กระบวนการจัดการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเกือบมาถึงสุดทาง เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จัดส่งรายงานฉบับดังกล่าวให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดการอนุมัติในเร็ววันนี้

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ให้เห็นความสำคัญของต้นทุนภายนอก (external costs) ซึ่งเป็น ต้นทุนที่ไม่ได้รวมอยู่ในการประกอบกิจการของโครงการนั้น ๆ โดยตรง แต่เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของกิจการนั้น ทั้งค่ารักษาพยาบาลอันเกิดจากความเจ็บป่วยจากมลพิษ การฟื้นฟูมลพิษที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและต้นทุนที่เกิดจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งตัวอย่างต้นทุนภายนอกที่ชัดเจนจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั่นคือการสะสมสารปรอทในห่วงโซ่อาหาร

“ในรายงานกลับกลับเขียนว่าจะไม่ทำการบำบัดปรอทอย่างต่อเนื่องเพื่อประหยัดต้นทุน และ ยังไม่ปรากฏว่าจะมีการวัดการปลดปล่อยปรอทแบบออนไลน์ที่ปลายปล่อง อย่างที่ทราบว่าอันตรายของปรอทคือการตกสะสมในห่วงโซ่อาหาร และ การรับสัมผัสผ่านการบริโภคปลา ซึ่งปรอทจะอยู่ในรูปปรอทอินทรีย์ซึ่งอันตรายมาก แต่รายงาน EHIA นี้ (ทั้งฉบับย่อ และ ฉบับสมบูรณ์)ไม่ได้ทำแบบจำลองการตกสะสมของปรอทในปลาที่เหมาะสมทางวิชาการ อีกทั้งแม้จะมีการวัดปรอท แต่กลับวัดปรอทในฝุ่นเท่านั้น ทั้งๆที่ในหน้าที่ 227 ก็แสดงเองว่าปรอทจะถูกปลดปล่อยเป็นไอเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นต้องทำการเฝ้าระวังปรอทในไอในอากาศ ไม่ใช่แค่ในฝุ่นเท่านั้น”

การวิพากษ์รายงาน EHIA ฉบับดังกล่าวบนเวที “พูดความจริงกับอํานาจ : EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสอบตก” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายตือโละปาตานี PERMATAMAS มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโครงการใช้ความรู้สร้างเสริมความเข้มแข็งชุมชนในการอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฯ จึงเป็นการนำเสนอความจริงสู่สาธารณะที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องรับฟัง

รายละเอียดในรายงาน EHIA ฉบับดังกล่าวมิใช่เพียงประเด็นด้านผลกระทบและการสะสมมลพิษเท่านั้นที่ประเมินรายงานดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริง แต่หมายรวมถึงประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานที่ภาครัฐกล่าวอ้างมาโดยตลอดเช่นกัน

จากรายงาน EHIA ฉบับนี้ระบุเกี่ยวกับต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (12.50-32.50บาทต่อหน่วย) และต้นทุนในการลงทุนกังหันลมมีราคาแพง (200,000-450,000 บาทต่อกิโลวัตต์) โดยอ้างอิงจากเอกสารซึ่งเผยแพร่ ในปี 2542 หรือ เกือบ 20 ปีมาแล้ว

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนชี้ให้เห็นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนบนฐานความมั่นคงทางด้านพลังงาน

“ต้องถือว่ารายงาน EHIA ฉบับนี้ เป็นเอกสารที่ล้าสมัยเอามากๆเพราะต้นทุนโซลาร์เซลล์และกังหันลมได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ก็ในช่วงประมาณ 5-6 ปีมานี่เอง รายงานเรื่อง “Green Energy Barometer” (ซึ่งอ้างถึง รายงานของ Bloomberg) พบว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากกังหันลมบนบกเท่ากับ 2.13 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าในรายงาน EHIA ฉบับนี้ และต่ำกว่าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในปี 2560 “ถ้าประเทศไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจาก 23% เป็น 37% จะมีผลทำให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าสิ่งแวดล้อมรวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะลดลงประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี(2.7แสนล้านบาทต่อปี) กระทรวงพลังงานไทยน่าจะทราบดี เพราะได้ทำการศึกษาร่วมกับ IRENA และได้มีผลการศึกษาเรื่อง “Renewable Energy Outlook Thailand”

หากความมั่นคงหมายถึงความหลากหลายของเชื้อเพลิงและราคาที่ถูกที่สุดเท่านั้น วิธีคิดแบบนี้ของรัฐบาลเป็นวิธีคิดเมื่อยุคแรกที่เกิดขึ้นในช่วง 2516 ในภาวะที่มีวิกฤตน้ำมัน ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นคือ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นฐาน คือความต้องการเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเป็นฐาน (base load) ที่จะเปลี่ยนมาจากการใช้แก๊สแทน แต่การคิดแบบนี้นำมาสู่ความไม่เป็นธรรมด้านสังคมและเศรษฐกิจ การสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำเป็นต้องได้ฉันทามติอันเป็นการหลอมรวมทางกฎหมายและวัฒนธรรมทางด้านความเป็นธรรม ต่อมาจึงเกิดกระบวนการที่พูดถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต้องอยู่บนความมั่นคงด้านราคา สังคมและสิ่งแวดล้อม

“อยู่ที่สังคมไทยมองสั้นก็สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเลยทุกจังหวัด สร้างให้เต็มประเทศ แต่หาก มติความมั่นคงทางด้านพลังงานที่สังคมมองยาว เขามองมติด้านความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม หากรัฐไม่อยากรบกับชาวบ้านก็เอาเงินลงทุนที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปลงทุนในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพ การลดการใช้ไฟฟ้าใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นซึ่งถูกที่สุด มันถูกกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม” รศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ อดีตประธานสายพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี) กล่าวย้ำ

จริยา เสนพงศ์

About the author

จริยา เสนพงศ์
หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย

Comments

Leave your reply