วิกฤตมลพิษ PM2.5 จะกลายเป็นภัยร้ายแรง หากมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังเป็นเช่นเดิมเหมือนเกือบทศวรรษที่แล้ว ในบ่ายวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2562 กรีนพีซเผยผลการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ PM2.5 ในปี พ.ศ.2561 และรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ PM2.5 จากข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนได้จริง

PM2.5 Thailand Ranking

 เนื้อหาย่อๆ

  • อ.เมือง จ.สมุทรสาคร คือจังหวัดอันดับ 1 ที่เผชิญกับมลพิษ PM2.5 มากที่สุดในประเทศไทย ตามมาด้วย จ.ตาก ที่อ.แม่สอด และจ.สมุทรปราการ ที่ต.ทรงคะนอง
  • ไม่ใช่แค่กทม. แต่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ
  • กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีในบรรยากาศสำหรับประเทศไทย จาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2562
  • ข้อดีของข้อมูลดาวเทียมคือ ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วในการวัดระดับความเข้มข้นของPM 2.5 จะดึงค่ามาจากสถานีวัดอากาศ จุดไหนที่ไม่มีเครื่องวัดก็จะไม่ทราบตัวเลข แต่ดาวเทียมจะช่วยให้รู้ถึงพื้นที่ที่ไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศด้วย
  • มีวิธีการแก้ปัญหาหลายอย่าง เช่น การประเมินศักยภาพของธรรมชาติว่ารองรับฝุ่นได้ขนาดไหน เป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหามลพิษ ณ ต้นทาง

จังหวัด Top 3 ที่ถูกมลพิษปกคลุมมากที่สุดในประเทศไทย

 อ.เมือง จ.สมุทรสาคร คือจังหวัดอันดับ 1 ที่ถูกมลพิษปกคลุมมากที่สุดในประเทศไทย ตามมาด้วย จ.ตาก ที่อ.แม่สอด และจ.สมุทรปราการ ที่ต.ทรงคะนอง ส่วนกรุงเทพมหานคร อยู่อันดับที่ 8 จาก 53 จังหวัด

PM2.5 Thailand Ranking

ภาพข้อมูลอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
ในประเทศไทยล่าสุด ปี 2561

ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ของเมืองต่างๆ ในประเทศไทยยังเกินมาตรฐานของไทยและข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำประเทศต่างๆ มีเป้าหมายลดค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในบรรยากาศ ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพและอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรให้น้อยที่สุด แต่มาตรฐานของ PM2.5 รายปี ที่ประเทศไทยกำหนดยังสูงกว่า WHO ถึง 2 เท่า หรืออยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  

PM2.5 Thailand Ranking

เท่ากับว่าคนไทยกำลังเผชิญกับค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน นี่จึงเป็นสาเหตุที่เราจำเป็นต้องเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐานความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ยรายปีในบรรยากาศสำหรับประเทศไทย จาก 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหลือ 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2562 เพื่อมาตรฐานชีวิตของประชาชนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

 “การจัดอันดับนี้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ก็จะติดอันดับต้นๆทุกปี
ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯเท่านั้นเมืองใหญ่ๆทั่วไทยก็เผชิญกับปัญหา PM2.5 เช่นกัน”
-ธารา บัวคำศรี-

ตรวจฝุ่นด้วยดาวเทียม

ผศ. ดร. อริศรา เจริญปัญญาเนตร จากศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยภาพการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระหว่าง ปี พ.ศ.2559-2561

ปรากฎว่าในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับมลพิษ PM2.5 แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ทั้งจากกิจกรรมภายในพื้นที่ประเทศไทยและมลพิษข้ามพรมแดน


ภาพแสดง ค่าความเข้มข้นของ PM2.5 รายปีจากค่า AOT ระบบ MODIS
ปี พ.ศ.2559 , พ.ศ.2560 และ พ.ศ. 2561 เรียงตามลำดับ 

ข้อดีของข้อมูลที่มาจากดาวเทียมนั้นคือ เราได้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น เพราะโดยปกติแล้วในการวัดระดับความเข้มข้นของPM 2.5 เราจะดึงค่ามาจากสถานีวัดอากาศ จุดไหนที่ไม่มีเครื่องวัดก็จะไม่ทราบตัวเลข แต่การตรวจวัดโดยใช้สถานีดาวเทียมจะช่วยให้เรารู้ถึงสภาพพื้นที่ที่ไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศด้วย

และจากภาพถ่ายดาวเทียมนี้ ผศ. ดร. อริศรา เจริญปัญญาเนตร อธิบายว่า จาก 3 ปีที่เราได้ข้อมูลมา ในปี พ.ศ.2559 เป็นปีที่ไทยมีความเข้มข้นของ PM2.5 สูง เนื่องจากปลายปี พ.ศ.2558 เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงจึงทำให้วิกฤตหมอกควันขยายตัวมากขึ้น

เราทุกคนได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ

ในวงเสวนา PM 2.5 วิกฤตหรือโอกาส : ถึงเวลายกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศไทย” ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พูดถึงมลพิษทางอากาศไว้ว่า มลพิษทางอากาศเป็นภาวะจำยอมที่เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนยากคนจน คนรวย เด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่มีทางเลี่ยงเพราะ PM2.5 และก๊าซพิษอีกมากลอยอยู่ในอากาศ ส่วนการฉีดพ่นน้ำก็เป็นแค่การเอาตัวรอดไม่ใช่การแก้ปัญหา

แน่นอนว่า ผศ.ดร.ธนพล วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหาที่ก่อให้เกิดมลพิษด้วย ยกตัวอย่างคือ การจัดการที่ภาครัฐป้องกันมลพิษฝุ่นตั้งแต่ต้นทางได้ เช่น ต้องมีการประเมินศักยภาพของธรรมชาติว่ารองรับฝุ่นได้ขนาดไหน เราจะสร้างถนนกี่เส้น จะขายรถดีเซลจำกัดกี่คัน หรือจะมีเตาเผาขยะกี่โรงที่จะไม่ทำให้มลพิษฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน แต่รัฐไม่มีข้อกำหนดตั้งแต่ต้นทาง

หลังจากมีมติปรับแผนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศกำหนดให้เขตที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานเป็นพื้นที่ควบคุม เหตุรำคาญ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หากพื้นที่นั้นๆมีค่าฝุ่นละอองเกิน 75-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังมีมาตรการอื่นๆอีกหากค่าฝุ่นละอองพุ่งสูงขึ้น ในประเด็นนี้ คุณสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย มองว่า ต้องจับตารอดูว่าหลังจากมีการปรับมาตรการเพื่อแก้ไขฝุ่นละอองแล้ว ภาครัฐจะมีแผนการปฏิบัติเพื่อลดฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

กรีนพีซยังคงเรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ

การยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของไทยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแม้ว่าข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการนำ PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยจะสำเร็จไปแล้ว 1 ข้อ แต่เรายังคงยืนยันและผลักดันให้ภาครัฐจัดการกับมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนในข้อเรียกร้องที่เหลือ เพื่ออากาศดีดีของเราทุกคน ดังนี้

  • กําหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกําเนิดที่อยู่กับที่(Stationery Sources) รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ตั้งเป้าหมายการลดการสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปของกลุ่มประชากรลงอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 30 ภายในระยะเวลาของการดำเนินงานในร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพอากาศ 20 ปี
  • เพิ่มเป้าหมายการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศให้เป็นตัวชี้วัดในแผนยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน
  • คำนึงการดำเนินมาตรการในข้อ 8(Article 8) ของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทที่มุ่งเน้นถึงการควบคุมและลดการปล่อย(emission)ปรอทออกสู่บรรยากาศจากแหล่งกำเนิดที่มีจุดกำเนิดแน่นอน(point sources) ตามรายการที่ระบุไว้ในภาคผนวก D (Annex D) ของอนุสัญญาฯ อันได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น

ทั้งนี้ กรีนพีซเสนอเพิ่มเติมให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่เจาะจง(specific) วัดได้(measurable) ทำได้(Attainable) สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่(Relevant) โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน(Time-bound) ดังนี้

ค่ามาตรฐาน PM2.5 (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)
ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ค่าเฉลี่ย 1 ปี
ไทย 50 25
องค์การอนามัยโลก*– Interim Target (IT-1)

– Interim Target (IT-2)

– Interim Target (IT-3)

– Air Quality Guideline(AQG)

75
50
37.5
25
35
25
15
10
องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา**รัฐแคลิฟอร์เนีย 35– 12 (แหล่งกำเนิดขั้นต้น)
15
(แหล่งกำเนิดทุติยภูมิ)
12
สหภาพยุโรป***
ภายใต้กฎระเบียบ Directive 2008/50/EC สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายการลดสัมผัส PM2.5 ในกลุ่มประชากรที่เรียกว่า average exposure indicator (AEI)ภายในปี พ.ศ. 2553 และ 2563
25
22(AEI ปีพ.ศ.2553)
18(AEI ปีพ.ศ.2563)
มาเลเซีย****– Interim Target(ปี พ.ศ.2558)

– Interim Target(ปี พ.ศ.2561)

– มาตรฐาน( ปี พ.ศ.2563)

75
50
35
35
25
15
สิงคโปร์*****– ปี พ.ศ.2559

– ปี พ.ศ.2563

– เป้าหมายระยะยาว

40
37.5
25
15
12
10
สหราชอาณาจักร
สก็อตแลนด์

25
12
– แคนาดา

– นิวฟาวด์แลนด์

– เมืองแวนคูเวอร์

30
25
25


12
ออสเตรเลีย 25 8
นิวซีแลนด์ 25
ญี่ปุ่น 35 15
เกาหลีใต้****** 35 15
ฟิลิปปินส์ 50 25

การตื่นตัวกับปัญหา PM2.5 อาจเป็นโอกาสที่จะช่วยให้อากาศในเมืองใหญ่ดีขึ้น

แม้ว่าในวันนี้เราจะต้องสวมหน้ากาก N95 งดทำกิจกรรมนอกอาคารเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นละออง PM 2.5 แต่ความตื่นตัวของประชาชนที่กำลังตั้งคำถามต่อภาครัฐว่ารัฐสามารถจัดการปัญหานี้ได้หรือไม่ และจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า ก็จะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาช่วยกันแก้ปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้น

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม