญของฝุ่น PM2.5

การศึกษาของกรีนพีซ ประเทศไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ให้เห็นถึงแหล่งกำเนิดของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงซึ่งดำเนินการอยู่ในอำเภอแก่งคอย(สระบุรี) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและบริเวณโดยรอบ(ระยอง) อำเภอบางปะกง(ฉะเชิงเทรา) อำเภอวังน้อย(พระนครศรีอยุธยา) จังหวัดราชบุรี และอำเภอจะนะ(สงขลา) ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หากมีโครงการโรงไฟฟ้าทีพีไอสงขลาที่มีกำลังผลิต 2,900 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นที่อำเภอจะนะ มลพิษไนโตรเจนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากมายเพียงใด

"Right to Clean Air" Activity in Bangkok. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
นักกิจกรรมกรีนพีซถือป้ายที่มีข้อความ “ขออากาศดัคืนมา Right to Clean Air” บริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 © Baramee Temboonkiat / Greenpeace

อนาคตของจะนะ

เอกสารประกอบการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) ในวันที่ 13-22 ธันวาคม 2564 ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่จะนะซึ่งเป็นอนาคตที่เป็นหายนะและล้างผลาญต่อระบบนิเวศทะเล ชายฝั่ง แผ่นดินและชุมชนที่พึ่งอาศัยและเกื้อกูลทรัพยากรไปถึงลูกหลาน

การที่จะนะจะถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งใน LNG Hub ของเอเชียโดยน้ำมือของผู้เล่นหลักที่ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง(oligarchs) อย่างบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ก็คือภาพของท้องทะเลที่เต็มไปด้วยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอลต่อกัน 4 สนาม ที่บรรทุกก๊าซฟอสซิลเหลวและน้ำมันนับหลายร้อยลำในแต่ละปี มาจอดทอดสมอและเทียบท่าเพื่อขนถ่ายไปยังลูกค้า และแปรรูปเป็นก๊าซที่ใช้ในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ป้อนไฟฟ้าเข้าระบบสายส่ง โดยไม่สนใจว่าปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบจะล้นเกินความต้องการใช้มากมายเพียงใด

ยังไม่นับว่าก่อนหน้านี้ ภายใต้แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(gas plan) ของกระทรวงพลังงาน จะนะจะเป็นคลังก๊าซลอยน้ำ (Floating Storage Regasification Unit-FSRU) นอกหนือจาก FSRU สำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซพระนครใต้และบางปะกง ตลอดจน LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ที่หนองแฟบ มาบตาพุด และชายฝั่งทวายของเมียนมา

การต่อสู้เพื่อยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เป็นอนาคตแห่งความหายนะ การต่อสู้ของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเพื่อให้รัฐบาลดำเนินกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Environmental Assessment) อย่างมีส่วนร่วม/เป็นธรรม โปร่งใส/และเป็นอิสระ เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง

ท้ายที่สุด การต่อสู้ของชาวจะนะต่ออำนาจนิยมและอิทธิพลฉ้อฉลที่รวมหัวกันช่วงชิง-แย่งยึดทรัพยากรภายใต้วาทะกรรม “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” คือสิทธิขั้นพื้นฐาน คือการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง และการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ 


อ้างอิง

[1] Robert Rozansky. Asia’s Gas Lock-In : Proposed Gas Infrastructure Expansions Are Poor Investments For The Region – and the World. Global Energy Monitor, Published October 2021.

[2] International Energy Agency (IEA). 2020a. Gas 2020. Published June, 2020.

[3] BloombergNEF (BNEF). New Energy Outlook 2021. Published July, 2021.่อ

[4] Alvarez, R et al. Assessment of methane emissions from the U.S. oil and gas supply chain. Science. Published July 13, 2018. DOI: 10.1126/science. aar7204

[5] Myhre, G et al. Anthropogenic and Natural Radiative Forcing in Climate Change 2013: The Physical Science Basis. Contribution of Working Group I to the Fifth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change. Published March 24, 2014.

[6] Total. Innovation: Using less energy to liquefy natural gas. CNBC. Published October 8, 2018.

[7] Natural Resources Defense Council (NRDC). Sailing to Nowhere: Liquefied Natural Gas is Not an Effective Climate Strategy. Published December 8, 2020.

[8] International Energy Agency (IEA). 2020a. Gas 2020. Published June, 2020.

[9] Solution for Our Climate. Bridge to Death : Air Quality And Health Impacts of Fossil Gas Power. Published November 2021.

[10] Ji-Hoon Lee (April 7, 2019). “[Exclusive] The Betrayal of “Eco-Friendly” LNG-fired Power Plants… Turns Out They Emit Toxic Substances in Large Amounts”. Hankyung Securities.