การจับจ่ายพืชผลจากห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ทำให้เราถูกตัดขาดจากเกษตรกรรายย่อยผู้ผลิตอาหารให้เรา ทั้ง ๆ ที่กินข้าวทุกวัน แต่เราแทบไม่รู้ที่มาของอาหารแต่ละมื้อ

นิชาภาเจ้าของร้านอาหารมังสวิรัติ สมถะ ที่จังหวัดเชียงใหม่กล่าวถึงความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งที่มาของอาหารในการเสวนา ‘ลดเนื้อเพื่อ’ ว่า “ขนาดร้านเราอยู่เชียงใหม่ มีฟาร์มเล็ก ฟาร์มน้อยในพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดถ้าเราต้องการซื้อวัตถุดิบในราคาถูกลง เราก็ต้องไปซื้อที่ตลาดใหญ่ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างมีที่มาจากที่ไหน”

การถูกผูกขาดระบบอาหารเช่นนี้มานานทำให้เราแทบลืมไปว่าทุกคนมีสิทธิที่กำหนดระบบการผลิตอาหารของตนเองได้ เพื่อให้ได้ระบบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพตนเองและเป็นมิตรกับโลกใบนี้มากที่สุด หรือที่เรียกว่า ‘อธิปไตยทางอาหาร’ นั่นเอง

ที่ประเทศฟิลิปปินส์มีคนกลุ่มหนึ่งเล็งเห็นปัญหานี้จึงรวมตัวกันเพื่อก่อตั้งกิจการเพื่อสังคม ‘ชุมชนอาหารที่ดี (Good Food Community)’ เปิดระบบเติมเงินเพื่อรับผลิตผลสดใหม่รายสัปดาห์ มุ่งหวังแก้ปัญหาการผูกขาดระบบอาหาร ลดช่องว่างระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้บริโภค สนับสนุนการเกษตรเชิงนิเวศในขนาดเล็กเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนยืนกว่าเดิม

ชุมชนอาหารที่ดี (Good Food Community)

ทำงานร่วมกับเกษตรกรในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว © Good Food Community

Good Food Community ก่อตั้งในปี 2554 จากความห่วงใยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย ชาร์ลีน ทัน รู้ว่าเธออยากทำงานด้านการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร แม้เกษตรกรชาวฟิลิปปินส์จะเป็นผู้ผลิตอาหารหลัก แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่จนที่สุดในประเทศ ด้วยการร่วมงานกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สอนเรื่องการเกษตรแบบยั่งยืนทำให้เธอสังเกตว่าสิ่งที่เกษตรกรต้องการจริง ๆ คือตลาดเพื่อขายผลิตผลของพวกเขา

“ฉันสนใจในเศรษฐศาสตร์ทางเลือกจากรูปแบบการพัฒนาเดิม ๆ” เธอกล่าว

สิ่งนี้ทำให้เธอก่อตั้ง Good Food Community กิจการเพื่อสังคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดระยะห่าง เชื่อมเกษตรกรรายย่อยกับตลาดมะนิลาที่ใหญ่และได้กำไรดีกว่า

Good Food Community ใช้ระบบแบบจำลองการเกษตร (Community Shared Agriculture หรือ CSA) คือการที่ผู้บริโภคที่มะนิลาสมัครสมาชิกแบบเติมเงินเพื่อรับผลิตผลสดใหม่รายสัปดาห์ สิ่งนี้ปลดปล่อยเกษตรกรจากเดิมที่ต้องปลูกพืชผลตามความต้องการของตลาด ไปเน้นความสดใหม่ และอินทรีย์จากธรรมชาติแทน

Good Food Community อำนวยความสะดวกในการจัดส่งผลิตผลตามฤดูกาลที่สดใหม่จากเกษตรกรทุกสัปดาห์ © Good Food Community

“แบบจำลองการเกษตรคือทางเลือกของเกษตรผู้ปลูกพืชผลต่าง ๆ ในระบบอาหาร  เราสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภคที่อยู่ท้ายห่วงโซ่จากการเลือกซื้อสินค้า มีส่วนได้ส่วนเสีย กลายมาเป็นผู้ผลิตร่วมกัน” ชาร์ลีนกล่าว “Good Food Community ทำหน้าที่เป็นระบบจัดส่ง เราให้ทางเลือกแก่ผู้คนในการมีความสัมพันธ์กับผู้ปลูก”

Good Food Community ทำงานร่วมกันกับเกษตรกรรายย่อย ประชุมกับพวกเขาปีละหลายครั้งเท่าที่ทำได้เพื่อสร้างแผนอุปทานของสินค้าที่ระบุราคา และจำนวนการซื้อขั้นต่ำต่อปีร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรจะได้รับรายได้ที่เป็นธรรมสม่ำเสมอ ทีมยังช่วยเกษตรกรต่อรองกับอุปสงค์ของตลาดในเมืองและดูแลงานธุรการ เช่น การลงทะเบียน หรือเขียนโครงการเสนอหน่วยงานรัฐ

ข้อเรียกร้องพื้นฐานเพื่อเป็นพันธมิตรคือเกษตรกรต้องเชื่อในหลักนิเวศวิทยา ไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก หมั่นดูแลดินและเน้นปลูกพืชผลที่หลากหลาย

“เราทำสิ่งนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนกว่านี้”

ชาร์ลีน ทัน (ซ้ายสุด) ประชุมกับเกษตรที่โบโก © Good Food Community

ก่อนเกิดโรคระบาด ทีมจัดตลาดท้องถิ่น ‘อาหารดีวันอาทิตย์ (Good Food Sunday)’ เพื่อขายอาหารที่ทำจากพืชเป็นหลัก ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการทำความทัศนศึกษาฟาร์ม ครัวชุมชน จัดให้มีการพูดคุยถึงความสำคัญของอธิปไตยทางอาหาร กิจกรรมเหล่านี้ต้องถูกระงับไว้ก่อนเนื่องด้วยโรคระบาด

“เราต้องปลุกคนให้ตื่นและรับรู้ถึงการเมืองที่อยู่เบื้องหลังอาหาร สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการทำงานปัจจุบัน เราไม่สามารถมีความสุข แต่หลบซ่อนอยู่หลังการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้”

© Good Food Community

เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่เธอเจอในระบบอาหารปัจจุบัน เธอหัวเราะ

“เป็นคำถามที่ตอบยาก” เธอกล่าวก่อนจะชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติของโลกใบนี้ และอุตสาหกรรมการผลิตในปัจจุบันเป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร

“เหนือกว่าเรื่องสุขภาพและความยุติธรรมทางสังคม คือการที่ Good Food Community ทำเพื่อต่ออายุทรัพยากรของเรา เพื่อสนับสนุนการทำฟาร์มเชิงนิเวศ และนำสารอาหารกลับมาสู่ผืนดิน สิ่งนี้เป็นโมเดลการเพาะปลูกที่เราอยากสนับสนุน เราไม่อยากจ่ายเงินเพื่อสร้างมลพิษ” เธอกล่าว

“ในเชิงสังคมแล้ว ข้อเท็จจริงคือยังมีผู้คนถูกทิ้งให้หิวโหยจากการที่อำนาจและทรัพยากรเพียงน้อยนิดตกอยู่ในมือคนเพียงหยิบมือโดยเฉพาะเรื่องเมล็ดพันธุ์ เราจำเป็นต้องหาหนทางใหม่ และกระจายอำนาจเพื่อให้ทุกคนอิ่มท้องอย่างทั่วกัน”