หลายๆ คนอาจจะเคยคิดว่าปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกและผลกระทบจากขยะพลาสติกเป็นเรื่องไกลตัว ในหนึ่งวันเราแทบไม่ได้ใช้พลาสติก เวลาทิ้งก็แยกประเภทขยะ ถุงที่ใช้ก็นำมารีไซเคิล แต่จริงๆ แล้วสาเหตุและปัญหาของขยะพลาสติกเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ขวดน้ำและเศษโฟมที่ถูกพบบริเวณหาดใกล้ปากคลองละวน จ.ระยอง

พลาสติกกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราซื้อข้าวผัดกับกาแฟ เราอาจจะสร้างขยะพลาสติกไปแล้วถึง 9 ชิ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งกล่องโฟมใส่ข้าว ถุงแกงรองกล่องโฟม ถุงพริกน้ำปลา ช้อนพลาสติก ถุงพลาสติกใบใหญ่ หลอดดูด แก้วกาแฟแบบมีฝาครอบและพลาสติกหูหิ้ว หนึ่งสัปดาห์เท่ากับ 45 ชิ้น หรือ 3,285 ชิ้นต่อปี ตัวเลขอาจจะดูน้อยแต่เมื่อคูณด้วยจำนวนประชากรไทย 68.9  ล้านคนจากสถิติปี พ.ศ. 2559 จะเท่ากับประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกอย่างน้อย 2.3 แสนล้านชิ้นในหนึ่งปี

จากคนหนึ่งที่ไม่เคยตระหนักถึงปัญหาของขยะพลาสติกอย่างจริงจัง หลังจากได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าประเทศอื่นพยายามลดการใช้พลาสติก หลายประเทศขายถุงในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งถุงกระดาษและถุงพลาสติก ที่น่าสังเกตคือราคาของถุงพลาสติกจะสูงกว่าถุงกระดาษถึง 1 หรือ 2 เท่า บางประเทศมีการนำกล่องลังใส่สินค้ามาวางและจัดพื้นที่ให้ลูกค้าประกอบกล่อง นำของที่ซื้อใส่กล่องกลับบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย คนส่วนมากพกถุงผ้า หรือนำถุงล้อลากเล็กๆ มาช๊อปปิ้ง ในขณะที่ประเทศไทยสินค้าต่างประเภทต้องแยกถุง ถ้าเป็นของหนักอย่างขวดน้ำดื่ม ขวดนม จากหนึ่งถุงพนักงานจะซ้อนให้อีกชั้นเพื่อป้องกันถุงฉีกขาด

จากสิ่งที่เห็นทำให้เริ่มตระหนักถึงการใช้พลาสติกอย่างฟุ่มเฟือย เร่ิมที่จะหันมาใช้ถุงผ้า ปฏิเสธถุง หลอดและช้อนพลาสติก แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการลดการใช้พลาสติกคือภาพข่าวแพขยะขนาดยักษ์ยาวหลายกิโลเมตร นอกทะเลชายฝั่งอ่าวไทย ขยะที่ลอยอยู่มีตั้งแต่ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวดน้ำ ขันน้ำ เและเก้าอี้พลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งของเหล่านี้เป็นขยะที่เกิดบนบก แต่กลับไปลอยอยู่กลางทะเล

จากแรงบันดาลใจและความตระหนักถึงปัญหา กลายมาเป็นอาสาสมัคร

ขยะอันเกิดจากการใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ หลอดไฟ ถูกพบเป็นจำนวนมาก โดยอาสาสมัครกรีนพีซ บริเวณหาดใกล้ปากคลองละวน จ.ระยอง

จากความตระหนักถึงปัญหาครั้งนี้ ทำให้เป็นแรงบัลดาลใจในการเข้าร่วมโครงการผู้นำอาสาสมัคร ในโครงการของกรีนพีซประเทศไทย ซึ่งในโครงการนี้เป็นโครงการที่รวมอาสาสมัครมาจากทั่วประเทศ ต่างเพศ ต่างวัย ต่างสายอาชีพ แต่ทุกคนเล็งเห็นถึงปัญหา และโทษของขยะพลาสติกเหมือนๆ กัน

เรามีโอกาสร่วมกิจกรรม Marine waste audit ซึ่งเป็นการลงพื้นที่สำรวจเปรียบเทียบชนิดของขยะในพื้นที่ชายหาด 2 ประเภท คือชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และชายหาดที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ และทั้ง 2 พื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ ที่ไม่มีการจัดการกับขยะเป็นกิจวัตร โดยเลือกสำรวจขยะที่มีขนาดใหญ่กว่าฝาขวดน้ำพลาสติก ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบขยะพลาสติกมากกว่า 2,000 ชิ้น แต่ที่น่าประหลาดใจคือขยะส่วนมากจากทั้ง 2 ชายหาด เป็นขยะพลาสติกที่มาจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก ไฟแช็ค พลาสติกห่ออาหาร ขวดแชมพู หลอดยาสีฟัน ดอกไม้พลาสติก หรือแม้กระทั่งเข็มฉีดยา ที่ตรวจครรภ์ และผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็ก ซึ่งกระแสน้ำสามารถพัดพาขยะเหล่านี้ไปได้ทุกที่

อาสาสมัครกรีนพีซกำลังสำรวจขยะบริเวณชายฝั่ง ที่หาดสวนสน จ.ระยอง

หลายๆ คนคงเคยเห็นรูปภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล เมื่อพลาสติกเข้าไปทำลายระบบนิเวศ ภาพสัตว์ต่างๆ ที่ล้มตายเพราะกินขยะพลาสติก รูปถ่ายพวกนี้ส่วนมากอาจจะถ่ายในต่างประเทศ แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าประเทศไทยคือหนึ่งในกลุ่มประเทศที่เป็นต้นเหตุของขยะในมหาสมุทร ประเทศไทยทิ้งขยะลงสู่มหาสมุทรมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก สาเหตุหลักมาจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง ขยะเพียงประมาณ 40% เท่านั้นที่ได้รับการกำจัดอย่างเหมาะสม

ในขณะที่พลาสติกอำนวยความสะดวกสบายให้กับมนุษย์แต่กลับเป็นภัยคุกคามของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล เรื่องพวกนี้อาจจะดูไกลตัว แต่พลาสติกที่อยู่ในท้องทะเลเหล่านี้ เมื่อถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไปก็จะถูกส่งต่อผ่านห่วงโซ่อาหารมาสู่มนุษย์ มีความเป็นไปได้ว่าอาหารทะเลที่เราบริโภคเข้าไป อาจจะมีมาโครพลาสติกที่มองไม่เห็นปะปนอยู่ก็เป็นได้

อาสาสมัครกรีนพีซจดบันทึกขยะที่พบในแต่ละประเภท บริเวณหาดสวนสน จ.ระยอง

สิ่งสำคัญในตอนนี้ไม่ใช่แค่การตั้งคำถามว่าเราจะกำจัดขยะอย่างไร แต่คือขยะเหล่านี้มาจากไหนและเราจะสามารถลดขยะเหล่านี้ได้อย่างไร การหาวิธีกำจัดหรือนำมารีไซเคิล อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แน่นอนว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ถึงประโยชน์และความสะดวกสบายที่พลาสติกมีต่อชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งหากเราใช้ให้ถูกวิธี ลดการใช้พลาสติกแบบฟุ่มเฟือยด้วยวิธีง่ายๆ เช่นปฏิเสธการรับถุงพลาสติก หันมาใช้ถุงผ้า พกกระติกน้ำเล็กๆ ลดการใช้หลอด ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราก็สามารถช่วยโลก ช่วยสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เราอาศัยอยู่ได้ อยู่ที่ว่าเราจะลงมือทำหรือไม่เท่านั้นเอง

มานิตา กมลพงศธร ผู้นำอาสาสมัครกรีนพีซ