กรีนพีซอยากส่งต่อเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจจากอาสาสมัครของเรา พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อโลกที่ดีกว่าและยังเป็นพลังให้คนอื่น ๆ ลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่อย่างต่อเนื่อง อาสาสมัครกรีนพีซมีความหลากหลาย และมีทักษะ ความสนใจที่แตกต่างกันตั้งแต่การใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงหรือการเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงอย่างสันติวิธี ไปจนถึงคอยกระจายข่าวสารผ่านทางโลกออนไลน์ให้ทุกคนรับรู้ แต่ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้เพื่อความยุติธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ พวกเขาเหล่านี้คือพลังขับเคลื่อนงานรณรงค์ของกรีนพีซที่แท้จริง

นี่เป็นเรื่องราวพิเศษเพียงบางส่วนจากประสบการณ์ของอาสาสมัครกรีนพีซที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความหวังที่มีต่อโลกใบนี้

การเยียวยาผ่านเรื่องราวพิเศษ

โรนัน เรนซ์ นาโพโต้ (อายุ 23 ปี) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา/ วิศวกรอุตสาหการ, ฟิลิปปินส์

ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2556 โรนันและครอบครัวของเขาที่อาศัยอยู่ในเมืองวิซายัสตะวันออก ฟิลิปปินส์ได้ทราบข่าวว่าพายุไต้ฝุ่นกำลังมา เขาเล่าว่า “การที่อาศัยอยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เราเคยชินกับการเกิดไต้ฝุ่นมาก ๆ เราจึงไม่กังวลมากเท่าไหร่นัก” เมื่อไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนที่นับว่าเป็นไต้ฝุ่นที่ทรงพลังที่สุดลูกหนึ่งในประวัติศาสตร์พัดผ่านฟิลิปปินส์ แม้จะเคยชินกับพายุไต้ฝุ่นแต่เราไม่ได้เตรียมรับมือกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นจากพายุลูกนี้ที่สร้างความเสียหายและการสูญเสียชีวิตนับไม่ถ้วน

หลายปีหลังจากนั้น โรนันมักตื่นขึ้นจากฝันร้ายพร้อมกับน้ำตาหลังจากฝันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุไห่เยี่ยน “แม้ว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปแล้ว ฉันยังจำเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ และเจ็บปวดเสมอเวลานึกถึงช่วงเวลานั้น” 

ความเจ็บปวดที่โรนันต้องเผชิญจากไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้เขาเริ่มเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสภาพภูมิอากาศ ในตอนนี้เขาเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชนและชุมชนเพื่อต่อต้านมลพิษขยะที่กำลังเกิดขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทำให้เขาตระหนักได้ว่าปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

กรีนพีซได้จัดกิจกรรมเพื่อแบ่งปันเรื่องราวการขับเคลื่อนทางสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นเขาเริ่มเป็นอาสาสมัครกรีนพีซและได้เข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก เมื่อตอนที่เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้เข้าเทียบท่าที่เมืองตักโลบันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice Tour) เขาอาสาเป็นไกด์ท้องถิ่นสำหรับกิจกรรมครั้งนี้ โรนันร่วมผลักดันผู้กำหนดนโยบายในชุมชนของเขาให้มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีและการลดพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

เขาเป็นนักพูดที่มีวาทศิลป์คมคายและเล่าเรื่องได้เข้าใจง่าย โรนันมักพูดเรื่อง ความเป็นธรรมทางด้านสภาพภูมิอากาศและเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงวิทยาศาสตร์ “ฉันพูดถึงผลกระทบของการเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการบริโภคอาหาร และการทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม และหัวข้ออื่น ๆ ด้วย” เขากล่าว

กิจกรรมที่ร่วมกับกรีนพีซที่โรนันประทับใจมากที่สุดคือการรวบรวมเรื่องราวจากชุมชนต่างๆ ในโอกาสครบรอบการเกิดไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน

“มันย้ำเตือนผมว่าเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือเรื่องราวของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ” เขาเล่า “สถิติของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีความสำคัญ แต่เราไม่ต้องการเพียงแค่ตัวเลขเหล่านั้น เราต้องรับรู้และจดจำด้วยว่าหลายคนต้องเผชิญกับอะไรบ้าง”

โรนันทำงานวิจัยร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการปรับตัวของชุมชน อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Balud ซึ่งเป็นองค์กรที่นำโดยเยาวชนที่ต้องการสร้างจิตสำนึกทางนิเวศวิทยาในหมู่เกาะวิซายัส “ฉันต้องการสร้างผู้นำเยาวชนในต่างจังหวัดที่ถูกมองเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มที่เปราะบาง เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และทำให้ทุกคนรู้ว่าพวกเรามีเรื่องราวที่ทรงพลังที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่”

กระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กหนุ่มอย่างโรนัน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำให้เขาจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลา

“ในภาษาถิ่นของเรามีคำว่า Padayon ซึ่งแปลว่า ‘ไปต่อ’ บางครั้งการสนับสนุนให้ขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไปเป็นเรื่องยาก และในบางครั้งคุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หรือไม่ แต่มันก็คุ้มค่าที่จะก้าวต่อไป พยายามต่อไป และก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราล้มเลิกมันก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนไป”

ศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลง

หลี่ ฮุ่ยหลิง (อายุ 39 ปี) ศิลปิน, ครูและนักธุรกิจประกอบกิจการเพื่อสังคม ประเทศมาเลเซีย

หลี่ ฮุ่ยหลิง มองเห็นปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก เธอเกิดในครอบครัวศิลปิน แม่ของเธอเป็นศิลปินและมีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จนเธอได้รับจากแม่มาเต็ม ๆ “ตอนเป็นเด็ก ฉันกังวลเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศ การเกิดฝนกรด มลพิษจากขยะ และการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องจริงจังมากสำหรับเด็กอย่างฉัน”

หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยซาร่าห์ลอว์เรนซ์ (Sarah Lawrence college) ในนิวยอร์กและย้ายกลับไปมาเลเซีย  ฮุ่ยหลิงเริ่มกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะหลังวิกฤตการณ์โรงงานนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกุชิมะในปี 2554 ซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่เธอ “กรีนพีซทำงานอย่างแข็งขันในพื้นที่ และตรวจสอบขอบเขตการแพร่กระจายของมลพิษที่เกิดขึ้น แล้วนำมาบอกให้ประชาชนรับรู้ ฉันประทับใจที่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา และโปร่งใส” เธอกล่าว

ฮุ่ยหลิงตัดสินใจเริ่มตั้งกลุ่มกรีนพีซ มาเลเซียในช่องทางออนไลน์ สิ่งนี้ช่วยปูทางให้เกิดการจัดตั้งสำนักงานในมาเลเซียในที่สุดในปี 2560

ตั้งแต่แรกเริ่มฮุ่ยหลิงเป็นอาสาสมัครที่มุ่งมั่นและมีความเป็นผู้นำเป็นอย่างมาก เธอช่วยจัดการสิ่งต่าง ๆ และมักเป็นคนจัดงานพบปะตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างร้านกาแฟและลานประชุมของชุมชน ตลอดจนจัดกิจกรรมเทรนนิ่ง และเข้าร่วมงานรณรงค์ต่าง ๆ บ่อยครั้ง เช่น กิจกรรม Radioactive Ruse, Stop The Haze และ Break Free From Plastic

“การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้สอนฉันว่าการทำความดีไม่ใช่การทำชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการวิ่งมาราธอน และเราจำเป็นต้องพัฒนาความอดทนและความยืดหยุ่นเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้” เธอเล่า “ฉันคิดว่าการออกมารณรงค์เป็นเรื่องปกติที่เราจะออกมาพูดประเด็นทางสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีและปลอดภัย”

ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เธอได้จัดกิจกรรมศิลปะแบบมีส่วนร่วมกับกรีนพีซ มาเลเซีย เพื่อสื่อสารเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า มลพิษที่เกิดขึ้นจากพลาสติก และการบริโภคเกินความจำเป็น เช่น กิจกรรม Wings of Paradise เธอนำทีมอาสาสมัครเยาวชน 30 คน สร้างจิตรกรรมฝาผนังความยาว 64 เมตร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ระดับโลกเพื่อต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าในปาปัว

“เราเห็นความไม่เท่าเทียมระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ” ฮุ่ยหลิงยังกล่าวอีกว่า “อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังในการเคลื่อนไหวของเยาวชนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เยาวชนในปัจจุบันมีข้อเรียกร้อง ชัดเจน และกระตือรือร้นที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นรวมถึงต้องการอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน”

คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากที่สุด?

โดยรวมแล้วฉันอยากให้สังคมมีความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และนึกถึงคนอื่น ๆ มากขึ้น ฉันยังต้องการเห็นเศรษฐกิจแบบแบ่งปันมากขึ้นและแบบจำลองที่ยั่งยืนด้านการประกอบการ การผลิตและการบริโภค

การเป็นอาสาสมัครกรีนพีซมีความหมายอย่างไร?

ฉันคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีแนวคิดที่ต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มันจะเกิดขึ้นได้จากการที่เรามีส่วนร่วมและมีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง การเป็นอาสาสมัครกรีนพีซแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ว่ากรีนพีซต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าการแก้ไขปัญหาแบบไม่ยั่งยืนหรือเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรเท่านั้น

ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก

เอมิกา แจ่มจันทร์ศรี (อายุ 24 ปี) นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ประเทศไทย

ช่วงปี 1 เอมิกาได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดเพียงเพราะเหตุผลที่ว่ากิจกรรมนี้จะมีพาไปดำน้ำ ด้วยความที่เธอสนใจกิจกรรมดำน้ำเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทันที เพียงเพราะคำว่า “ได้ดำน้ำฟรี” แต่ก่อนจะได้ไปดำน้ำทุกคนจะต้องเก็บขยะที่อยู่ตามชายหาดและคัดแยกตามประเภทพลาสติกก่อน ระหว่างที่คัดแยกขยะเธอฉุกคิดได้ว่า “ขยะที่เรากำลังคัดแยกอยู่ส่วนมากเป็นพลาสติกทั้งนั้นเลย ถ้าขยะที่เรากำลังแยกอยู่มีพลาสติกเยอะขนาดนี้ และขยะที่ตกค้างอยู่ในมหาสมุทรล่ะ?”

การที่ได้เห็นขยะพลาสติกเป็นจำนวนมากขนาดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มิกาสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองจากความพยายามในการใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด จากความมุ่งมั่นนี้เธอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซในปี 2563 โดยครั้งแรกเธอเข้าร่วมกิจกรรม Solar Generation ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์และระบบของพลังงานแสงอาทิตย์ และได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาของวิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี นอกจากนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมเก็บและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกนโยบายปิดประเทศ และออกนโยบายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดทำให้กิจกรรมหลายอย่างหยุดชะงักไป แต่มิกายังคงเข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์ที่ทางกรีนพีซจัดขึ้นอย่างการเป็นพิธีกรใน Facebook Live ของกรีนพีซ แม้บางกิจกรรมจะไม่ได้ถูกเปิดเผยออกไปว่าเธอเป็นคนทำอย่างการวบรวมแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับงานรณรงค์ด้านอาหารอีกด้วย

ประสบการณ์ที่เธอชอบที่สุดสำหรับการเป็นอาสาสมัครกรีนพีซคือการฝึกฝนทีมเรือเพื่องานรณรงค์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เธอได้ทักษะและมิตรภาพจากอาสาสมัครด้วยกันอย่างล้นหลาม “ฉันไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน และได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับการขับเรือ” เธอกล่าว

นอกจากความมุ่งมั่นในการลดการใช้พลาสติกแล้ว เอมิกายังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อมนุษยชาติและสัตว์ป่า และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุด “ขณะนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมและไฟไหม้มากมาย ซึ่งทำให้ทุกอย่างได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หากต้องการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ผู้มีอำนาจควรใช้กฎหมายและข้อบังคับเพื่อปฏิบัติอย่างจริงจังได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการรวมตัวประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่หากไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างนอกจากการรวมตัวประชุม ปัญหาจะยังเกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ” 

คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?

เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และภาคธุรกิจต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อมลพิษที่ตัวเองเป็นคนสร้างขึ้น

การสนับสนุนในช่องทางออนไลน์

มินซอบ คิม (อายุ 28 ปี) นักออกแบบเว็บไซต์ เกาหลีใต้

คิมมินซอบเริ่มตื่นตัวต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง สาเหตุมาจากบ้านของเขาในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ที่มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 10 ล้านคนถูกน้ำท่วมหนักหลังจากฝนตก

“คนส่วนมากในวัย 20 ปีอย่างผมอาศัยอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมหลังจากเหตุการณ์พายุเข้าหรือฝนตกหนักที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผมได้รับผลกระทบนี้อย่างจริงจังเมื่อย้ายมาอยู่ที่กรุงโซลซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าครองชีพสูงและยากเกินกว่าที่จะสามารถซื้อบ้านหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถรับมือกับเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดจากโลกร้อนได้ เราทุกคนกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่เลวร้ายและรุนแรงขึ้น” เขากล่าว

ไม่นานหลังจากนั้นมินซอบเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกรีนพีซ โดยใช้ทักษะการเป็นนักออกแบบเว็บไซต์ออกเพื่อออกแบบภาพต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสำหรับงานรณรงค์ต่าง ๆ ของกรีนพีซเกาหลี

“ผมกลัวทุกครั้งที่ได้ยินข่าวฝนตกหนัก แต่ความกลัวไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าผมย้ายจากที่นี่ไปที่อื่น ก็จะมีคนเจอสถานการณ์เดียวกัน ผมจึงตัดสินใจที่จะทำบางอย่างที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” เขากล่าว 

มินซอบเข้าร่วมกิจกรรม ‘Green New Deal Civic Action’ ของสำนักงานกรีนพีซที่กรุงโซล เขาได้ติดตามการดำเนินการทางกฎหมายของสมาชิกรัฐสภาในเกาหลี หน้าที่ส่วนหนึ่งของเขาคือการเรียกสำนักงานสมาชิกรัฐสภาเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาออกกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality act ) และเล่าประสบการณ์ที่พบเจอจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากอาสาสมัครในต่างประเทศที่เป็นนักล็อบบี้ เขาเรียกร้องให้นักการเมืองท้องถิ่นลงมือดำเนินการเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ผมรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง มากกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้มีคนมาแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นเสียอีก” เขากล่าว

“การเป็นอาสาสมัครเป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้คนที่มีความกังวลและสนใจในประเด็นเดียวกันจะร่วมขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน เราสามารถเรียนรู้กันและกันผ่านมุมมองที่แตกต่าง สำหรับผม ผมได้เรียนรู้จากเพื่อนอาสาสมัครด้วยกันที่สูญเสียการได้ยินว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสิทธิมนุษยชนเช่นกัน”

คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงใดมากที่สุด

ผมอยากให้ทุกคนหันมาสนใจและร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากขึ้น การที่เริ่มต้นที่ตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ฉันเชื่อว่าพลังของมวลชนสามารถกดดันให้รัฐบาลรวมถึงภาคธุรกิจเข้ามาร่วมลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังได้แน่นอน

ในฐานะพลเมือง เราจำเป็นต้องติดตามรวมถึงกดดันรัฐบาลและภาคธุรกิจ โทรศัพท์จากผู้คนห้าสายในวันนี้สามารถเปลี่ยนวาระการประชุมในเช้าวันรุ่งขึ้นได้ ทำไมคุณไม่เรียกสมาชิกรัฐสภามาทำสิ่งที่ถูกต้อง? ทำไมคุณไม่โทรหาบริษัทและบอกว่ามีโอกาสมากที่จะทำให้การทำธุรกิจเป็นแบบยั่งยืนมากขึ้นได้ การเรียกร้องผ่านโทรศัพท์เพียงครั้งเดียวสามารถสร้างความแตกต่างได้มากกว่าการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงด้วยซ้ำ


หากคุณเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญ เราอาจเริ่มจากการเป็นอาสาสมัคร และร่วมสร้างการขับเคลื่อนในสังคม ตอนนี้ก็ใกล้สิ้นปีแล้ว หากใครกำลังตั้งใจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในปีหน้า สามารถร่วมติดตามข่าวสารและเป็นอาสาสมัครกรีนพีซได้ ที่นี่